10 มหาวิทยาลัยราชภัฏ วิจัยปิดจุดอ่อน สร้างสุขภาวะชุมชนยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

“การให้การศึกษาที่ดีนั้นเป็นงานที่ละเอียดลึกซึ้งมาก จำเป็นต้องใช้ความรอบรู้อันกว้างขวาง ใช้ความสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยความตั้งใจและความเพียรพยายามอย่างแรงกล้าจึงจะทำได้สำเร็จ…” พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 28 พฤศจิกายน 2515

           

เพราะการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญกำหนดแนวทางหล่อหลอมคน เป็นการเรียนรู้ทุกช่วงชีวิต อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้

           

เหตุนี้ เครือข่ายร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีนำเสนองานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นการเผยแพร่แนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยงานวิจัยที่นำสู่การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนจาก 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ประกอบด้วย มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.พิบูลสงคราม มรภ.นครปฐม มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มรภ.เพชรบุรี มรภ.มหาสารคาม มรภ.เลย และ มรภ.ลำปาง

           

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ในแต่ละพื้นที่ย่อมมีจุดเด่น จุดด้อย ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร ในปี 2558 สสส.จึงเข้าไปสนับสนุนให้เกิดสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นจาก 3 ชุดความคิด คือ 1.ชุมชนท้องถิ่นยังต้องการความรู้และมุมมองจากคนภายนอก เพราะลำพังเพียงท้องถิ่นเองไม่สามารถจัดการแก้ไขได้หมดทุกเรื่อง ต้องการการกระตุ้นหรือสะกิดจากคนภายนอกชุมชน 2.สถาบันวิชาการต้องพิสูจน์องค์ความรู้จากหลักวิชาการหรืองานวิจัยว่า เมื่อนำหลักดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างไร และ 3.นำความรู้จากหลักวิชาการและการปฏิบัติมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยง ให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ร่วมกันเพื่อเป็นการสร้างสุขให้ชุมชนท้องถิ่น เป็นการพัฒนาประเทศ เป็นเส้นทางการพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน เพราะสิ่งที่ทำคือการลดช่องโหว่ของฐานรากให้แคบลง ช่วยสร้างท้องถิ่นอุดมปัญญา

           

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และอธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มรภ.เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดย สสส.เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยการขับเคลื่อนงานวิจัยและนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาและค้นหาแนวทางในการจัดการสุขภาวะชุมชนให้ดีขึ้น เช่น การจัดทำชุดโครงการวิธีแก้ไขความยากจนของชุมชนด้วยการยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP การเสริมพลังชุมชนจัดการตนเองที่ อบต.เจดีย์ชัย และ อบต.บัวใหญ่ การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่ ต.เข็กน้อย ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนที่เมืองจัง ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ ต.ป่าคา จ.น่าน รวมถึงการแก้ปัญหาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน เพิ่มทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเยาวชน เป็นต้น

           

ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าวถึงกลยุทธ์ 3 ขั้นตอนที่ใช้ว่า ระยะต้นทาง การสร้างระบบและกลไกกระบวนการทำแผนที่ทิศทางการทำวิจัยร่วมกับ อปท. (Research Mapping) ระหว่างทาง เป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับ อปท.แบบมีส่วนร่วม ทั้งนักศึกษา อาจารย์ ชุมชน และองค์กรภาคีสนับสนุน (Research Project) และปลายทาง นำผลวิจัยไปใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน (Public Policy)

           

จากการร่วมคิด ร่วมทำ เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นกุญแจความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นที่เปลี่ยนจากระบบการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน มาเป็นพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม เป็นการสร้างคน สร้างงาน สร้างเครือข่ายสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นหุ้นส่วนกับสังคมอย่างแท้จริง

           

“ความร่วมมือระหว่าง สสส., มรภ. 10 แห่งจาก 4 ภูมิภาค และ อปท. 414 แห่ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์งานวิจัยเป็นแบบอย่างสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น เช่น เปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความต้องการของตนเองเป็นการทำวิจัยตามความต้องการของท้องถิ่นและประเทศ เปลี่ยนจากการวิจัยเพื่อการเผยแพร่ตีพิมพ์เป็นการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาตามนโยบายประเทศ และสร้างความเชื่อมโยงของงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน ทั้งยังคาดหวังว่าผลงานที่เกิดขึ้นจะเป็นต้นแบบสู่ มรภ. 38 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสนองแนวทางการทรงงานของในหลวง ร.9 และ ร.10 ที่ต้องการให้ มรภ.มีบทบาทในการรับใช้ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง” อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวสรุป

           

สำหรับตัวแทนนักวิจัยอย่าง ผศ.ดร.ยุวดี ตรงต่อกิจ นักวิจัย มรภ.พิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก เล่าแนวทางการขับเคลื่อนงานว่า ในปี 2559 ต.เข็กน้อย จ.พิษณุโลก มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกถึง 491 ราย ทำให้ อบต.เข็กน้อยต้องใช้งบในการควบคุมการระบาดถึงล้านกว่าบาท ทีมงานนักวิจัย นักศึกษา ร่วมกับ อบต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รพ.สต. ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 2.2 เพชรบูรณ์ อสม. และแกนนำชุมชนลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านเข็กน้อย เพื่ออบรมให้ความรู้แก่นักเรียน โดยใช้ฐานข้อมูลความสำเร็จจากปี 2542 ที่สามารถจัดการยุงลายได้ด้วยความร่วมมือจากนักเรียนมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ ด้วยการติดตามจากครูประจำชั้นและแจ้งผลการดำเนินงานให้เครือข่ายรับทราบผ่านทาง Line และนักวิจัยจะพบนักเรียนทุกสัปดาห์เพื่อพูดคุยปัญหาและอุปสรรค เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นผู้ที่อยู่บ้านมากกว่าเจ้าหน้าที่ ทำให้รู้ทุกซอกมุมในบ้าน และการกำจัดจากผู้ที่อยู่อาศัยจะเป็นการแก้ปัญหาได้ยั่งยืน โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักวิจัยรับรู้สถานการณ์ปัญหาของชุมชน ได้ร่วมค้นหาและแก้ปัญหาไปพร้อมกัน

           

ด้าน ผศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา ที่ปรึกษาศูนย์บูรณาการพันธกิจสัมพันธ์ มรภ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยคู่ชุมชนท้องถิ่นว่า ต้องมีกลไกการสนับสนุนที่เข้มแข็งทั้ง 2 ฝั่ง ทั้ง มรภ.และ อปท. ในการขับเคลื่อนงาน รวมถึงการมีแหล่งทุนจาก สสส. ทำให้การขับเคลื่อนงานกับชุมชนท้องถิ่นเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แต่ละฝ่ายต้องมีความชัดเจนในเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และนโยบายในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน มีความมุ่งมั่นทำงานของทีมนักวิจัย ส่วนคนในพื้นที่ต้องมีความเข้มแข็ง ตลอดจนการสนับสนุนให้กำลังใจในการเคลื่อนงานทั้งองค์คาพยพ เช่น การยกบทเรียนความสำเร็จของแต่ละพื้นที่มาถอดบทเรียนและเล่าสู่กันฟัง ที่สำคัญกว่าความสำเร็จคือ การกำหนดทิศทางในการเชื่อมโยงให้เกิดการขยายผลระดับประเทศต่อไป

           

เห็นได้ว่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน การสานพลังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากทุกฝ่ายมีเป้าหมายใหญ่ ร่วมมือกันทำด้วยการ ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ ช่องโหว่ของปัญหาจะค่อยๆ เล็กลง เช่น การสร้างสุขภาวะชุมชนให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ สสส., มรภ., อปท. และภาคีเครือข่ายชุมชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"