'สภาเอ็นจีจีเอ็น' พลังคนรุ่นใหม่ 'ประชาชาติ' ไม่ใช่ 'พรรควาดะห์'


เพิ่มเพื่อน    

        การเปิดตัวของ ”พรรคประชาชาติ” ที่มีแกนนำกลุ่ม “วาดะห์” อย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค  ย่อมถูกมองว่าเป็นพรรคมุสลิมแบบรวบยอด ซึ่งบางทีการถูกมองเช่นนั้นอาจทำให้ ”จุดแข็ง” กลายเป็น “จุดอ่อน” ทางการเมืองในที่สุด ทางพรรคจึงได้กำหนดแนวทางให้คนจากทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อความหลากหลายภายใต้แนวคิด “สังคมพหุวัฒนธรรม” นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหาร เปิดสภาเยาวชนของพรรคเพื่อสร้างพื้นที่ในการทำกิจกรรม รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ตามแนวทางพรรค โดยเฉพาะเยาวชนที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

      “มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ” ว่าที่กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ นอกจากจะเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนของพรรคแล้ว ยังเป็นผู้ประสานงานกับสื่อมวลชน ส่งข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพรรคในช่วงเข้าสู่ห้วงการเลือกตั้งด้วย

        “รุสดี” เล่าถึงโครงสร้างของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรคว่าคณะกรรมการบริหารพรรคจะมีคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในนั้นมากถึง 6 คน ประกอบด้วย ตนเอง ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ,  คุณทวีศักดิ์ ปิ, ปวิธ สะเม๊าะ, รอมือละห์ แซเยะ และอัสรา รัฐการัณย์ ทั้งหมดมีอุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งสภาคนรุ่นใหม่ (NEW GEN’S NATION : NGGN) ร่วมกันระดมความคิดเห็น ทำกิจกรรม ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ของพรรคทำงานกันมาก่อน โดยเปิดตัวที่ปัตตานีก่อนจะมีการเปิดตัวพรรคด้วยซ้ำ จุดเริ่มต้นเกิดจากรู้จักกันในพื้นที่ ทั้งจากนักศึกษา นักกิจกรรมคนที่เรียนจบไปแล้ว โดยแต่ละคนจะมีบทบาทต่างกัน เช่น การเมือง แพทย์ สาธารณสุข การศึกษา  หรือสื่อมวลชน

        ปัจจุบันมีเครือข่ายคนรุ่นใหม่เกือบครบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีผู้เข้ามาร่วมอุดมการณ์มากที่สุด กิจกรรมที่ผ่านมานอกจากขับเคลื่อนกิจกรรมประชาธิปไตย ยังมีการรณรงค์เปิดมุมมองให้คนรุ่นใหม่ให้แสดงความคิดเห็น มีทั้งมาร่วมอย่างที่เปิดเผยตัว และไม่เปิดเผยตัว บางคนเป็นข้าราชการ หรือติดที่มีบทบาทหน้าที่บางอย่าง แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก ทั้งนี้ มีกลุ่มผู้นำนักศึกษาเกือบทุกมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นขุมกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงาน

        “คนอาจมองว่าเป็นพรรคของกลุ่มวาดะห์ แต่เราพยายามสื่อสารว่า พรรคประชาชาติไม่ใช่พรรคการเมืองของกลุ่มวาดะห์ที่เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าในพื้นที่ คนรุ่นใหม่อย่างเราจึงพยายามแสดงตัวตนและบทบาทในทางแนวคิดนโยบาย เพื่อสื่อสารในประเด็นนี้ เรามีความรู้สึกทางการเมืองว่า ควรต้องมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เสนอแนวคิด เพราะประชาชาติเป็นพรรคที่ถูกคาดหวังของคนในพื้นที่ คนรุ่นใหม่ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหลากหลายและค่อนข้างแน่น”

        “รุสดี” กล่าวว่า ปัญหาเร่งด่วนที่มองว่าต้องแก้ไข คือ เรื่องการศึกษา ซึ่งรูปแบบในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างต่างจากส่วนอื่นของประเทศ เพราะในระดับประถม วันจันทร์ถึงศุกร์ เรียนสายสามัญ ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์จะเรียนตาดีกา จึงทำให้ต้องเรียน 7 วัน ในระดับมัธยมก็จะนิยมเข้าไปศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนามากกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผลการประเมินทั้งประเทศ ผลการสอบโอเน็ต-เอเน็ตต่ำกว่าเกณฑ์และอยู่ในลำดับท้ายๆ สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องเกณฑ์การประเมิน ซึ่งในพื้นที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ทั้งระบบการศึกษา เวลาเรียน การใช้ภาษาต่างกับที่อื่น ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็คาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะแก้ไขปรับปรุงปฏิรูปการศึกษาให้ทันสมัยและเหมาะสม​

        นอกจากนั้น ก็มีปัญหายาเสพติด กระท่อมแพร่ระบาด และน่ากังวลมาก การแก้ไขปัญหาทำมานานแล้วแต่ไม่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่คลางแคลงใจคือ ทหารเข้ามาบริหารจัดการดูแลพื้นที่เข้ามา 15 ปี มีการตั้งด่านตรวจเต็มไปหมด แต่ไม่สามารถควบคุมได้ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ส่วนของชุมชนเองใช้หลักการทางศาสนา โดยผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนตั้งข้อตกลงกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาเอง เมื่อถามถึงกลุ่มเยาวชน ถูกฝ่ายความมั่นคงจับตามองเป็นพิเศษ

        “รุสดี” กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมีทัศนคติลบต่อกลุ่มเยาวชนในพื้นที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่ในปอเนาะ เวลาก่อเหตุก็จะเอ่ยถึงวัยรุ่นมีส่วนที่เข้าไปก่อเหตุการณ์ความไม่สงบฯ ขณะที่การสอบสวนยังไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงแค่การสันนิษฐาน

        “อย่างผมก็จบที่โรงเรียนอิสลามบูรพาที่หน่วยงานความมั่นคงเพ่งเล็งว่าเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เกิดหลังจากที่ผมเรียนจบไปแล้ว ในฐานะที่เคยเรียนที่นั่นก็เหมือนกับโรงเรียนอื่นที่สอนวิชาศาสนาคู่กับสายสามัญอื่นๆ ผมก็ไม่เคยรู้เรื่องประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี การต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ จึงสงสัยว่าการที่รัฐไปเพ่งเล็งโรงเรียนนี้ก็เหมือนไปใส่ร้ายอย่างเห็นได้ชัด เพราะผมเรียนที่นั่นไม่ได้มีการสอน หรือบ่มเพาะเรื่องเหล่านี้ แต่อาจจะเพราะเกิดเหตุการณ์ที่ตากใบมีนักเรียนในโรงเรียนนี้อยู่ในเหตุการณ์หลายคน ซึ่งในตากใบมีนักเรียนเรียนที่นี่หลายคน พอเกิดเหตุการณ์ก็ไปมุงดู เมื่อสลายการชุมนุม ก็เหวี่ยงแหจับกุม ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม”

        เขาเล่าว่า รับทราบปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างจริงจังตอนจบจากมหาวิทยาลัย และลงมาเป็นผู้สื่อข่าวในพื้นที่ จึงได้ศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ นักต่อสู้ มีการกดขี่ข่มเหง การที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่ามีคนไปบ่มเพาะแนวคิด ปลุกระดมคนรุ่นใหม่ เมื่อเรามาดูแล้วปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ปัญหาอยู่ที่กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษ ที่ส่งผลให้เกิดนักต่อสู้รุ่นใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

        “7 ปีที่อยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชน ได้มีโอกาสลงพื้นที่ เข้าถึงภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ข้าราชการหลายกลุ่ม สามารถติดต่อกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้ได้ทุกกลุ่มกับรัฐในฐานะของแหล่งข่าว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าเราทำงานสื่อสารมวลชน ก็ทำได้แค่การสื่อสารปัญหาให้สาธารณชนเท่านั้นเอง แต่ถึงเวลาแล้วที่เราจะเข้าไปแก้ไขปัญหา เพราะการเมืองเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ผมไม่ได้มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคประชาชาติ ไม่ได้มีญาติพี่น้องในพรรค จึงไม่ได้เข้ามาสืบทอดอำนาจพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป้าหมายคือต้องการนำข้อมูลมานำเสนอเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน"

        โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกำหนดเป็นนโยบายเฉพาะ กฎหมายใดที่ละเมิดสิทธิของมนุษยชนต้องแก้ไข ทางพรรคเห็นว่าต้องปรับปรุง แก้ไข ยกเลิก นี่คือกุญแจแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้อย่างแท้จริง เพราะหากไม่มีอำนาจที่พิเศษเหล่านี้แล้ว ก็จะไม่มีกลุ่มคนในเครื่องแบบรังแกประชาชน ซึ่งประชาชนก็จะไม่มีแนวคิดต่อสู้กับรัฐ 

        “รุสดี” ยังเล่าว่า แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้เป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ แต่ตอนช่วงที่ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ก็เป็นประธานชมรมนักศึกษามุสลิมอยู่ในกรุงเทพฯ ทำกิจกรรมทางด้านศาสนาเป็นหลัก มีนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาร่วมกิจกรรมค่อนข้างมาก การทำกิจกรรมนักศึกษาทำให้เราสามารถได้ติดต่อสื่อสารกับชมรมมุสลิมในมหาวิทยาลัยอื่น  ทั่ว กทม.จะมีองค์กรหลักของนักศึกษามุสลิม 2 องค์กร คือ 1.สมาคมนิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนท.) ประสานงานนักศึกษามุสลิมทั่วประเทศ 2.สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) ซึ่งจะเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนนักศึกษา งานเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพในชายแดนใต้ ชมรมนักศึกษามหาวิทยาลัยก็จะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ สนมท.ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน​   

        ในส่วนของพรรค ยังมีนักกิจกรรม เช่น นายทวีศักดิ์ ปิ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นภาคประชาสังคมที่ถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเพจไอโอหรือ “เพจผี” ของฝ่ายความมั่นคงเคยตัดต่อใส่ร้ายอยู่ตลอดว่าเป็นแนวร่วมบีอาร์เอ็น ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถูกเพจเหล่านี้ใส่ร้ายจะเป็นคนที่ในพื้นที่ยอมรับ อย่าง คุณทวีศักดิ์ เป็นคนที่รักในประชาธิปไตย ซึ่งตรงกับคนในพื้นที่ก็ไม่เอาเผด็จการ เพราะ 15  ปีที่เขาอยู่กับทหารเขารู้ดีว่าเป็นอย่างไร

      “แม้ภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่พรรคประชาชาติจะถูกมอง หรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่พรรคอยากให้มองว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น และองค์ประกอบก็มาจากหลายที่ ไม่ต้องการให้มองเฉพาะคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งต่อไปจะมีการรับสมัครสมาชิกพรรคคนรุ่นใหม่จากทุกพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ".

 

      การศึกษา รร.วัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย), รร.ส่งเสริมวิถีพุทธ, รร.อิสลามบูรพา, รร.อัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ นราธิวาส (รร.เอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดัง), คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ

      ประสบการณ์  ผู้นำ นร./นศ.มาตลอดตั้งแต่ชั้นประถม, การทำงานสื่อ 7 ปี  ตำแหน่งล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย อสมท ช่อง 9 MCOT.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"