"แบ่งเขต" เขย่าไฮโล "แทงประยุทธ์" "สงครามน้ำลาย" สัญญาณเดือด


เพิ่มเพื่อน    

    พลันที่มีพระราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด จำนวน 350 เขต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เหล่าพรรคการเมืองที่ต้องลงสนามการเลือกตั้งที่ตั้งไว้ในระหว่างปลายเดือน ก.พ.ไปจนถึงเดือน พ.ค.นั้น นักการเมืองก็เกิดอาการ "บ่นอุบ" กันเลยทีเดียว
    ในเบื้องต้นอาจไม่ค่อยปักใจเชื่อนักว่า กกต.จะกล้าแบ่งเขตเลือกตั้งเอื้อให้กับพรรคการเมืองพันธมิตรกับ คสช.อย่างโจ่งแจ้ง แต่ทว่าเมื่อผลออกมาสิ่งที่คาดการณ์ไว้กลายเป็นข้อเท็จจริง จึงไม่แปลกที่นักการเมืองที่อยู่ตรงข้าม และต้องลงสู้ในกติกาและเงื่อนไขที่ "กรรมการ" ออกอาการเข้าข้างอีกฝ่าย จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก 
    เป็นธรรมดาที่ต้องไปถามความเห็นจาก บิ๊ก คสช. ที่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลการเลือกตั้งที่จะออกมา ไล่ตั้งแต่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 
     นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.ชี้แจงทันที เพราะกระแสสังคมเชื่อว่า การดำเนินการของ กกต.ไม่ได้อิสระ และตกอยู่ภายใต้ คสช. ซึ่งมีพรรคการเมืองที่มี รัฐมนตรีของรัฐบาล คสช.เข้าไปอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ  
    โดยให้เหตุผลว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งรอบแรก กกต.ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 แต่ระหว่างรอการประกาศราชกิจจานุเบกษา หัวหน้า คสช.ก็มีคำสั่งที่ 16/2561 จึงมีการเปิดรับฟังข้อร้องเรียน ซึ่งพบว่ามีการร้องเรียนเข้ามาใน 33 จังหวัด 98 คำร้อง โดยย้ำว่าการพิจารณาของ กกต.เป็นไปตามมาตรา 27 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้รวมพื้นที่อำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง คำนึงถึงพื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน คมนาคมสะดวก และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และหลังสิ้นสุดการรับคำร้องในวันที่ 25 พ.ย. ก็มีข้อร้องเรียนเพิ่มมาอีก 11 คำร้อง กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นการวิจารณ์ที่ไม่ได้มีการเสนอรูปแบบแบ่งเขตที่เหมาะสม จึงให้ยุติเรื่อง 
    "การแบ่งเขตของ กกต.ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ก่อนหน้านี้ก็เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อมีข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นประโยชน์และบางครั้งดีกว่า กกต.ก็ปรับปรุง การพิจารณาเป็นลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ แต่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ผลที่ได้กลับมากระทบใครบ้างฝ่ายการเมืองต้องยอมรับ เพราะการแบ่งเขตแบบเดิมไม่มีการกำหนดจำนวน ส.ส.ในสภาฯ แต่กำหนดจำนวนประชากรต่อจำนวน ส.ส. ก็จะทำให้จำนวน ส.ส.ไม่แน่นอน ซึ่งนักการเมืองทราบดี และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ได้" รองเลขาฯ กกต.กล่าว
    พรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคที่อยู่คนละฝ่ายกับ คสช. ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย สรุปได้ว่า ปรากฏการณ์การแบ่งเขตที่เกิดขึ้นเป็นการเอาเปรียบจนนาทีสุดท้าย และเป็นวิธีการที่พิสดารที่สุด 
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ออกมาปฏิเสธว่า คสช.ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการแบ่งเขต และจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามีการแบ่งเขตกันอย่างไร 
    ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็เกิดอาการ "นอตหลุด" หลังจากมีการถามเรื่องนี้มากๆ 
    โดยระหว่างการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 5/2561 มีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ชื่อ "สภาพัฒน์" ซัดผู้สื่อข่าวที่ถามเรื่องนี้ ที่เนื้อความมีการพูดถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ 
     “สื่อข้างนอกก็ถามกันอย่างเดียว เรื่องการแบ่งเขต จะตายห่ากันให้หมดหรืออย่างไรก็ไม่รู้กับไอ้เรื่องซังกะบ๊วยพวกนี้ ก็ว่ากันไปตามกติกา จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ กติกาว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ผมจะไปรู้อะไร นายกฯ จะรู้เรื่องการแบ่งเขตหรือ ไม่เกี่ยวหรอก ใครได้ใครเสียก็ว่าไป"
        ในเว็บไซต์ "คมชัดลึก" ได้นำเสนอข้อมูล เรื่อง "ผ่าสมรภูมิเลือกตั้ง 62 แบ่งเขต..ใครได้-ใครเสีย?" เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างว่า ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา สุโขทัย กาญจนบุรี นครสวรรค์ ที่การแบ่ง เฉือนอำเภอ โดยมีปัจจัยเรื่องพื้นที่และผู้สมัครเข้ามาพิจารณเรื่องความน่าจะเป็นในการแพ้-ชนะการเลือกตั้ง
    ซึ่งหากเป็นไปตามข้อมูล และการออกมาให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองที่ได้รับผลกระทบ ย่อมปฏิเสธได้ยากว่า การแบ่งเขตที่ออกมาเป็น "ปัจจัย" หนึ่งที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ยังไม่นับเหล่าบรรดา ส.ส.ที่ถูกดูดไปก่อนหน้านี้ จากทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ 
    สัมพันธ์ ตั้งเบญจผล อดีต ส.ส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า “แค่เริ่มแบ่งเขต ก็เริ่มไม่โปร่งใสแล้ว กกต.สุโขทัยผ่านรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไป 3 รูปแบบ กลับมีแบบที่ 4 โผล่มา แบ่งเขตใหม่หมด ทั้งที่สุโขทัยแบ่งเขตเลือกตั้งไปแล้วเมื่อปี 57 ปีนี้เขตเลือกตั้งเท่าเดิม จำนวนประชากรแบบเก่ากับแบบใหม่อาจใกล้เคียงกัน แต่เขต 2 ระหว่าง อ.บ้านด่านลานหอย กับ อ.ทุ่งเสลี่ยม มีส่วนติดกันอยู่แค่ประมาณ 500 เมตร ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป. ส.ส.สักนิด ขอปลุกพลังคนสุโขทัยว่าเราต้องไม่เอาคนโกงมาเป็นตัวแทน สุโขทัยไม่ใช่จังหวัดของคนขี้โกง ประกาศไปเลยว่าเราไม่ขออยู่ข้างเผด็จการ ใช้การเลือกตั้งครั้งนี้สั่งสอน...”
    แต่ที่น่าสนใจคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปกล่าวกับชาวบ้านตอนหนึ่งว่า ไม่อยากเห็นบ้านเมืองวุ่นวายอีก จึงเข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่สามารถกลับประเทศได้ หากกลับมาคงเกิดสงครามกลางเมือง ต้องถูกจองจำ คุมขัง
    "พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสเป็นนายกฯ มากกว่าใคร มี ส.ว. 250 เสียง หา ส.ส.อีก 125 เสียงไม่ใช่เรื่องยาก ภาษาการพนันบอกว่าเปิดไฮโลแล้วแทง ถ้าผิดจากนี้ไม่รู้ว่าอย่างไรแล้ว" นายสมศักดิ์ระบุ 
    ในภาพรวมการเมือง ที่ คสช.ต้องการผลักดันแนวทางฝ่ายตนเองเพื่อนำพายุทธศาสตร์ชาติไปต่ออีก 20 ปี โดยชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องมีเสียงของนักการเมืองที่มากพอสนับสนุน อีกทั้งนักการเมืองที่อยู่ในวังวนการเมืองไทยมานานย่อมวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้วว่า ควรจะอยู่ฝ่ายชนะ เพราะ 7 ปีที่นักการเมือง น้ำลายเหนียว ไร้ตัวตน ไม่มีงบประมาณลงพื้นที่ อาจจะเรียกว่า อดอยากปากแห้ง มานาน ควรจะเลือกไหลไปรวมกับพรรคที่อยู่ฝ่ายเดียวกับ คสช.
    กระนั้นในสนามแข่งขันภาคอีสาน ยังถือเป็น "ฮาร์ดแลนด์" ทางการเมือง ซึ่งนักการเมืองที่ยังเชื่อในกระแส "ทักษิณ" ไม่เลือกที่จะย้ายค่าย และเชื่อว่ายังมีโอกาสลุ้น แม้จะก้ำกึ่ง แต่เมื่อดูจากผลการแบ่งเขตแล้วก็ตาม โอกาสที่จะเกิด "แลนด์สไลด์" ตามแผนที่ทางการเมืองของ "นายใหญ่" อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด 
    ยังไม่นับ "กับดัก" ทางกฎหมายอีกมาก ซึ่งไม่เอื้อให้เพื่อไทยได้ประโยชน์จากกติกาครั้งนี้ ยิ่งทำให้นักการเมืองหลายคนต้องใช้การวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ต่อปรากฏการณ์เอาเปรียบที่เกิดขึ้นดังกล่าว  
    น่าสนใจว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ที่ คสช.จะนัดพรรคการเมือง และ กกต.เข้าร่วมหารือเพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม โดยนายกฯ ได้ให้สมาชิก คสช.ไปทำการบ้าน จัดทำรายละเอียดกันมาว่าจะมีอะไรบ้างที่ต้องนำไปคุยในวันที่ 7 ธ.ค. พร้อมเห็นว่าหลังประชุมแล้วควรมีระเบียบกฎเกณฑ์ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ ส่วนเรื่องการปลดล็อกยังเป็นไปตามเดิม คือหลังจากมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง สำหรับวันเลือกตั้งที่ประชุม คสช.ได้ประเมินสถานการณ์แล้ว ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 24 ก.พ.62
    ซึ่งน่าสนใจว่า เมื่อมีการ ปลดล็อก การหาเสียงของนักการเมืองย่อมเกิดขึ้น ปมสำคัญคือ นโยบาย-โครงการของ คสช.ที่จะเป็นตัวชูโรงให้กับพรรคฝ่าย คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกนำขึ้นมาโจมตีอย่างหนักหน่วง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มเข้มงวดจนนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช.ขยับตัวได้ยาก  
    ปรากฏการณ์ทางการเมืองจะไม่ "นิ่ง" เหมือนเดิม อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องถูกเปิดหน้าทางการเมือง ต้องเจอกับกระแสโจมตีอย่างต่อเนื่อง จะทนกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้หรือไม่ 
    แต่หากโค้งสุดท้าย กระแสสังคมโดยภาพรวมยังมีส่วนที่รับได้กับ คสช. ก็เป็นเรื่องที่ "นายใหญ่" ต้องแก้เกมด้วยแนวอื่น ที่สุ่มเสี่ยงไปสู่สภาวะแวดล้อมในการปฏิเสธการแข่งขันในสนามเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม 
    การเมืองในช่วงก่อนปีใหม่ เหมือนเป็นการชิมลางปฏิบัติการของ คสช.ว่าสังคมจะตอบสนองอย่างไร แต่หลังปีใหม่ไปแล้ว เชื่อได้ว่าการเมืองจะดุเดือดเลือดพล่านกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน!!!.    
                                               ทีมข่าวการเมือง 

     "น่าสนใจว่า เมื่อมีการปลดล็อก การหาเสียงของนักการเมืองย่อมเกิดขึ้น ปมสำคัญคือ นโยบาย-โครงการของ คสช.ที่จะเป็นตัวชูโรงให้กับพรรคฝ่าย คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกนำขึ้นมาโจมตีอย่างหนักหน่วง ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มเข้มงวดจนนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช.ขยับตัวไม่ได้"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"