รวมญาติชาวเล ‘ทวงมติ ค.ร.ม.9 ปี’ แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เผยคดีพิพาทที่ดินถูกนายทุนฟ้องขับไล่ 27 คดี  133 ราย


เพิ่มเพื่อน    

 

พังงา/ เครือข่ายชาวเลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงาน รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 9’ ที่บริเวณอนุสรณ์สถานสึนามิ  บ้านน้ำเค็ม  อ.ตะกั่วป่า  จ.พังงา  ทวงมติ ค.ร.ม.2 มิถุนายน 2553 เพื่อแก้ไขปัญหา 10 ข้อให้แก่กลุ่มชาวเล  แต่ผ่านมาแล้ว 9 ปีแล้วยังแก้ปัญหาหลักไม่ได้  ชาวเลยังถูกจับในเขตอุทยานทางทะเล  ถูกขับไล่ออกจากที่ดิน โดยฟ้องรอ้งรวม 37 คดี  และไร้บัตรประชาชนกว่า 400  คน  ทำให้ขาดสิทธิต่างๆ  เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมแก้ไขปัญหา  และพิสูจน์สิทธิที่ดินที่นายทุนครอบครอง

 

ระหว่างวันที่ 1-2  ธันวาคม 2561 เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน  และหน่วยงานภาคี  เช่น  มูลนิธิชุมชนไท  สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  เครือข่ายสิทธิชุมชนคนจนภูเก็ต  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ฯลฯ  ได้ร่วมกันจัดงาน รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 9’  ที่อนุสรณ์สถานสึนามิ  บ้านน้ำเค็ม   อ.ตะกั่วป่า  จ.พังงา  โดยมีชาวเลและเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ  500 คน  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ  การแสดงศิลปะ  วัฒนธรรม  การเสวนา  และนำเสนอปัญหาต่างๆ ของชาวเล  โดยมีนายพงษ์ศักดิ์  คารวานนท์  รองผู้ว่าฯ จ.พังงาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน

 

 

นายนิรันดร์  หยังปาน  คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามัน  กล่าวว่า  ชาวเลในประเทศไทยมี 3 กลุ่ม  คือ  ชาวมอแกน  มอแกลน  และอูรักลาโว้ย  รวมประมาณ  14,000 คน  อาศัยอยู่ริมชายทะเลด้านฝั่งอันดามันและเกาะต่างๆ  ใน  5 จังหวัด  คือ  ระนอง  พังงา  ภูเก็ต  กระบี่  และสตูล  รวม 44 ชุมชน   ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  และรับจ้างทั่วไป 

 

“ชาวเลอยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ ริมทะเลมานานหลายร้อยปี   ในอดีตชาวเลมักจะไม่ได้เรียนหนังสือ  เพราะต้องร่อนเร่ออกหาปลา  หรือเมื่อตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่งแล้ว  แต่ไม่รู้สิทธิในการแจ้งการครอบครองที่ดินตามกฎหมายที่ดิน  เพราะถือว่าที่ดินและทะเลเป็นของส่วนรวม   หลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 นายทุนและเอกชนกว้านซื้อที่ดินริมทะเลเพื่อสร้างโรงแรมหรือแหล่งท่องเที่ยวจึงอ้างสิทธิครอบครอง  ทำให้เกิดข้อพิพาท  ชาวเลถูกฟ้องขับไล่  หรือถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อเข้าไปในเขตอุทยานฯ ทางทะเล”  นายนิรันดร์ยกตัวอย่างปัญหา 

 

จากปัญหาต่างๆ ชาวเลจึงร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหา  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน  ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน  2553 เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่ชาวเล  จำนวน 10 ข้อ  เช่น  1.การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยด้วยการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล  โดยให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อพิสูจน์สิทธิที่อยู่อาศัยชุมชนชาวเลเป็นการเฉพาะ

2.ให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงตามเกาะต่างๆ และเข้าไปหากินในเขตอุทยานฯ เขตอนุรักษ์ทางทะเล  โดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านได้  รวมทั้งกันเขตพื้นที่จอดเรือ  พื้นที่เข้า-ออก  เพราะที่ผ่านมาทับซ้อนกับพื้นที่ท่องเที่ยว  ทำให้เกิดความขัดแย้ง  3.การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูชาวเลที่ได้รับผลกระทบจากการประมง  การดำน้ำหาปลา  4.การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ยังไม่มีบัตรประชาชน  ฯลฯ  รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วยการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมแก่กลุ่มชาวเล (รวมทั้งชาวกะเหรี่ยง)

 

นางฉลวย  หาญทะเล  ชาวเลอูรักลาโว้ย  เกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล  กล่าวแสดงความรู้สึกว่า  ชาวอูรักลาโว้ยหวังว่าเมื่อมีมติ ค.ร.ม. ปี 2553 แล้ว  ชีวิตของพวกเราจะดีขึ้น   แต่ชาวเลยังถูกอุทยานฯ จับกุมเมื่อเข้าไปหาปลา  โดนนายทุนฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินที่พวกเราอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรษ  บางพื้นที่ถูกกรมเจ้าท่าขับไล่  และชาวเลอีกหลายร้อยยังไม่มีบัตรประชาชน  ทำให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลของรัฐไม่ได้ 

 

“ตอนนี้ชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะนับพันคน  กว่า 300หลังคาเรือน  มีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยและสุสานบรรพบุรุษ  เพราะถูกเอกชนฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่ดิน 4  คดี  เพื่อเอาที่ดินไปขายทำเรื่องท่องเที่ยว   และถูกอุทยานประกาศเขตทับที่ดินทำกิน  และยังถูกจำกัดเขตหากินทางทะเล  ทั้งๆ ที่พวกเราชาวเลเป็นผู้บุกเบิกที่อยู่อาศัยริมทะเล  ไม่ใช่เป็นผู้บุกรุก  เพราะพวกเราอยู่กันมานานก่อนที่จะมีประกาศเขตอุทยานฯ”  นางฉลวยบอกเล่าปัญหาของชาวเล

แบ่งกลุ่มพูดคุยปัญหาชาวเล

 

นายนิรันดร์  หาญทะเล  ตัวแทนชาวเลจากเกาะลันตา  จ.กระบี่  กล่าวว่า  สิ่งที่ชาวเลอยากจะได้  คือกฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม  เพราะชาวเลอาศัยอยู่มานานก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ  แต่เดี๋ยวนี้ปรากฏว่าอุทยานฯ  อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวได้  แต่ไม่ให้ชาวเลเข้าไปหาปลา  ทั้งที่ชาวเลทำประมงแบบพื้นบ้านเพื่อหากินเลี้ยงครอบครัว  และไม่ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ  นอกจากนี้ก็อยากจะแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน  เพื่อให้ชาวเลมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

นางปรีดา  คงแป้น  เลขาธิการมูลนิธิชุมชนไท  กล่าวว่า  มติ ค.ร.ม.ที่ออกมาในปี 2553  มีเนื้อหาให้แก้ไขปัญหาของชาวเลทั้งระยะเร่งด่วน  และระยะยาว  แต่ที่ผ่านมา  9  ปี  ยังไม่ได้ทำอะไรเลย  โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  พื้นที่ทางจิตวิญญาณ  วัฒนธรรม  ฯลฯ  ชาวเลจึงต้องประสบกับปัญหาต่างๆ   ดังนั้นจึงต้องมีการยกระดับมติ ค.ร.ม.ให้เป็นกฎหมาย  โดยการเสนอเป็น พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้มีกฎหมายและมีผลบังคับใช้

 

ชาวเลควรมีสิทธิ์เข้าไปใช้พื้นที่หน้าชายหาดเพื่อหาปลา  ไม่ใช่เฉพาะนายทุน  นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ใช้งบประมาณในการโปรโมทพื้นที่ชายฝั่งอันดามันปีหนึ่งเป็นเงินมหาศาล  ควรจะนำเอางบประมาณสัก 20 เปอร์เซ็นต์มาสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยววิถีชุมชนและวัฒนธรรมของชาวเล  เพื่อให้ชาวเลได้รับประโยชน์  ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว  และที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้ได้ยึดครองพื้นที่จิตวิญาณ  เช่น  สุสาน  พื้นที่พิธีกรรม  ของชาวเลโดยมีเอกสารสิทธิ์  แต่ชาวเลที่อยู่มานานกลับถูกขับไล่  ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล  และให้ชาวเลสามารถปรับตัวอยู่กับการท่องเที่ยวได้”  เลขาธิการมูลนิธิชุมชนไทกล่าว

 

นายวิริยะ  แต้มแก้ว  ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า  พอช.มีนโยบายสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  ซึ่งก็รวมถึงพี่น้องชุมชนชาวเลด้วย  โดยที่ผ่านมา พอช.ได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในเขตป่าชายเลนในพื้นภาคใต้ โดยเริ่มจากจังหวัดสตูล  โดยมีการสำรวจเขตที่ดินป่าชายเลนกับชุมชนให้ชัดเจน  เพื่อกันเขตชุมชนออกจากพื้นที่ป่าชายเลน  และให้ชุมชนดูแลป่าชายเลน  หากชุมชนสามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้  พอช.ก็จะสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง  ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วหลายแห่ง  เช่น  ที่ชุมชนมอแกน  บ้านแหลมสัก  จ.กระบี่ และจะดำเนินการต่อเนื่องในชุมชนอื่นๆ  ในจังหวัดกระบี่และระนองในปีงบประมาณ 2562

 

นายอำเภอตะกั่วป่ารับมอบข้อเสนอแก้ไขปัญหาชาวเล.

 

การจัดงาน “รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 9”  นี้  ชาวเลได้รวบรวมปัญหาต่างๆ พบว่ายังมีข้อติดขัดทั้งนโยบายและการปฏิบัติ ดังนี้ 1.ชาวเลจำนวน 28 แห่งที่อาศัยอยู่ในที่ดินรัฐ  ยังไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งถูกเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน 4 ชุมชน  กว่า 200 ครอบครัว ถูกฟ้องร้องขับไล่ที่  2.พื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ชาวเลใช้เป็นสุสานฝังศพและพื้นที่พิธีกรรม จำนวน 23 แห่ง  ถูกเบียดขับบุกรุกโดยกลุ่มทุน (รวมชาวเลถูกฟ้อง 27 คดี,ราไวย์  จ.ภูเก็ต 23 คดี,เกาะหลีเป๊ะ  จ.สตูล 4 คดี  รวมผู้ถูกฟ้อง 133 คน)  3.ชาวเล 441 คน ไม่มีบัตรประชาชน  ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐานจากรัฐและเป็นช่องทางการเอารัดเอาเปรียบจากสังคม

 

4.ชาวเลบางแห่งไม่สามารถทำการประมง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมได้  เนื่องจากขัดกับกฎหมายของอุทยานฯ และทำให้ชาวเลถูกจับกุม   ทั้ง ๆ ที่ได้มีการหารือจนนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ 8 แห่งแล้วก็ตาม  5.วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวเลถูกทำลายโดยนโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ  6.ชาวเลยังไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ขาดการส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชน  รวมทั้งการสนับสนุนภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นชาวเลอย่างจริงจัง

 

ส่วนข้อเสนอถึงรัฐบาลมี  3  ข้อ  คือ  1.เพื่อทำให้ประเด็นปัญหาของชาวเลตามมติ ค.ร.ม. วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ  มีส่วนร่วมและความเข้าใจที่ดีต่อกันจากทุกภาคส่วน  จึงควรให้มีคณะทำงานด้านแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ชาวเลใน 5 จังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากภาคประชาสังคมและชุมชนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ในการร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา รวมทั้งติดตาม  สรุปบทเรียน  และประมวลปัญหาที่ติดขัดคั่งค้างเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงโครงสร้างและนโยบายต่อคณะกรรมการระดับชาติ

 

2.ในการติดตามผลการแก้ไขปัญหาชาวเลในภาพรวม  ควรจัดตั้งกลไกคณะกรรมการระดับชาติเพื่อติดตามและหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาชาติพันธุ์ชาวเล  และพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินงานในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งต้องการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับกระทรวง และปัญหาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างกฎหมายและนโยบาย

 

3.เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนชาวเลในทุก ๆ ด้าน  จึงเห็นควรให้รัฐมีนโยบายเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล  โดยเริ่มพื้นที่นำร่องที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ  ชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ  เพื่อที่จะถอดบทเรียนและขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553  โดยมีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุน  เพราะเมื่อชุมชนมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและการทำมาหากินแล้ว รัฐก็จะประหยัดงบประมาณในการจัดหาความช่วยเหลือและสวัสดิการเพื่อคนกลุ่มนี้

 

“อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 แล้ว แต่ยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องนี้เท่าที่ควร  เกิดข้อจำกัดในการทำงาน จึงควรจะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องความสำคัญและหลักปฏิบัติในมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553  และมีหนังสือสั่งการไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป”  ข้อเสนอของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ระบุตอนท้าย 

 

 

สำหรับการร่าง “พ.ร.บ.เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์” นั้น  ขณะนี้คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตอยู่ในระหว่างการร่าง  โดยมีสาระสำคัญ  คือ  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมจะครอบคลุมพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยของชุมชน  พื้นที่ทำมาหากิน  รวมทั้งพื้นที่ทางจิตวิญญาณ  เช่น  สถานที่ประกอบพิธีกรรม  สุสาน  ฯลฯ  และหากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่มีการโต้แย้งเรื่องสิทธิ์ที่ดิน  ควรจะมีการตรวจสอบ  พิสูจน์    และคุ้มครองสิทธิ์  โดยคำนึงถึงวัฒนธรรมชุมชน  และเอกสารสิทธิ์ไม่ควรจะเป็นหลักฐานเดียวที่ใช้ในการพิจารณาเรื่องสิทธิ์ในที่ดิน

 

ทั้งนี้การร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตามแผนงานของเครือข่ายชาวเลและหน่วยงานภาคีจะแล้วเสร็จภายในปี 2562  หลังจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.เสนอต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กระทรวงวัฒนธรรม  และกระทรวงท่องเที่ยวฯ  รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เพื่อให้ช่วยผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว

โรงแรมสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมที่ชาวเลเคยอยู่อาศัยที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"