ตั้งเขตวัฒนธรรมชาวเล เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน เพิกถอนสิทธิเอกชนเกาะหลีเป๊ะ 222 ไร่แต่เรื่องยังค้างเติ่ง


เพิ่มเพื่อน    

25 พ.ย.63 - นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทและที่ปรึกษาเครือข่ายชาวเล เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 27-29 พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดกิจกรรม “งานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล” ประจำปี 2563 ที่ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างภาคคีเครือข่ายภาคประชาชน กับตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เพื่อขับเคลื่อนการผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกลไกการแก้ไขปัญหาชาวเล และขยายผลสู่การแก้ไขปัญหาของคนกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ต่อไป

นายไมตรี กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่มีวาระครบรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเลในประเทศไทย ที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงในวิถีชีวิตและสิทธิชุมชน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือและพิจารณาปัญหากรณีเร่งด่วน โดยตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อร่วมกันกำหนดขอบเขตพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จากนั้นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะเข้ามาสนับสนุนทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจะจัดกระบวนการเชื่อมโยงเครือข่ายในการผลักดัน ร่าง พรบ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

“ตอนนี้ชุมชนชาวเลมีปัญหาหนักๆ คือที่หมู่เกาะสุรินทร์ และเกาะพีพี มีการคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ แล้ว ว่า 2 พื้นที่นี้จะตั้งคณกรรมการเพื่อกำหนดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมฯ ส่วนที่เกาะเหลา มีการลงนามข้อตกลงส่งมอบที่ดินให้ชาวบ้านจำนวน 4 ไร่ ในรูปแบบโครงการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ส่วนที่เกาะหลีเป๊ะพบเอกสารสิทธิ์บวมจาก สค.1 ใบเดียว จาก 50 ไร่ ขยายเป็น 100 ไร่ ทับที่ชุมชน ส่วนที่ชุมชนราไวย์ตอนนี้ยังขยับด้านนโยบายไม่ได้มาก เพราะปัญหาส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการศาลแล้วจึงต้องรอให้เสร็จสิ้นก่อน อย่างไรก็ตามปัญหาของชาวเลยังมีหลายประเด็นที่ราชการยังไม่เข้าใจปัญหา จึงถือโอกาสงานรวมญาติชาวเลให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อรัฐมนตรีด้วย” นายไมตรี กล่าว

พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลาผ่านไปครบ 10 ปี นับจากมีมติ ครม. 2 มิ.ย. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล แต่การแก้ไขปัญหาของชาวเลกลับมีความคืบหน้าน้อยมาก ปัญหาสำคัญคือข้าราชการขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งในยุค คสช.มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งมีการยึดที่ดินชาวบ้านที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงการครองครองที่ดิน ชาวเลกับชาวกะเหรี่ยงจึงถูกริดรอนสิทธิมาโดยตลอด ดังนั้นการผลักดันกฎหมายและเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเร่งจัดการสิทธิที่ดินของชาวบ้านให้ชัดเจนก่อน

พลเอกสุรินทร์ กล่าวอีกว่า แม้จะจะเป็นพื้นที่ที่ชาวเลอาศัยมาก่อนจริง แต่ถ้าไม่มีการให้สิทธิที่ดินที่ชัดเจน เขตวัฒนธรรมพิเศษก็จะเกิดไม่ได้จริง เพราะชาวเลอยู่กันมาเป็นร้อยปี ก่อนมี พรบ.ออกโฉนดที่ดิน 2479 ดังนั้นจึงเป็นคนที่อยู่มาก่อนมีกฎหมายที่ดินจึงมีสิทธิในที่ดิน อีกทั้งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2509 ระหว่างกรมป่าไม้กับชาวบ้านพิพาทกรณีป่าสงวน ว่าผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนกฎหมายมีสิทธิในที่ดินเหนือกฎกระทรวงและกฤษฎีกาทั้งปวง

“ในสมัยสงคราม 9 ทัพ ชาวเลในอันดามัน คือทหารไทยด่านแรกที่ต่อต้านทหารพม่าที่ยกทัพมาทางเรือ เพราะสมัยก่อนภูเก็ตไม่มีคนไทยอยู่ ในประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ตมีบันทึกไว้ว่าคนพื้นถิ่นดังเดิมคือ ชาวเลกับชาวมันนิ อีกทั้งชื่อเกาะ ชื่ออ่าวหรือทะเล ถูกตั้งจากภาษาชาวเลทั้งหมด พอขึ้นทางเหนือตั้งแต่จังหวัดประจวบฯไปถึงเชียงราย ชื่อภูเขาเป็นชื่อภาษากะเหรี่ยง พวกเขาเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างชาติไทยมาจนปัจจุบัน” พลเอกสุรินทร์ กล่าว

นายกาญจนพันธ์ คําแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า จริงๆแล้วชาวเลกับอุทยานไม่มีปัญหากัน แต่มีปัญหาระหว่างชาวเลกับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดิน อย่างไรก็ตามทางอุทยานฯได้ทำการตรวจสอบเอกสารสิทธิแล้ว โดยได้ทำเรื่องส่งไปยังกรมที่ดินตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เพิกถอนเอกสารสิทธิจำนวน 40 แปลง ประมาณ 222 ไร่ เพราะเป็นเอกสารที่ไม่ชอบ แต่การต่อสู้กันยาวนาน ล่าสุดใช้นิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย 

“เรายังไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้ชาวเลได้ก็เพราะมีเอกสารสิทธิที่เอกชนบางส่วนแอบอ้าง ส่วนเรื่องหาปลานั้นมีมติครม.อนุญาตชาวเลทำประมงได้ในขอบเขตที่เราหารือร่วมกัน โดยต้องเป็นจุดดั้งเดิมและเครื่องมือเดิม เชื่อว่าหลังจากลงนามจัดตั้งเขตวัฒนธรรมพิเศษ และหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจุดไหนที่อุทยานฯแก้ไม่ได้ หน่วยงานอื่นๆก็ได้เข้ามาช่วย”หัวหน้าอุทยานฯกล่าว

นายกาญจนพันธ์ กล่าวว่าสำหรับบรรยากาศการท่องเที่ยวขณะนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวน้อยมาก และส่งผลกระทบกับชาวเลเพราะบางส่วนมีรายได้จากการรับจ้างขับเรือหางยาวรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งทางจังหวสัดควรหาอาชีพมาเสริม ขณะนี้นักท่องเที่ยวหายไป 70-80% ซึ่งปกติช่วงปลายปีและต้นปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมากันเยอะ แต่ขณะนี้มีเพียงนักท่องเที่ยวไทยซึ่งไม่มากโดยมักมาในช่วงวันหยุดยาวๆ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"