บทเรียนจากเวทีประกวด


เพิ่มเพื่อน    

ในการจัดงาน LGBT Expo ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรกับ LGBT นั้น แม้ว่าการจัดงานแสดงสินค้าจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่การจัดประกวดประเภทต่างๆ นั้นถือว่าเป็นจุดเด่นของงาน เพราะจัดได้ดีตั้งแต่เวที แนวคิดเกี่ยวกับการประกวด การจัดการแสดงสลับการประกวดแต่ละรอบ ในความสนุกที่ผู้จัดได้ให้กับคนดูนั้น พวกเขายังได้ให้ข้อคิดอะไรหลายๆ อย่างที่มีคุณค่า เป็นบทเรียนที่ประเทืองปัญญาคนดู ถ้าหากว่าไม่ได้ดูเอาแค่เพียงความสนุก แต่เก็บเอาข้อคิดจากบทเพลงที่เขาใช้ในการแสดง เก็บประโยคคมๆ จากพิธีกรบนเวที ดูความตั้งใจของคนทำงาน ทั้งคนที่จัดหาชุดมาแสดง คนที่หาชุดมาให้ผู้ประกวด คนที่กำกับเวที และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือความสามารถด้านการสร้างสรรค์ชุด ด้านการสร้างแผนการรณรงค์ทางสังคม และการตอบคำถามของผู้เข้าประกวด ทั้งหมดนี้เก็บมาจากการไปนั่งดูในบางรายการ และเป็นกรรมการตัดสินการประกวด Gay Men ที่มองหาตัวแทนของประเทศไทยไปประกวด Gay Men ระดับโลก

การประกวด Gay Men ครั้งนี้เป็นการประกวดครั้งที่สองในประเทศไทย ผู้ที่ชนะปีที่แล้วเป็นคุณหมอที่ไปร่วมประกวด Gay Men ระดับโลกที่ประเทศสเปน สำหรับปีนี้ผู้ที่ชนะการประกวดจะเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวด Gay Men ระดับโลกที่ประเทศอเมริกาใต้ สำหรับคุณหมอที่เป็นผู้ชนะในปีที่แล้วและได้เป็นตัวแทนของ Gay Men ประเทศไทยไปประกวดระดับนานาชาตินั้น พูดด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ประกาศความเป็นตัวตนที่แท้จริงให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร และยังได้ใช้ความรู้ในการเป็นหมอช่วยให้คำแนะนำและดูแลสุขภาพของคนที่เป็นเกย์ ถือได้ว่าเป็นการได้ทำงานที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชายจริงหญิงแท้ หากมีความมุ่งมั่นที่จะทำดีกับสังคม ก็ย่อมเป็นคนที่มีคุณค่าได้

ก่อนจะถึงวันประกวดบนเวที ผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 15 คนมีการเก็บตัวทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปของการประชุมปฏิบัติการ มีพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำ (Mentor) ในด้านต่างๆ ที่เป็นการให้ความรู้ การพัฒนาความสามารถ การพัฒนาบุคลิกภาพ และพวกเขาจะต้องเรียนรู้จะอยู่ร่วมกัน ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และที่สำคัญพวกเขาจะต้องนำเสนอผลงานการรณรงค์ทางสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาคมของ LGBT และจะต้องเป็นแผนที่นำไปเสนอบนเวทีประกวดระดับนานาชาติได้ด้วย เป็นการยกระดับให้การประกวดครั้งนี้เป็นการประกวดที่เรียกได้ว่าประกวดระดับสากล มีความเป็นโลกาภิวัตน์ ตัวแทนของเวทีประกวด Gay Men ระดับนานาชาติที่มาสังเกตการณ์และมาเป็นกรรมการในการประกวดครั้งนี้เอ่ยปากชมว่า เวทีการประกวดของประเทศไทยเราทำได้ดี เป็นการประกวดที่จริงจังกับการเฟ้นหาตัวแทนของประเทศไทย และเป็นการประกวดที่ให้เกียรติประชาคมของ LGBT ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

บนเวทีนี้ ผู้เข้าประกวดทุกคนคือคนที่ซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น พวกเขาพร้อมที่จะเปิดเผยตนเองแก่ผู้อื่นว่าเพศวิถีและรสนิยมทางเพศของเขาคือชายรักชาย พวกเขาล้วนแล้วจะต้องผ่านประสบการณ์ของการเปิดเผยตนเองกับพ่อแม่ เพื่อนฝูง และนายจ้าง ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายเลย หลายคนเป็นความเจ็บปวด เพราะพวกเขาคือความหวังของพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่บางคนได้รู้ความจริงในข้อนี้ แม้ว่าจะรับได้ แต่ก็ผิดหวังและเจ็บปวด เพราะว่าลูกชายไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเขาคาดหวังได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ทุกคนบนเวทีต่างก็ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า คนที่ยอมรับตนเองด้วยความซื่อสัตย์ และได้บอกตัวตนที่แท้จริงให้กับคนใกล้ชิดได้แล้ว แม้จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวด แต่เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว พวกเขาอยู่ในสังคมได้ด้วยความสบายใจ เพราะสามารถใช้ชีวิตอย่างที่เป็น ได้ทำสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องแอบซ่อนอะไรทั้งนั้น

สิ่งที่มีค่าอย่างมากสำหรับการประกวดบนเวทีนี้คือ คำถามและคำตอบของผู้เข้าประกวด คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำถามจากตัวแทนจากกองประกวด Gay Men โลกที่ถามว่า ทำอย่างไรที่จะให้คนเลิกมองว่า “เกย์รุก” เหนือกว่า “เกย์รับ” หรือ “เกย์ กทม. (กะเทยแอ๊บแมน)” สูงส่งกว่ากะเทยที่ออกสาวและชัดเจนว่าตัวเองเป็นอะไร เขาถามว่าทำไมจะต้องแบ่งแยกศักดิ์ศรีของ “เกย์รุก” และ “เกย์รับ” ด้วย ทำไมคนที่แสดงตนชัดเจนว่าเป็นเกย์ ทำไมถูกมองว่าระดับชั้นทางสังคมต่ำกว่าเกย์ที่มีกิริยาเนียนๆ เป็นผู้ชาย คำถามนี้มีค่ามาก ไม่ว่าคำตอบเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะเป็นคำถามที่ควรถาม และเป็นคำตอบที่ทุกคนควรจะมี และหาหนทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ถ้าหาก LGBT ยังแบ่งแยกศักดิ์ศรีกัน มองกันและกันอย่างไม่ทัดเทียมเช่นนี้แล้ว จะหวังอะไรที่จะให้คนอื่นมาให้ความทัดเทียมกับกลุ่มเพศทางเลือก

ส่วนคำตอบที่น่าสนใจคือ คำตอบที่มีให้กับคำถามที่ว่า “หากคุณเปิดเผยกับเพื่อนว่าคุณเป็นเกย์ แล้วเขาเลิกคบกับคุณ คุณจะทำอย่างไร” คำตอบก็คือ เข้าใจ ไม่โกรธ ไม่ว่าอะไร ตามใจเขา เคารพการตัดสินใจเขา และจะทำดีกับเขาต่อไป ด้วยความเชื่อที่ว่า “น้ำหยดลงหิน หินมันยังกร่อน” ดังนั้นการทำดีโดยไม่โกรธ ไม่ว่าอะไรเพื่อน และทำดีต่อไป เขาน่าจะทำให้เพื่อนที่ไม่ยอมคบกับเขาเพราะเขาเป็นเกย์นั้น จะกลับมาคบกับเขาอีก ผู้เข้าประกวดคนนี้เป็นผู้ชนะการประกวด เพราะนอกจากคะแนนที่ได้ในคืนวันประกวดแล้ว เขายังได้คะแนนสูงจากการจัดทำแผนรณรงค์ทางสังคม ที่เขาทำเรื่องขอให้หยุดการคุกคามทางเพศบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเห็นผู้ชายหล่อ เซ็กซี่ ไม่ควรโพสต์ข้อความว่า “น่ากิน” หรือ “น่าปี้” เพราะนั่นคือการคุกคามทางเพศบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแผนการรณรงค์ทางสังคมเช่นนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก

ที่น่าทึ่งคือ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการประกวดผู้ชายที่เป็นเกย์ ที่ผู้ชนะเป็นเกย์ที่กิริยาท่าทาง คำพูดคำจากระเดียดไปทางผู้หญิง เพราะเวทีประกวดอื่นๆ มักจะเลือกเกย์ที่ดูเป็นผู้ชายมีกล้าม มี Six packs ดูเซ็กซี่แบบผู้ชายล่ำ ในคืนวันนั้น ผู้ชนะไม่ใช่ผู้ชายล่ำ ไม่ได้ดูเซ็กซี่ แต่เป็นผู้ชายฉลาด เป็นผู้ชายที่มีจิตอาสา เป็นผู้ชายที่มีรสนิยมทางเพศกระเดียดไปทางการเป็นผู้หญิง แต่กรรมการที่มีมากกว่า 10 คนต่างก็เทคะแนนให้เป็นผู้ชนะ ซึ่งอาจจะค้านสายตาของคนดูบางกลุ่มที่ยังคาดหวังว่าผู้ชนะเวทีประกวด Gay Men จะต้องมีลักษณะเป็นผู้ชายหล่อล่ำ เซ็กซี่ ได้ผู้ชนะแบบนี้ช่างสะท้อนความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ช่างสะท้อนความเสมอภาคระหว่าง “เกย์รุก” และ “เกย์รับ” ตลอดจน “เกย์เก๊กแมน” กับ “เกย์ชัดเจน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกย์หลายคนอยากให้เป็นเช่นนี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"