ปปช.แบ่ง3กลุ่มยื่นทรัพย์สิน แก้บางตำแหนงไม่ต้องแจ้ง


เพิ่มเพื่อน    

 "วิษณุ" เผย ป.ป.ช.เสนอทางออกแก้ปมร้อนยื่นบัญชีทรัพย์สิน เตรียมแยกเป็น 3 กลุ่มชัดเจน ยกเลิกบางตำแหน่งไม่ต้องแจ้ง ย้ำยึดตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล แบะท่ารับกรรมการบอร์ดที่ลาออกกลับมาทำหน้าที่ตามเดิม บอกทุกอย่างเป็นบทเรียน

    เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่า ขณะนี้ยังไม่ตกผลึก เพราะ ป.ป.ช.ยังไม่ได้แจ้งมาว่าจะทำอย่างไร แต่ตอนนี้เขารู้ปัญหาหมดแล้ว และก็ไปคิดว่าจะออกประกาศอย่างไร ซึ่งเขามีหลายทางออก โดยจะดูว่าทางไหนดีที่สุด และยืนอยู่บนหลักธรรมาภิบาล คือตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยงจะต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าแม้บางตำแหน่งจะไม่ต้องยื่น ก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่ง ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อยู่ดี เช่น หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว แต่การที่ ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบการทุจริต สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกเวลา ดังนั้นต้องแยกให้ออกปัญหาตอนนี้ที่กำลังเกิดคือ ป.ป.ช.จะดูว่าตำแหน่งใดที่สุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ที่แล้วมาเขาไม่ได้ดู เขากวาดไปหมดทุกตำแหน่ง
    ถามว่า อาจจะมีการยกเลิกบางตำแหน่งที่อยู่ในประกาศ ป.ป.ช.ให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง เป็นไปได้ ตรงนี้เป็นข้อเสนอของ ป.ป.ช.เอง ไม่มีใครไปบังคับอะไรทั้งนั้น เท่าที่ได้คุยกับ ป.ป.ช. มีการแบ่งตำแหน่งออกเป็น 3-4 กลุ่ม คือ 1.ตำแหน่งที่ไม่ต้องไปยื่นอะไรทั้งสิ้น และไม่ควรให้ยื่น เพราะไม่ได้สุ่มเสี่ยงใดๆ เลย 2.กลุ่มที่ควรจะต้องให้ยื่น แต่ไม่ต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่ทราบ จะกลัวเรื่องการเผยแพร่ เพราะวันนี้ก็มีหลายตำแหน่งที่ยื่น แต่ไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ 3.กลุ่มที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้น ป.ป.ช.จะต้องไปจัดกลุ่มแบบนี้ 
    "ประกาศที่ออกมาไม่ได้แบ่งเอาไว้แบบนี้ โดยการจะเลือกว่าตำแหน่งใดอยู่กลุ่มใด ไม่ควรใช้สองมาตรฐาน แต่ควรใช้การพิจารณาอย่างมีเหตุผล อย่างองค์การมหาชนมี 40 แห่ง ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)องค์การมหาชนบัญญัติไว้ว่า ห้ามทำมาค้าขาย ป.ป.ช.จะต้องไปดู" นายวิษณุกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวว่า การประกาศฉบับแก้ไข ทาง ป.ป.ช.แจ้งยังไม่เสร็จเรียบร้อยในช่วง 1-2 วันนี้ เนื่องจากเขาคิดว่าเมื่อขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2562 แล้ว ยังมีเวลาที่จะดูเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่ควรจะไปตื่นเต้นและรีบลาออกกัน ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยและกรรมการในองค์การมหาชนที่ลาออกไปแล้ว สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งอีกได้ แต่การกลับมาในบางตำแหน่งนั้นง่าย แต่บางตำแหน่งการกลับเข้ามานั้นยาก เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย เพราะกฎหมายกำหนดว่าการจะเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จะต้องตั้งคณะกรรมการไปสรรหา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน เมื่อสรรหาเสร็จจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนั้นรวมกันทั้งหมดแล้วใช้เวลานานหลายเดือน
    "หากมีการยกเลิกบางตำแหน่ง ป.ป.ช.ต้องมีเหตุผลที่จะทำแบบนั้น และเรื่องนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้คิด เป็นข้อเสนอของ ป.ป.ช.เอง ถ้ามีคนถามว่าทำไม ป.ป.ช.ไม่คิดเช่นนี้ตั้งแต่แรก เขามีเวลาไม่มากหรอก กฎหมายบังคับให้เขาต้องทำแบบนั้น เขาจึงต้องทำ และผมคิดว่าเขารอบคอบ แต่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย และมีความจำเป็นในเวลานั้นที่ทุกอย่างจะต้องเป็นความลับ จะไปปรึกษาใครว่าตำแหน่งนั้นควรต้องยื่นหรือไม่ เขาทำแบบนั้นไม่ได้ แต่วันนี้พอประกาศออกมามีการตื่นตูมกันทั้งบ้านทั้งเมือง เขาก็ได้รับฟังผลตอบรับ ซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าตำแหน่งใดจะต้องยื่นหรือไม่ยื่นก็ต้องยืนบนหลักธรรมาภิบาลและกฎหมาย" รองนายกฯ กล่าว
    เมื่อถามว่า ที่มีการร้องขอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 เป็นไปไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่มีวันทำอย่างนั้น ถ้าจะยกเลิก ป.ป.ช.จะเป็นฝ่ายยกเลิกเอง เขาจะไปหาวิธีของเขาเอง ขอย้ำว่า คสช.จะไม่ไปยกเลิกในสิ่งที่เขาออก เพราะนั่นคือการแทรกแซง แต่ตนไม่บอกว่าเขาจะทำอย่างไร ตรงนี้มีเงื่อนบางอย่างที่ ป.ป.ช.จะต้องไปคิด และถ้าติดปัญหาอย่างไรให้บอก
    “ผมไม่คิดว่า ป.ป.ช.ผิดพลาด ผมยังมานั่งนึกเลยว่าถ้าผมเป็น ป.ป.ช. ผมจะทำอย่างเขาหรือไม่ สรุปคือต้องประกาศออกไปก่อน แต่ก่อนจะประกาศมันมีวิธีการแบบผมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเขาไม่ผิด บางครั้งมันเป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมาย คิดว่าบทเรียนมันก็มีได้ทุกวัน ทุกเรื่อง ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดอะไร" นายวิษณุกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"