'รัฐกระจายโอกาส-ยกระดับคุณภาพชีวิต' กุญแจเดินหน้าประเทศไทย


เพิ่มเพื่อน    

           พรรคเสรีรวมไทย ถือเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองทางเลือก ที่รวมคนรุ่นใหม่หลายสาขาอาชีพ บุกสนามเลือกตั้งในปีหน้า หนึ่งในนั้นมีชื่อของ เก๋-ศตคุณ จูฑะพุทธิ นักการเมืองหน้าใหม่วัย 27 ปี ว่าที่ผู้ลงสมัคร ส.ส.เขต 20 กทม. จบการศึกษาชั้นมัธยมจาก วชิราวุธวิทยาลัย และการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยดุสิตธานี  ที่ผ่านมาเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม International Youth  Leadership ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2551 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีตัวแทนที่เป็นเยาวชนประเทศละ 1 คน จาก 150 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

                เขาเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มที่หันมาสนใจงานการเมืองว่า ช่วงที่ยังเรียนมัธยมฯ เคยเข้าไปสังเกตการณ์ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งได้ฟังคำปราศรัยของแกนนำบนเวที ทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง ก่อนมีการทำรัฐประหารในปี 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ช่วงเวลานั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจการเมือง

                จากนั้นได้เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมอื่นๆ ทั้งของ นปช., กปปส., ม็อบต่างๆ ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยในระยะ 13 ปีที่ผ่านมา

                จนมีคำถามว่า สิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เป็นพลวัตการเมืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จริงหรือไม่ ประกอบกับสภาพสังคมของเราเป็นสังคมอุปถัมภ์ ทำให้การเกื้อหนุนกันระหว่าง ผู้มีอำนาจ และ กลุ่มทุน ไปคู่กันแบบฉลุย ซึ่งจุดนี้เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิด วรรคทองอย่าง รวยกระจุก-จนกระจาย และที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนจะแก้ไขปัญหานี้ได้เลย ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

 

มุมมองความคิดในการแก้ปัญหาทางการเมือง

                 หากเราหวังสิ่งที่ดีกว่า ก็ต้องเชื่อในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าผลมันจะดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ช่วงก่อนและระหว่างกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไปนั้น ย่อมมีโอกาสและความหวัง ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจเองจำกัดขอบข่ายเรื่องดังกล่าวไว้กว้างครอบคลุมถึงกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมมากน้อยแค่ไหน หากระยะทางในการขับเคลื่อนเปิดโอกาสให้เพียงแค่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ หรือต่อให้รวมถึงชนชั้นกลางด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมาคงไม่ต่างจากเดิมอยู่ดี

                “สิ่งสำคัญคือการสร้างโอกาสให้ทุกชนชั้น ในการหาทางถีบตัวเองขึ้นมาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากรัฐสามารถกระจายโอกาสเหล่านั้นครอบคลุมไปถึงคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น การเปลี่ยนแปลงถึงจะเห็นผล ซึ่งประเทศไทยในสภาพที่เป็นอยู่ในตอนนี้ GDP ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว ต่อให้ GDP พุ่งเป็นประวัติการณ์ แต่คนจำนวนมากยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขาได้ ตัวเลขเหล่านั้นจะมีค่าอะไรนอกจากเอาไว้คุยหลอกคนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเศรษฐกิจ หรือได้รับ แต่ไม่ได้รู้สึกว่ามีผลอะไรกับชีวิตไปวันๆ แค่นั้น”

 

ทำอย่างไรประชาชนส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการเมืองด้วยความเข้าใจ

                 เรื่องนี้มันต้องใช้เวลาและความร่วมมือ สิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องขยับคือ เราต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น คิดว่าประเทศไทยยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่เข้าใจว่า ตัวเองมีสิทธิ์ที่จะได้รับอะไรจากรัฐบ้าง ซึ่งแต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน บางคนอาจไม่เดือดร้อนหากไม่ได้รับ บางคนต้องการ แต่คิดว่าการติดต่อราชการมันยุ่งยาก จึงตัดสินใจไม่ไปรับ หากไม่ใช่เรื่องจำเป็นจริงๆ และบางกลุ่มที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกล การสร้างความรับรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอันดับแรก ทำให้คนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ประเด็นนี้สำคัญมาก

                “ที่ผ่านมาผมเห็นหลายกลุ่มพยายามนำเสนอเรื่องการทำความเข้าใจประชาธิปไตย หรือข้อถกเถียงว่าประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ประชาธิปไตยเต็มตัวหรือยัง สำหรับเรื่องเหล่านั้นมันมีผลน้อยมากๆ ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่งกับรัฐ ทั้งนี้ เราคงไม่สามารถไปให้ความรู้เรื่องเหล่านี้กับประชาชนที่ประกอบด้วยหลายช่วงอายุได้ทั้งหมด มันต้องเกิดจากการปรับตัวเข้าหากันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งรัฐสามารถใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ได้”

 

สิ่งแรกที่คิดจะทำ หากมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

                 เรื่องพัฒนาระบบราง จากเมืองใหญ่ในแต่ละภาค กระจายไปยังจุดอื่นๆ ทั่วประเทศไทย ต้องเป็นการยกระดับการให้บริการ รถไฟไทย ทั้ง 4 เส้นทางหลัก เอาแค่ที่มีอยู่แล้วก่อน ไม่ต้องไปทำใหม่ แต่ต้องพัฒนาให้ครอบคุลม เรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ยกระดับการให้บริการ ในส่วนของสิ่งอำนวยความะสะดวก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ให้สามารถเดินทางได้ด้วยตัวเองได้ 

                การควบคุมเวลาการเดินรถ ความสะอาด และราคาตั๋วที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ เพราะปัจจุบันเมื่อพูดถึงรถไฟไทย คนส่วนใหญ่ส่ายหน้ากันหมด เพราะมันไม่มีตรงกลาง ดีไปเลยคุณต้องจ่ายแพงหน่อย หากคุณจ่ายน้อยก็ต้องทนลำบากไปเลย ซึ่งมันต่างกันมาก สรุปคือ ทำอย่างไรให้คนไทยทุกระดับกลับมาใช้รถไฟอีกครั้ง      

                หากตีโจทย์นี้แตก ทำให้คนกลับมาใช้รถไฟเพิ่มขึ้น ผมเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มของการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง เขาย่อมเห็นโอกาสทำมาหากิน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ แนวทางดังกล่าวเป็นการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียม แม้จะไม่สามารถใช้คำว่าทั้งประเทศ แต่ผมเชื่อว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ได้อีก เมื่อโอกาสถูกกระจายไปยังคนหลายกลุ่มอย่างแท้จริง”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"