ปลดล็อกก่อนปีใหม่ เริ่มหาเสียง2ม.ค.หย่อนบัตรเลือกตั้ง24ก.พ.2562


เพิ่มเพื่อน    

 ประชุมแม่น้ำ 5 สาย-พรรคการเมืองชื่นมื่น "วิษณุ" กางปฏิทิน แจงละเอียดยิบ 2 มกราคมประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้หาเสียงได้  14-18 ม.ค.เปิดรับสมัคร ส.ส.และแจ้งชื่อผู้ที่พรรคเสนอเป็นนายกฯ 17 ก.พ.เลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนเลือกตั้งทั่วไปยังเป็นวันที่ 24 ก.พ.เหมือนเดิม "บิ๊กตู่" ขอบคุณพรรคที่ร่วมประชุม ลั่นถือเป็นก้าวแรกเดินหน้ากลับสู่การเป็นประชาธิปไตย "พุทธิพงษ์" เผยปลดล็อกก่อนปีใหม่แน่นอน ส่วนหมู่บ้านเสื้อแดงเคลื่อนไหวแจกออเดอร์จากนายใหญ่เขี่ยเพื่อชาติหนุนเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติเท่านั้น 

    เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป มีตัวแทนจากส่วนต่างๆ
     ประกอบด้วย คสช., คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช., นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และนายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ.
    ด้านตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคต่างๆ 75 พรรค อาทิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค, นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นำโดย นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม กรรมการบริหารพรรค, นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค 
    พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นำโดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค, พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก รองหัวหน้าพรรค, พรรคพลังชล นำโดยนายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรค, พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นำโดยนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค, พรรคเกียน นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรค
นายกฯ ขอบคุณ
    ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่กำหนดให้ คสช.ต้องหารือผู้ที่เกี่ยวข้องถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมหารือเป็นพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคเพื่อชาติ, พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และ  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปฏิเสธเข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ 
    เป็นที่น่าสังเกตว่า การหารือครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปภายในอาคารและห้องประชุม มีเพียงอนุญาตให้ช่างภาพเข้าไปถ่ายภาพช่วงต้นของการหารือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมหารือสามารถนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องประชุมได้ แตกต่างจากการหารือครั้งแรกที่ไม่สามารถนำเข้าไปได้
    จากนั้น ในการประชุมจัดทำแผน ขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองและแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ได้จัดที่นั่ง 6 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร, นายวิษณุ, นายพรเพชร, นายอิทธิพร และนายศุภชัย 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเริ่มการประชุมว่า ในการพบกันระหว่างพรรคการเมืองและแม่น้ำ 5 สายวันนี้ เนื่องด้วย คสช.และรัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความปลอดภัย ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความสงบเรียบร้อยในช่วงต่อจากนี้เป็นต้นไป รวมถึงที่ผ่านมาด้วยตลอด 4 ปี 
    การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ครั้งแรก พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จัดให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อหารือ จัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมขอบคุณทุกคนที่ให้เกียรติมาร่วมประชุมในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกของการเดินหน้ากลับสู่การเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย ในการสร้างการรับรู้ ความมั่นใจ และความเข้าใจ ในแต่ละฝ่ายที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป 
    "ถือเป็นการสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง ขอให้เป็นการหารือกันฉันมิตร เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างหนึ่ง หลายพรรคประกาศและให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีจะมาร่วมวันนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและความตั้งใจที่จะช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย ส่วนบางพรรคการเมืองที่ประกาศว่าไม่เข้าร่วมประชุม ก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง ว่าเข้าใจอะไรถ่องแท้แล้วถึงไม่มา หรือตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่ร่วมมือกับทุกภาคส่วน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
กางปฏิทินเลือกตั้ง
    จากนั้นนายวิษณุชี้แจงว่า โรดแมปทางการเมืองตามที่รัฐบาลเคยชี้แจงให้กับที่ประชุมรับทราบในเดือนธันวาคม 2561 ก่อนประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การเลือกตั้ง จะปลดล็อกการทำกิจกรรมทางการเมือง คำสั่งและประกาศ คสช. จำนวน 9 ฉบับ (ยกเว้นในข้อที่ไม่เกี่ยวกับการทำกิจกรรม) และในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ กกต.จะประกาศใช้ระเบียบการเลือกตั้ง ส.ส. จากนั้นวันที่ 28 ธันวาคม รัฐบาลจะหยุดเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้กับ สนช.
    ส่วนเดือนมกราคม 2562 ในวันที่ 2 มกราคม ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้หาเสียงได้ วันที่ 4 มกราคม กกต.ออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส. จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด เขตเลือกตั้ง สถานที่รับสมัครแบบบัญชีรายชื่อ และในระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม 2562 เปิดรับสมัคร ส.ส.และให้แจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯ วันที่ 25 มกราคม  ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรค
    สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ในวันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และกำหนดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หยุดการพิจารณากฎหมาย จากนั้นที่ 17 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป (ตามข้อเสนอของ กกต.)
    ขณะที่เดือนเมษายน ในวันที่ 25 เมษายน เป็นวันสุดท้ายของการประกาศผลการเลือกตั้ง และในวันที่ 28 เมษายน เป็นวันสุดท้ายที่ คสช. จะคัดเลือก ส.ว.250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศแต่งตั้งต่อไป
    จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม จะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาครั้งแรก และจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ตั้ง ครม.และ ครม.ถวายสัตย์ฯ ซึ่ง ครม.และ คสช.จะพ้นจากตำแหน่ง และ ครม.ใหม่แถลงนโยบาย (ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันถวายสัตย์ฯ)
    ภายหลังการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งใช้เวลาหารือ 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า “การประชุมเรียบร้อยดี ทุกอย่างเรียบร้อย เข้าใจกันดี” ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยกนิ้วโป้ง พร้อมทำสัญลักษณ์มือ “ไอเลิฟยู” 
    ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการเลือกตั้งจะยังคงเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ชี้แจง
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า มีการพูดคุยเรื่องขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้ ทั้งการที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธ.ค. รวมถึงกรอบเวลาจนถึงได้รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะอยู่ประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย.62 
ปลดล็อกเดือน ธ.ค.
    นอกจากนี้ กกต.ยังได้ชี้แจงบางขั้นตอนที่พรรคการเมืองจะนำไปปฏิบัติ โดยช่วงท้ายยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซักถาม ซึ่งมีข้อสังเกตหลายอย่างจากพรรคการเมือง อาทิ กังวลเรื่องเวลาการสังกัดพรรคการเมืองเพื่อให้คุณสมบัติครบที่จะลงรับสมัคร ส.ส.ได้ หรือค่าสมาชิกพรรค ซึ่งหัวหน้า คสช.และประธาน กกต.จะรับข้อสังเกตเหล่านี้ไปพิจารณาและดำเนินการต่อไปเท่าที่ทำได้ ส่วนวันเลือกตั้งมีการยืนยันในที่หารือว่ายังเป็นวันที่ 24 ก.พ.62
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของวันปลดล็อกที่จะให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยอยู่ภายในเดือน ธ.ค.นี้แน่นอน ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ในที่ประชุม คสช.เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงกรณีพรรคการเมืองใหญ่ไม่มาร่วม มีแต่หัวหน้า คสช.ได้ขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่มาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งจะนำไปปรับปรุงให้การเลือกตั้งเรียบร้อยต่อไป ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่ได้มาคิดว่าคงได้ข้อมูล แนวทาง และกรอบเวลาที่จะปฏิบัติในระยะเวลาอันใกล้นี้ 
    เขาบอกว่า วันนี้ทุกอย่างแทบจะชัดเจน เพราะนายวิษณุได้ชี้แจงกรอบเวลาต่างๆ ได้ชัดเจนมาก ว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับและกฎหมาย และรัฐบาลไม่ต้องทำหนังสือแจ้งพรรคการเมืองใหญ่ที่ไม่ได้มาร่วมหารือ เพราะเชื่อว่าคงได้ติดตามอยู่
    ด้านพันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า นายวิษณุได้ชี้แจงถึงปฏิทินการเลือกตั้งโดยสังเขป ว่าในวันที่ 28 เม.ย.62 เป็นวันสุดท้ายที่ คสช.จะคัดเลือก ส.ว. 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศแต่งตั้งต่อไป โดยในวันที่ 9 พ.ค.62 จะเป็นวันสุดท้ายที่จะต้องจัดการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก 
    ในส่วนของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอิทธิพรได้ชี้แจงที่ประชุมเกี่ยวกับแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, การเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง, การเตรียมสถานที่รับสมัคร, การพิมพ์บัตรเลือกตั้ง, การเตรียมสถานที่ลงคะแนน, การเตรียมเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเลือกตั้ง
    ด้านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร ขอความร่วมมือจากพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้สถานการณ์สงบจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งขอความร่วมมือทุกพรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ มุ่งประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคตเป็นหลัก พร้อมย้ำคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดำเนินการไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป
แถมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
    จากการประชุมครั้งนี้ คสช.ขอบคุณทุกฝ่ายพร้อมเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจในการเตรียมการของรัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมถึงได้เห็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในหลากหลายมิติ ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
        พันเอกหญิงศิริจันทร์กล่าวว่า คสช.จะเดินหน้าสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างดีที่สุด ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย
    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงยืนยันกำหนดวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีการขึ้นจอภาพไทม์ไลน์ในห้องประชุมให้พรรคการเมืองได้รับทราบอย่างชัดเจนถึงกำหนดการวันสำคัญต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นตอนของการเลือกตั้งตามโรดแมป พร้อมกันนี้ ยังเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่จะให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วม และยังสอดแทรกเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้กับพรรคการเมือง โดยเรื่องไหนที่เป็นเรื่องดีก็อยากให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง สานต่อ แต่ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องของการถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากบางพรรคการเมือง ซึ่งถือได้ว่ามีความได้เปรียบ
    สำหรับวันปลดล็อกการเมืองนั้น ในที่ประชุมประมาณไว้ว่า พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งน่าจะประกาศในวันที่ 2 มกราคม 2562
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปด้วยดี นายกรัฐมนตรีเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้สอบถาม ซึ่งพรรคชาติพัฒนาได้เสนอแนะว่าจากการลงพื้นที่ ประชาชนยังไม่เข้าใจเรื่องบัตรเลือกตั้ง เบอร์ผู้สมัคร รวมทั้งการเลือก ส.ว. ซึ่งขอให้ กกต.ช่วยประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดบัตรเสียเป็นจำนวนมาก
    วันเดียวกันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ฟังพรรคการเมืองที่ไม่มาร่วม เขาก็พร้อมปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์การเมืองไม่น่ามีอะไรวุ่นวาย ทุกพรรคการเมืองก็อยากเลือกตั้งด้วยกันหมดทั้งนั้น สำหรับบทบาทของทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อมาตรา 44 สิ้นสุดการบังคับใช้ หรือจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่มาทำหน้าที่
    เมื่อถามว่า ทำไมวันนี้ถึงอารมณ์ดีจัง รองนายกฯตอบว่า "ก็ไม่เล่นการเมืองแล้ว มันก็ต้องอารมณ์ดี" ถามต่อว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ หลังการเลือกตั้งใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่รู้ ก็แล้วแต่ พร้อมทำงานหรือไม่ยังไม่รู้ อนาคตเป็นเรื่องที่เราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด"
ยังไม่ได้เจอ
    พล.อ.ประวิตรยังกล่าวว่า ในส่วนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ก็คุยกันได้ ตนคุยได้กับทุกคน แต่ยังไม่ได้เจอ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าเจอจะคุยกันหรือไม่ รองนายกฯตอบว่า ถ้าคุย ก็ถามว่าสบายดีไหม ก็ตอนท่านเป็นนายกฯ ตนก็เป็น รมว.กห. ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์วางเป้าหมายเป็นพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งอันดับ 1 นั้น ทุกพรรคก็หวังอย่างนั้น ก็มีไมตรีทุกพรรค คุยกันได้หมด
    ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรพูดทำนองว่าจริงๆ หากมีอะไรก็สามารถคุยกันได้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คุยกัน ซึ่งท่านก็ทำงานมาด้วยกันกับตนสมัยเป็นรัฐบาล ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะพบเรื่องอะไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีอะไร ต่างคนต่างทำหน้าที่ และต้องเคารพเสียงของประชาชน พรรคการเมืองต่างๆ เสนอนโยบายของตัวเอง แล้วฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร โดยได้คำตอบผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
    ถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ชนะจะยอมให้คนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เราต้องเคารพเสียงของประชาชนอยู่แล้ว ถึงวันนั้นก็จะชัดเจนเองว่าอะไรเป็นอะไร วันนี้ไม่ควรสร้างความสับสนอีกต่อไป ซึ่งแต่ละคนก็เสนอแนวทางของตัวเองและเห็นว่าขณะนี้มีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ไปร่วมเวทีเสวนาทางวิชาการ เห็นชัดว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า การที่พรรคไม่เข้าร่วมประชุมกับแม่น้ำ 5 สาย พรรคพร้อมจะทำตามมติที่ออกมา ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าพรรคที่ไม่เข้าร่วมหารือเพราะไม่พร้อมกับการเลือกตั้งนั้น เป็นคนละประเด็นกัน เพราะประชาธิปัตย์พูดชัดแล้วว่าเหตุผลที่ไม่ร่วมเพราะอะไร ส่วนหนึ่งมาจากตัวนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาลที่พูดค่อนข้างชัดว่าเป็นเพียงการชี้แจง ไม่มีการให้ตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ดังนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลพวกเรา เพราะพวกเราทำตามกติกาอยู่แล้ว
    ขณะที่นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายอภิสิทธิ์แสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมกับพรรค พปชร. ที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ว่าพรรคได้พูดและย้ำในหลักการเดิมว่าพร้อมที่จะพูดคุยกับพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงกัน สามารถทำงานด้วยกันได้ เพราะวันนี้โลกและประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุคใหม่คือ 4.0 จะไป 5 จี แล้ว เราควรทำเพื่อประเทศชาติไม่ย้ำอยู่ที่เดิม และคิดว่าทุกพรรคพร้อมที่จะเลือกตั้งแล้ว โดยให้เสียงประชาชนเป็นคนชี้ว่าอยากได้รัฐบาลอย่างไร เมื่อถึงจุดนั้นก็ให้รอดู 
    เมื่อถามถึงความชัดเจนในการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นายอุตตมกล่าวว่า ยืนยันเหมือนเดิมว่าวันนี้ทำงานในภารกิจที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เมื่อถึงจุดที่งานทั้งหลายลุล่วงไปได้ด้วยดีแล้ว และถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมเราจะลาออก ขอให้รอดูการปฏิบัติของเรา ซึ่งเปิดเผยทุกขั้นตอน
"เสี่ยหนู"มีศักดิ์ศรี
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงสถานการณ์ของพรรคว่า พรรคภูมิใจไทยยังไม่คิดเรื่องการจับขั้ว พรรคเพียงต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน การที่สมาชิกได้เข้าไปในสภา ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว คำว่าผู้แทนราษฎรมีความยิ่งใหญ่ เพราะนี่คือตัวแทนของประชาชน ส่วนตำแหน่งหลังจากนั้น ล้วนเป็นเรื่องของอนาคต เราไม่สามารถกำหนดอะไรได้ทั้งสิ้น เลือกตั้งปี 2554 เราเคยจับมือกับพรรคหนึ่งว่าจะไปด้วยกัน แต่พอหลังเลือกตั้ง เขาเป็นฝ่ายรัฐบาล เราเป็นฝ่ายค้าน
    “ผมทำงานการเมือง ผมมีศักดิ์ศรี ที่ผ่านมามีคนบอกว่าผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีตาอยู่ ผมบอกเลย ตาอินกับตานาเขาแย่งปลากัน แล้วตาอยู่มาคว้าพุงปลาไปกิน ในขณะที่เขาทะเลาะกัน แสดงว่าตาอยู่เป็นคนไม่ดี เพราะแทนที่จะไปไกล่เกลี่ย ดันไปฉวยโอกาส วิถีของตาอยู่ไม่ใช่แนวทางของผม”
    นายอนุทินกล่าวต่อว่า หากพรรคภูมิใจไทยมีเสียงเป็นอันดับรอง ตนจะไม่เป็นนายกฯ และไม่ต่อรองขอตำแหน่ง เนื่องจากพรรคอันดับต้นเขารู้แล้วว่าเราไม่ใช่ตัวจริง ตนไม่อยากตกนรก กลับมาที่ปัจจุบัน พรรคภูมิใจไทยส่งครบทุกจังหวัด แต่อาจจะไม่ครบทุกเขต เพราะเราต้องส่งคนที่เจ๋งที่สุด
    ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากแกนนำคนเสื้อแดง โดยนายอานนท์ แสนน่าน ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงอุดรธานี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้รับ "สัญญาณมาแล้ว" ขอแจ้งไปทางประธานหมู่บ้าน ประธานตำบล ประธานอำเภอ ประธานจังหวัด และประธานภูมิภาคแต่ละภาค ให้สมาชิกทุกท่านเตรียมความพร้อม เพื่อขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย สนับสนุน "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" 
    ในฐานะที่เราเป็น "ประชาชน" โดย "ประชาชน" และเพื่อ "ประชาชน" จะได้ออกมาสนับสนุนพรรคการเมืองที่เรารักและต้องการสนับสนุนได้อย่างเต็ม 100% จึงขอแจ้งให้สมาชิกทราบว่า ในฐานะพวกเราคือ "หมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อประชาธิปไตย" จะเปลี่ยนมาเป็น "หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย" จะสนับสนุนผู้สมัครจาก 2 พรรคการเมืองคือ "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคไทยรักษาชาติ" โดยจะมีผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ลงสมัคร ส.ส.ในจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ ยกเว้นจังหวัดแพร่และจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตจาก "พรรคไทยรักษาชาติ"
    ส่วนภาคใต้ จะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตจาก "พรรคไทยรักษาชาติ" ครบทุกเขต ในขณะที่ทางภาคกลางจะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตสลับกันระหว่าง "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคไทยรักษาชาติ" ให้สมาชิกพวกเราพร้อมสนับสนุนให้มี ส.ส.ระบบเขตเกิน 200 คน และมี ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ เกิน 80 คน จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองได้ ซึ่ง "พรรคเพื่อไทย" ก็จะสามารถกลับมาช่วยเหลือประชาชนเรื่องปากท้องได้เป็นอย่างดี
หมู่บ้านเสื้อแดงขยับ
    ซึ่งในวันที่ 10 ธันวาคมนี้เราจะมีการประกาศจุดยืนและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ไม่ให้มีการเลื่อนเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด โดยจะมีการรวมตัวกันแสดงการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ ณ หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย บ้านทุ่งใหญ่ ต.ทุ่งใหญ่ อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป จึงอยากให้สมาชิกที่ใกล้เคียงมาพร้อมกัน โดยทางนายอฤเดช แพงอะมะ ส.อบจ.อุดรธานี เขต อ.ทุ่งฝน จะคอยต้อนรับสมาชิก "ทุกคนมาด้วยใจ ไม่มีการจ้าง มาแสดงพลังผู้รักประชาธิปไตย" ให้ฝ่ายเผด็จการได้เห็นกันว่า "สัญญาณมาแล้ว เราพร้อมขับเคลื่อนและเดินหน้าต่อไป"
    นายสุธรรม แสงประทุม สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ  และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรค หากมีการปลดล็อกทางการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมได้ว่า มีการพูดคุยกันไว้บ้าง คงจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งการเตรียมผู้สมัคร คงจะมีการประชุมสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงภารกิจ แนวคิด สิ่งที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อไปตอบสนองความต้องการชาวบ้าน พรรคก็ได้ศึกษามาระดับหนึ่ง ตนก็เคยทำมาตั้งแต่พรรคเก่า เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะมาจากรากฐานเดิมคือไทยรักไทย ส่วนกิจกรรมการลงพื้นที่ เวลานี้ยังไม่ลงในรายละเอียดจะไปที่ใดบ้าง ฝ่ายจัดคิวก็มีการเตรียมการไว้บ้าง   
    เขาเผยว่า บรรยากาศการประชุมภายในพรรคเป็นไปอย่างราบรื่น ต่างคนต่างมา พยายามสร้างความเข้าใจ เราต้องไปรบทัพจับศึกข้างนอก ต้องร่วมใจร่วมมือกัน ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะจัดอย่างไร จะได้ลงในส่วนของบัญชีรายชื่อหรือเขต ยังไม่ทราบ คงรอใกล้ๆ เลือกตั้งคงจะบอกได้
    นายสุธรรมยังกล่าวว่า กระแสข่าวที่ตนไม่พอใจในการประชุมพรรค เนื่องจากมีการติดป้ายชื่อระบุที่นั่งเอาไว้เฉพาะบุคคล แต่ตนไม่มีชื่อ จึงไปดึงป้ายชื่อคนเดิมออกนั้น ที่นี่ไม่มีการล็อกที่นั่ง ที่นี่ไม่มี 
    "แต่ที่เพื่อไทยมี เขียนป้ายเต็มไปหมด ล็อกเก้าอี้ ผมเลยบอก ไม่ใช่ป่าสงวน จะมาออกเอกสารสิทธิอย่างนี้ได้อย่างไร ตอนนั้นก็พูดเล่น ที่นี่ป่าสาธารณะ จะมาออกเอกสารสิทธิตามอำเภอใจได้อย่างไร แต่ที่พรรคไทยรักษาชาติไม่มี" นายสุธรรมกล่าว 
    ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยโบว์-น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา เดินสายให้กำลังใจ 7 พรรคต้าน คสช. มีการมอบช่อดอกกุหลาบขาวแก่แกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล เพื่อเป็นกำลังใจในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนชัดเจนในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
    นอกจากนี้ยังเดินทางไปพรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรีด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนกลับมวลชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ตะโกนชื่นชมพรรคอนาคตใหม่พร้อมกันว่า "ศรัทธาประชาธิปไตย ศรัทธาอนาคตใหม่".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"