บัตรเลือกตั้ง 2 แบบ 'รอเคาะ' ไปต่อยาก 'ไร้โลโก้-ชื่อพรรค'


เพิ่มเพื่อน    

 

      การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำสัปดาห์ ทั้งในวันอังคาร-พุธนี้ ถูกจับตามองกันว่า สุดท้ายแล้ว “กรรมการการเลือกตั้ง” จะมีท่าทีต่อแนวทางการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะใช้ในการเลือกตั้งปีหน้าอย่างไร หลังมีข้อเสนอมาจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการ กกต. ที่เป็นฝ่ายธุรการของ กกต. ว่าอาจจะให้พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส. โดยไม่มีโลโก้พรรคและชื่อพรรคการเมืองในบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้มีแต่ชื่อกับเบอร์เท่านั้น

      อย่างไรก็ตาม ท่าทีล่าสุดก่อนที่จะถึงการประชุม กกต.พบว่า เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.กำลังพิจารณา ที่คาดว่าจะได้ข้อยุติในสัปดาห์หน้า จึงทำให้หากเรื่องจะส่งไปให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา ก็อาจต้องรอสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป

      โดย "ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล" รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยไว้ว่า เรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ขณะนี้อยู่ในขั้นการทำงานของสำนักงาน โดยออกแบบไว้ 2 รูปแบบ

      รูปแบบแรก มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง รูปแบบนี้ออกแบบเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว และได้มีการทาบทามบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิต แล้วจำนวนหนึ่ง โดยจากการประสานยืนยันว่าทุกบริษัทสามารถพิมพ์บัตรรูปแบบดังกล่าวแยกเป็นรายเขตได้ครบทั้ง 350 เขต ระบบป้องกันการปลอมแปลงบัตรมีมาตรฐานไม่ต่างจากที่ผ่านมา และจัดส่งได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดทีโออาร์ก่อนประกวดราคา แต่ต้องรอการตัดสินใจเลือกรูปแบบบัตรของ กกต.ก่อน

       รูปแบบที่ 2 คือบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งรูปแบบนี้เกิดจากเมื่อได้รูปแบบบัตรที่มีข้อมูลสมบูรณ์แล้วและมีการไปประชุมกับหน่วยงานสนับสนุนระบุว่า การขนส่งบัตรไปยังผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรซึ่งจะต้องเป็นบัตรของเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีสิทธิอยู่ ในรอบแรกไม่มีปัญหา แต่หากเกิดปัญหาบัตรที่ส่งพลัดหลง หรือส่งไม่ถึงมือ การจะส่งบัตรสำรอง ต้องส่งคนตรงเขต ไปให้อาจมีปัญหา มีข้อเสนอว่าให้พิมพ์บัตรโหล เพราะถ้าเกิดปัญหา บัตรที่ส่งพัดหลงก็สามารถนำบัตรจากที่อื่นทดแทนได้ ซึ่งถ้า กกต.จำเป็นจะต้องพิมพ์บัตรลักษณะนี้ สำนักงานก็จะอุดช่องว่าง โดยจะมีการส่งข้อมูลผู้สมัครพรรคการเมืองของเขตที่ผู้ลงทะเบียนฯ มีสิทธิไปให้ทราบด้วย และได้มีการผลิตเครื่องสมาร์ทโหวตเพื่อบริการข้อมูล ผู้สมัครพรรคการเมืองผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพียงผู้มีสิทธิกรอกข้อมูลเลขข้อมูลเลข ประจำตัว 13 หลัก ในมือถือก็จะขึ้นข้อมูลผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิให้ทราบ รวมทั้งมีการผลิตโปสเตอร์ขนาดเล็กที่มีรายชื่อของผู้สมัครทุกพรรคติดไว้ยังสถานที่ลงคะแนน

       "ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อมูลที่สำนักงานจะเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจของ กกต. ไม่ได้หมายความว่า กกต.ตัดสินใจแล้ว เรากำลังจะประชุมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด วันอังคารที่ 11 ธ.ค. สำนักงานจะมีการคุยกับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อหาข้อสรุปและเสนอ กกต.แล้ว เพราะจำเป็นต้องทำทีโออาร์ส่งหาผู้รับจ้างแล้ว ดังนั้น คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด"

      แม้ยังไม่มีความแน่ชัดว่าสุดท้าย กกต.จะเอาอย่างไร แต่ประเมินกันเบื้องต้น หากสำนักงาน กกต.จะเอาจริงกับการให้พิมพ์บัตรเลือกตั้งโดยไม่ให้มีชื่อพรรค-โลโก้พรรค โดยจะพิมพ์บัตรในสูตรที่สองคือ “บัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร” คงทำให้ กกต.เจอแรงเสียดทานอย่างหนัก เพราะเห็นได้ชัดว่า เวลานี้ทั้งพรรคใหญ่-พรรคเล็ก พรรคใหม่-พรรคเก่า ต่างประสานเสียงรุมถล่มสำนักงาน กกต.อย่างหนัก กับไอเดียไม่มีชื่อพรรค-โลโก้พรรค ยิ่งหากไม่มีชื่อผู้สมัครด้วย ก็ยิ่งโดนค้านอย่างหนัก ซึ่งหาก กกต.จะเอาด้วยกับข้อเสนอนี้ ก็เตรียมรับก้อนอิฐอย่างเดียว งานนี้ ไม่มีเสียงชื่นชมให้ได้ยินแน่นอน แม้ในความเป็นจริง หลายฝ่ายก็ยอมรับว่า หากดูจากโรดแมปการเลือกตั้งตามที่ได้มีการจัดทำกันไว้คือ 25 ม.ค.2562 กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อของทุกพรรค จากนั้น  4-16 ก.พ.2562 วันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กระบวนการจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังต่างประเทศ จะมีเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดและอาจเกิดปัญหายุ่งยากในการส่งจัดส่งบัตร

      อันเป็นเหตุผลหลักที่ฝ่าย กกต.ยกนำมาอธิบายต่อสังคม อย่างเช่น “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา" เลขาธิการ กกต. ที่พูดประเด็นนี้ไว้ว่า ตามปฏิทินการทำงานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอต่อที่ประชุมร่วมพรรคการเมืองเมื่อ 7 ธันวาคม ถ้าปิดรับสมัครในวันที่ 18 ม.ค.2562 ในวันที่ 25 ม.ค. กกต.ประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ และวันที่ 4-16 ก.พ.เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

       “เท่ากับระยะเวลาในการจัดพิมพ์บัตรและส่งบัตรก่อนที่จะถึงห้วงแรกที่คนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิเลือกตั้งค่อนข้างกระชั้น จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองเรื่องบัตรเลือกตั้งเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องนำปัจจัยต่างๆ รวมทั้งความเห็นทั้งหมดนำเสนอ กกต.เพื่อพิจารณาต่อไป”

      ปมยุ่งยากดังกล่าวมีหลายข้อเสนอที่ขอให้ กกต.หาทางออก ดีกว่าที่จะเดินหน้าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีชื่อพรรค-ชื่อผู้สมัคร-โลโก้พรรค เช่นแนวทางของ "นิกร จำนง" แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มองปัญหานี้ไว้ว่า ทางออกแก้ปัญหาเรื่องนี้ ให้แบ่งบัตรเป็น 2 ประเภท คือ 1.บัตรที่มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัครที่ กกต.จะนำมาใช้ครั้งนี้ หรือบัตรโหล ให้นำไปใช้เฉพาะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรวันที่ 4-16 ก.พ.2562 เพื่อแก้ปัญหาขนส่งบัตรไม่ทัน 2.บัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ทั้งชื่อและโลโก้พรรคให้นำไปใช้กับการเลือกตั้งในประเทศ โดยให้เปลี่ยนวิธีจัดซื้อจัดจ้างให้โรงพิมพ์แต่ละจังหวัดจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งได้ แทนการให้ส่วนกลางจัดพิมพ์เพื่อความรวดเร็ว เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้สมัครแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้เบอร์ไม่ตรงกัน จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุม กกต.กับพรรคการเมืองในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ และไม่เห็นด้วยหากจะต้องมีการถึงกับไปแก้ไข พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีผลบังคับใช้ 11 ธ.ค.นี้ เพราะมองว่าจะยิ่งเข้าทางทำให้การเลือกตั้งขยับออกไปจาก 24 ก.พ.2562

      การตัดสินใจทั้งหมด สุดท้ายแล้วคงอยู่ที่ 7 เสือ กกต.” จะพิจารณาชี้ขาด โดยเฉพาะหากเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.เสนอทางเลือกมาให้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ ซึ่งแม้เวลานี้ทุกพรรคการเมืองจะดาหน้าคัดค้านไม่เอาบัตรเลือกตั้ง ไม่มีชื่อพรรค-โลโก้พรรค แต่ถึงเวลาก็ต้องดูว่าฝ่าย กกต.จะมีมติอย่างไร แม้เท่าที่หลายฝ่ายจับกระแสดู หากพรรคการเมืองทุกพรรคทั้งพรรคใหญ่-พรรคเล็ก จับมือกันดาหน้าไม่เอา แล้วส่งเสียงดังๆ ไปในการประชุมร่วมระหว่าง  กกต.กับพรรคการเมืองวันที่ 19 ธ.ค. ก็คาดว่า คงทำให้ กกต.ต้องคิดหนัก หากจะเดินหน้าบัตรเลือกตั้งลักษณะดังกล่าว เพราะถึงตอนนี้ยังไม่เห็นมีเสียงสนับสนุนเกิดขึ้น

      เพราะไม่ใช่แค่นักการเมือง นักเลือกตั้ง ที่ไม่เห็นด้วย แต่หลายฝ่ายเช่นนักวิชาการ ก็ออกมาชี้ปมข้อเสียของการมีบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อพรรค-โลโก้พรรค เช่น “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นโดยสรุปไว้ตอนหนึ่ง

       “การที่ กกต.จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องประหลาดและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง..เรื่องนี้ถ้า กกต.ไม่ถอย ก็จะลามเป็นความสงสัยไปถึงการเลือกตั้งทั้งหมดได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแต่ประการใด..ถอยเถอะครับ โลโก้ไม่มีอาจจะพอได้ คนก็อาจจะสงสัยว่าแล้วจะขอโลโก้ตอนตั้งพรรคไปทำไม แต่ชื่อพรรคการเมืองนี่ยังไงก็ต้องมีครับ ถ้า กกต.จะเดินหน้าทำบัตรเลือกตั้งแบบไม่มีชื่อพรรคการเมืองต่อไปนี่ ผมเกรงว่าจะไปกันต่อไม่ได้ครับ”

      แรงต้านหนักอย่างนี้ หาก กกต.เดินหน้าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ไม่มีชื่อโลโก้-ชื่อพรรค โดยไม่หาข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ มีหวังถกร่วม กกต.-พรรคการเมือง 19 ธ.ค. อลเวง วงแตก แน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"