จาก'งานฤดูหนาว'ในอดีตถึงงาน'อุ่นไอรัก'


เพิ่มเพื่อน    

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  รัชกาลที่ 8  เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรและเปิดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2481 ที่สวนสราญรมย์

 

จากคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่พูดถึงงานฤดูหนาวว่า "หลายคนอาจไม่รู้ที่มานะครับ ว่างานฤดูหนาวในอดีตกับงานอุ่นไอรัก มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร" หลายคนคงไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินชื่องานฤดูหนาว ฉะนั้นสัปดาห์นี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความรู้จักกัน  

 "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เล่าเรื่องความสนุกในวัดเบญจมบพิตร เอาไว้ดังนี้...

เจ้าหน้าที่สมาคมสำนักเบญจมบพิตร ต้องการให้ข้าพเจ้าเล่าเรื่องในวัดเบญจมพิตร ให้แก่หนังสือเบญจมบพิตรสัมพันธ์ที่จะออกในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ ข้าพเจ้าจึงส่งจิตกลับไปตรวจค้นตั้งแต่ได้รู้จักวัดเบญจมบพิตรมาแต่เด็กๆ ได้ความดังจะเล่าให้เด็กที่ไม่เคยเห็นเช่นตัวข้าพเจ้าฟังดังต่อไปนี้

งานที่สนุกที่ ๑ ในวัดเบญจมบพิตร คืองานออกร้านในวัดนี้ อันเป็นงานประจำปีในฤดูหนาว เพื่อเก็บเงินบำรุงวัดซึ่งยังไม่แล้วเรียบร้อยดี เรียกกันในสมัยนั้นว่า "งานวัด" ร้านต่างๆ มีตั้งแต่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สุดแต่ใครมีกำลังจะทำได้ จนถึงชาวต่างประเทศผู้เป็นนายห้างใหญ่ๆ บริเวณร้านอยู่ในเขตรั้วเหล็กแดงเท่านั้น ต่อมาทางตัวพระอุโบสถก็มีแต่พวกร้านขายธูปเทียนดอกไม้และทองเปลว สำหรับผู้จะไปบูชาพระและทำบุญ พวกเราเด็กๆ มิได้เคยไปทางนั้นเลย ซ้ำกลัวว่ามืดอีกด้วย เราพากันวิ่งวุ่นอยู่แต่ทางร้านต่างๆ ซึ่งเห็นในเวลานั้นว่าใหญ่โตมโหฬารสุดหล้าฟ้าเขียวซ้ำยังมีสถานที่ที่เรียกว่า สำเพ็ง อยู่นอกรั้วแดงทางถนนราชดำเนินอีกเมืองหนึ่ง  มีทั้งโรงโขนชักรอกและเขาวงกฎที่เข้าไปแล้วออกไม่ได้ จนกว่าจะเดินถูกทาง ร้านในแถวสำเพ็งอย่างเดียวกับงานภูเขาทอง ผิดกับข้างในวัดอย่างเทียบไม่ได้ เพราะความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความนิยมผิดกัน 

ทุกคนที่ก้าวเข้าประตูเหล็กแดงเข้าไปแล้ว จะรู้สึกเหมือนเมืองๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน  ผู้คนแต่งตัวสวยๆ งามๆ ร้านจัดกันอย่างประณีตและเรียบร้อย ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม นอกจากเสียงดนตรีเบาๆ พอได้ยินพูดกันไม่ต้องตะโกน ไม่มีคนแน่นจนถึงเบียดเสียดกัน ไม่มีใครมาถ่มขากปล่อยเชื้อโรคข้างๆ ตัว และสิ่งที่วิเศษยิ่งก็คือ ไม่มีขโมยเลย ฉะนั้นทุกคนที่มีเพชรนิลจินดาก็แต่งกันได้วุบวับ  (ที่ไม่มีอาจจะยืมเขามาบ้างก็คงมี) ทุกคนหน้าตาเบิกบาน เสียงทักทายกันแต่ว่า "ร้านอยู่ไหน เดี๋ยวไป"  เพราะร้านของใครก็พาครอบครัวไปนั่งเป็นเจ้าของร้าน เป็นผู้ขาย ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะได้เฝ้าในหลวงของเขาทั่วกัน ใครอยากเฝ้าก็นั่งอยู่หน้าร้าน เวลาเสด็จผ่านทางหยุดทอดพระเนตรและทักทายเจ้าของร้าน ทั้งครอบครัวก็ได้เฝ้า ใครอยากทูลอะไร อยากถวายอะไรก็ถวายได้

อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้นพวกนักเรียนเมืองนอก กำลังเรียนจบทยอยกันมาทุกปี ท่านพวกนี้เปรียบเสมือนเทวดาตกลงมาจากสวรรค์ ความคิดของท่านไม่ยอมให้ คลุมถุงชน นั้นเป็นแน่ ฉะนั้น "งานวัด" นี้ จึงเป็นที่หนุ่มสาวเขาเลือกคู่กันเอง แต่เขาไปนั่งคุยกันตามร้าน ไม่มีไปไหนด้วยกันได้ พวกเราเด็กๆ  ขนาด ๑๑-๑๒ ขวบอยู่นอกเกณฑ์ ก็วิ่งเล่นสนุกแทบตาย ความสนุกนั้นคือ ไปเที่ยวตามเด็กรุ่นเดียวกัน ไปเที่ยวดูตุ๊กตา แม้จะแพงซื้อไม่ได้ เพียงไปนั่งดูก็สนุก ออกจากร้านตุ๊กตาไปร้านตกเบ็ด เขาทำเป็นสระและห่อสลากเป็นรูปสัตว์น้ำต่างๆ อยู่ในนั้น มีเบ็ดแม่เหล็กไว้ตรงปลาย ใครจะตกเบ็ดก็เสีย ๑ บาท แล้วยื่นเบ็ดลงไปในสระ ห่อสัตว์เหล่านั้นมีเหล็กอยู่ข้างใน ก็กระโดดขึ้นมาติดเบ็ดเรา ชอบเสียจริงๆ จังๆ 

อีกแห่งหนึ่งก็คือร้านที่มีกลไกต่างๆ เช่น มีร้านหนึ่งจัดเป็นถ้ำและมีลำธาร พาเรือลำเล็กขนาดนั่งคนเดียวลอยเข้าไปในถ้ำ แล้วพากลับออกมาเอง เราไปยืนดูเห็นประหลาดหนักหนาว่าทำไมเรือมันไปเองได้ และในน้ำมีอะไรบ้าง อยากรู้เสียจริงๆ ตกลงนัดกันว่าเราจะลงกันคนละลำ (มีอยู่ ๓ ลำ) ถ้าเขาเป่านกหวีดให้เรือออก เราจะเอามือสาวฝั่ง ๒ ข้างให้มันไปเร็วเข้า จนเห็นว่าทำไมเรือมันไปเองได้ เมื่อซื้อตั๋วใบละบาทและลงนั่งในเรือแล้ว พอเขาป่านกหวีดปล่อยเรือ เราก็สาวฝั่งเข้าไปในถ้ำ พอโผล่ก็เจอผู้ชายคนหนึ่งกำลังยกโพงสังกะสีพุ้ยน้ำดังโพล่งๆ เราตะโกนพร้อมกันว่า "นั่นแน่!" ตาพุ้ยน้ำหดตัวกลับเข้าไปหลังหิน หายเงียบ เราภาคภูมิใจเสียจริงๆ ว่าจับได้แล้วว่าทำไมเรือมันไปเองได้ กลับออกมาคุยโขมง จนเจ้าของร้านต้องมากระซิบว่า อย่าเอะอะไป

ที่ที่สนุกอีกแห่งหนึ่ง ก็คือในเมืองจีนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีประตูตีตั๋วเข้าไปข้างใน แล้วมีร้านเป็นห้องๆ รอบสี่เหลี่ยมขายอาหารจีน ขายน้ำชา ขายจันอับ และอะไรต่างๆ ที่เป็นจีน มียกพื้นเล็กๆ อยู่ตรงกลางเมืองให้พวกตลกเล่น พวกเราติดละครตลก การเข้าเมืองนั้นเป็นอันไม่ได้ตีตั๋ว เพราะเราคุ้นเคยกับพวกขายตั๋วเสียแล้ว เราวิ่งเข้าวิ่งออกได้สบาย ส่วนเงินที่ใช้จ่ายบ้างนั้น ถ้าไม่มีหรือหมดก็เที่ยวขอพวกผู้ใหญ่ ซึ่งโดยมากเขาให้เพราะไม่ต้องการให้กวน เป็นอันว่างานเบญจมฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นทุกคนสนุก เช่น

๑.ผู้ใหญ่ก็ได้พบกันทั่วถึง ทั้งได้เฝ้าในหลวง ซึ่งตามธรรมดาแม้จะเฝ้าได้ง่าย ก็มักจะเป็นในเวลาการงาน ไม่เป็นไปรเวตเช่นในงานวัดนี้ และยังได้ทำบุญตามเสด็จในการพระราชกุศลด้วยเพราะงานจะมี  ๕-๗ วันก็ตาม ในวันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำพระสงฆ์ออกเที่ยวด้วยพระองค์เอง และเจ้าของร้านต่างๆ ก็มีของถวายใส่ย่าม เช่น ตักบาตร วันไหนพระเที่ยว พวกเราเด็กผู้หญิงก็ถูกเก็บตัวไว้กับร้านเพราะไม่ให้เข้าไปยุ่ง

๒.พวกหนุ่มสาวก็มีโอกาสได้รู้จักกัน พร้อมทั้งผู้ใหญ่ก็รู้เห็น ไม่ต้องลักขโมยรักกัน สิ่งที่น่ารำคาญที่มีอยู่ก็คือ สงครามแย่งกัน ใส่ความกัน อย่างน่าสยดสยอง สงครามเงียบชนิดนี้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมาตั้งแต่คลุมถุง ไม่คลุมถุง และแม้ฉีกถุงแล้วก็ตาม ทุกสมัยล้วนแต่แย่งกัน เป็นมูลเหตุอย่างน่าอนาถ อย่างไรก็ตาม หนุ่มๆ สาวๆ ก็ยังได้สนุกสนานดังใจ แม้พักหนึ่งเท่านั้นเอง

๓.พวกเด็กก็สนุก ได้รู้ ได้ดู ได้เห็น ได้ซนสมใจ แต่ซนของเราไม่มีสิ่งสกปรกเจือปนเลย    ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าระลึกถึงงานวัดเบญจมฯ และคุยถึงเรื่องงานวัด เราทุกคนที่ทันได้เห็น ยังสนุกอยู่ไม่รู้หาย แต่เมื่อผ่านวัดไปหรือเข้าไปกับพวกนักท่องเที่ยวก็ดี ข้าพเจ้าอดหยุดยืนหัวเราะและนึกขำในใจไม่ได้ ว่าเมืองจีนเมืองถ้ำเขาลำธาร มีเรือทั้งลำๆ ร้านรวงใหญ่โต ร้านข้างในเป็นแถว ร้านเจ้านาย ขุนนาง นายห้าง พ่อค้า ฯลฯ ตายจริงเนื้อที่นี้เอง

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗  เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ โดยในวันดังกล่าวได้มีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวาระแห่งการฉลองรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ ๑๐-๑- ธันวาคม โดยมีกำหนดการเป็นเวลา ๓ วัน

นับแต่ปี ๒๔๗๕ ที่มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้จัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญควบคู่กันได้วย ถ้าเป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นมหรสพได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในรูปแบบของการออกร้านขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนการละเล่นหรือกิจกรรมการแสดงมากมาย ทั้งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินการของส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งภาคเอกชนในภาคส่วนต่างๆ 

เป็นผลให้ประชาชนให้ความสนใจมาร่วมงานพร้อมทั้งนำบุตรหลานเที่ยวเล่นภายในงานอย่างสนุกสนาน เนื่องจากเป็นการจัดงานที่มีรูปแบบแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดในสังคมไทย สำหรับสถานที่จัดงานในบางปีมีสถานที่ที่ต่างกัน อาทิ พระราชวังอุทยานสราญรมย์ (วังสราญรมย์) สนามหลวง เขาดินวนา สวนอัมพร สวนลุมพินี และท่าราชวรดิฐ 

ในส่วนของช่วงเวลาก็มีความแตกต่างกันในแต่ละปีเช่นเดียวกับสถานที่จัดงาน โดยปกติแล้วรัฐบาลจะกำหนดจัดงานประมาณ ๗ วัน ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ ธันวาคมของแต่ละปี และไม่เพียงมีการจัดงานในพระนครหรือกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ละจังหวัดต่างๆ ต้องมีกิจกรรมงานฉลองฯ ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย 

อย่างไรก็ตาม จำนวนวันและกิจกรรมอาจจะแตกต่างกันมากน้อยขึ้นอยู่กับงบประมาณและศักยภาพของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้อาจกล่าวได้คือ บรรยากาศงานฉลองรัฐธรรมนูญในช่วงที่มีความบันเทิงสนุกสนานและยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ในระหว่างปี ๒๔๗๕-๒๔๘๓ และเป็นงานที่ยิ่งใหญ่กว่างานฤดูหนาวในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จัดขึ้นในบริเวณวัดเบญจมบพิตร 

การเล่นแบดมินตันในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

แต่ถึงกระนั้นงานฉลองรัฐธรรมนูญไม่อาจดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องทุกปีด้วยเหตุสภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่มีความสงบเรียบร้อย จึงมีการงดเว้นการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในหลายช่วงเวลา อาทิ ระหว่างปี ๒๔๘๔-๒๔๙๐ หรือปี ๒๔๙๒  

อนึ่ง งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี ๒๔๘๔ ต้องยุติลงกลางคันเนื่องจากการบุกของกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ 

ปรีดี หงษ์สตัน ได้บรรยายภาพให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของงานฉลองรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมว่า ในปี ๒๔๗๕ รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่ก็มีราษฎรและห้างร้านต่างๆ เสนอตัว เข้าร่วมจัดงานเป็นจำนวนมาก มีการส่งสิ่งของมาช่วยเหลือ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร น้ำแข็ง ผลไม้ หรือการให้ยืมไม้สำหรับปลูกโรงมหรสพและสายไฟ มีการบริจาคดอกไม้เพลิง 

รวมทั้งมีการนำคณะละครของตนเข้าร่วมแสดง โดยมีโรงมหรสพ ๘ โรง สำหรับการแสดงโขน เพลงทรงเครื่อง ละครรำ งิ้ว ลิเก จำอวด ละครร้อง หากนับเฉพาะผู้แสดงมีจำนวนมาก ๑,๑๑๖ คน และมีคนดูล้นหลามทุกโรงมหรสพ ในส่วนของคณะละครซึ่งส่วนใหญ่เป็นราษฎรมีจำนวน ๒๖ ราย อนึ่ง มีผู้ต้องการนำมาแสดงมากกว่านี้แต่พื้นที่ไม่อาจรองรับได้เพียงพอ 

สำหรับคณะละครที่เข้ามาแสดง อาทิ คณะละครรำของนายพูน เรืองนนท์ คณะละครแขกของนายรามฮูนาถ หรือคณะงิ้วของนายเม่งกี่ยี่ห้อเง็กเล้าชุน ในส่วนของการฉายภาพยนตร์มีจำนวน ๒ จอ โดยมีการส่งเข้ามาร่วม ๓ บริษัท คือ บริษัทน่าแซ บริษัทสยามซินิมา และบริษัทตงก๊ก นอกจากนี้ มีการจุดดอกไม้เพลิงทั้ง ๓ คืน 

ในส่วนของการฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด ปรากฏรายงานการจัดงานจากมณฑลนครศรีธรรมราช ภูเก็ต ปราจีน อยุธยา พายัพ พิษณุโลก ราชบุรี นครราชสีมา และอุดร โดยเนื้อหาของงานคล้ายคลึงกัน เช่น มีมหรสพต่างกัน ก็เฉพาะประเภทมหรสพของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่มณฑลอุดรมีการแสดงลิเก ที่มณฑลภูเก็ตมีแสดงหนังตลุงและมโนราห์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีการจัดเล่นกีฬาทั้ง ๓ วันอีกด้วย และอย่างน้อยตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ งานฉลองรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นงานที่จัดอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังจัดกันในสถานทูตไทยที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ  และปรากฏเป็นรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศอีกด้วย โดยในปีนั้นมีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กงสุลสยาม เมืองปีนัง มาเลเซีย โดยคนสยาม (ไทย) 
ในเมืองปีนังไปชุมนุมกันที่วัดบาตูลันจังเพื่อฉลองการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 

สำหรับการจัดงานในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม มีการจัดเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างข้าราชการและนักเรียนไทยที่อยู่ที่นั้น จากนั้นวันที่ ๑๒ ธันวาคมมีการเลี้ยงรับรองแก่บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสและกระทรวงอื่นๆ รวมทั้งข้าราชการของประเทศที่ขึ้นอยู่กับสถานทูตนี้คือเบลเยียม สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสและสวิตเซอร์แลนด์ เช่นเดียวกับสถานทูตวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาในวันเดียวกันที่มีแขกหลายร้อยคนมาร่วมงาน นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

งานฤดูหนาวเชียงใหม่

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า คณะรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้นส่วนใหญ่เป็นแกนนำของคณะราษฎรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ได้กำหนดจัดงานฉลองฯ เพื่อเป็นเครื่องมือหรือกลไกทางวัฒนธรรมสำหรับการเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎร รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ 

ในงานฉลองฯ ยังได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสานึก รวมทั้งสร้างความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และอุดมการณ์ของคณะราษฎรด้วยรูปแบบต่างๆ อาทิ การประกวดเรียงความ การประกวดประณีตศิลปกรรม หรือการแสดงละคร และได้มีการกำหนดกิจกรรมที่สร้างความสนใจให้แก่งานฉลองฯ คือ การประกวดนางสาวสยามหรือนางสาวไทย

โดยสรุปแล้วการจัดประกวดนางสาวไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญได้จัดขึ้นระหว่างปี ๒๔๗๗–๒๔๘๓ ปี ๒๔๙๑ และระหว่างปี ๒๔๙๓–๒๔๙๗ หลังจากนั้นงานฉลองรัฐธรรมนูญที่ปราศจากการประกวดนางสาวไทยยังคงมีต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งจนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี ๒๕๐๐ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องระงับงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีดังกล่าว 

ต่อมาในปี ๒๕๐๑ มีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะ พร้อมทั้งมีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลต่อเนื่องให้มีการยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญไปอย่างถาวรในปีดังกล่าวด้วย 

ปัจจุบันนี้มีการกำหนดให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยมีการจัดรัฐพิธีที่รัฐสภาแต่ไม่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกแล้ว กระทั่งปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์" ระหว่างวันที่ ๙ ธันวาคม  ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๒ ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า และได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน "Bike อุ่นไอรัก" ในพิธีเปิดงาน ซึ่งนับเป็นปีที่ ๒ แล้ว.
-------------
อ้างอิง: "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, เอกสารข่าวสารงานวิจัยและพัฒนา รัฐสภา งานฉลองรัฐธรรมนูญกับการประกวดนางสาวไทย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"