ชักธงเหลืองโรคห่าลงพระสงฆ์ทิ้งวัด


เพิ่มเพื่อน    


ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักจากเอเชีย เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่นลามมายังไทยและไปประเทศข้างเคียงของจีน อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน ก่อนลุกลามไปทั่วเอเชีย ขณะนี้ไปถึงยุโรปและอเมริกา นับเป็นการระบาดของโรคครั้งใหม่และครั้งใหญ่ลำดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ 

สำหรับประเทศไทยมีโรคระบาดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ช่วงหลังๆ เป็นโรคอุบัติใหม่ อาทิ ไข้หวัดนก, ซาร์ส, เมอร์ส จนมาถึงโควิด-19 แต่ในอดีตนั้นโรคที่น่ากลัวที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ  อหิวาตกโรค เพราะการระบาดแต่ละครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อหิวาตกโรคเป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศในทวีปอาเซียนและทวีปอินเดีย โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำคงคาที่เป็นแม่น้ำสายหลักในการดำรงชีวิต ก่อให้การระบาดไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกตามเส้นทางค้าขายทั้งทางบกและทางเรือ ซึ่งการระบาดครั้งใหญ่ๆ ในโลกแบ่งได้เป็น 7 ครั้ง ได้แก่

การระบาดครั้งที่ 1 พ.ศ.2359-2369 ถือว่าเป็นการระบาดใหญ่ครั้งแรกในโลก โดยเริ่มจากเบงกอล แพร่ขยายไปสู่ทวีปอินเดีย, จีน และคาบทะเลแคสเปียน

การระบาดครั้งที่ 2 พ.ศ.2372-2394 เป็นการแพร่ระบาดในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2374 มีผู้เสียชีวิตที่มหานครลอนดอนด้วยอหิวาตกโรคสูงถึง 6,536 คน ที่กรุงปารีสมีผู้เสียชีวิตประมาณ 20,000 คน การระบาดครั้งนี้แพร่กระจายขึ้นไปจนถึงประเทศรัสเซีย ข้ามไประบาดถึงควิเบก ออนตาริโอ แคนาดา และนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และข้ามประเทศไประบาดถึงฝั่งแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2377

การระบาดครั้งที่ 3 พ.ศ.2395-2403 การระบาดครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศรัสเซีย มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึงล้านคน ในปี พ.ศ.2397 เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,300 คน

การระบาดครั้งที่ 4 พ.ศ.2406-2418 ส่วนใหญ่เป็นการระบาดในทวีปยุโรปและแอฟริกา โดย พ.ศ.2409 มีการระบาดหนักที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ และมหานครลอนดอน ที่มีการระบาดกระจายไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในย่านอีสต์เอนด์ (East End) ทำให้มีคนตายถึง 5,596 คน และในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิตประมาณกว่า 21,000 คน

การระบาดครั้งที่ 5 พ.ศ.2424-2439 มีการระบาดใหญ่ที่นครฮัมบูร์ก เยอรมนี พ.ศ.2435 ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 8,600 คน ซึ่งการระบาดครั้งนี้นับว่าเป็นการระบาดที่รุนแรงครั้งสุดท้ายในทวีปยุโรป

การระบาดครั้งที่ 6 พ.ศ.2442-2466 การระบาดครั้งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศรัสเซียและประเทศในกลุ่มอาณาจักรออตโตมันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

การระบาดครั้งที่ 7 พ.ศ.2504-2513 การระบาดครั้งนี้เริ่มที่เมืองสุลาเวสี อินโดนีเซีย แพร่ระบาดไปถึงบังกลาเทศ เข้าสู่อินเดียในปี พ.ศ.2507 และสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ.2509 ในขณะเดียวกันเกิดการระบาดในญี่ปุ่น ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ประเทศในแอฟริกาเหนือ และแพร่ไปยังประเทศอิตาลีในปี พ.ศ.2515 ซึ่งหลังจากนั้นไม่มีรายงานการระบาดที่รุนแรงเกิดขึ้นอีก

การระบาดของอหิวาตกโรค หรือ "โรคห่า" ในไทยนั้น มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่

สมัยรัชกาลที่ 2 จากบันทึกของ "เจ้าพระยาทิพากรวงศ์" เล่าถึงการระบาดรุนแรงของอหิวาตกโรคครั้งแรกไว้ว่า ในปี พ.ศ.2363 ที่มีการระบาดจากอินเดียเข้ามาไทย ผ่านทางปีนังและหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เข้ามาถึงสมุทรปราการและพระนคร ระบาด 2 สัปดาห์ ทำให้มีคนตายจำนวนมาก จนเผาศพไม่ทัน กองอยู่ในวัดต่างๆ ได้แก่ วัดสระเกศ, วัดบางลำภู, วัดบพิตรพิมุข, วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ถนนหนทางเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยซากศพ ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด  รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" จัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่และโปรยพระพุทธมนต์ตลอดทาง การระบาดครั้งนี้มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ  30,000 คน และมีการระบาดอีกครั้งในปี พ.ศ.2365 ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ร้ายแรงเท่าการระบาดปี 2363 รัชกาลที่ 2 ทรงประกาศให้ราษฎรหยุดงานทั้งปวง ทำบุญให้ทานและห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีกำหนด 7  วัน ในการระบาดคราวนี้มีพระเจ้าน้องยาเธอสิ้นพระชนม์ด้วยอหิวาตกโรคพระองค์หนึ่ง

สมัยรัชกาลที่ 3 เกิดอหิวาตกโรคระบาดมากในปี พ.ศ.2392 เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มจากอินเดียระบาดไปยุโรป อเมริกา และระบาดเข้าไทยผ่านปีนัง,  ปัตตานี, สงขลา ระบาดทางเรือเข้าสมุทรปราการ, กรุงเทพฯ และแพร่ระบาดไปยังเมืองต่างๆ ได้แก่  ปทุมธานี, พิษณุโลก และอ่างศิลา ชลบุรี การระบาดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 40,000 คน รัชกาลที่ 4 หรือเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ในขณะนั้นทรงดำรงเพศบรรพชิต ทรงบัญชาให้ 3 วัด คือ วัดสระเกศ, วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) และวัดตีนเลน (วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุข) เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ ซึ่งมีศพที่เผาไม่ทันถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพมากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ไปลงกินซากศพ จนตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้งที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระหาย ทำให้พฤติกรรมของ "แร้งวัดสระเกศ" เป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว

สมัยรัชกาลที่ 4 โรคได้ระบาดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2403 ซึ่งตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 โดยเกิดขึ้นที่เมืองตากก่อน แล้วระบาดมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งการระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรง

สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการระบาดในปี พ.ศ.2416 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 4 การระบาดผ่านมาทางมลายู เข้าสู่ไทย ทำให้รัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้มีการจัดการและป้องกันอหิวาตกโรคตามหลักวิชาการขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการจัดตั้งกรมพยาบาลจัดการสุขาภิบาลและการประปาขึ้น และเมื่ออหิวาตกโรคระบาดหนักในปีมะเส็ง พ.ศ.2424 ทรงโปรดฯ ให้จัดตั้งโรงรักษาคนเจ็บอหิวาตกโรคขึ้นในกรุงเทพฯ และจากการระบาดของอหิวาตกโรคที่มีลักษณะการระบาดมาจากทางภาคใต้ ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีดำริให้ตั้งสถานกักโรคขึ้นตามเมืองท่าในปักษ์ใต้ ตกลงออกเป็นพระราชบัญญัติระงับโรคระบาด ที่หัวเมืองบังคับให้ตั้งด่านตรวจโรคและชักธงเหลือง หากเมืองใดเกิดโรคอหิวาตกโรคให้ชักธงเหลืองขึ้นที่ปากอ่าวหรือทางร่วมเพื่อให้ราษฎรได้ทราบ

หลังจากนั้นมามีการระบาดใหญ่อีก 5 ครั้ง ได้แก่

การระบาดครั้งที่ 1 (ตั้งแต่ พ.ศ.2461-2463) เกิดขึ้นที่จังหวัดตาก มาจากประเทศพม่า ลุกลามลงมาทางล่างตามลำน้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา มีการระบาดไปยังจังหวัดใกล้เคียงทางเหนือถึงจังหวัดเชียงใหม่ ทางใต้ถึงจังหวัดปัตตานี, ระนอง ทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงอุบลราชธานี ระบาดรวม 51  จังหวัด มีคนตาย 13,918 คน

การระบาดครั้งที่ 2 (พ.ศ.2468-2472) เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอป้อมปราบและปทุมวัน แล้วระบาดไปในพระนคร-ธนบุรี มีคนตาย 14,902 คน เกิดจากมีคนป่วยที่เดินทางมากับเรือที่มาจากประเทศจีน ถูกกักตรวจที่ด่านกักโรค มีผู้โดยสารบางคนหนีขึ้นบกทำให้เกิดการระบาดขึ้น มีคนป่วยจำนวนมากจนมีการตั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยด้วยอหิวาตกโรคขึ้นที่วังเก่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่วงเวียน 22 กรกฎา หลังวัดเทพศิรินทร์และที่สุขศาลาบางรัก

การระบาดครั้งที่ 3 (พ.ศ.2478-2480) ครั้งนี้เกิดที่อำเภอวังกะ กาญจนบุรี ระบาดมาจากประเทศพม่า แพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เช่น ราชบุรี, สมุทรสงคราม,  สมุทรสาคร, เพชรบุรี แพร่เข้ามายังพระนครธนบุรี และระบาดไปตามจังหวัดต่างๆ ใน 40 จังหวัด มีคนตาย 10,005 คน ทำให้มีการเกณฑ์นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 จากศิริราชมาช่วยฉีดวัคซีนตามสถานีรถไฟและท่าเรือต่างๆ

การระบาดครั้งที่ 4 (พ.ศ.2486-2490) เริ่มที่กิ่งอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากเชลยศึกพม่าที่ทหารญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะจากบ้านโป่ง ผ่านกาญจนบุรีเพื่อเข้าสู่ประเทศพม่า ระบาดจากต้นแม่น้ำแม่กลองไปตามจังหวัดต่างๆ โดยทางน้ำ ได้แก่ ราชบุรี, เพชรบุรี,  สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร และพระนคร ระบาดในท้องที่ 50 จังหวัด มีคนตาย 13,036 คน

การระบาดครั้งที่ 5 (พ.ศ.2501-2502) เริ่มในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ ธนบุรี ระบาดในจังหวัดธนบุรี, พระนครและจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางที่มีเขตติดต่อกับธนบุรีเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากการคมนาคมที่สะดวกทำให้โรคระบาดไปสู่ภาคใต้ถึงจังหวัดสุราษฎร์ฯ ภาคเหนือถึงจังหวัดตาก และบางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 38 จังหวัด มีคนตาย 2,372 คน หลังจากการระบาดครั้งนี้แล้วอหิวาตกโรคไม่ได้สาบสูญไปจากไทย ยังคงพบผู้ป่วยอยู่ประปราย และไทยได้มีการยกเลิกการรายงานโรคอหิวาตกโรคในปี 2532 โดยเปลี่ยนชื่อเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง.


---------------
ข้อมูล : hfocus.org
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"