No problem ไม่ขัดแย้ง-พร้อมแก้ปัญหา


เพิ่มเพื่อน    

 

 ผลเลือกตั้ง อาจหักปากกาเซียน ชพน.ชูธง No problem

                พรรคชาติพัฒนา เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่อยู่บนถนนการเมือง-การเลือกตั้งมายาวนานหลายปี หลังพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีตั้งพรรคตั้งแต่ปี 2535  ทำให้นับถึงปัจจุบัน เท่ากับตั้งมาแล้วร่วม 26 ปี โดยปัจจุบันพรรคชาติพัฒนามี เทวัญ ลิปตพัลลภ อดีต ส.ส.นครราชสี มาเป็นหัวหน้าพรรค และมี ดล เหตะกูล เป็นเลขาธิการพรรค

                สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา แกนนำพรรคชาติพัฒนา อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ที่อยู่กับพรรคชาติพัฒนามาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2535 กล่าวถึงทิศทางการเตรียมความพร้อมของพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ทั้งเรื่องนโยบาย-อุดมการณ์พรรค-การส่งผู้ลงสมัคร ส.ส.ของพรรค โดยสุวัจน์ที่อยู่บนถนนการเมืองมาหลายสิบปี ผ่านการอยู่ร่วมรัฐบาลมาแล้วหลายชุด ได้วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยระบุว่า อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่ผลออกมาแบบถึงขั้นอาจหักปากการเซียนได้ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่มีปัจจัยตัวแปรแตกต่างไปจากอดีตหลายเรื่อง โดยเชื่อว่าผลเลือกตั้งที่จะออกมาจะสร้าง benchmark มาตรฐานการเมืองใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

                สุวัจน์-ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าววิเคราะห์สนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังพูดยากว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบ-เสียเปรียบ หรือพรรคเล็กได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะจากเดิมใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ  แยกเป็นบัตรเลือก ส.ส.เขต อีกบัตรเลือกพรรค ซึ่งระบบเดิมแม้พรรคไม่ส่งคนลง ส.ส.เขต แต่ก็ยังได้คะแนนพรรค แต่การเลือกตั้งต่อจากนี้ที่ใช้บัตรใบเดียว หากไม่ส่ง ส.ส.เขต ก็จะไม่ได้คะแนนพรรคเลยในเขตนั้นๆ ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าบัตรใบเดียวจะทำให้พรรคขนาดเล็กจะมีโอกาสมากขึ้นหรือจะน้อยลง ดังนั้นหากพรรคการเมืองใดต้องการคะแนนเยอะ ก็ต้องส่งให้ครบทุกเขต ซึ่งการจะส่งครบ 350 เขต เป็นเรื่องยากมากๆ ในเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่ายและการหาผู้สมัคร ส.ส.

...นอกจากนั้นในกฎหมายเลือกตั้ง ยังบัญญัติอีกว่า ต้องมีกระบวนการต่างๆ เช่น การมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด-การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละเขต จึงเป็นงานหนักสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเทียบกับพรรคขนาดใหญ่จะดำเนินการได้ง่ายกว่า แต่พรรคชาติพัฒนาก็ต้องพยายาม แต่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตได้มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ทราบอย่างไม่เป็นทางการ พรรคชาติพัฒนาก็จะส่ง ส.ส.เขตประมาณใกล้ๆ กับ 300 เขต จาก 350 เขต

ส่วนคำถามที่ว่า พรรคจะได้ ส.ส.กี่คนหลังเลือกตั้ง ผมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่วิเคราะห์ยาก อาจเป็นการเลือกตั้งที่หักปากกาเซียนก็ได้ เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีปัจจัย-ตัวแปรเยอะมาก

สุวัจน์-นักการเมืองรุ่นใหญ่ มีประสบการณ์ผ่านศึกเลือกตั้งมาโชกโชน วิเคราะห์ลงรายละเอียดเรื่องที่บอกว่าการเลือกตั้งรอบนี้มีปัจจัย-ตัวแปรแตกต่างจากเดิมว่า ปัจจัยตัวแปรสำหรับการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.กี่คน พรรคไหนจะชนะกี่เสียง จะพบว่าครั้งนี้มีปัจจัยใหม่ๆ เยอะมาก เช่น เรื่องกติกาการเลือกตั้ง จากเดิมมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ผมว่าวันนี้ประชาชนยังสับสนกับกติกาการเลือกตั้ง ซึ่งรอบนี้กติกาเปลี่ยนไปเยอะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจกฎ กติกา การเลือกตั้ง เพราะหากไม่เข้าใจ บางทีการเลือกตั้งก็อาจตัดสินใจอย่างหนึ่ง เพราะอ่านกฎ กติกาไม่ครบ แต่ถ้าอ่านครบจะไม่ตัดสินใจอย่างนี้ เช่น จำนวน ส.ส.ที่แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และปาร์ตี้ลิสต์อีก 150 ที่นั่ง รวมเป็น 500 คน ที่เดิมจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คะแนนจะแยกกัน

...แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีบัตรใบเดียว โดยจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้จะมาจากการที่พรรคต้องส่งผู้สมัครแต่ละเขต จากเดิมที่ใช้ 2 บัตร แล้วคะแนนทิ้งน้ำ แม้ต่อให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่แพ้ จะได้คะแนน 30,000 คะแนน หรือ 5,000 คะแนน แต่รอบนี้ทุกคะแนนมีความหมาย เพราะนับทุกคะแนน ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่แพ้ ต่อให้มาลำดับที่ 2-5 ก็มีความหมายหมด ทำให้ได้ลุ้นคะแนนรวมจากบัตรเลือกตั้งทุกเขต ไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคจะได้ลำดับที่เท่าใด เพราะจะนำคะแนนจากทุกเขตมารวมยอด เช่น หากพรรคชาติพัฒนาส่ง 300 เขต จาก 350 เขต โดยบางเขตอาจได้อันดับ 1 บางเขตอาจได้อันดับ 2 ซึ่งสุดท้ายหากรวมหมดทุกเขตที่ส่งลงสมัครแล้วได้ 2 ล้านคะแนน ที่สุดท้ายจะบอกว่าพรรคชาติพัฒนาจะได้ ส.ส.กี่คน ที่ กกต.จะคิดคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บัญญัติไว้ บนฐานที่ใช้หลัก 70,000 นำไปหารคำนวณจากคะแนนที่พรรคได้รับทั้งหมด ที่ก็คือ 70,000 คะแนน จะได้ ส.ส. 1 คน ที่จะมีการนำไปแยกประเภท ส.ส.อีกรอบหนึ่ง

...กรณีของพรรคชาติพัฒนาที่ผมเปรียบเทียบ หากได้ 2 ล้านคะแนน แล้วนำ 70,000 ไปหาร ก็เท่ากับได้ ส.ส.ประมาณ 30 คน แต่สิ่งที่บอกจากระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบเหลือ 1 ใบ ประชาชนรู้กันหมดหรือยัง หรือการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่นำ 70,000 ไปหาร คะแนนรวมทั่วประเทศ ประชาชนรู้หรือยัง ทั้งหมดคือวิธีการคำนวณที่มีรายละเอียดเยอะ ถามว่าแบบนี้พี่น้องประชาชนเข้าใจไหม

...นอกจากนี้ทุกครั้งเวลาที่มีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเราจะมีบัตรเลือกตั้งที่มีเบอร์ผู้สมัครเบอร์เดียวทั่วประเทศ ผ่านการจับสลากกันในวันรับสมัคร ส.ส.วันแรก ที่หากพรรคไหนได้เบอร์ 1 ผู้สมัครของพรรคดังกล่าวก็จะใช้เบอร์ 1 ทั่วประเทศ แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่ใช่แล้ว แต่ละเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องไปจับเบอร์กันเอง โดยเลือกตั้งรอบนี้ อาจมีพรรคการเมืองส่งคนลงสมัครเกือบร้อยพรรค เช่น ถ้าพรรคชาติพัฒนามีเขตหนึ่งได้เบอร์ 1 แต่อีกเขตอาจได้เบอร์ 95 ผมว่าคงสับสนกันพอสมควรในเรื่องว่าทำไมเบอร์มันเปลี่ยน

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เลือกตั้งทุกครั้ง เราจะไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ เพราะทุกพรรคจะอุบไต๋ไว้ไม่บอก แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทุกพรรคการเมืองแจ้งแคนดิเดตนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อตอนเลือกตั้ง คือให้พรรคการเมืองบอกประชาชนล่วงหน้าว่าหากชนะเลือกตั้งจะให้คนในรายชื่อเป็นนายกฯ แต่หากพรรคการเมืองใด ได้ ส.ส.ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือไม่ถึง 25 ที่นั่ง 3 รายชื่อที่ประกาศตกเลย ไม่ได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

..โดยทั่วไป การเลือกนายกฯ จะใช้เสียงข้างมากของ ส.ส.ในการโหวตนายกฯ ที่ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 251 เสียง แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะในรัฐธรรมนูญมีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ง มีส่วนร่วมในการโหวตนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ เท่ากับการโหวตนายกฯ ใช้เสียง ส.ส. 500 เสียง บวกกับ 250 แล้วหารสอง คือต้องใช้ 375 เสียง ถึงจะได้เป็นนายกฯ ไม่ใช่ 250 เหมือนเดิม

สุวัจน์ ชี้ประเด็นว่า ทั้งหมดคือกติกาใหม่ ทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว-หลักเกณฑ์การคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯ-เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละเขตแตกต่างกัน ไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ-กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ที่ให้ ส.ว.มาร่วมโหวตด้วย ปัจจัยต่างๆ เวลาเราไปพบประชาชน ไปคุยกับนักธุรกิจ บางคนบอกเพิ่งรู้ แล้วที่เราเป็นห่วงคือประชาชนจะรู้หรือไม่

...ทางพรรคก็เป็นห่วงและเสนอความเห็นไปยัง กกต.แล้วว่าต้องการให้ กกต.เร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนรู้กติกาใหม่ในการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้ก่อนการตัดสินใจว่าองค์ประกอบรัฐบาลใหม่-นายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่ผมถึงบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องยากที่จะวิเคราะห์ เพราะกฎ กติกา เป็นเรื่องใหม่หมด

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องกฎ กติกาที่เป็นเรื่องใหม่แล้ว เดิมก่อนหน้านี้เวลาจะเลือกคนไปเป็น ส.ส.จะพิจารณาจากตัวผู้สมัคร-พรรคต้นสังกัด-นโยบายพรรค บางทีไม่ชอบผู้สมัคร แต่ชอบพรรค บางทีก็เลือก หรือไม่ชอบผู้สมัคร แต่ชอบนโยบาย ก็เลือก แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมี ตัวแปร เพิ่มขึ้นมา จะให้ใครเป็น นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ถึงแม้จะไม่ได้เลือกนายกฯ แต่ตัวรายชื่อแคนดิเดตที่พรรคประกาศจะเป็นปัจจัยที่สำคัญประกอบการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกใคร กับระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว ที่เลือกทั้ง ส.ส.-เลือกพรรคแล้วก็คล้ายๆ กับเลือกนายกฯ ด้วย

...องค์ประกอบสุดท้ายเรื่องพรรคต้องประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ จึงเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจที่สำคัญ เช่น บางพรรคเสนอชื่อนายกฯ แล้วประชาชนอยากให้นายกเป็นนายกฯ ก็ไปเทเสียงให้กับพรรคดังกล่าว แต่หากบางพรรคมีคะแนน popular เยอะ แต่กลับไปเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ประชาชนไม่ชอบ ก็อาจพลิกล็อกก็ได้ หรือพรรคการเมืองเล็กๆ เสนอชื่อนายกฯ ที่ประชาชนชอบ ก็อาจได้คะแนนเสียงมากขึ้นอย่างไม่คาดคิด ดังนั้นเรื่องนี้ก็เป็นตัวแปรใหม่ของการเมืองไทย

...ผมเชื่อว่าก่อนถึงวันเลือกตั้ง จากที่เคยดีเบตนโยบายพรรคการเมืองกัน แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะมีการดีเบตว่าที่นายกฯ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ที่อยากเห็นว่าที่นายกฯ มาแสดงวิสัยทัศน์ มาพูดเรื่องเศรษฐกิจ-การพัฒนาเทคโนโลยี-การพัฒนาด้านการศึกษา-การพัฒนาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ-การยกระดับสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น-การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ-นโยบายรองรับสังคมผู้สูงวัย-นโยบายด้านการพัฒนาการกีฬาของประเทศ

...ผมมองว่าคนที่จะมาเป็นว่าที่นายกฯ จะต้องมาแข่งขันกัน มาแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ และจะสร้างความปรองดองในสังคมได้หรือไม่ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ว่า ต่อจากนี้ไปประเทศจะไม่มีปัญหาแล้ว สามารถเป็นคนที่ประนีประนอมไปพูดคุยกับทุกพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดการร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความพร้อมของว่าที่นายกฯ ของประเทศของแต่ละพรรค ที่ประชาชนอยากเห็นก่อน เพื่อจะได้ประกอบการตัดสินใจ

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อไปว่า นอกจากตัวแปร 2 เรื่องข้างต้นคือ กฎ-กติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป และการที่ต้องประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯ แล้ว ยังมีปัจจัยข้อที่ 3 คือ เรื่อง การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งของประชาชน จากเดิมก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะมีน้อย เพราะช่องทางมีน้อย ผ่านช่องทาง เช่น การจัดปราศรัยของพรรคการเมือง ถ้ามากก็หลักหมื่น แต่คนอีกจำนวนมากก็ไม่ได้ไปฟัง จึงไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร อีกทั้งปัจจุบันทีวีก็มีหลายช่องมากขึ้น ทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารมากขึ้น

ที่สำคัญคือ โซเชียลมีเดีย-ออนไลน์ ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้ประชาชนหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้สมัคร นโยบายพรรค แคนดิเดตว่าที่นายกฯ ความเคลื่อนไหวการเมืองต่างๆ ประชาชนรับรู้ข่าวสารได้หมด ทำให้จากอดีตที่ประชาชนไม่ได้สัมผัสเชิงลึก แต่ปัจจุบันประชาชนจะสัมผัสได้ใกล้ชิด-ลึกมากขึ้น ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจ จึงมองว่าโลกออนไลน์จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลียร์คัต-ชัดเจนในการตัดสินใจของประชาชน

สุวัจน์ วิเคราะห์ต่อว่า ปัจจัย-ตัวแปรเรื่องที่ 4 คือจนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้มีการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะเลือกตั้งปี 2557 มีการตัดสินว่าเป็นโมฆะ เท่ากับเกือบ 7 ปี ที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้ง จากอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคือ ไม่ต่ำกว่า 18 ปี เท่ากับกลุ่มคนอายุ 18 ปีในวันนี้ ตอนเลือกตั้งครั้งสุดท้าย มีอายุ 11 ปี จึงทำให้กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก จากตัวเลขจะมีประมาณ 6-7 ล้านคน ที่จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

ประชาชนกลุ่มดังกล่าวคือคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากความขัดแย้งของประเทศ การติดหล่มของประเทศ และเติบโตมาจากเทคโนโลยี โหวตเตอร์กลุ่มนี้เขาจะเลือกใคร ก็เป็นตัวแปรใหม่ที่จะเข้ามาสู่การเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 62 สร้าง benchmark ใหม่

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ย้ำว่า หากถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผลจะเป็นอย่างไร ผมจึงมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่วิเคราะห์ยากจริงๆ เพราะมีปัจจัยตัวแปรเยอะมาก ที่ผ่านมาแม้จะมีสำนักโพลทำโพลอะไรต่างๆ แต่ก็ต้องรอดูการสมัคร ส.ส. การเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ เปิดตัวนโยบายพรรคการเมือง ถึงตอนนั้นจะมีการวิเคราะห์กันใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น

ผมจึงเชื่อว่าผลการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นการปรับฐานการเมืองครั้งใหญ่ของประเทศกันใหม่ เพราะฐานการเมืองที่ผ่านมาเป็นการเมืองที่อยู่กับยุคก่อน แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการเมืองยุคปฏิรูป กติกาใหม่ ยุคเทคโนโลยีใหม่ ยุคข้อมูลข่าวสารใหม่ การเมืองยุคที่ต้องมีฐานรากคะแนนในระดับแฟนคลับ เพราะเป็นการเลือกตั้งบัตรใบเดียว จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคจะถูกคำนวณจากคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.ได้รับจากทั่วประเทศ จึงเป็นเหมือนกับ benchmark เกณฑ์มาตรฐานใหม่

...อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า หากพรรคชาติพัฒนาได้คะแนนมาสองล้านคะแนน แสดงว่าพรรคต้องบอกกับตัวเองว่า วันนี้คุณได้สองล้านคะแนน ที่หากเจ็ดหมื่นก็ได้ประมาณเกือบๆ 30 คน เป็น benchmark ของพรรค ดังนั้นเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องรักษา 2 ล้านไว้ได้หรือไม่ หากหายไป 2 แสน ก็เหลือ 1 ล้าน 8 แสน แต่หากทำเพิ่มได้สิบเปอร์เซ็นต์ก็เป็น 2 ล้าน 2 แสนคะแนน ฉะนั้นจากนี้ไปทุกพรรคการเมืองต้องทำงานการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษา Data base ที่ทางธุรกิจเรียกฐานลูกค้า ซึ่งทางธุรกิจจะมีระบบออนไลน์เพื่อรวบรวม Big data ใครแพ้ ใครชนะ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฐานข้อมูล ฐานเสียง

...ต่อจากนี้ไป ทุกพรรคการเมืองต้องทำงานกันต่อเนื่อง ไม่ใช่เลือกตั้งที ก็มาว่ากันที เพื่อสื่อสารกับฐานกลุ่มของตัวเอง อย่างชาติพัฒนาหากเลือกตั้งได้มา 2 ล้านคะแนน ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วจบ เพราะอาจหาย แต่ถ้าสื่อสาร มีการทำงาน พบปะประชาชน ทำผลงานให้ประชาชนเห็น 2 ล้านคะแนน ก็อาจเติบโตเป็น 2,300,000 คะแนน 2,500,000 คะแนน ต่อไป ดังนั้นทุกคนเลือกตั้งรอบนี้ แต่ละพรรค แต่ละคนก็จะรู้แล้วว่าเขามี Data base มีฐานของตัวเองจริงๆ อยู่ที่เท่าใด

การเมืองรอบนี้ผมจึงว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการเมืองแบบกติกาใหม่ และมากับความทันสมัยของบ้านเมือง อาจเรียกการเมืองยุค 5จี ก็ได้

Positioning ชพน.

พรรคสายกลาง ไม่ขัดแย้ง

-ทางพรรคชาติพัฒนาตั้งเป้าจำนวน ส.ส.ที่จะได้ในการเลือกตั้งไว้แค่ไหน?

เราคงไม่ได้ถึงกับไปตั้งว่าพรรคจะต้องมี ส.ส.สักกี่คน แต่เนื่องจากเราก็ถือว่าเราเป็นพรรคขนาดกลาง เราก็เคยมี 60 เสียง 20 กว่าเสียง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเหลือ 9 เสียง 7 เสียง เราก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเราจะได้กี่เสียง แต่เราอยากจะมีอิมเมจของพรรค มากกว่าเป้าหมายจำนวน ส.ส.

...คือมีฐานที่ตั้งของพรรค ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง และเป็นพรรคกลางๆ พรรคทางสายกลาง เดินสายกลาง พรรคทางเลือก พรรคที่ทำงานการเมืองแบบไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ ไม่มีศัตรู ไม่ก้าวร้าวใคร ทำงานการเมืองแบบสร้างสรรค์ เน้นนโยบายปรองดองสมานฉันท์ เข้าได้กับทุกฝ่าย อยากวางเป้าหมายของพรรคอย่างนั้นมากกว่า คือหากนึกถึงพรรคชาติพัฒนา ก็นึกถึงพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกลาง ไม่เป็นพิษ เป็นภัยกับใคร ไม่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง เป็นพรรคนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เล่นตามกฎ กติกา มีวินัย ไม่สร้างปัญหา เป็นพรรคการเมืองที่เดินการเมืองแบบสายกลาง เข้าได้กับทุกฝ่าย

ผมคิดว่าการเมืองเราวันนี้ บางทีเราไปมีเป้าหมายแบบ Extreme มากเกินไป เหมือนกับเข้มข้นมากเกินไป บางทีเหมือนกับหวังมากแล้วคิดอะไรเต็มที่เลย แต่บางทีผมก็คิดว่าในโลกของการเมือง บางทีต้องคิดหลายมิติ บางทีเราคิดมิติเดียว ก็อาจถูกแล้วที่เราต้องสุดโต่ง แต่หากเราคิดให้หลายมิติ จะทำให้เรารู้เลยว่าที่เราไปเต็มที่เรื่องนี้มันจะทำให้เรื่องอื่นอาจเสียไป มิติอื่นเสียไป เช่น สมมุติเราไปมองในมิติการเมืองเข้มมากเกินไป แต่มิติทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้ มิติทางสังคมอาจจะมีปัญหา แต่ถ้าเราลดความเข้ม ลดเป้าหมายในมิติการเมืองลงมาบ้าง มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม ก็จะสูงขึ้นไป เช่น ถ้าเราเดินการเมืองที่ไม่สุดโต่งมากนัก แต่การเดินดังกล่าวทำให้สังคม เศรษฐกิจ เดินไปได้ ประเทศไม่มีความขัดแย้ง

...ดังนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปคิดการเมืองมิติเดียว แล้วไปคิดแบบสุดโต่ง เข้มข้นมาก เราควรทำอะไรแบบคนมีประสบการณ์ และเข้าใจธรรมชาติ โลกแห่งความเป็นจริง โดยเกลี่ยให้ทุกภาคส่วนได้อะไรเหมือนๆ กัน มีความเสมอภาคกัน พูดง่ายๆ คืออยากทำงานการเมืองเพื่อให้ทุกฝ่าย win-win ไม่ใช่ว่าเราวินฝ่ายเดียวแต่เฉพาะฝ่ายการเมือง แต่ฝ่ายอื่นไม่วินด้วย คือทำแบบนี้แล้วพรรคได้รับความนิยม เศรษฐกิจก็ดี สังคมก็มีความสุข อันนี้คือสภาพที่ win-win-win 

 สุวัจน์-ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ขยายความสโลแกนของพรรคที่ใช้ในการหาเสียง No problem ว่า คำว่าชาติพัฒนา No problem ก็มองอยู่ 2 อย่างสำหรับ No problem คือหนึ่ง ไม่มีปัญหา เพราะไม่สร้างปัญหา รู้จักกฎ เกณฑ์กติกา ทุกอย่างตัดสินใจกันในสภาฯ ใช้เสียงข้างมาก ฟังเสียงประชาชน ตัดสินใจตามกฎเกณ์ของกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ไม่นอกกรอบทำตัวให้มีปัญหา เพียงเท่านี้แรงกดดันทางการเมือง หรือการเผชิญหน้าการเมืองก็วูบไปแล้ว ถ้าทุกพรรคการเมืองอยู่ในกฎเกณฑ์เหล่านี้ 2.นอกจากตัวคุณไม่สร้างปัญหาแล้ว ปัญหาของประเทศชาติที่มีแน่ เพราะปัญหามีไว้ให้แก้ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ จะต้องมีแนวทาง มีนโยบาย ประสบการณ์ บุคลากรในพรรคที่สามารถเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา จากที่มีปัญหา เพื่อแก้ให้ไม่มีปัญหา

...คำว่าไม่มีปัญหา มองได้ 2 เรื่อง คือ พรรคชาติพัฒนาไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ และสอง พรรคพร้อมแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเชิงบริหารประเทศให้เรียบร้อย ที่จะเป็นเป้าหมายของชาติพัฒนาในการกำหนด Positioning ของพรรค คือไม่ได้มองว่าพรรคต้องได้ ส.ส.กี่คน แต่อยากให้พรรคอยู่ในสถานภาพอย่างนี้

-ในฐานะมีประสบการณ์การเมืองยาวนาน มองว่าหลังการเลือกตั้งภาพรวมการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร บางคนบอกว่าปัญหาความขัดแย้งจะไม่จบ ยังคงมีอยู่ต่อไป?

เรื่องสถานการณ์ของประเทศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวผมเป็นคนชอบมองอะไรในเชิงบวก ผมมองว่าวันนี้ประเทศชาติผ่านจุดต่ำสุด จุดวิกฤติ จุดไม่ดีที่สุดมาหมดแล้ว จากนี้ไปเราคงไม่เจอเหตุการณ์แบบในอดีตที่ผ่านมาต่อไปแล้ว

ผมจึงเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น อย่างไรเสียก็จะเป็นการเลือกตั้งที่จะทำให้ประเทศชาติดีขึ้นจากเดิม แต่จะดีขึ้นมากหรือดีขึ้นน้อยก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศการเมืองหลังเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ผู้นำประเทศ แต่ก็จะไม่ติดลบเพราะยังไงประชาธิปไตยก็ต้องดีที่สุด

ผมเชื่อมั่นว่าทันทีที่เรามีการเลือกตั้ง ก็หมายความว่าเราได้เปลี่ยนประเทศไปสู่การมีประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง การเป็นประชาธิปไตยคือเครื่องมือสำคัญที่จะบ่งบอกความเป็นสากลของประเทศ ซึ่งความเป็นสากลของประเทศวัดกันได้หลายปัจจัย เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความสำเร็จของการกีฬา การดูแลให้เกิดความเสมอภาค แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะวัดกันเร็วๆ ก็จะวัดกันที่การมีประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อใด เราก็จะกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยถึงวันนั้น เราจะสู่ความเป็นสากล จะได้รับความเชื่อมั่น จะมีคนอยากมาลงทุนมาท่องเที่ยว

สิ่งที่จะได้ก็คือความมั่นใจที่จะมีต่อประเทศไทยจะกลับมา นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจะกลับมา  และต้องยอมรับว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไว้เยอะ  โครงการใหญ่ๆ อย่างเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง, อีอีซี, รถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์, การก่อสร้างส่วนขยายสนามบิน, การลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ 5 จีก็กำลังจะเกิด โครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ที่ทำไว้ เป็นการสร้างเสาเข็มให้กับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนก็เห็นหมดว่าประเทศไทยได้มีการก่อสร้างโครงการต่างๆ เอาไว้ แต่ที่ผ่านมาที่ยังไม่เข้ามาเพราะเขาอาจเห็นว่ายังไม่มีการเลือกตั้ง

...ผมก็มองว่าหลังเลือกตั้งเศรษฐกิจต่างๆ จะดีขึ้น เพราะความมั่นใจจะกลับมา ทั้งการลงทุน การท่องเที่ยวก็จะทำให้เศรษฐกิจต่างๆ รุ่งเรือง เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐลงทุนไว้ตอนนี้กำลังรอการต่อยอด

หลังการเลือกตั้งถ้ามองในเชิงการพัฒนาประเทศ มองในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นใจ แง่มุมนักลงทุน ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะต้องดีขึ้น

ส่วนที่เป็นห่วงกันว่าหลังเลือกตั้งจะมีความขัดแย้งหรือไม่ เรื่องนี้ผมก็คิดว่าทุกคนก็คิดเหมือนกัน ก็ลุ้นกันอยู่ว่าหลังเลือกตั้งปัญหาความขัดแย้งต่างๆ จะจบหรือไม่ การเมืองจะเผชิญหน้ากันแบบเดิมหรือไม่ ผมก็คิดว่าคนในพรรคการเมืองทุกคนต่างก็รักชาติ ทุกพรรคการเมืองมีความรักชาติบ้านเมือง นักการเมืองทุกคนก็คิดอยู่ในใจว่าปัญหาบ้านเมืองที่ผ่านมามันวุ่นวายเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เพราะว่าการเมืองก็มีส่วนในการเป็นตัวแปรทำให้ปัญหามันเกิด แล้วจึงพลิกหมุนมาสู่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราไม่อยากให้เกิด

วันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยู่ในใจ ฉายหนังย้อนอดีตก็คือได้ประสบการณ์ ได้บทเรียนว่าที่ผ่านมาการเมืองเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนคิดแบบนี้ เอาละถึงแม้ว่าความขัดแย้งยังมีอยู่ แต่เราก็ได้รู้แล้วว่า คราวที่แล้วเราไม่ควรทำเรื่องนี้ๆ ทุกคนมีบทเรียนหมด ผมจึงเชื่อว่าด้วยความรักชาติ แม้ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ แต่ผมก็เชื่อว่าคงไม่มีการทำอะไรที่จะไปขยายผล ไม่ใช่ว่าไปเก็บมานับหนึ่งกันใหม่ ทุกคนก็อยากเข้ามาสู่ระบบรัฐสภา เรามาจากการเลือกตั้ง เราก็ต้องฟังเสียงประชาชน เราก็ต้องรู้ว่าประชาชนอยากเห็นอะไร ทุกคนก็ต้องคิดถึงจุดนี้

สิ่งสำคัญคือจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ของการเลือกตั้ง ทำให้มองเห็นได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นทางออกของประเทศ จะทำให้คนไทยมีความสุข เศรษฐกิจดี จึงต้องช่วยกันประคับประคองให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  เลือกตั้งแล้วทุกคนยอมรับผล และเมื่อยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะเดียวกันต่างประเทศยอมรับ ทุกคนต่างบอกว่า fair play ถ้าเป็นแบบนี้เราจะไปสู่จุดหมายจุดนั้น จึงอยากเห็นทุกฝ่ายช่วยให้ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ ทำให้การบริหารการเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความยืดหยุ่นกันบ้าง หนักนิดเบาหน่อยให้อภัยกัน แม้กระทั่งในสนามเลือกตั้งก็ทำตามกฎกติกา ถ้าทุกคนมีความมุ่งมั่นแบบนี้ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีทางออก

ถามความเห็นว่าในฐานะมีประสบการณ์ตั้งรัฐบาล มองว่าการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพราะคงไม่มีพรรคไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง สุวัจน์-แกนนำพรรคชาติพัฒนา มองว่า การจัดตั้งรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่เป็นสมการตัวเลข คือเลือกตั้งมาแล้วโครงสร้างตัวเลขออกมาอย่างไร แล้วยิ่งเลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็จะต้องมีการประกาศแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมือง ดังนั้นผลการเลือกตั้งจะมาพร้อมกับความนิยมของแคนดิเดตนายกฯ ที่หมายถึงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสะท้อนความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อตัวแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อ ขณะเดียวกันการเป็นนายกฯ ก็ต้องมีสมการตัวเลขที่ต้องมาสนับสนุน แต่ก็จะมีบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ ด้วย

...ทำให้วิเคราะห์ยากพอสมควรว่าใครจะมาหรือไม่มา ใครจะเป็นอะไร แต่ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานตามที่กล่าวข้างต้น คือพื้นฐานผลการเลือกตั้ง กฎ กติกา พื้นฐานเรื่องความนิยมของชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่แต่ละพรรคเสนอ รวมถึงขั้นตอนการเลือกนายกฯ จึงไม่อยากไปวิเคราะห์ว่าใครจะได้เป็น หรือใครจะไม่ได้เป็น แต่ทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานตามที่ได้บอก แต่มันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ตราบใดที่เรายึดหลักที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น รธน.ที่ประชาชนลงประชาติ ให้การรับรอง แล้วเป็น รธน.ที่อยู่บนพื้นฐานการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ ที่ก็อาจมีคนชอบหรือไม่ชอบ ที่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อผ่านประชามติมาแล้วก็ต้องถือว่าเป็น รธน.ที่ผ่านความเห็นชอบโดยส่วนรวม

ดังนั้นถ้าเราใช้และปฏิบัติตาม รธน. แล้วประคับประคองเหตุการณ์ต่างๆ ไปสักระยะ เหมือนกับ transition ประเทศไปสักระยะแล้วเราก็ดูกันไปว่า รธน.อาจจะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการก็ได้ เพียงแต่ตอนนี้เป็นของใหม่ก็อาจทำให้เราไม่คุ้นเคย มีอึดๆ อัดๆ บ้าง แต่ถ้าใช้ รธน.ไปได้ระยะหนึ่งสถานการณ์ก็จะบ่งบอกว่า มีประเด็นอะไรที่เหมาะหรือไม่เหมาะอย่างไร ถึงตอนนั้นก็มาว่ากัน  เพราะของทุกอย่างเมื่อเป็นของใหม่ก็ต้องใช้ต้องปฏิบัติไปก่อน บางทีซึ่งมีการพูดถึงกันว่าจะแก้ไขหรือไม่แก้ไข รธน.

...ผมว่าคำตอบที่ดีที่สุดก็คือ เมื่อ รธน.ใช้และปฏิบัติไปแล้ว ผลการปฏิบัติเป็นอย่างไร ความรู้สึกนึกคิดของส่วนรวมตอนนั้นก็จะบอกว่า รธน.ฉบับปัจจุบันตอบโจทย์เรื่องการปฏิรูปประเทศหรือไม่ หรืออาจจะบอกว่าเรื่องนี้สมควรจะปรับปรุงอย่างไร แล้วเราก็ค่อยมาพิจารณาร่วมกัน ถึงวันนั้นประเทศไทยก็จะเดินหน้าไปได้.

 ..........................................................

ที่มาสโลแกน No problem  กับความหลังการเมืองยุค 'น้าชาติ'

                สุวัจน์-ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงการจัดทัพเตรียมพร้อมของพรรคก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง โดยเฉพาะสโลแกน-นโยบาย No problem ที่จะใช้ตอนหาเสียงว่า พรรคได้มีการเตรียมเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง โดยพรรคคำนึงถึงเจตจำนงการปฏิรูปการเมืองและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เห็นได้จากการปรับองค์การพรรคที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่นปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนต้องการเห็นการเมืองใหม่ นักการเมือง คนรุ่นใหม่ที่ทันยุคทันเหตุการณ์ไม่สร้างปัญหาแบบเดิม

                พรรคชาติพัฒนาที่เกิดขึ้นมา หลังการตั้งพรรคโดยท่านพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2535 มาถึงตอนนี้ก็ 26 ปี พรรคชาติพัฒนาได้นำปัญหาของประเทศและความรู้สึกของประชาชนมากางดู จนนำมาสู่การปรับโครงสร้างพรรค และมีเจตจำนงอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน จนนำมาสู่สภาพของพรรคชาติพัฒนาในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

                เห็นได้จากเช่นการปรับองค์กรพรรค ที่มีการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรค อดีต รมต.ที่ผ่านการทำงานมามาก อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่ไม่ได้ไปมีตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรค แต่จะมาอยู่เป็นที่ปรึกษาพรรค คอยให้ข้อชี้แนะจากประสบการณ์ที่มีมาก่อน ขณะที่กรรมการบริหารพรรค ก็จะทำงานขับเคลื่อนพรรค สร้างองค์กรของพรรค พรรคชาติพัฒนาจึงมีสองระดับ คือคณะที่ปรึกษา ก็มีผมเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค แล้วผู้ใหญ่ในพรรคมาเป็นที่ปรึกษา เช่น นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล, ร้อยตรีประพาส ลิมปะพันธุ์, พ.อ.วินัย สมพงษ์, พงษ์อุดม ตรีสุขขี ส่วนกรรมการบริหารพรรคก็มีคนหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นหัวหน้าพรรค ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี คือเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรค และนายดล  เหตระกูล เป็นเลขาธิการพรรค 

...โครงสร้างของพรรคจะมีคนหน้าใหม่ คนรุ่นหนุ่มสาวเป็นผู้บริหารพรรค เหมือนเป็นซีอีโอ แล้วคณะที่ปรึกษาก็เป็นเหมือน advisory board เพราะการเมืองมีหลายมิติ บางทีของที่เห็นไม่ใช่ แต่ของที่ใช่กลับไม่เห็น จึงมีเรื่องของการผ่านร้อนผ่านหนาว การมีสัญชาตญาณ ที่เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องรู้ได้ทันทีว่าต้องตัดสินใจการเมืองอย่างไร เพราะการมีประสบการณ์จะช่วยในเรื่องการตัดสินใจเวลามีวิกฤติ  หรือในช่วงระยะเวลาของประเทศชาติจากนี้ไป ผมก็ยังคิดว่าจะมีอะไรให้ตัดสินใจกันเยอะ การมีคณะที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทำงานจึงมีประโยชน์

                ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อไปว่า จากสภาพปัจจุบันหากไปถามประชาชนว่าต้องการเห็นอะไรจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าวันนี้ปัญหาที่อยู่ในใจคนมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.เรื่อง เศรษฐกิจ 2.จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมีความสุข หยุดทะเลาะ หยุดขัดแย้งกัน ผมเชื่อว่าวันนี้คนไทยทุกคนขอสองเรื่องนี้

                ...พรรคชาติพัฒนาก็มาวิเคราะห์และวางกรอบทิศทางการทำงานของพรรคต่อจากนี้ เราก็นึกถึงผู้ก่อตั้งพรรค นึกถึงท่านพลเอกชาติชาย ซึ่งเดิมทีเป็นของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีต ผบ.ทบ. ที่ตั้งพรรคปวงชนชาวไทยเมื่อปี 2531 ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 พลเอกชาติชายตัดสินใจกอบกู้เศรษฐกิจ มาช่วยบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ชวนพลเอกอาทิตย์ให้มาทำพรรคการเมืองกันใหม่ ด้วยการนำพรรคปวงชนชาวไทยมาทำแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคชาติพัฒนา

                พรรคชาติพัฒนาก็มาคิดกันว่า ที่ประชาชนต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและเป็นห่วงเรื่องความขัดแย้ง เราก็พิจารณากันว่าการที่พรรคอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ และเป็นพรรคที่ค่อนข้างเดินสายกลาง แล้วมองกลับไปที่พลเอกชาติชาย ก็มองเห็นชัดเจนเพราะพลเอกชาติชายเป็นอดีตนายกฯ อดีตนักการเมืองที่มีบุคลิกพิเศษ และนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ ผมคิดว่าตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้

...พวกเราที่เปรียบเหมือนเป็นลูกเป็นหลานพลเอกชาติชาย ที่เติบโตมาอย่างไร ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เลยพยายามจะนำแนวนโยบายของพลเอกชาติชายทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาใช้

อย่างวิธีคิดการทำงานด้านเศรษฐกิจ หากไปดูสมัยพลเอกชาติชายที่เมื่อขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็เห็นว่ารอบ้านเรา สองฝั่งโขง อินโดจีน รบกันตลอด มีแต่ความไม่สงบ พลเอกชาติชายก็บอกว่ารอบรั้วบ้านเรารบกันทุกวัน แล้วใครจะข้ามมาประเทศเรา พลเอกชาติชายเลยเห็นว่าต้องทำให้รอบบ้านเราสงบ แล้วคนจะเข้ามาบ้านเรา พลเอกชาติชายเลยไปเจรจาพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ ในแถบอินโดจีน ไปเล่นกอล์ฟ ทานอาหารร่วมกัน เป็นคนกลางช่วยประสานให้เกิดการเจรจาจนกระทั่งทำให้อินโดจีนสงบ แล้วก็ชูนโยบาย แปรสนามรบเป็นสนามการค้า ที่ก็คือทำให้อินโดจีนสงบ แล้วประเทศไทยจะเป็นสนามการค้าในอินโดจีน

หลังจากนั้นอีสานก็บูมเลย เกิดการพัฒนาครั้งใหญ่ในอีสาน เช่นมีการตัดการสร้างถนนสี่เลน มีการไปตั้งนิคมอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมให้คนอีสาน มีการนำสินค้าผลผลิตการเกษตรไปเข้าสู่อุตสาหกรรมและไปขายในอินโดจีน  

วิธีคิดของพลเอกชาติชายคือทำบ้านเมืองให้เรียบร้อยก่อน หยุดทะเลาะกัน แล้วทำเศรษฐกิจให้คนมีงานทำ มีรายได้ ก็ส่งผลต่อเนื่องเช่น เมื่อมีการเติบโตทางอุตสาหกรรมก็มีความต้องการใช้ที่ดิน ก็ทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้น มีการพัฒนาด้านการศึกษา เช่น การตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผมจำได้เศรษฐกิจยุคพลเอกชาติชายทำแฮตทริก คือทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโตเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ 3 ปีซ้อน คือจีดีพีอยู่ที่ 11-12 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2531-2534 จนมีการพูดกันว่า เศรษฐกิจยุคน้าชาติ

                ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า จากที่กล่าวมาทำให้พรรคมองกันว่าเราต้องวางเข็มทิศ วางทิศทางการทำงาน โดยยึดถือแนวทางของพลเอกชาติชายในเรื่องเศรษฐกิจกับการเมือง             โดยเรื่องการเมืองเมื่อดูความคิดของพลเอกชาติชาย ที่จะมองเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสมัยพลเอกชาติชายเป็นนายกฯ ผมมองย้อนอดีตไปเลย ก็เห็นว่าการเมืองสมัยนั้นแตกต่างจากการเมืองในช่วงที่เราขัดแย้งกันในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

                สมัยพลเอกชาติชายเวลาเราอภิปรายอะไรกันในสภา มัน มีพี่มีน้อง มันมีรุ่น เช่นคนอภิปรายในสภาเวลายื่นกระทู้สด ยื่นญัตติถามรัฐมนตรีในสภา ก็จะบอกว่า ผมขอโทษนะพี่ ผมขอนิดนึง พออภิปรายแล้วตอบเสร็จก็จะลงมายกมือไหว้กัน มาจับมือกัน มันเป็นอารมณ์ของพี่น้องของเพื่อนฝูง ที่แยกบทบาทการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เวลานั้นแม้แต่ฝ่ายค้านหากเขาเห็นว่ารัฐบาลพูดอะไรแล้วมีเหตุมีผล เขาก็ให้การสนับสนุน หรือผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายอะไรเสร็จ นายกฯ ก็จะขอบคุณ แล้วบอกจะรับไปพิจารณาให้ ซึ่งปัจจุบันบรรยากาศแบบนี้ไม่มีให้เห็น รัฐบาลกับฝ่ายค้านไม่พูดจากัน  มองว่าเป็นคนละพวกเลย

                การเมืองสมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะ สมัยน้าชาติท่านจะมีห้องประชุมที่รัฐสภาอยู่ห้องหนึ่ง ที่เรียกว่าห้องสหประชาชาติ แล้วพลเอกชาติชายจะนั่งดูโทรทัศน์เพื่อดูการอภิปรายในห้อง เวลาท่านเห็นใครด่าอะไรกันในห้องประชุมรัฐสภา ท่านจะให้คนไปเชิญสองฝ่ายเข้ามาในห้อง แล้วชวนให้มานั่งกินน้ำกินข้าวกัน  แล้วบอกให้สองฝ่ายจับมือกัน บอกว่าเราพวกเดียวกัน ขอโทษขอโพยกันในห้อง แล้วในห้องนั้นจะมีทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลเดินเข้าเดินออกกันตลอด ทุกคนจะใช้ห้องนั้นเป็นศูนย์กลางทำความเข้าใจกัน บางคนอาวุโสน้อยกว่าก็จะบอก พี่เมื่อกี้หนักไปหน่อยนะ หรือบางคนมีอะไรก็ฝากฝังกัน บ้านเมืองเราสมัยนั้น ก็เหมือนมีผู้ใหญ่ทางการเมือง เป็นการเมืองแบบที่มีพรรคมีพวก มีความเข้าใจกัน มีรุ่นพี่รุ่นน้อง

                สุวัจน์ เล่าความหลังทางการเมืองที่น่าสนใจ สะท้อนการเมืองในอดีตกับยุคปัจจุบันไว้ว่า พลเอกชาติชายจะพูดอยู่เสมอว่า "เฮ้ย การเมืองชนะกันเสียงเดียวก็พอ ประชาธิปไตยชนะกันเสียงเดียวก็พอ" ที่หมายความว่า การเมืองหากคุณไปชนะเยอะๆ คนแพ้เขาก็จะเจ็บใจ สมมุติสภามี 500 เสียง  เราได้ 251 เสียง อีกฝั่งได้ 249 ก็พอแล้ว ประชาธิปไตยชนะกันแค่เสียงเดียวก็พอ ชนะกันเยอะๆ ฝ่ายแพ้ก็เจ็บใจ ชนะกันทุกครั้งฝ่ายแพ้ก็เจ็บใจ แล้วไงพอเจ็บใจก็เลยเป็นชัยชนะที่มีศัตรู

"พลเอกชาติชายจึงย้ำว่า การเมืองไม่ต้องไปชนะเยอะๆ ให้ชนะน้อยๆ เพราะมันจะเหลือมิตรภาพ ชนะเยอะๆ มิตรภาพจะหายไป ชนะน้อยๆ มันยังทำให้มีความหวัง ก่อให้เกิดโอกาสที่จะแก้มือ ก่อให้เกิดการร่วมมือร่วมใจ ถึงได้ย้ำว่าการเมืองชนะกันเสียงเดียวก็พอ"

                พลเอกชาติชายยังบอกอีกว่า การเมืองชนะกันแค่เสียงเดียวยังก่อประโยชน์อีก คือทำให้เกิดการถ่วงดุลเพราะเสียงใกล้เคียงกัน คือหากชนะกันน้อยๆ คนชนะพอไปเป็นรัฐบาลก็จะเกรงใจฝ่ายค้าน  เพราะเวลาฝ่ายค้านพูดอะไรก็ต้องฟัง แต่เวลาชนะเยอะๆ ก็ไม่เกรงใจฝ่ายค้าน ชนะเยอะเป็นเสียงข้างมาก เลยทำให้เกิดความมั่นใจมากเกินไป ทำให้เกิดความผิดพลาด ไม่ฟังเสียงทักท้วง จึงเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์ของประชาธิปไตย ที่พลเอกชาติชายบอกว่าชนะกันแค่เสียงเดียวก็พอแล้ว นี่คือประสิทธิภาพของการบริหารระบอบประชาธิปไตย โดยใช้สมการตัวเลขเป็นตัววัดได้เลยว่าการเมืองไม่ต้องไปชนะกันเยอะ

...พลเอกชาติชายยังบอกอีกว่า "เล่นการเมืองมันต้องจบเป็นยกๆ เหมือนมวยจบเป็นยกๆ เลือกตั้งแล้วจบ ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จยังไปคิดถึงอดีต ยุบสภาแล้วจบ เลือกตั้งแล้วจบ นับหนึ่งกันใหม่ ลบเทปในอดีต การเมืองอย่าไปซีเรียส อย่าไปเคือง อย่าไปแค้น การเมืองจบเป็นจบ จบเป็นยกๆ” จึงเห็นได้ว่าการเมืองสมัยพลเอกชาติชาย ช่วงนั้นการเมืองมีความสุข การเมืองไม่เครียด คนอยากมาเล่นการเมือง ตำแหน่งในพรรคการเมืองบางทีก็แย่งกันเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ซึ่งผิดกับการเมืองสมัยปัจจุบัน ที่การเมืองเหมือนกับเป็นอะไรที่ไม่ง่าย ทำให้สมัยนี้เวลาไปชวนใครก็เหมือนกับปฏิเสธ ซึ่งแตกต่างจากอดีต

สุวัจน์-นักการเมืองรุ่นใหญ่ที่เคยทำงานการเมืองใกล้ชิดกับพลเอกชาติชาย ผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา เล่าให้ฟังอีกว่า เวลาพลเอกชาติชายให้สัมภาษณ์หรือพูดถึงปัญหาบ้านเมืองจะไม่โยนความเครียดมาให้ จนมีประโยคที่อยู่ในใจของผู้คน เวลาท่านจะพูดก็จะบอกว่า ไม่มีปัญหา บอก No problem

...คำว่า no problem ของพลเอกชาติชายจึงเป็นคำพูดที่ติดปาก ซึ่งหมายถึงในการเป็นนายกฯ ไม่ต้องการให้ประชาชนเครียดกับสถานการณ์ของประเทศ อยากให้ประชาชนมั่นใจกับรัฐบาลว่าปัญหาต่างๆ รัฐบาลจะไปแก้ไข พลเอกชาติชายจึงมักพูดเสมอว่า ปัญหามีได้ แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ ดังนั้นเวลามีปัญหาไม่ต้องไปเครียด พลเอกชาติชายตอนเป็นนายกฯ เวลามีปัญหาอะไรก็เลยจะเฉยๆ ไม่ตื่นตระหนก แล้วเวลาแก้ปัญหาจะเปรียบเทียบไว้ว่าก็เหมือนกับ ปล้ำกับยักษ์ ปัญหาคือยักษ์บางทีมาพร้อมกันเลยสิบตัว มีสิบปัญหา เราก็เลือกปัญหาที่มีความสำคัญก่อน เหมือนกับปล้ำยักษ์ให้ปล้ำทีละตัว แล้วเราจะชนะยักษ์ เวลาเจอปัญหาก็แยกแยะแล้วหยิบปัญหามาค่อยๆ แก้ไข

                ...วิธีการของพลเอกชาติชาย เรื่องเศรษฐกิจก็มีวิธีการทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง เรื่องการเมืองก็ทำให้บ้านเมืองสงบ มีความเรียบร้อย มีหลักประชาธิปไตยที่ทำให้พรรคการเมืองอยู่กันได้ มีความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์

ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ย้ำว่า จากที่กล่าวมาพวกเราชาติพัฒนาที่เตรียมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เราจึงจัดองค์กรให้สอดคล้องกับการปฏิรูปและความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยให้คนหน้าใหม่เข้ามาบริหาร ขณะเดียวกันนักการเมืองที่มีประสบการณ์ก็คอยช่วยอยู่ เหมือนกับสร้างส่วนผสม ค็อกเทลให้เหมาะสม เพราะถ้ามีแต่คนใหม่ล้วนๆ ก็อาจไม่ดี ก็ต้องมีคนมีประสบการณ์ มีความเก๋ามาช่วย การที่เราสร้างค็อกเทล มีส่วนผสมที่ถูกต้อง ก็จะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง

                ส่วนแนวทางว่าจะทำการเมืองอย่างไร ก็นำแนวทางของพลเอกชาติชาย ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคและมีจุดแข็ง 2 เรื่อง คือเศรษฐกิจกับความปรองดอง ที่เป็นปัญหาของประเทศในทุกวันนี้ ก็เลยคิดว่าบุคลิก  ผลงาน แนวทาง อุดมการณ์ ทิศทางต่างๆ ของพลเอกชาติชายเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ  ทางพรรคก็เลยประกาศชัดเจนว่า จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งโดยใช้ทิศทางของพลเอกชาติชาย จึงเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า พรรคชาติพัฒนา no problem.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

..............................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"