'ลูกปลาทูที่หายไป...ในอ่าวไทย' สะท้อนสภาพสุดวิกฤติ!!! ขณะที่ 'อีอีซี' จ่อซ้ำเติม


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

 

cr: wikipedia.org

 

     นาทีนี้อ่าวไทยกำลังบูมสุดขีด รัฐบาลดันเมกะโปรเจ็กต์มากมายพัฒนาชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 เพื่อรองรับสินค้าและสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ จะถมทะเล ขุดลอกร่องน้ำ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในอีอีซี อัดงบเป็นล้านล้านบาท หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายรัฐละเลยที่จะมองขีดความสามารถในการรองรับมลพิษของอ่าวไทย ซ้ำเติมปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เลวร้าย โดยเฉพาะระบบนิเวศอ่าวไทยตอนในหรืออ่าวรูป ตัว ก

       จากสถานการณ์อ่าวไทยปัจจุบัน คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มก. และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดเสวนาวิชาการ "วิกฤตอ่าวไทย รวมใจแก้ไข...มุ่งไป SDGs" ขึ้นเมื่อวันก่อน ที่ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 มก. ตีแผ่ปัญหาความเสื่อมโทรมของอ่าวไทยและการหาทางออกใหม่จัดการสิ่งแวดล้อม

      พล.อ.เอกชัย จันทร์ศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า จากปัญหาการระบายมลพิษลงสู่อ่าวไทยที่ไม่สามารถควบคุมได้มาเป็นเวลานานเกินกว่าทะเลไทยจะรับได้ รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างขาดการควบคุมที่ทั่วถึง ส่งผลให้ทรัพยากรชีวภาพของอ่าวไทยเข้าสู่สภาวะวิกฤติ เกิดปัญหาความขัดแย้งมากมาย นอกจากนี้นโยบายในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลหวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนภาคตะวันออกได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นแหล่งอุตสาหกรรม ฉะนั้น การรับมือสถานการณ์วิกฤติของคุณภาพน้ำทะเลในอ่าวไทยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันยังขาดการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้อย่างเป็นรูปธรรม

      " คนไทย 1 คนผลิตขยะ 1.4 กิโลกรัมต่อวัน ไทยมีขยะ 27 ล้านตันต่อปี จัดการถูกต้องเพียง 43%  อีก 31% นำกลับมาใช้ ขยะที่เหลือบำบัดไม่ถูกต้องกว่า 7 ล้านตันต่อปี ขณะที่อ่าวไทยตัว ก มี 24  จังหวัดชายฝั่ง สร้างปริมาณขยะ 11.5 ล้านตันต่อปี กำจัดถูกต้องแค่ 60% นำไปใช้ประโยชน์ 26% ที่เหลือราว 1.5 ล้านตันลงทะเล ขยะเหล่านี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเล แล้วยังมีแพขยะ ซึ่งยูเอ็นยกให้เป็นปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือระดับประเทศแก้ไข ปัญหาไมโครพลาสติกในทะเล ที่องค์การอนามัยโลกกำลังเพ่งเล็งเพราะกระทบต่อสุขภาวะประชาชน" พล.อ.เอกชัยชี้ถึงปัญหามลพิษ

      ผู้ช่วย รมว.ทส.กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2558 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลทะเล ชายฝั่ง ปะการัง สัตว์ทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ  ทช.เองมีมาตรการจัดการขยะในทะเล เน้นเก็บขยะทะเลที่ตกค้าง กรณีอ่าวไทยนั้นลำน้ำและคลองที่เชื่อมต่อทะเลต้องติดตั้งทุ่นลอยดักขยะบริเวณปากแม่น้ำและคลองสำคัญ โดยทำงานร่วมกับท้องถิ่น อีกทั้งสำรวจ ประเมินขยะทะเล ผลกระทบต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเลหายากและไมโครพลาสติก ซึ่งการจัดการวิกฤติขยะและมลพิษทะเลไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในแผนปฏิรูประเทศด้านทรัพยากรแห่งชาติจะขับเคลื่อนแก้วิกฤติอ่าวไทยด้วย 

 

 มลพิษที่ระบายลงอ่าวไทยกระทบต่อสัตว์น้ำ    

     เมื่อเจาะลึกถึงสถานการณ์ปัญหาอ่าวไทยรูปตัว ก.แล้ว รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ คณบดีคณะประมง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่อ่าวไทยตัว ก ไม่ได้กว้างและมีระดับความลึกเพียงพอรองรับมลภาวะ เฉลี่ยลึกไม่ถึง 40 เมตร และมีกระแสน้ำหมุนไปมา ฤดูฝนและฤดูหนาวหมุนคนละทาง แต่น้ำไม่ได้ออกไปไหน  งานวิจัยที่ทำสะท้อนการเปลี่ยนแปลงน่าเป็นห่วงกว่า 20 ปีที่มลพิษสะสม จากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม 2560-2561 เทียบกับสถานีสำรวจของกรมประมง พื้นที่สำรวจตามช่วงฤดูกาลจำนวน 101 สถานี ในปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง มีนักวิจัยร่วมมากกว่า 50 ชีวิต ผลสำรวจคุณภาพน้ำพบว่าตั้งแต่บางปะกงน้ำเปลี่ยนสีไป จากการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนพืช และมีปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ปากแม่น้ำ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สีน้ำเปลี่ยน น้ำเขียวปี๋ บางจุดสีน้ำตาลปนดำ 

      นอกจากนี้ยังพบผิวน้ำมีออกซิเจนสูง แต่เมื่อลงไปก้นอ่าวเหลือออกซิเจนเบาบางมาก สัตว์น้ำอาศัยอยู่ไม่ได้ ตายราบเป็นหน้ากอง อีกทั้งพบสารอินทรีย์ในดินมากขึ้น 35% แอมโมเนียมสูงขึ้น 30%  และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอใช้คำว่า "เน่า" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปีจากการสำรวจ ส่งผลกระทบต่อสัตว์หน้าดินและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

     " เราพบแพลงก์ตอนมีพิษปรากกตัว เริ่มมีสัญญาณเตือนและนักวิชาการกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด  น้ำจืดไหลลงอ่าวตัว ก มากเท่าไหร่ยิ่งนำพามลภาวะมา วัดก๊าซไข่เน่ากลางอ่าวไทยก็เริ่มแย่แล้ว อีกทั้งพบซากสิ่งมีชีวิตที่ตายเพราะคุณภาพดินเสื่อมโทรม ยังไม่นับปัญหาการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ คุณภาพน้ำแย่ลงทุกวัน ส่งผลให้เกิดวิกฤติสัตว์น้ำรุนแรง กรณีตัวอย่างมีพัทยา สัตหีบ อ่าวอุดม น้ำเขียวปี๋ พบปลาตายเกลื่อนหาด" รศ.ดร.เชษฐพงษ์ส่งสัญญาณดังๆ

 

ทีมนักวิจัยคณะประมง มก.สำรวจสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมอ่าวไทย  

 

    หากพูดถึงสถานการณ์สัตว์น้ำ คณบดีคณะประมงเผยว่า เมื่อปี  57 มีมาตรการปิดอ่าวไทยตัว ก  ฟื้นทรัพยากรทางทะเล ปี 58 เปิดมาประมงจับปลาทูได้ 3 หมื่นตัว แต่ปีถัดมาจับได้ลดลงต่อเนื่อง และเริ่มหายไปจากระบบนิเวศเพราะถูกรบกวนอย่างหนัก อัตราการจับปลาทูปลาลังเพิ่งเงยคอขึ้นมาได้เล็กน้อยปี 60 และปลายปี 61 หากไม่มีมาตรการจัดการคนรุ่นหลังจะไม่ได้กินปลาทู เหลือแต่ปลาแมว  

      "อ่าวไทยรูปตัว ก หาลูกปลาทูไม่พบแม้แต่ตัวเดียว ไม่พบการกระจายของปลาวัยอ่อน แต่มีประชากรเสริมจากเขมร น่าเป็นห่วง ประเด็นเร่งด่วนทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ วางแผนร่วมกัน และเกิดการทุ่มเทจากทุกภาคส่วนช่วยกันเพื่อให้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาโทษกันไปมาใครปล่อยมลพิษ แต่จากงานวิจัยชี้ชัดเจน สิ่งที่ไหลลงอ่าวไทยมาจากทุกทิศตั้งแต่เชียงใหม่  เชียงราย นครนายก ปราจีนบุรี ทางออกเพื่อจัดการ ทุกพื้นที่ต้องมาคุยกัน วันนี้ต้องยอมรับกำลังจากภาครัฐไม่เพียงพอ ต้องใช้บทบาทของชุมชนและการจัดการในท้องถิ่นดูแลสิ่งแวดล้อมอ่าวไทย รวมถึงทะเลไทย" รศ.ดร.เชษฐพงษ์กล่าวย้ำ 

      ปัญหาที่กระทบอ่าวไทยมากที่สุด ดร.อุกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ทช.กล่าวว่า อ่าวไทยมีระบบนิเวศปากแม่น้ำสำคัญ  อดีตพัดพาตะกอนที่เป็นประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีสารเคมีและน้ำเสียไหลลงมาสะสมและทับถมในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อนิเวศอ่าวไทย การเติบโตพัฒนาเมืองส่งผลการรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลน ก็พยายามทวงคืนกลับมาในรูปแบบป่าชุมชน ส่วนที่เสื่อมโทรมก็เร่งฟื้นฟู ซึ่งป่าชายเลนดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 3 เท่า ส่วนสถานะคุณภาพน้ำอ่าวไทย ไม่เฉพาะอ่าวไทยตอนบนรูปตัว ก ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยอมรับมีสถานการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี อดีตมาเฉพาะหน้าน้ำ แต่ปัจจุบันมาตลอด ไม่ใช่สภาพปัญหาของทุกพื้นที่ แต่ชลบุรีพบน้ำเปลี่ยนสี 16 ครั้ง เป็นตัวบ่งชี้ให้ตระหนักถึงปัญหาจะฟื้นความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอ่าวไทยอย่างไร ทั้งนี้จิตสำนึกรับผิดชอบสำคัญและต้องแก้ที่ต้นเหตุ

  ."น้ำเปลี่ยนสี" ปรากฏการณ์ที่เกิดถี่ สัญญาณอันตรายสิ่งแวดล้อม   

     ด้าน ประลอง ดำรงไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า อ่าวไทยรูปตัว ก เข้าข่ายวิกฤติเพราะผิดปกติจากเดิม มีแหล่งกำเนิดมาจากแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่กลอง บางปะกง ซึ่งคุณภาพน้ำพอใช้ แต่ท่าจีนและเจ้าพระยาเสื่อมโทรม ขณะที่คูคลอง 95 แห่งในกรุงเทพฯ เสื่อมโทรมหมด โรงงานเห็นแก่ตัวปล่อยน้ำเสีย บางที่ยอมเสียค่าปรับ ชุมชนไม่มีระบบจัดการน้ำเสียเบื้องต้น ไม่พูดถึงขยะที่กำจัดไม่ได้และไหลลงทะเลฝั่งอ่าวไทย

      "ปัญหาน้ำเสียระบายลงอ่าวไทย ลักลอบทิ้งน้ำมัน มีทั้งอุบัติเหตุและจงใจ ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม วิกฤติ คพ.ไปตรวจสถานประกอบการเมืองพัทยาก็พบระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐานร้อยละ 23 ก็ได้อบรมแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม แนะนำให้ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย พัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อต้องแก้ปัญหาให้ยั่งยืน และจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอ่าวไทยและอันดามัน เช่น  เกาะสมุย, อ่าวนาง นอกจากนี้ คพ.ทำเอ็มโอยูกับ 9 หน่วยงานสร้างฐานข้อมูลน้ำมันดิบและคราบน้ำมัน  ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นอีกมาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องรณรงค์ลดถุงพลาสติกต่อเนื่อง เป็นปัญหาหนัก ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตกว่า 8 ล้านคนจากมลพิษ ตัวเลขนี้ต้องลดให้ได้ ส่วนเรื่องป้องกันน้ำเสียลงอ่าวไทยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อควบคุมผู้ก่อมลพิษ" ประลองกล่าวทิ้งท้าย 

 สถานการณ์ทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยเสื่อมโทรม สัตว์น้ำตายเกลื่อนชายหาด

     นักอนุรักษ์ร่วมเวทีเสวนาอย่าง แน่งน้อย ยศสุนทร ครูสอนดำน้ำและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Save Our Sea  กล่าวว่า อ่าวไทยวิกฤติแก้ได้เริ่มต้นที่ตนเอง ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่ปล่อยน้ำเสียลงทะเล ลดการใช้ถุงพลาสติก จากนั้นสร้างจิตสำนึกในครอบครัวและกลุ่มสมาชิก รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารด้านการอนุรักษ์ต้องทำต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการรับรู้สภาพปัญหา แต่ถ้าหยุดไม่ได้ก็คงต้องแก้ที่ปลายเหตุ เก็บขยะ ตัดอวนต่อไป เพราะถ้าไม่ทำปะการังตายหมด ฉลามวาฬขนาด 4 เมตรเกยตื้นตายที่คลองด่าน ผ่าท้องพบแต่หลอดพลาสติกในกล่องน้ำผลไม้กล่องนมทิ่มกระเพาะ เป็นเหตุให้สัตว์ป่วยและเสียชีวิต ฉะนั้นอย่าละเลยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พัดพาลงอ่าวไทยและทะเลไทย

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"