พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี แหล่งความรู้วิถีชีวิตคนในอดีต


เพิ่มเพื่อน    

 

จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี และโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี)

   

      พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจและความมุ่งมั่นของจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ช่างหล่อพระแห่งเมืองพิษณุโลก ที่หลงใหลและชื่นชอบการซื้อสะสมของเก่า ทั้งเครื่องมือทำมาหากินภูมิปัญญาชาวบ้าน เงินตราหรือธนบัตรเก่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพถ่ายต่างๆ มากมาย ที่เป็นภาพชีวิตของผู้คนในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครสรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ 

      แต่เพราะคนไทยมีความสนใจในการเข้าเที่ยวชมเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ไม่มากนัก โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ผู้ที่จะทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดงานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้ำค่า ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี และโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) แหล่งเผยแพร่งานศิลป์ ถิ่นเมืองสองแคว จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 19-21 ธันวาคม ที่ผ่านมา

 

      นางสาวชริดา สังข์ทอง รักษาการแทนผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดงานแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ก็เพราะต้องการที่จะสนับสนุนให้เยาวชนและนักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้องค์ความรู้ด้านศิลปะอย่าง จ่าทวี ซึ่งนับว่าเป็นศิลปินที่มีคลังความรู้และมีฝีมือในการปั้นพระพุทธชินราช เยาวชนและนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ต่อได้หลังจากมาสัมผัสผลงานของจ่าทวี  

      " ปีนี้ได้เปิดบ้านศิลปินไปแล้ว 3 บ้าน ในปีนี้นอกจากที่บ้านจ่าทวี ก็คาดว่าในปีต่อไปจะดำเนินการต่อที่บ้านอาจารย์อินสนธิ์ วงศ์สาม จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมที่นี่ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งด้วย ส่วนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดผลในระยะยาว เพื่อดึงทั้งคนในชุมชนและคนไทย หรือชาวต่างชาติได้รู้จักและเข้าชมมากขึ้นด้วย" ชริดา กล่าว

      ภายในงานประกอบด้วยซุ้มกิจกรรมกว่า 32 ซุ้ม อาทิ การสาธิตและการจำหน่ายสินค้าของดีบ้านฉัน OTOP และ CPOT ของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ การทำกระดาษรังผึ้ง และการลูกยอด กระเป๋าสานเส้นพลาสติก ประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหม เกล็ดปลา และกระดาษสา ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าลายขิด ผ้าขาวม้า ปักผ้า ฯลฯ และยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ ระบำเบญจรัตน์ การแสดงนวดข้าว รำพรหมพิรามตามรอยพ่อ และอีกมากมาย ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปให้ความสนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์และร่วมกิจกรรม

 

 

      จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี และโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) เล่าถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า เริ่มชอบสะสมของเก่าตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการซื้อพระและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ การสะสมไม่ได้เพียงแค่การเก็บอย่างเดียว แต่ยังต้องทำการศึกษาเรียนรู้ของแต่ละชิ้นอีกด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าของเก่าที่ซื้อเป็นของจริง แม้ว่าในช่วงแรกคนในครอบครัวจะไม่เห็นด้วย แต่ก็แอบซื้อเก็บสะสมเรื่อยมา เมื่อข้าวของเริ่มมีมากขึ้น จึงมีความคิดที่จะอยากสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ครอบครัวก็ยังไม่เห็นด้วยอีก แต่ด้วยความมุ่งมั่น และในช่วงนั้นมีรายได้มากขึ้นจากทำโรงหล่อพระ ทำให้ได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลังแรกขึ้นมาในปี 2526 และได้ขยายมาจนมี 5 อาคาร รวมเวลาที่เริ่มทำเป็นพิพิธภัณฑ์กว่า 30 ปี นับว่าเป็นเรื่องที่ตนภูมิใจอย่างมาก เพราะเริ่มทำด้วยกำลังของตนเอง และเชื่อว่าจะมีประโยชน์กับคนรุ่นหลังให้ได้เห็นของเก่าๆ แสดงถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษ และให้ลูกหลานได้สานต่อ เผยแพร่สิ่งเหล่านี้ในอนาคตต่อไป

   

 ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ บุตรชายจ่าทวี

  ด้าน นายธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี ลูกชายของจ่าทวี กล่าวว่า ในฐานะลูกและเป็นทายาท ก็จะสืบสานสิ่งที่พ่อได้สร้างขึ้น และยังมีพี่สาวอีกคนที่จะมาช่วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและยากสำหรับตน เพราะเป็นงานที่ไม่ได้มีความถนัดมากนัก แต่เพราะพ่อได้สร้างสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่แรกด้วยความชอบและความมุ่งมั่นจนออกมาสมบูรณ์จากเงินส่วนตัว แม้ทางครอบครัวไม่ได้เห็นด้วยตอนแรก เพราะไม่เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในการเอาเงินมาลงทุน แต่พ่อก็ยังคงคอยแอบซื้อและแอบศึกษาเกี่ยวกับของเก่า เครื่องใช้เก่าๆ อยู่เสมอ จนมีของกว่า 1 หมื่นชิ้น ทำให้ตนรับรู้ได้ถึงปณิธานและความมุ่งมั่นของพ่อ และคิดได้ว่าสิ่งของเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง จึงภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้

      นายธรรมสถิตย์กล่าวเสริมว่า การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยมากนัก แม้ว่าแต่ก่อนจะเปิดให้เข้าชมฟรี แต่ก็ต้องยอมรับว่ารายได้ไม่เพียงพอ จึงเก็บค่าเข้าชมมากว่า 10 ปี ในราคา 50 บาท ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ก็ขาดทุนทุกเดือน จึงได้คิดหาทางให้พิพิธภัณฑ์ได้คงอยู่ต่อไปด้วยการหาเงินทุนสนับสนุนยามขาดแคลน พ่อจึงได้สร้างพระพุทธชินราช รุ่นเศรษฐี ปี 2561 มาหนึ่งองค์ ทั้งออกแบบและปั้นด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้คนได้เช่าเพื่อสนับสนุน ทำนุบำรุงพิพิธภัณฑ์ต่อไป

      “เพราะในอนาคตที่แห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและผู้เข้าชม และจังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีผู้เดินทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จากทั่วโลก ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ดีและภาคภูมิใจด้วยที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมชม และเจ้าชายฟูมิฮิโตะ เจ้าอากิชิโนะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ มาทรงเยี่ยมชมถึง 2 ครั้ง พระองค์มีความสนพระทัยเครื่องมือเครื่องใช้ของคนไทยในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก และนักท่องเที่ยวชาวจีนก็เริ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับความสนใจจากชาวไทยมากขึ้นในการมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์” ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าว

      สำหรับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี แบ่งออกเป็นอาคาร จำนวน 5 หลัง ได้แก่ อาคาร 1 อาคารสำนักงานและจำหน่ายของที่ระลึก อาคาร 2 เป็นอาคารไม้เก่า 2 ชั้น อาคารหลังแรกจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ  ภายในบ้านหลังนี้แบ่งเป็นชั้นล่าง จะจัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก ของโบราณต่างๆ เช่น แบบจำลองเรือ และเรือนสมัยโบราณ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ สมุนไพร ยาโบราณต่างๆ เป็นต้น ส่วนชั้นบนเป็นการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยก่อนของคนไทย

      ในส่วนอาคาร 3 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่นและวิถีชีวิตชาวบ้าน อาคารนี้มี 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต (ส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดนครสวรรค์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก) เช่น เครื่องสีข้าว เครื่องจักสาน ครัวไฟ พาไล ไม้นวดข้าว หินบดยา หม้อดิน กระต่ายขูดมะพร้าว โอ่ง หม้อน้ำ เครื่องมือจับสัตว์ เหรียญ ธนบัตร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ส่วนชั้นบนเป็นการจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องดนตรี ของเล่น เครื่องทองเหลือง อาวุธต่างๆ เชี่ยนหมาก ชามเบญจรงค์ จานเชิง โต๊ะเครื่องแป้ง เป็นต้น

      และอาคาร 4 จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่ง (ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ) กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี มานานแล้ว โดยชาวโซ่งจะมีพิธีเสนเรือน (เลี้ยงผีปู่ย่าตายาย) พิธีเสนอะนี (สะเดาะเคราะห์เมื่อมีคนตายในบ้าน) และอาคาร 5 จัดเป็นห้องเฉลิมพระเกียรติ หอเกียรติยศ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ในการจัดแสดงเกียรติประวัติของจ่าทวี ฯลฯ

      เด็กหญิงรัตนาพร พิกุล นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม กล่าวว่า คุณครูได้พามาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ได้มาเห็นของเก่าๆ อย่างอุปกรณ์ดักสัตว์ ปิ่นโต และธนบัตร เงินตราต่างๆ ถึงจะมาชมหลายครั้ง แต่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ รู้สึกชอบและมีความสุข เหมือนได้มาเที่ยวและได้ความรู้ด้วย อยากให้ทุกคนลองมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เพราะมีแต่สิ่งของที่หายากและได้ความรู้ด้วย

เด็กหญิงรัตนาพร พิกุล สนใจชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี 

      อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี และร่วมกิจกรรมในงานแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้ำค่า บ้านจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ -21 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"