หมอเด็กชี้ก.ท่องเที่ยวฯดองร่าง กม.ห้ามเด็กต่ำกว่า 12 ปีชกมวยไม่ทัน ครม. - สนช.พิจารณา 


เพิ่มเพื่อน    

28ธ.ค.61-รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. ... ที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีชกมวย ว่า จากการตรวจสอบล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา ทั้งที่ร่างดังกล่าวร่างโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ไปแล้ว เพียงแค่แทงกลับมาให้ ครม.ไปแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเรื่องกลับไปดองที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เล็กกว่า อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่าการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ก็เท่ากับว่าเป็นการปิดตายร่างกฎหมายนี้ไปแล้วโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะไม่ทันต่อการพิจารณาของ สนช.เท่ากับเรื่องนี้จบแน่นอนแล้ว และคงไม่สามารถทำอะไรได้ ก็คงทำได้เพียงอาศัยกฎหมายฉบับเก่า คือ พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่กำหนดเรื่องของนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่จะต้องมีการลงทะเบียนนักมวยเด็ก การเซ็นสัญญาระหว่างผู้ปกครองและค่ายมวย และการจัดชกมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องขออนุญาตทุกครั้ง และต้องมีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย แม้ทางวิทยาศาสตร์บอกว่าไม่ได้ช่วยป้องกันมาก แต่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ที่น่าห่วง คือ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการปฏิบัติตามแต่อย่างใด

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยบังคับใช้และปล่อยให้เกิดการกระทำผิดมาตลอด เช่ยกรณีนักมวยเด็กอายุ 13 ปีที่เสียชีวิตก็ชัดเจนว่า ไม่เคยมีการขออนุญาตจัดชกมวย และไม่มีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ที่ห่วงที่สุดและเป็นสาเหตุการตาย คือ การชกโดยไม่มีช่วงเว้นว่างการพักที่เพียงพอ ซึ่งระเบียบที่กำหนดไว้ แม้แต่ของผู้ใหญ่ยังกำหนดช่วงพักไว้ที่ 21 วัน แต่นักมวยเด็กรายที่เสียชีวิตชกไป 170 ครั้งขั้นต่ำในเวลา 5 ปี ตั้งแต่อายุ 8-13 ปี เฉลี่ย 10 วันต่อครั้งซึ่งเราเคยศึกษานักมวยโดยการทำเอ็มอาร์ไอ 200-300 กว่าคน พบว่า แต่ละคนขึ้นชก ถ้ามีฝีมือดีพักไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็ชกแล้ว  สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ซึ่งเป็นจุดลงทะเบียนก็ไม่เคยตรวจสอบเลย นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ไม่เคยใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาใช้ดูแลเลย ทั้งที่มาตรา 26(7) เขียนว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามนำเด็กไปเล่นกีฬาที่มีอันตรายและมีการใช้ผลประโยชน์กับเด็ก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ต้องลงมาคุมเข้มเรื่องนี้มากขึ้น 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือการให้ความรู้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เพราะค่ายมวยหลายค่ายก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ไม่ได้จัดมวยเด็กขึ้นชก ทำแต่มวยผู้ใหญ่ แล้วซ้อมมวยเด็กอย่างถูกวิธี จัดเป็นงาน SME ให้คนมาเรียนเข้าค่าย นอนพัก จัดอาหารการกิน ฝึกมวยในเชิงกีฬา ซึ่งการทำธุรกิจเช่นนี้กลับได้ดีกว่า มีรายได้สูงกว่า มีคนต่างประเทศบินมาทั้งครอบครัวเพื่อมาเรียนหรือส่งเด็กมาเรียน โดยขอให้ทำค่ายมาตรฐานเหมือนกับค่ายพักแรม ทำให้หลายค่ายมวยก็ไม่มาเถียงด้วยแล้ว ว่ายังจะต้องชกมวยเด็ก เพราะเขาพัฒนาไปแล้ว ส่วนที่แชมป์มวยหลายคนมาบอกว่า เป็นแชมป์เพราะชกตั้งแต่เด็กถึงเก่ง ตรงนี้ก็ยอมรับ แต่ถามกลับว่า คนที่ไม่เก่ง คนที่แพ้ เขาก็ชกตั้งแต่ตอนเด็กหรือไม่ ซึ่งคนที่ชนะจนเป็นแชมป์ก็ต้องผ่านคนที่แพ้ ซึ่งก็เป็นเด็กเป็นพันหรือไม่ แล้วกระดูกมวยแข็งคืออะไร อย่างนักฟุตบอลอาชีพก็ไม่ได้เล่นตั้งแต่เด็ก 

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ความร่วมมือวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 จะมีเรื่องมวยเด็กด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สนับสนุน เพราะหากไปดูต่างประเทศก็ไม่มีเรื่องของมวยเด็กเลย หรือหากเทียบอย่างกังฟู แม้แต่คนที่มีชื่อเสียงด้านกังฟูระดับโลกอย่างเจ็ท ลี  ก็เป็นการรำกังฟูมาตั้งแต่เด็ก เป็นศิลปะเพื่อการแสดง จึงมองว่า ต่อไปมวยเด็กของไทยควรเป็นเรื่องการส่งเสริมในทางศิลปะ รำมวย การชกเป้า การแข่งขันความแม่นยำ มากกว่าจะมาชกกันจนเกิดการบาดเจ็บเช่นทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความรุนแรงตั้งแต่เด็กด้วย .
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"