รัฐบาล คสช.คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ซ้ำรอยระบอบทักษิณ "ประยุทธ์" ตัวแปรทางการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

    คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 สรุปว่าการถือครองนาฬิกาหรู และแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังไม่มีมูลเพียงพอว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง

                โดยเชื่อว่าได้ยืมจาก นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ หรือ เสี่ยคราม ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและได้คืนไปหมดแล้ว จึงถือว่ายุติการสอบสวนปมนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรไปทันที

                จากการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะทำงานฯ สรุปว่า นาฬิกาจำนวน 25 เรือนที่ปรากฏเป็นข่าว พบว่ามีภาพซ้ำกัน 3 คู่ จึงมีนาฬิกาที่ต้องตรวจสอบจำนวน 22 เรือน โดยพบว่าอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท 20 เรือน และพบใบรับประกันนาฬิกาอีก 1 เรือน แต่ไม่พบตัวเรือน รวมเป็น 21 เรือน โดย 21 เรือนดังกล่าวพบหลักฐานว่านายปัฐวาทเป็นผู้ซื้อจากผู้จำหน่ายในต่างประเทศจำนวน 1 เรือน ซื้อต่อจากผู้อื่นจำนวน 2 เรือน

                ส่วนที่เหลือไม่พบหลักฐานการซื้อจากผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ และกรมศุลกากรก็ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันการนำเข้านาฬิกาจากต่างประเทศได้ เพราะผู้นำเข้าบางรายไม่สำแดงข้อมูลรายละเอียดของนาฬิกา

                เท่ากับว่านาฬิกาอีก 18 เรือน ไม่มีใบสำแดงการนำเข้าว่าเป็นของใคร แต่ ป.ป.ช.สรุปทันทีว่าเป็นของนายปัฐวาท ที่ให้ พล.อ.ประวิตรยืมใส่?          

                สำหรับกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมาก 5 ราย ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ นายณรงค์ รัฐอมฤต นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ส่วนเสียงข้างน้อย 3 คน ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง

                โดยเสียงข้างน้อยระบุว่า อยากให้สอบต่อไปเพื่อให้สิ้นกระแสความ เพราะเท่าที่ทำถึงตอนนี้ถือว่ายังไม่ได้เต็มที่ ยังมีช่องที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมได้อีก

                หลัง ป.ป.ช.ตีตกปมนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร ก็คงโล่งอกไปทันที แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับเห็นตรงข้าม มองว่า ป.ป.ช.กำลังฟอกผิดให้ พล.อ.ประวิตร-แกนนำรัฐบาล คสช.ยิ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.เอง

                นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า ความเชื่อถือต่อ ป.ป.ช.ที่เคยมีอยู่บ้าง พลันมอดมลายไปกับมติอันอัปยศ ในเวลานี้ ป.ป.ช.เป็นสิ่งอะไรกันแน่

                นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า ในฐานะผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช.มาดำเนินการต่อแน่นอน ตนเอาเรื่องถึงที่สุดแน่ และเชื่อว่าภายในอายุความทางอาญามีกรรมการ และเลขาธิการ ป.ป.ช.ติดคุกแน่

                นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า ป.ป.ช.กลายเป็นจำเลยร่วมไปทันที ตามกฎหมายกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนต้องมี “คำวินิจฉัยส่วนบุคคล” อธิบายเหตุผลที่ตนลงมติไป จึงควรเปิดเผยบันทึกนี้ของกรรมการเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยให้สังคมได้รับรู้เพื่อความโปร่งใส และห่วง ป.ป.ช. สถาบันหลักในการต่อต้านคอร์รัปชันของชาติว่าจะรักษาศรัทธาประชาชนได้แค่ไหน

                ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคม ระบุว่า การใช้อำนาจของ 5 ป.ป.ช.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 234 (1) คือ “ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” จึงขอเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันลงชื่อ 2 หมื่นรายชื่อเพื่อถอดถอนและดำเนินการเอาผิด 5 ป.ป.ช.ดังกล่าว ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 236 และ 237 เพื่อเสนอประธานรัฐสภา และเสนอประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและซื่อสัตย์สุจริต ให้ศาลฎีกาวินิจฉัยหรือให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อ 5 ป.ป.ช. ดังกล่าวต่อไป

                การยุติการสอบสวน แกนนำรัฐบาล คสช.ดังกล่าวไม่เพียงกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่กระทบต่อความเชื่อถือศรัทธารัฐบาล คสช.ด้วย เพราะประธาน ป.ป.ช.คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และเป็นลูกน้องเก่าของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร

                แม้การ พล.ต.อ.วัชรพล จะขอถอนตัวจากการพิจารณา แต่ก็ไม่ทำให้ประชาชนสิ้นความแคลงใจได้

                พฤติการณ์การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงองค์กรอิสระและกลไกตรวจสอบรวมทั้งกระบวนการยุติธรรม เห็นได้ชัดเจนในยุค รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่สามารถคุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้ระบบการถ่วงดุลไร้ประสิทธิภาพ ผู้นำรัฐบาลจึงใช้อำนาจอย่างเหิมเกริม เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม อย่างรุนแรง

                ในยุคนั้นได้มีการยกวาทะ ลอร์ด แอกตัน นักประวัติศาสตร์ นักการเมือง และนักเขียนชาวอังกฤษที่ว่า "All Power Tends to corruft,Absolute Power Corrupt Ablolutely" : "นาจมีแนวโน้มที่จะคอร์รัปชัน ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ การฉ้อฉลยิ่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" มาเตือนสติรัฐบาลทักษิณและสังคมไทยอยู่เสมอ 

                สุดท้ายการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็นำไปสู่การคอร์รัปชันมโหฬาร จนเกิดวิกฤติทางการเมือง

                หากจะยกวาทะดังกล่าวมาเตือนรัฐบาล คสช.และสังคมไทยในเวลานี้ก็ยังทันสมัย สอดรับกับบริบททางการเมืองอย่างยิ่ง

                หลัง คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 คุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชามติแล้ว ก็ยังคงอำนาจหัวหน้า คสช.ให้อำนาจเบ็ดเสร็จตาม ม.265 สามารถใช้อำนาจตาม ม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้อีก

                แม้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในระยะแรกๆ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่หลายฝ่ายยอมรับได้ แต่ระยะหลังเริ่มมีข้อกังขาว่าเอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้องตัวเองหรือไม่

                อาทิ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหัวหน้า คสช. คืนตำแหน่งให้ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ให้กลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่เดิม 1.นายสถิรพร นาคสุข นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยโสธร 2.นางมาลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร 3.นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และ 4.นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร

                โดยเฉพาะกรณีของ นายชัยมงคล ซึ่งผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 6 รักษาราชการแทนผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 แต่รัฐบาล คสช.ก็ฟอกผิดให้จนได้

                สุดท้ายเครือญาติของบุคคลเหล่านี้บางคนก็ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาล คสช. เช่น นายณัฐกานต์ ไชยรบ ลูกชายนายชัยมงคล มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 สกลนคร พรรค พปชร.เป็นต้น

                ล่าสุดกรณี โต๊ะจีนระดมทุน ของพรรค พปชร.ซึ่งปรากฏมีหน่วยงานรัฐร่วมซื้อโต๊ะด้วยจนถูกกล่าวหา ทำผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ม.73 "ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง..."

                กรณีออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส ลงวันที่ 25 ก.ค.2561 ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 258, 260 ที่ต้องยึดหลักอาวุโส ทำให้ตำรวจ 2 นายร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินว่าขัดรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 20/2561 มาคุ้มครองประกาศดังกล่าวว่า "ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด"

                นี่แค่ตัวอย่างบางเรื่องในการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง รวมทั้งการกวาดต้อนนักการเมืองฝั่งตรงข้ามมาอยู่ พปชร.ท่ามกลางกระแสข่าวใช้ "คดีความ" ต่อรองทางการเมืองกับบุคคลหรือเครือญาติที่มีชนักปักหลัง!

                มติ ป.ป.ช.ดังกล่าวนอกจากฟอกผิดให้แกนนำรัฐบาล คสช.แล้ว ยังเป็นการโชว์พาวว่า รัฐบาล คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จจะถอนชนักปักหลังให้ใครก็ได้หากเลือกยืนข้างฝ่ายตัวเอง!

                พฤติการณ์การใช้อำนาจรัฐอาจจะต่างกับระบอบทักษิณที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนของตนโดยตรง แต่เมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่ม

                ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ได้เขียนบทความเรื่อง 8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ" ตอนหนึ่ง ยังเคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยไม่ต้องประมูล เคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรีให้เอกชนในราคาถูก

                และกังวลว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้

                นอกจากเสียงต่อต้านการสืบทอดอำนาจแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์พวกพ้องและเอาเปรียบทางการเมืองเริ่มดังกระหึ่มในช่วงเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่รัฐบาล คสช.เหมือนไม่แคร์แต่อย่างใด

                เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างที่นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าอวยพรและรับพรเนื่องในวันปีใหม่ว่า "ขอให้นายกฯ เห็นว่าฝ่ายค้านเห็นต่าง ก็เห็นต่างอย่างมิตร แต่อย่าเห็นต่างเป็นศัตรูกัน ซึ่งไม่มีประโยชน์ ขอให้คิดว่าความเห็นต่างต้องมี แต่มีอย่างมิตร ขอให้นายกฯ ช่วยทำตรงนี้ อย่าเห็นต่างกับฝ่ายค้าน"

                คือเสียงเตือนของ พล.อ.เปรม ที่ฟังแล้วดูเหมือนจะเบากว่าปีก่อนที่กระตุก พล.อ.ประยุทธ์แรงๆ ว่า "ตู่ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว"

                แต่การใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์พวกพ้องชัดเจนโดยไม่แคร์ความรู้สึกประชาชนเช่นนี้ อาจทำให้ไม่เหลือกองหนุนแล้วก็เป็นได้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มลังเลที่จะให้พรรค พปชร.เสนอชื่อเป็นนายกฯ อีกสมัย จึงออกปากเตือนว่า "ขอให้ระมัดระวังด้วย การจะเสนอหรือกล่าวชื่อตนเองในเวทีโน้นเวทีนี้ ขอเตือนไว้ด้วย ตราบใดที่ยังไม่ตอบรับกับใคร ก็อย่าพูดถึง ขอให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่"

                อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยอมรับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ หรือไม่ อยู่ที่การตัดสินใจของตัวเอง แต่หากรัฐบาล คสช.ยังใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์พวกพ้อง เอาเปรียบทางการเมืองในสนามการเลือกตั้งการเมืองไทยก็ยากจะกลับสู่สภาวะปกติ และอาจจะเกิดวิกฤติซ้ำรอยเดิมอีก. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"