เผือกร้อนกกต.เลื่อนเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    


    "วิษณุ" ถือปฏิทินพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหารือวันเลือกตั้งกับ กกต. เผยเมื่อ กกต.เห็นกรอบพระราชพิธี 3 วัน ก็ยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. แต่พอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กกต.จึงรับไปหารือเพิ่มเติม ระบุจุดนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมีอำนาจเพียงนำ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เดิมคาดประกาศวันที่ 2 ม.ค. แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกลับลงมา จึงถือว่าอยู่ในพระราชอำนาจ ยันการเลือกตั้งจะต้องมีก่อนพระราชพิธี แต่การประกาศผลรับรองผลที่เหมาะสมควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธี 
    เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงบ่ายวันเดียวกันว่า ประเด็นที่จะหารือคือเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่ต้องฟังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจง ขณะที่รัฐบาลจะไปอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.นี้ และพิธีในช่วงสงกรานต์ และก่อนจะถึงวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องมีขั้นตอนนำหน้าเกี่ยวกับพระราชพิธีอย่างเช่น การเตรียมน้ำอภิเษก การจารึกพระสุพรรณบัฏ ทำพิธีบวงสรวงพระบรมราชบุพการี ใช้เวลาประมาณครึ่งเดือน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนวันที่ 4-6 พ.ค.นี้
    เขากล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนพระราชพิธี จะมีขั้นตอนอื่นๆ ที่จะมีการจัดกิจกรรมโดยประชาชน  ต้องใช้เวลาอีกประมาณครึ่งเดือนเช่นกัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำไปอธิบายให้ กกต.รับทราบ เพื่อพิจารณาว่ายังมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้เลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.นี้ หรือควรขยับวันออกไป ถ้าจะขยับวันต้องให้เกิดความสะดวก และทุกอย่างเกิดความสอดคล้องกันตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนของพระราชประเพณี จากนั้น กกต.ต้องเสนอวันเลือกตั้งออกมา โดยการจัดการเลือกตั้งต้องอยู่ในกรอบเวลา 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.นี้
    "ที่จริงวันเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการจัดพระราชพิธี และหลังเลือกตั้งยังมีกิจกรรมทางการเมืองประมาณ 10 อย่างที่ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 75 วัน ดังนั้นจะทำอย่างสะเปะสะปะไม่ได้ ส่วนใดที่ตรงกับวันพระราชพิธีไม่สามารถเลื่อนไปได้ และจะขยับกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้เช่นกัน จึงต้องดูว่าจะขยับเป็นวันใด ส่วนปฏิทินไทม์ไลน์ที่มีการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ กกต.ก่อนหน้านั้น ยังไม่มีเรื่องพระราชพิธีเกี่ยวข้อง เมื่อพระราชพิธีแล้วต้องนำสองส่วนมาพิจารณาเห็นความทับซ้อนเพื่อดูว่าจะขยับส่วนใดได้ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่ไม่ใช่ขยับแล้วทุกอย่างยิ่งช้า อย่างไรก็ตาม การพูดคุยในวันนี้อาจได้ข้อสรุปคร่าวๆ"
"วิษณุ"หารือกกต.
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องได้ ครม.และ ส.ส.ชุดใหม่ ก่อนจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ ตอนนี้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งให้ได้ก่อน 
    เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งจาก 24 ก.พ.ออกไปหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า อาจไม่ต้องขยับก็ได้ ถ้านำปฏิทินไปอธิบายกับ กกต. แล้ว กกต.สามารถปรับขั้นตอนของเขาได้ ถ้าปรับอะไรไม่ได้ก็ต้องขยับวันเลือกตั้ง ส่วนของพระราชกฤษฎีกาที่ยังไม่ประกาศออกมาตามที่คาดการณ์ กกต.ต้องไปปรับกระบวนการของตัวเอง หากยังต้องการให้เลือกตั้งเป็นในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่กังวล
    ต่อมา ที่สำนักงาน กกต. ​นายวิษณุเข้าหารือกับ กกต.ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม ไม่กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
    หลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นายวิษณุ แถลงว่า ได้นำรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีมาแจ้งต่อ กกต. เพราะจากเดิมที่ทราบว่าจะมีพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.นั้น แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นประมาณ 15 วัน จะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วก็จะยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกประมาณ 15 วันเช่นกัน 
    หากยึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือไม่เกินวันที่ 24 เม.ย. จากนั้นภายใน 15 วันจะต้องเสด็จฯ ทรงเปิดการประชุมสภานัดแรก ซึ่งก็จะตรงกันวันที่ 8 พ.ค. เมื่อ กกต.ทราบขั้นตอนต่างๆ แล้วก็จะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม โดยในจุดนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมีอำนาจเพียงนำพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเดิมคาดว่าจะประกาศในวันที่ 2 ม.ค. แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกลับลงมา 
    "ขณะนี้จึงถือว่าอยู่ในพระราชอำนาจ ซึ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.61 แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ลงมาแล้ว กกต.ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน จากนั้นจะประกาศวันรับสมัคร สถานที่รับสมัคร และรายละเอียดอื่นๆ"
    นายวิษณุกล่าวอีกว่า การที่ พ.ร.ฎ.ยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ ทำให้ กกต.ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ แต่ก็จะเป็นข้อดี เพราะจะทำให้ กกต.มีเวลาเตรียมการได้มากขึ้น ลำพังวันเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ไม่ได้มีผลต่อพระราชพิธี และถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องมีก่อนพระราชพิธีแน่ เพราะอยู่ในช่วง 150 วัน หลังวันที่ 11ธ.ค.61-9 พ.ค.62 ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่งข้อห่วงใยว่าอาจจะมีความโกลาหลทับซ้อนให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปให้พ้นพระราชพิธีนั้น ทำไม่ได้ เพราะวันอาทิตย์สุดท้ายคือวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งวันนั้นจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะจะมีการจัดพระราชพิธี  
ใช้ม.44ไม่ได้
    "โดยการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปไม่ได้ เพราะจะเกินกรอบ 150 วัน ซึ่งเขียนในรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขได้ด้วย ถ้าจะใช้กำหนดวันเลือกตั้งเดิมคือ 24 ก.พ. ก็ไม่กระทบกับพระราชพิธี เรื่องการหาเสียงก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือระยะเวลาหลังการเลือกตั้งที่ยังมีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่ง กกต.ต้องประกาศผลในวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการทำน้ำอภิเษก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี กิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีจึงต้องไม่ทับซ้อนกัน"
    นายวิษณุกล่าวว่า การประกาศผลรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส.ที่เหมาะสมควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธี คือวันที่ 20 พ.ค. ทั้งนี้ หาก กกต.จะยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. ก็ทำได้ แต่ระยะเวลาในการหาเสียงก็จะน้อยลง
    เมื่อถามว่า ตามเงื่อนไขที่กล่าวมาเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. หรือ 17 มี.ค.นี้ นายวิษณุปฏิเสธว่า ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับ กกต. สื่อฟังแถลงไม่นานก็สามารถจับประเด็นได้ เมื่อตนได้บอกรายละเอียดกับทาง กกต.ไป เชื่อว่า กกต.คงมีคำตอบในใจว่าจะไปหารือกัน เพราะก่อนหน้านี้ กกต.หารือกันแล้วว่าจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. เมื่อ กกต.เห็นกรอบพระราชพิธี 3 วัน ก็ยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. แต่พอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กกต.จึงรับไปหารือเพิ่มเติม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แนะนำวันที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง 
    "เบื้องต้นที่เรายึดวันที่ 24 ก.พ. เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อม และจะเป็นวันที่เร็วที่สุด ส่วนจะเลื่อนวันที่เท่าไหร่ จะเลื่อนหรือไม่เลื่อน ขึ้นอยู่กับ กกต." 
    เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าวันที่ 24 ก.พ.ไม่เหมาะสมที่จะจัดวันเลือกตั้งแล้วนั้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวอีกว่า ไม่กล้าบอก กกต.อย่างนั้น เดี๋ยวสื่อจะเอาไปพาดหัวว่าสอนมวย กกต. ทั้งนี้เป็นสิ่งที่ กกต.จะต้องไปพิจารณากันเอาเอง แต่อย่างไรการเลือกตั้งจะต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ
    พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวการเลื่อนวันเลือกตั้ง​ ว่า ไม่รู้​ นายกรัฐมนตรีตอบไปทั้งหมดแล้ว  
ไม่รู้ให้ไปถาม กกต.
    ถามว่า​ หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปประมาณ 2 สัปดาห์ หรือหนึ่งเดือน ไปเป็นวันที่ 24 มี.ค. จะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า "ตามโรดแมป ก็แล้วแต่ กกต." 
    ซักว่า​ วันเลือกตั้งอาจไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ.ตามเดิมใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า​ ไม่รู้ ต้องให้ กกต. พิจารณา ดูความเหมาะสมอะไรต่างๆ และถ้ามีการขยับวันเลือกตั้งจริง ก็ยังอยู่ในช่วง 150 วันตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว เพราะวันที่ 24 ก.พ.เป็นวันแรกในห้วง 150 วัน 
    เมื่อถามว่า​ มี​บางฝ่ายเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นหลังเดือน พ.ค. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า​ "ก็เรียกร้องกันทั้งนั้น จะเอาอะไร" 
    เมื่อถามว่า​ ฝ่ายการเมืองมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติบ้างหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า​ ไม่มี ด้านการข่าว พบว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี ฝ่ายความมั่นคงไม่มีความกังวลอะไร 
    ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กกต. แนะนำถึงกรอบกำหนดการเลือกตั้งว่า หากรัฐบาลยึดตามกรอบเวลาเดิมในการจัดการเลือกตั้ง 24 ก.พ. รัฐบาลก็ยังสามารถเตรียมการพระราชพิธีสำคัญของคนไทยได้อย่างสมพระเกียรติ เพราะ กกต.จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง และรัฐบาลเองก็ไม่ได้ลงแข่งขันด้วย รัฐบาลจึงสามารถเตรียมการได้เต็มที่ และทุกอย่างก็สามารถดำเนินการต่อไปตามกรอบเวลา 
    นายสมชัยยังกล่าวว่า จะต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญของประเทศ และสามารถเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ ส่วนการขยับวันเลือกตั้งออกไป โดยอ้างปัญหาทางเทคนิค เช่น การพิมพ์ไม่ทันนั้น เชื่อว่าหากมีการขยับออกไปไม่เกิน 2 สัปดาห์ ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้ แต่ก็อาจกระทบต่องานสำคัญของคนไทยได้ ซึ่งทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและ กกต. แต่ทางที่ดีควรยึดตามกำหนดเดิม
    “หากรัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งล่าช้า จน กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทัน 2กุมภาพันธ์ ก็ไม่ควรถือเป็นความผิดของ กกต. เพราะรัฐบาลจะระบุว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกต.ไม่ได้ เพราะถือเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว หรือหากรัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาตามกำหนดแล้ว แต่ กกต. เลื่อนวันเลือกตั้งเอง จึงจะถือเป็นความผิดชอบ กกต."
    นายสมชัยยังกล่าวถึงกรอบเวลาตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับ หรือจะต้องไม่เกิน 9 พ.ค. ซึ่งถือเป็นวันทำการ ซึ่งอดีตประเทศไทย ไม่เคยจัดการเลือกตั้งในวันทำการ และถ้าให้ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่สามารถจัดได้ เพราะจะตรงกับงานพระราชพิธีสำคัญของคนไทย หรือพ้นกำหนด 150 วัน หลังวันที่ 9 พ.ค.ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ 
ปชป.จบ"ลูกหมี"อยู่ต่อ
    นอกจากนั้น จะต้องไม่ลืมว่าตนได้เคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไว้ เพราะรัฐธรรมนูญ กำหนดให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าจะรวมถึงการประกาศผลร้อยละ 95 ด้วยหรือไม่ กกต.อาจจะต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ฉะนั้น หากยึดกรอบการเลือกตั้ง 24 ก.พ.เช่นเดิม ก็จะถือว่าปลอดภัย และ กกต. สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ตามกำหนด ส่วนการประชุมสภานัดแรกนั้น ก็น่าจะเกิดขึ้นภายหลังการพระราชพิธีเสร็จสิ้น
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เดินทางเข้ามาพบปะกับทางกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเคลียร์ปัญหาที่ตัวนายชุมพลยังไม่มีความชัดเจนทางการเมืองในพื้นที่ว่า นายชุมพลได้เข้ามายืนยันว่าจะประสงค์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค และก็พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนพรรค แต่ตอนนี้ทางพรรคกำลังจะไปดูว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ให้มีความสับสน และให้เกิดความมั่นใจ
    เขากล่าวว่า ในวันที่ 6 มกราคม ที่จะมีการประชุมกรรมการบริหารเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.นั้น ก็น่าจะเรียบร้อย โดยภายใน 1-2 วันนี้ก็จะหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ให้เกิดความสับสนภายในพื้นที่ ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหา ส่วนพี่ชายของนายชุมพลคือนายสุพล จุลใส หรือลูกช้าง ที่มีข่าวว่าจะลงสมัคร ส.ส. ชุมพร ในนามพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ก็น่าจะเป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งก็มีการคุยกันไว้แล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็ยืนยันว่าเขาต้องปฏิบัติตามมติพรรค และก็ยอมรับในกระบวนการของพรรคทุกอย่าง
    ขณะที่นายชุมพลกล่าวภายหลังการชี้แจงว่า เข้าใจกันดี ไม่มีปัญหาเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 จังหวัดชุมพร โดยคุยกันด้วยเหตุด้วยผล แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค โดยส่วนตัวยังคงอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ส่วนเรื่องพี่ชาย ถือเป็นเรื่องของพี่ชายที่จะตัดสินใจเอง ตนไม่ขอพูดแทน แต่หากพรรคมีมติอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม และเมื่อลงสมัครในนามพรรคก็ต้องช่วยในภาพรวมของพรรค 
     ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายชุมพลแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เข้าใจกันด้วยดี และนายชุมพลได้รับปากแล้วว่าจะปฏิบัติตามมติพรรค
      นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ เป็นงานที่ยากสำหรับ กกต.ชุดนี้ เพราะเป็น กกต.ใหม่ รวมถึงกติกาทั้งหลายตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้งแบบใหม่ ก็คงมีความยากลำบากอยู่ แต่เชื่อว่า กกต.จะระดมคนมีฝีมือมาช่วยกัน 
    "ผมยังเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ช่วงเวลาอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เลื่อนไป 5 วัน หรือ 10 วัน ทั้งนี้ การเลื่อนเลือกตั้งอาจทำให้ประชาชนเสียความรู้สึก แต่หาก กกต.มีเหตุผล ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ" นายสุเทพกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"