50 ปีแห่งการรอคอย!'คำนูณ'เผยกฎหมายขายฝากใกล้คลอดแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

12 ม.ค.62 -  นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปกฎหมาย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ว่ากม.ขายฝากใหม่ 'กลับหลัก' กม.แพ่ง - เกือบ 50 ปีแห่งการรอคอย !

หลักการของร่างกฎหมายขายฝากที่ดินคนจนคนด้อยโอกาสฉบับใหม่ หรือชื่ิอยาว ๆ อย่างเป็นทางการ 'ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. ....' มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองคนจน จึงต้องเขียนบทบัญญัติขึ้นใหม่ที่มีลักษณะเป็นข้อยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 491 - 502 ไว้หลายประเด็น บางประเด็นเป็นการเขียนชนิด 'กลับหลัก' เลย ประกอบกับในทางปฏิบัติของการขายฝากเดิมที่ทำ ๆ กันอยู่บางประการก็ไม่ตรงกับตัวบทในปพพ.อยู่แล้ว สาเหตุก็เพราะบทบัญญัติว่าด้วยการขายฝากในปพพ.เอาเข้าจริง ๆ แล้วในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ 'ธุรกรรมกู้เงินอำพราง' ไม่ใช่ซื้อขาย

การตรวจพิจารณาในชั้นกฤษฎีกาจึงต้องดูทั้งหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงไปพร้อม ๆ กัน

โดยในชั้นกรรมาธิการของสนช.ก็ยอมรับและแก้ไขให้เป็นประโยชน์ต่อคนจนผู้ขายฝากมากขึ้น

การเขียนกฎหมายพิเศษชนิด 'กลับหลัก' ปพพ.ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมาตรา 12 และมาตรา 13 ทั้ง 2 วรรค (ตามภาพที่ 1)

รวมทั้งมาตรา 8 (ภาพที่ 2) ที่มีการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการของสนช. !

ในมาตรา 12 ตามหลักปพพ.เมื่อการขายฝากคือการซื้อขายประเภทหนึ่ง กรรมสิทธิ์จึงโอนไปยังผู้ซื้อฝากทันทีในวันทำสัญญาขายฝาก ผู้ซื้อฝากหรือนายทุนจึงจะทำอะไรกับที่ดินนั้นได้ นำไปขายต่อก็ได้ แม้ว่าผู้ขายฝากจะยังมีสิทธิไถ่ถอนก็ตาม รวมทั้งการทำกินและการเก็บผลประโยชน์ในที่ดินที่นำมาขายฝาก ก็ต้องถือว่าเป็นสิทธิของผู้ซื้อฝากตามหลักกรรมสิทธิ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ซื้อฝากไม่ค่อยจะสนใจประโยชน์ส่วนนี้ เพราะรอให้ที่ดินขาดจากการไถ่ถอนดีกว่า จึงปล่อยให้ผู้ขายฝากทำกินไป

มาตรา 12 เลยเขียนใหม่กลับหลักปพพ. ให้การขายฝากเป็นเสมือนการจำนอง คือไม่ต้องส่งมอบทรัพย์ แม้กรรมสิทธิ์จะโอนไปตามกฎหมาย แต่ยังคงทำกินอยู่ได้ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ เพราะถ้าไม่ได้ ผู้ขายฝากจะหาเงินที่ไหนไปไถ่ถอนได้ แม้ราคาไถ่ถอนจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงในตลาดก็เถอะ

เอ แล้ว 'ค่าเช่า' ที่ดินล่ะ ผู้ขายฝากยังคงเก็บไว้ได้ไหม ?

ถ้าเก็บค่าเช่าไว้ได้ อย่างนี้จะถือว่าจนจริงหรือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ว่ามุ่งคุ้มครองคนจนที่ไร้ทางออกจริง ๆ จะไม่ถูกโต้แย้งหรือ ชื่อร่างก็บอกว่าเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย เมื่อให้เช่าเสียแล้วก็ไม่ใช่ทั้ง 2 อย่างไม่ใช่หรือ ?

ก็ต้องย้อนไปดูข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ว่าคนมีที่ดินหริอในกรณีนี้คืิอที่นาให้เช่าไม่ได้แปลว่าไม่จน หรือมีทางเลือกเหลืออยู่ หลายกรณีมีที่ดินตกทอดมาแต่มีความสามารถทำนาเองได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะแก่เฒ่า ลูกหลานก็ไม่ทำแล้ว ส่วนที่เหลือจึงให้เช่าในราคาที่ไม่ได้สูงอะไร เพราะถ้าสูงก็หาคนเช่าทำไม่ได้ ค่าเช่าที่ได้ก็แค่พอยังชีพ เมื่อต้องการใช้เงินมากกว่ายังชีพ เช่น ส่งลูกเรียน เจ็บไข้ได้ป่วยต่อเนื่อง จึงนำไปขายฝากทั้งผืนรวมส่วนที่ทำเองและให้เช่า ถ้าไม่ให้เก็บค่าเช่าเสียแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปไถ่ถอน ?

นี่คือที่มาของมาตรา 13 วรรคแรก ที่กลับหลักปพพ.เป็นจุดที่ 2 ให้ผลประโยชน์จากการนี้ตกเป็นของผู้ขายฝาก

เท่านั้นยังไม่พอ

ในชั้นกฤษฎีกาได้มีการถกประเด็นต่อเนื่องกันต่อไปว่า แล้วถ้าตอนขายฝากยังทำกินเองทั้งหมด แต่ระหว่างช่วงรอไถ่ถอน ทำเองไม่ไหว นำไปให้เช่าล่ะ เพราะปรากฎข้อเท็จจริงว่าหลายกรณีผู้ขายฝากออกจากที่ดินผืนที่ขายฝากเพื่อนำไปให้เช่า แล้วตัวเองไปอยู่ที่เล็กกว่า ก็เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ?

ในชั้นกฤษฎีกาให้ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกัน แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกัน ให้ผลประโยชน์จากการนี้ตกเป็นของผู้ซื้อฝากหรือนายทุน

เพราะไม่ต้องการให้กลับหลักปพพ.มากเกินไป

นี่คือที่มาของมาตรา 13 วรรคสอง

มาถึงชั้นกรรมาธิการสนช. ได้อภิปรายกันหนักในมาตรา 13 วรรคสอง เสียงส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับร่างของกฤษฎีกาที่ไม่ต้องการให้กลับหลักปพพ.มากไป เดี๋ยวจะตอบคำถามทางวิชาการได้ลำบากและจะเป็นตัวอย่างให้เกิดร่างกฎหมายกลับหลักฉบับอื่น ๆ ต่อไป แต่เสียงอีกส่วนเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้กลับหลักมาแต่ต้นแล้ว ชื่อร่างฯก็ระบุชัดว่าคุ้มครองใคร ไฉนจะมายืนหลักในมาตรา 13 วรรคสองนี้เล่า

ผลการพิจารณาพบกันครึ่งทาง เพื่อให้ประโยชน์ตกกับผู้ด้อยโอกาสเต็มเส้นทาง

นี่คือที่มาของการย้อนกลับไปแก้ไขมาตรา 8

ตามภาพที่ 2 ข้อความตัวพิมพ์ที่ขีดเส้นใต้คือข้อความปรับแก้ที่เติมเข้ามา

กรรมาธิการฯไม่ปรับแก้มาตรา 13 วรรคสอง คงยืนตามร่างฯกฤษฎีกา คือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหลังวันทำสัญญาหากไม่ได้ตกลงกันให้ตกเป็นของผู้ซื้อฝาก แต่มาปรับแก้มาตรา 8 ว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ให้ผลประโยชน์ดังว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าไถ่

เรียกว่าแม้ไม่ปรับแก้มาตรา 13 วรรคสอง คนจนคนด้อยโอกาสผู้ขายฝากก็ได้ประโยชน์อยู่ดี

แต่ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

นี่คือกฎหมายที่พี่น้องชาวนาชาวไร่เรียกร้องต้องการมายาวนานเกือบ 50 ปี สูญเสียชีวิตเลือดเนื้อไปมาก กำลังจะปรากฎเป็นจริงในอีกไม่นาน เอาเป็นว่าก่อนเลือกตั้งผ่านสภาสนช.วาระ 3 แน่

กรรมาธิการฯสนช.จะพิจารณาทบทวนครั้งสุดท้ายวันจันทร์ที่ 14 มกราคมนี้

ส่วนตัวแล้ว ผมยินดีอย่างยิ่งครับที่ได้มีส่วนร่วมกับร่างกฎหมายฉบับนี้มาแต่ต้นจนจะจบ

ไม่ใช่แค่ในฐานะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนที่ได้จุดประกายเรื่องนี้มาเมื่อปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาเท่านั้น

แต่ในฐานะส่วนหนึ่งของสหพันธ์นักศึกษาเสรีที่ร่วมทำงานกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยเมื่อเกือบ 50 ปีก่อนด้วย

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษที่ตรวจแก้ร่างกฎหมายนี้

ขอบพระคุณท่านอนุวัฒน์ เมธีวุฒิกุล ประธานกรรมาธิการฯสนช.ที่ปรับแก้ร่างฯนี้ในชั้นสุดท้าย

ขอบพระคุณกรรมการกฤษฎีกา กรรมาธิการฯสนช. และสนช.ทุกท่าน

ขอบพระคุณท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ของผมทันทีที่ได้รับทราบ และสนับสนุนต่อเนื่องอย่างแข็งขัน

และที่ลืมไม่ได้ ขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชาที่นำเรื่องนี้ไปพูดในรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ที่ทำให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"