โอกาสพลิกชนะยังมี! สู้ประเด็นไม่ใช่หุ้นสัมปทาน


เพิ่มเพื่อน    

              แม้มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีความเห็นให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 3 รัฐมนตรี-1 กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ, ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม ในฐานะอดีต รมช.ศึกษาธิการ ที่ถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐเข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ จนต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี

                กระนั้นก็ใช่ว่าทั้ง 4 คน จะต้องถูกศาล รธน.ตัดสินว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 เชื่อมโยง 186 จนต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี และต้องถูกเว้นวรรคห้ามรับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกภายใน 2 ปี แม้ต่อให้บางคนจะไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว อย่าง ม.ล.ปนัดดา หรือบางคนจะลาออกก่อนศาล รธน.ตัดสินเช่น นายสุวิทย์ ก็ไม่มีผล

                เหตุเพราะตามรูปคดีก็ยังเปิดช่องให้ทั้ง 4 คนมีโอกาสพลิกชนะในชั้นศาล รธน.ได้พอสมควร ไม่จำเป็นเสมอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นตรงกับที่ กกต.ส่งเรื่องมา

                โดยประเด็นที่ทั้ง 4 คนคือ สุวิทย์-ไพรินทร์-นพ.ธีระเกียรติ-ม.ล.ปนัดดา จะต้องสู้ในชั้นศาล รธน.เป็นหลักก็คือ การสู้ประเด็นที่ว่า

                "หุ้นบริษัทที่ถือและครอบครองไว้ ไม่เข้าข่ายว่าได้สัมปทานจากรัฐ ไม่ใช่หุ้น บ.สัมปทาน"

                เพราะการจะไปสู้เรื่องมีหุ้นไว้ในครอบครอง มันชัดเจนไปแล้วด้วยบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ที่ทั้งสี่คนแสดงไว้ตอนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี หลัง รธน.ประกาศใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 ซึ่ง รธน.ได้ห้ามไม่ให้ รมต.ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

                ประเด็นดังกล่าว กระบวนการไต่สวนคดีของศาล รธน.จะมีการลงลึกในรายละเอียดที่มากกว่าของ กกต.แน่นอน เพราะจะต้องมีการเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงขอเอกสารของบริษัทต่างๆ ที่ทั้งสี่คนถือหุ้นไว้มาแสดงต่อศาล รธน. เพื่อให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า หุ้นที่ทั้ง 4 คนถือไว้ เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ฯ ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท.-บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล  เข้าข่ายว่าเป็นบริษัทที่รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือไม่?

                อันพบว่า ศาล รธน. ก็เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเอาไว้ แล้วตอนปี 2553 ที่ตอนนั้นก็มีคำร้องส่งให้ศาล รธน.วินิจฉัยเรื่อง ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นสัมปทานของรัฐ โดยศาล รธน.ได้ลงรายละเอียดไปที่แต่]tบริษัท และมีคำวินิจฉัยว่าบางบริษัท แม้จะได้สัปทานจากรัฐ แต่ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายแต่อย่างใด            

                อย่างเช่น บริษัทที่หลายคนเชื่อว่าเข้าข่ายแน่ๆ อย่าง "บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จํากัด" (มหาชน) ทางศาล รธน.ก็เคยวินิจฉัยไว้ว่า แม้บริษัทแห่งนี้จะมีลักษณะเป็นกิจการร่วมทุน Holding Company ด้วยการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ซึ่งผลิต จําหน่ายกระแสไฟฟ้า แต่ก็เป็นกิจการที่เป็นการเปิดโอกาสให้แก่เอกชนรายอื่นๆ เข้าแข่งขันในธุรกิจได้ ไม่ใช่การผูกขาดตัดตอน จึงไม่เข้าข่ายบริษัทสัมปทานแต่อย่างใด เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทอย่าง บริษัท ทีพีไอ โพลีน-บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด ทางศาล รธน.ก็เคยวินิจฉัยไว้ตอนปี 2553 ว่าไม่เข้าข่ายเช่นกัน

                อันปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 12-14 พ.ศ2553 ซึ่งพบว่าตุลาการศาล รธน. ที่เคยมีคำวินิจฉัยดังกล่าว ปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่อยู่ถึง 5 คน จาก 9 คน ที่ถือเป็นเสียงข้างมากเลยทีเดียวคือ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน.-ชัช ชลวร-จรัญ ภักดีธนากุล-บุญส่ง กุลบุปผา-อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

                แต่ก็พบว่า ศาล รธน.ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่าบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. เช่น บริษัท ปตท. สํารวจและผลิตปิโตรเลียม-บริษัท ปตท. เคมิคอล จํากัด (มหาชน) ถือว่าเข้าข่ายหุ้นสัมปทาน

                ดังนั้น คดีคำร้อง 3 รมต.-1 ผช.รมต.ดังกล่าว โอกาสที่ทั้ง 4 คนจะรอดในชั้นศาล รธน.จึงมีอยู่สูงเช่นกัน หาใช่รอวันแพ้คดีแต่อย่างใด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"