เอ็นจีโอ ฟ้องคกก.วัตถุอันตราย แม้มีแผนจะทบทวนใช้พาราควอตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

16 ม.ค.62 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ทบทวนมติการแบนพาราควอตให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน  หลังที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ยกเลิกการใช้สารพิษร้ายแรงภายใน 1 ปี ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ในวาระแรกมีการพิจารณาทบทวนการแบนเฉพาะสารพาราควอต ภายใน 1 เดือน โดยจะมีการสรุปผลอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ. ซึ่งกรรมการในสัดส่วน 17:7 เห็นชอบให้มีการพิจารณาทบทวนมติของคณะกรรมการฯ ซึ่งเคยมีมติอนุญาตให้มีการใช้พาราควอตต่อไปได้โดยการจำกัดการใช้ ทราบว่าการประชุมวาระดังกล่าวค่อนข้างมีความยืดเยื้อเนื่องจาก คณะกรรมการบางส่วน ต้องการให้เป็นการลงมติลับ แต่ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิมีข้อเสนอให้มีการลงมติแบบเปิดเผย ซึ่งการที่มีมติให้พิจารณาพาราควอตเพียงสารเดียวก่อน เข้าใจว่าเป็นคำสั่งของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการพิจารณาไปทีละตัวจากสารที่มีผู้ใช้เยอะและมีผลกระทบมากที่สุดก่อน

“คิดว่าการที่คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการนำเรื่องการแบนสารพาราคอตมาพิจารณาใหม่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผลมาจากมติของที่ประชุมผู้ตรวจการโดยตรงและแรงกดดันของภาคประชาสังคมที่มีการเคลื่อนไหวกันมาตลอด ซึ่งหลังจากพิจารณาใน 1เดือน ผลเป็นได้ทั้งสองทาง คืออาจจะยืนตามมติเดิม หรือให้แบนไปเลย ตนก็ไม่กล้าพูดว่ามั่นใจว่าจะมีการแบน แต่เชื่อว่าคำสั่งของที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่สั่งการมาที่คณะกรรมการใหญ่โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคณะอนุกรรมการฯ เพื่อจะยื้อเวลาเหมือนที่ผ่านมา และแรงกดดันของภาคประชาสังคมอาจจะทำให้มีการพิจารณาให้มีการแบน เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีมติให้มีการพิจารณามติใหม่อีกครั้งเช่นนี้แต่การฟ้องร้องคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้มีการเพิกถอนมติเดิม ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ก็ยังยืนยันตามวันเวลาเดิม  ”นายวิฑูรย์ และว่า การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องมีการนำข้อมูลของผู้ตรวจการแผ่นดินไปประกอบการพิจารณา ซึ่งในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค. นี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้มีการเชิญภาคประชาสังคมเข้าประชุมในวาระพิเศษเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้สารพาราควอตโดยเฉพาะ

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเดินหน้าต่อไปเราได้เตรียมกระบวนการเพื่อเสนอเป็นชุดนโยบายคุ้มครองสุขภาพและงดใช้สารเคมีเพื่อส่งเสริมการใช้เกษตรกรรมอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคก่อนจะมีการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาเห็นว่ามีบ้างที่บางพรรคการเมืองมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นการพูดรวมๆในชุดนโยบายเสริมเท่านั้นอีกทั้งส่วนใหญ่เป็นโฆษกพรรคที่พูดออกมา ซึ่งยังเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้นหลังจากเราส่งไปที่พรรคการเมืองก็จะรอแต่ละพรรคตอบกลับมาว่าจะบรรจุเป็นนโยบายที่ชัดเจนในนามของพรรคการเมือง  และเราจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายดังกล่าว พร้อมทั้งจะมีการติดตามหากได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการตามนโยบายหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแพทย์และทราบถึงผลกระทบของสารเคมีเหล่านี้ ตนรู้สึกเสียใจกับผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เพราะสุดท้ายก็ให้ไปพิจารณาใหม่ และรอผลการประชุมอีกครั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการยืดเยื้อมาก เนื่องจากก่อนหน้านั้นผู้ตรวจราชการแผ่นดินก็เคยให้ข้อมูลแล้วว่าต้องแบน ไม่เอาสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส  และให้หาสารอื่นทดแทนภายใน 1 เดือน และภายใน 3 เดือนหากลงพื้นที่ตรวจสอบยังพบว่าเกษตรกรยังใช้อยู่ แสดงว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ละเลยหน้าที่สร้างความเข้าใจ และต้องหมดไปภายใน 1 ปี แต่สุดท้ายกลับไปที่ศูนย์ ไม่จบไม่สิ้น ต้องพิจารณาอีก ซึ่งในอีก 1 เดือนข้างหน้าตนก็ไม่มั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปจริงๆ เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน และจะรอไปรัฐบาลหน้าอีก ก็ไม่เข้าใจว่า ในเมื่อยังเป็นรัฐบาลอยู่ก็ควรต้องทำให้เสร็จสิ้น จะรอทำไม
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"