"ฝนเทียม"ช่่วยลดPM2.5 ในวันนี้(16ม.ค.)นักวิชาการเตือน 18ม.ค.ระดับฝุ่นเพิ่ม/เสนอขรก.ทำงานที่บ้านแทนที่ทำงาน


เพิ่มเพื่อน    

สภาพอากาศกรุงเทพฯ วันที่ 16 ม.ค.2562

    16 ม.ค.62- ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. เป็นประธานการประชุมเร่งรัดและทบทวนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงมหาดไทย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เข้าร่วมประชุม

 


     นายวิจารย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า  ฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจรเป็นหลัก โดยเป็นรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยควันดำเพราะการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมลพิษเหล่านี้มีเท่าเดิม แต่ในช่วงนี้อากาศไม่เอื้ออำนวยทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นจนเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวทส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือกันตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 61 โดยดำเนินการมาตรการป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 
    นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สำหรับ คพ. ได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซด์ www.air4thai.pcd.go.th และ แอพพลิเคชั่น air4thai จึงอยากให้ประชาชนติดตามข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากทางภาครัฐ 
    " สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5  วันนี้ จาก 42 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM 2.5 ลดลงจากเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ทุกจุด  แสดงว่าการทำฝนเทียมให้ กทม.สำเร็จ  จากระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเป็นสีเหลือง สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการประชุมผลจากการประชุมครั้งนี้ได้ประสาน 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี  นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร.  ห้ามเผาในที่โล่งอย่างเด็ดขาด ตลอด 2 เดือน " นายประลอง กล่าว   
    พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม คือ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หลายๆคน จึงหาหน้ากาก N95 มาใช้ แม้จะป้องกันได้ร้อยละ 90 แต่ต้องใส่ให้แน่นมากจะอึดอัด ถ้าใส่แล้วสบายดีแสดงว่าไม่ถูกวิธี บางคนใส่ไม่เกิน 20นาที ก็ทนไม่ไหว สุดท้ายต้องถอดออก ดังนั้น การใช้ N95 ประชาชนต้องศึกษาการใช้งานอย่างถูกวิธี หรือเลือกใส่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น การเดินอยู่ริมถนน เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาสามารถนำมาใช้ได้ เพียงแต่ใส่ทิชชู่ไปอีก 2-3 ชั้นก็มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน
    พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพเด็กและเยาวชน ทางกรมอนามัยได้แจ้งเตือนไปยังโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ยังไม่ถึงต้องหยุดเรียน เพราะยังไม่ถึงระดับสีแดง คือ มีผลกระทบต่อสุขภาพ
    ขณะที่ นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากการเปรียบเทียบสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง เส้นเลือดตีบ ไม่พบว่ามีผู้ป่วยมากขึ้นกว่าปีก่อน และบางโรคมีผู้ป่วยจำนวนลดลง ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นละอองในขณะนี้จึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นนัยยะสำคัญ
    พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จะเพิ่มจุดตรวจจับรถควันดำอีก 8 จุด จากเดิมมี 12 จุด รวมเป็น 20 จุด โดยประสานกรมควบคุมมลพิษนำเครื่องมือมาตรวจจับ โดยเมื่อวาน(15ม.ค.) ได้ตั้งด่านควันดำ จับควันดำเกินมาตรฐานได้ 651 คัน สำหรับรถเล็กจะใช้อำนาจ คพ. ติดสติ๊กเกอร์ห้ามใช้ชั่วคราว 30 วัน  จนกว่าจะปรับเปลี่ยนและผ่านการตรวจวัดสภาพอีกครั้ง  รถทั้งหมดจะอยู่นอกระบบ  เข้า กทม.ไม่ได้ ช่วยลดฝุ่น นอกจากนี้ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามจอดรถยนต์ในถนนสายหลัก 24 ชั่วโมง จะกำชับและสั่งการด่วนไปยังสถานีตำรวจต่างๆ จะส่งผลให้รถเคลื่อนตัวได้ง่าย มลพิษลดลง 
    นางพริ้มเพรา  วงศ์สุทธิรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถเมล์ ขสมก. ให้บริการ 2,800 คัน เป็นรถโดยสาร NGV 700-800 คัน รถดีเซล 2,000 คัน ซึ่งปกติใช้น้ำมัน B7  เมื่อเกิดปัญหาฝุ่น จึงมีมาตรการป้องกัน โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค.  เปลี่ยนเป็นน้ำมัน B20  จำนวน 800 คัน ที่เหลืออีก 1,200 คัน ขสมก.จะเร่งรัดปรับเปลี่ยนโดยเร็วที่สุด ส่วนการแก้ไขในระยะยาวในปี 2565 รถโดยสารเก่า  2,000 คันจะหมดไป จะเป็นรถโดยสาร NGV รถโดยสารไฟฟ้า และรถโดยสารไฮบริดเข้ามาแทน
     " รถเมล์ปัจจุบันอายุใช้งาน 10-20 ปี มีบริษัทเหมาซ่อม ขสมก.จะกวดขันบริษัททั้งหมด และปรับจำนวนเที่ยวในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้บริการ  ปกติ 4 เที่ยว ลดเหลือวิ่ง 3 เที่ยว แต่ทุกมาตรการต้องสอดคล้องความต้องการของผู้บริโภค "  นางพริ้มเพรา กล่าว
            ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า  ต้นเหตุฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากรถยนต์ การจราจรที่ติดขัดและปล่อยควันดำออกมา ดังนั้นควรแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอจากนักวิชาการให้มีกำหนดการใช้รถเป็นวันเลขคู่เลขคี่ตามเลขทะเบียนรถ เพื่อลดจำนวนการใช้รถยนต์ แต่ถ้ามีผลบังคับใช้ทันทีก็ย่อมมีคนท้วงติง เพราะกระทบต่อการชีวิตประจำวันของประชาชน
            “แต่มีอีกวิธีสามารถดำเนินการได้ทันที โดยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนโดยให้ข้าราชการ พนักงาน ทำงานที่บ้าน เพราะบางงานไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ทำงานสามารถส่งงานผ่านอินเตอร์เน็ตได้ สอดรับนโยบายรัฐบาลยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหน่วยงานก็สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานผ่านอินเตอร์เน็ท โดยเรื่องดังกล่าวจะนำเสนอต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในการประชุมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในวันพรุ่งนี้( 16 ม.ค.) ” ดร.สุพัฒน์ กล่าว
   ด้าน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นควันขณะนี้เหมาะสม เพราะแก้ที่จุดกำเนิด เนื่องจากสาเหตุฝุ่นละอองมาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ รถควันดำ และสภาพอากาศปิดทำให้อากาศค้างอยู่กับที่ ปีหน้าก็จะเจออีก พบกับตัวเลขเกินมาตรฐานอีก  แต่จะหนักหรือเบาขึ้นกับสภาพอากาศ  อย่างไรก็ตาม ช่วง 1-2 วันจากนี้ ฝุ่นควันจะลดลง แต่จะต้องเฝ้าระวังอีกครั้งวันที่ 18 ม.ค. เพราะจากการพยากรณ์อากาศจะมีความกดอากาศสูงเข้ามา ส่งผลให้อากาศมีความชื้น  ฝุ่นจะกลับมา ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"