พระมหากษัตริย์จากดินแดนหลังประเทศอินเดีย


เพิ่มเพื่อน    

จากการศึกษาวิเคราะห์การเสด็จประพาสยุโรป ค.ศ.1897 และ 1907 อย่างละเอียด พบว่าภาพลักษณ์ของ "สยาม" และ "องค์พระมหากษัตริย์แห่งสยาม" ล้วนสะท้อนให้เราเห็นถึงสยามในกรอบของวัฒนธรรมเอเชียจากมุมมองของวัฒนธรรมยุโรป ทั้งก่อนและระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป จากเอกสารยุโรปมากมายหลายประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการยกย่องอย่างสูงจากชาวยุโรปและราชสำนักยุโรป

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พระมหากษัตริย์จาก "ดินแดนหลังประเทศอินเดีย" ทรงได้รับการยอมรับอย่าง "มิตรที่เท่าเทียม" จากราชสำนักยุโรปและคนยุโรป การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอย่าง "อิศระแก่พระองค์จริงๆ" ดังปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลจากกรุงลอนดอนของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณนัน เป็นเรื่องสำคัญมาก 

แต่การเสด็จยุโรปอย่างเป็น "อิศระ" ไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด เรื่องทางวัตถุอาจได้รับการต้อนรับอันดีจากทางเจ้าบ้านตามมรรยาทและธรรมเนียมปฏิบัติสากลเท่านั้น การที่จะได้รับการยอมรับว่า "ศิวิไลซ์" อย่างผู้เท่าเทียมและเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมาคมยุโรป อันเป็นดีกรีสูงขึ้นมากกว่ามิใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยบุคลิก การปฏิบัติตนตลอดจนสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดในการวางตนและเจรจาโต้ตอบด้วยไหวพริบให้ทันกันด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

การที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว แสดงความรู้รอบตัวในวัฒนธรรมและกิจการของยุโรปเป็นอย่างดีจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญส่วนหนึ่ง การปรากฏพระองค์โดยไตร่ตรองแล้วในฉลองพระองค์แบบยุโรป 

ตลอดพระวรกายตั้งแต่ "พระเศียรจรดพระบาท" ตามแฟชั่น อังกฤษดังปรากฏในหนังสือพิมพ์โปแลนด์ อีกทั้งยัง "ภูมิ" มี "ดิกนิโฟ... ดูอันใดเหมือนกับนั่งกลืนเอาไว้ได้หมด" (พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ ๓๔ จากเมืองบูดาเปสต์ วันที่  29 มิถุนายน ร.ศ. 116) ตามคำชมเชยของ "ฝรัง" ทำให้เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไป ณ เมืองใดก็จะมีประชาชนมาเฝ้าชมพระบารมีมากมาย ด้วยความอยากรู้อยากเห็นองค์พระมหากษัตริย์จากเอเชียจากข่าวที่ได้ยินหรือได้อ่านมา 

เห็นได้ว่า การทีมิได้ทรงดึงดันที่จะปรากฏพระองค์อย่าง "ตะวันออกแท้" (oriental) ดังเจ้าเอเชียที่เสด็จพระราชดำเนินอังกฤษและยุโรปก่อนหน้านี้ ทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากฝรั่งไปเปลาะหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์แห่งสยามนัน หน้าตาท่าทางก็มิได้แตกต่างไปจากพวกของตนเองเลย หากมีรูปลักษณ์และ  "ศิวิไลซ์" เช่นเดียวกับชาวตะวันตก แต่ยังมีความแปลก "exotic" ในรูปลักษณ์ของพระองค์

ชาวสวิสจาก "อาณาจักรแห่งหิมะ" ได้ต้อนรับผู้มาเยือน "ชาวอินเดีย" จากดินแดนเขตเมือง
ร้อนจากไกลสุดด้านทิศตะวันออก…คิงจุฬาลงกรณ์มีพระชนมพรรษา ๔๔ พรรษา แต่ทรงเป็น "หนุ่ม"
 หน้าอ่อนราวกับอายุเพียง 30 กว่า

อีกทั้งท่านมิได้มีท่าทางที่ไม่สนใจใยดีคนรอบตัวเลยเหมือนอย่างที่พบเสมอๆ ในเจ้านายจากเอเชียองค์อื่นๆ ทำให้ทรงต่างและแปลกไปจากเจ้าเอเซียส่วนใหญ่... โดยเฉพาะในพระพักตร์และพระเนตรที่เรียวเล็ก ในรอยยิ้มที่จริงใจ ในหนังสือพิมพ์กรุงแบร์น DerBund (ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. ค.ศ. 1897 ฉบับที่ 150) กล่าวถึงพระพักตร์ที่ "สดชื่นตามธรรมชาติ" แต่ในทรงกระฉับกระเฉงพร้อมที่จะโต้ตอบสิ่งรอบตัวนั้น กลับทรงมีท่าทางสบายๆ อย่างสง่าอยู่ด้วย ทำให้ทรงโดดเด่น ชวนมอง ลีลาการเคลื่อนไหวของพระองค์ประหนึ่ง "เสือดำ" 

การเปรียบเทียบนี้ อาจจะเหมาะสมกว่า การเปรียบเทียบกับ "ช้างเผือก" เสียอีก กอร์ปด้วย "ดิกนิโพ" เป็นตัวของตัวเองอย่างกษัตริย์ โดยเฉพาะพระเนตรสีนิลเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากว่า แสดงแววฉลาดและสดชื่น สนใจทุกสิ่งรอบพระองค์ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์ในดินแดนของประเทศซึ่งไม่มีปัญหาใดๆ กับสยามประเทศและเป็นดินแดนที่งดงามมาก จนพระองค์ท่านทรงเล่าให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีในพระราชโทรเลขมาแต่เมืองเยนีวา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 เมื่อเสด็จ "เที่ยวทะเลสาบเลแมนไปถึงตำบลอิเวียน" ว่า "แต่ก่อนนี้ฉันไม่เชื่อรูปภาพที่เห็นๆ นั้นเลย บัดนี้ได้เห็นที่จริงๆ  นี้งามเพลิดเพลินเป็นที่พอใจมากทีเดียว..."    

เรืองรายงานการเสด็จพระราชดำเนินเยือน สวิตเซอร์แลนด์ในหนังสือพิม์สวิสติดต่อกันถึง ๕ วัน และในตอนจบ ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ.1897 อ้างคำตรัสของพระองค์ท่านที่กล่าวถึงประเทศอันน่าประทับใจนี้กับ ดร.โกบัท (Dr. Gobat) ว่า "ใครที่มายุโรปแล้วไม่ได้มาสวิส หรือมาสวิสแล้วไม่ได้ไปเวงเงอนาล์ป (Wengernalp) คนผู้นั้น สมควรไปผูกคอตายเสีย"

พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์แห่งสยามเป็นที่ถูกใจชาวบ้านเขตภูเขาแบร์นผู้ประกอบอาชีพรถกระเช้าลอยฟ้า โฮเต็ล และการจราจรทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง เขาเหล่านั้นได้นำเอาคำตรัสชมนี้ขึ้นป้ายประกาศทั่วเมือง ข้างใต้คำประกาศมีรูปช้างสยามคล้องด้วยกุหลาบเทือกเขาแอลป์ประกอบด้วย และขณะที่ทรงนั่งรถกระเช้าลงจากเขาทีอินเตอร์ลาเคิน (Interlaken) ชมความงามของทิวสนและดอกไม้บานสะพรั่งบนไหล่เขา องค์กษัตริย์ทรงเงียบไปพักใหญ่ จนทีสัดได้ออกพระโอษฐว่า

"I thought on the Queen, whose absence I miss; how she wouldenjoy all this with me, if  she were here. She would be simply in thefields picking flowers."

การปรากฏพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในยุโรปที่ประเทศอิตาลีเป็นประเทศแรกหลังจากวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1897 ย่อมเป็นที้โจษจันกันทั่ว ไป ไม่เพียงปากต่อปาก แต่โดยข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย 

ความจริงนี้ ภายหลังผู้วิจัยสามารถพิสูจน์ได้จากการที่หลายประเทศได้สอบถามถึงพิธีการรับเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระมหากษัตริย์แห่งสยามเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างของกันและกัน เช่น เนเธอร์แลนด์รับข้อมูลจากเบลเยี่ยมเรื่องพิธีการรับเสด็จฯ ว่าทำอย่างไรในรายละเอียด (เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์) หรือฝรั่งเศสซึ่งปกครองระบอบสาธารณรัฐขณะนั้นได้อยู่หลายปีแล้ว ไม่แม่นเรื่องพิธีการราชสำนักเท่าใดแล้ว กับทั้งต้องการกระชับไมตรีกับรัสเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงได้ขอรายละเอียดจากราชสำนักรัสเซียเรื่องพิธีการรับเสด็จพระราชดำเนินเยือนของรัชกาลที่ 5  ด้วย 


นอกจากนี้เรายังได้รู้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสวีเดนด้วยเรือกลไฟชื่อ Polstjernan ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย หรือห้องโดยสารที่ประทับในรถไฟของพระองค์ท่านระหว่างกรุงบรัสเซลส์และกรุงเฮกมีเครื่องตกแต่งที่เคยเป็นเครื่องของกษัตริย์ฝรั่งเศสรวมทั้งเอกสารจากฝ่ายสเปนที่ทูตสเปนประจำแทบทุกประเทศในยุโรปติดตามรายงานการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของรัชกาลที่ 5 ไปยังรัฐบาลสเปนเพื่อจัดเตรียมการรับเสด็จให้สมพระเกียรติ เป็นการเกาะติดสถานการณ์เพื่อที่จะได้เห็นวิธีการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ประเทศอื่นมาก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จประพาสสเปน 

ในออสเตรีย ความสนใจของประชาชนชาวออสเตรียต่อ "พระมหากษัตริย์แห่งดินแดนช้างเผือก" นี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากสีสันรายละเอียดของข่าวหนังสือพิมพ์ และยิ่งพระองค์ท่านทรงแสดงความพึงพอพระราชหฤทัยขณะทรงทำกิจกรรมทุกอย่างระหว่างประทับอยู่ที่ออสเตรียมากเท่าใด ชาวเวียนนาก็ยิ่งชื่นชมพระมหากษัตริย์เอเชียพระองค์นี้มากขึ้นเท่านั้น แม้แต่ทีฝรั่งเศส "ดินแดนเจ้าปัญหา" ก็ยังพบว่า "คนแน่นในตอนที่ใกล้สเตชั่นถึงโปลิศต้องยืนหันหน้าออกกางแขนออกคอยกัน...แต่สังเกตดูวันนี้ผู้คนที่มาดูเพราะตัวฉันมากขึ้น" หลังจากที่ได้ "ทรงเล่นเป็นคิง" และ "ออกเอกซหิบิชันตัวเอง" ที่เมืองเวนิส อิตาลีมาแล้ว

แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงได้รับการยอมรับและยกย่องจากยุโรปก็คือ ทรงเป็นผู้มีความรู้และได้รับการศึกษาอย่างยุโรป ทั้งยังเป็นที่รู้ทั่วไปว่า ทรงประกาศเลิกทาสโดยไม่เสียเลือดเนื้อและสนับสนุนการศึกษาแบบยุโรปในประเทศของพระองค์ เหล่านี้ ทำให้พระองค์กลายเป็นมิตรชาวเอเซียผู้ซึ่งได้ยอมรับอิทธิพลจากความศิวิไลซ์ของตะวันตก 

เท่ากับว่า ทรงเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมตะวันตกนั้น เอง พระองค์จึงสมควรที่ชาวยุโรปจะรับไว้เป็นมิตรได้ เพราะมิใช่คนอื่นคนไกล เนื่องจากทรงมี "ความเหมือน" ทีทำให้ฝรั่งตะวันตกไม่รู้สึกหวาดระแวงนี แต่ก็ยังทรงมีรูปลักษณ์ที่แปลก จากต่างวัฒนธรรมที่ exotic และมีเสน่ห์ดึงดูดทำให้น่าสนใจ นับเป็น "ความแปลก" แต่ไม่แปลกจนเกินไป จนกลายเป็นความแปลกแยก.
-----------
อ้างอิง: พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในยุโรป-พรสรรค์ วัฒนางกูร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"