ไม่แบ็กอัพ 'บิ๊กตู่' แล้วจะสนับสนุนใคร


เพิ่มเพื่อน    

 หม่อมเต่ามองศึกเลือกตั้ง 62 ท่าที รปช.-ทำไมหนุนบิ๊กตู่?

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าพรรค เป็นอีกหนึ่งพรรคที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนหาเสียงอย่างขะมักเขม้นผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินคารวะแผ่นดินทั่วประเทศของสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ร่วมจัดตั้งพรรค รปช.

                ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล-หัวหน้าพรรค รปช. ย้ำความพร้อมของพรรคต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า ถึงตอนนี้ถือว่าพรรค รปช.มีความพร้อมมาก แม้จะมีข้อจำกัดในช่วงแรกๆ กับการเป็นพรรคตั้งใหม่ แต่ตอนนี้ถือว่าพรรค รปช.ทำได้ดีระดับหนึ่ง จากนี้ก็ต้องเดินต่อไป แต่เรื่องการเมืองหลังเลือกตั้งยังประเมินไม่ได้ เพราะถ้าให้พูดตอนนี้มันอาจจะมั่ว รอให้เลือกตั้งเสร็จก่อนจะเหมาะกว่า ถึงตอนนั้นค่อยมาดูว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส.มากี่คน ก็มาว่ากัน

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมีพรรคการเมือง 103 พรรค ผมเชื่อว่าพรรคที่จะได้ ส.ส.ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ คือมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน คงไม่เกิน 7 พรรค แล้วก็จะมีพรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ อีกประมาณ 2-3 พรรคที่เป็นพรรคใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามระบบในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่พรรคเดียวชนะแล้วทำอะไรก็ได้ ถ้าพรรค รปช.ได้ ส.ส. 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เราก็จะสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้

                หัวหน้าพรรค รปช. ย้ำว่า พรรคจะไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เพราะก็มีหลายจุดประสงค์

"คือเราชอบบิ๊กตู่ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพราะท่านเป็นคนสุจริต ถ้าไม่แบ็กอัพคนสุจริตแล้วจะไปแบ็กใคร เพราะทำงานแล้วจะมีผลงานเกิดขึ้นในอนาคตมีเยอะ ที่ผ่านมาเขาก็ได้เรียนรู้มาแล้วว่าประเทศจะต้องทำอะไร แต่ก็ยอมรับว่าค่อนข้างช้าไปหน่อย ทำให้ผลงานยังไม่ออกมาเสียเยอะ ถ้าเขาสามารถหา ส.ส.ได้จำนวนหนึ่งที่พอจะทำให้ชนะเสียงข้างมาก เราก็ไม่อยากไปทำแข่งว่าผมจะเป็นหรือท่านจะเป็น ถ้าท่านได้ใกล้แล้วก็ให้ได้ไปโดยอัตโนมัติ ให้รู้ไปเลยว่าเราไม่ได้เสนอคนแข่ง เมื่อเราไม่เสนอคนแข่ง หากท่านได้เสียงข้างมากก็ใช่ทั้งนั้น เราก็ไปด้วย ก็รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมานั่งเกรงใจกัน มาโทร.กันว่าช่วยหน่อยนะ ก็ไม่ต้อง เพราะเราไม่ได้แข่งอยู่" หัวหน้าพรรค รปช.ระบุ

ถามถึงความเห็นโอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ มีแค่ไหน หัวหน้าพรรค รปช. มองว่า เขาจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ก็เรื่องของท่าน เราช่วยไม่ได้ เพราะท่านก็ทำงานมาแบบนี้ ทำเรื่องมาแบบนี้ แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นตัดสินใจว่าจะลงในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐหรือไม่ ก็ต้องรอดู

...คุณสมบัติของคนที่จะเป็นนายกฯ ต้องเป็นคนที่ดีกับประเทศ อย่างพลเอกประยุทธ์ ท่านดีอย่างหนึ่งคือท่านสุจริต อย่างสุภาษิตที่ว่าหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก ไม่แกว่งไปทั้งตัว มันก็ช่วยได้เยอะ แต่ก็ยังไม่แน่ว่าท่านจะได้เป็นนายกฯ ต่อ เพราะต้องชนะ มันมีปัญหาอยู่ ไม่ใช่ว่าเป็นอยู่แล้วอยากจะเป็นอีกก็เป็นได้ มันมีปัญหาว่าพอเลือกตั้งเสร็จ หากตั้งรัฐบาลแล้วเดือนต่อไปต้องให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสภาเกินกึ่งหนึ่ง มันก็ไม่แน่ว่าท่านจะหาเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียง เพราะหากจะตั้งนายกฯ โดยใช้แต่เสียง ส.ว. แล้วคิดว่าให้ตั้งนายกฯ ได้ก่อน แต่ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะผ่านกฎหมายงบประมาณได้อย่างไร ยังไงก็ต้องมีเสียง ส.ส. 250 ที่นั่ง ไม่อย่างนั้นก็บริหารไม่ได้ ไม่ใช่จะลงคะแนนในสภาฯ ที ต้องโทรศัพท์หาคนให้ไปลงคะแนนกัน 30-40 คนก็ไม่ไหว ก็ควรต้องได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง

เห็นสนับสนุนบิ๊กตู่เช่นนี้เลยยิงคำถามไปว่า เมืองไทยถ้าไม่ใช่บิ๊กตู่เป็นนายกฯ เป็นคนอื่นได้หรือไม่ หม่อมเต่า-หัวหน้าพรรค รปช. ตอบว่า มีเยอะเลย ที่พูดไม่ได้หมายถึงว่าพลเอกประยุทธ์ดีที่สุด คือท่านก็เป็นคนดี แต่คนดีในประเทศไทยก็มีเยอะ

ถามแย้งว่าแต่หลายคนก็มองว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่มีผลงานอะไร โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ม.ร.ว.จัตุมงคล-อดีตปลัด ก.คลัง ให้ความเห็นว่า พวกที่จะมีผลเขามาเริ่มช้า อย่างพวกโครงการใหญ่ต่างๆ คือทุกประเทศในโลกที่เขาเจริญ เขาโตมาจากโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure ทั้งนั้น เพราะทำให้ต้นทุนของประเทศด้านต่างๆ เช่น การขนส่งต่ำลง แต่รัฐบาลเพิ่งมาทำจริงๆ ก็ครึ่งปีหลัง โครงการพวกนี้ช่วง 9-18 เดือนยังไม่ได้จ่ายเงินอะไรเลย อย่างพวกการก่อสร้างรถไฟ ทางด่วน อีอีซี งานพวกนี้รัฐบาลเริ่มทำได้ดีมาก แต่ผลงานกว่าจะออกก็ต้องรออีก 3-5 ปี อย่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง แค่คิดก็ 5 ปี แล้วกว่าจะเซ็นสัญญาก็รออีก 2 ปีถึงจะได้เริ่มก่อสร้าง ซื้อเหล็กปูนหิน 

งานพวกนี้ปกติแล้วหากสร้างไปถึงชั้นที่ 10 เทปูนไปแล้วครึ่งทางมันเลิกไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหา คนมาใหม่ก็ทำต่อได้ แต่หากถามว่านายกฯ มีผลงานไหม ก็บอกว่ามี แต่เป็นผลงานในอนาคต ในอนาคตใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ ก็คิดว่าต้องทำต่อทั้งนั้น จะไปหยุดสร้างสะพานหลังสร้างไปแล้วถึงครึ่งทางของแม่น้ำไม่ได้

หม่อมเต่า-อดีตผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า ด้วยนโยบายรัฐบาลที่ทำโครงการต่างๆ ตอนนี้เงินยังไม่ออก ซึ่งการทำให้เงินออกมาผ่านการทำโครงการที่มีบางคนอย่าง หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล บอกว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้งบร่วม 1.1 ล้านล้านบาท ก็จะพบว่าโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลทำไว้ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทำเต็ม 24 ชั่วโมง ก็อาจใช้วิธีไปบอกผู้รับเหมา เช่นให้ทำมากขึ้นจาก 1 ผลัดเป็น 2-3 ผลัด เพื่อที่จะได้มีการจ้างงาน มีการจ่ายเงินค่าจ้างมากขึ้น เมื่อทำงานมากขึ้นก็จะมีการไปซื้อวัสดุต่างๆ ต้องหาเครื่องจักรมาก่อสร้าง แต่หากทำแบบนี้ก็อาจมีปัญหา เช่นหากก่อสร้างเต็มเวลา ทำมากขึ้น ประชาชนก็อาจไม่ชอบ เช่นได้รับผลกระทบจากเสียงดัง

ถ้าทำแบบนี้เงินในโครงการก็จะออกมาเยอะ หากใครไม่ทำตามต่อไปก็อาจไม่ให้งานใหม่ เขียนไว้ในเงื่อนไขการประมูล ทั้งหมดเป็นเรื่องบริหารที่บริหารกันได้ เพื่อให้งานที่คั่งค้างอยู่ทำเร็วขึ้น ต้องพยายามเร่งงาน ผู้รับเหมาอาจบอกว่าต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็แย้งได้ว่างานเสร็จเร็วเขาก็ได้เงินเร็วขึ้น ก็อยู่ที่ความสามารถรัฐบาลในการไปเจรจา อย่างผมสมัยอยู่กระทรวงการคลัง ก็เคยเป็นประธานการเจรจาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เจรจาแค่ 2 เดือนก็เรียบร้อยได้ผู้รับเหมา เพราะการคุยกันก็ไม่ได้มีอะไรมาก คุยกันให้รู้เรื่อง

-ทำไมคนในพรรคทั้งหัวหน้าพรรคและคนอื่นๆ เช่น คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ มั่นใจว่าพรรค รปช.จะได้เป็นรัฐบาล?

เชื่อเช่นนั้นเพราะว่าเราเป็นพรรคใหม่ แต่โอกาสจะได้พรรคเกินกึ่งหนึ่งเลยคงลำบาก ความมั่นใจตรงนี้ผมคิดว่าการตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง คนที่เขารวมเสียงก็ต้องหาพรรคมาร่วม เราก็ไม่ได้มีเงื่อนไขต่อรองมากนัก เพราะเราอยากให้ประเทศมันเดินได้ หากเขาตั้งกันได้แล้วระดับหนึ่ง ขาดคะแนน เราก็พร้อม โดยไม่เอาตำแหน่งอะไรเลยก็ยังได้ ให้ประเทศมันเดิน

                ม.ร.ว.จัตุมงคล-หัวหน้าพรรค รปช. กล่าวถึงการเตรียมลงทำศึกเลือกตั้งของพรรคว่า เรื่องการส่งคนลงเลือกตั้ง พรรคก็หาคนได้เกือบครบ พรรคมีการทำไพรมารีโหวตคนลงสมัครตามเจตนารมณ์ สร้างพรรคของประชาชน ดังนั้นคนที่จะลงเลือกตั้งต้องให้สมาชิกพรรคเป็นคนเลือก ทำหลายเขต มีความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นคนใหม่หมด แม้แต่กรรมการบริหารพรรค หลายคนมาจาก กปปส.ที่มีการบริหารคนจากที่มีคนมาร่วมชุมนุมหลายล้านคน ดังนั้นภาพรวมพรรคโดยทั่วไปก็ทำได้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เป็นพรรคของประชาชน ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีสมาชิก 2 แสนคน ตอนนี้ก็มี 2 หมื่นคน ที่เข้ามาเพราะเข้าใจบทบาทการเป็นสมาชิกพรรค ตามคอนเซ็ปต์พรรคของประชาชน บริจาค 365 บาทเป็นเจ้าของพรรค

                สำหรับเรื่องการคัดคนลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ ทางพรรคก็ยังยืนยันหลักการเดิมคือ ให้ชื่อผู้สมัครผู้หญิงกับผู้ชายสลับกันไปทีละหมายเลข ซึ่งหลักการก็คือจะมีพวกหนึ่งที่จะเป็น ส.ส.จริงๆ และอีกพวกหนึ่งที่จะมาช่วยงานพรรค ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง จากนั้นก็พัฒนาตัวเองเลื่อนขึ้นมา คนที่จะอยู่ในบัญชีคือคนที่ช่วยงานพรรค ชื่อเสียงดี คนที่มีความสามารถต้องเป็นคนที่ทำงานได้ เช่นการทำงานในสภาฯ หลายคนก็ประเมินว่าพรรค รปช.คงได้ปาร์ตี้ลิสต์เยอะ เช่นเพราะมีคะแนน กปปส. เพราะแม้จะมีเป้าหมายกันไปคนละทาง แต่ที่ชอบกำนันสุเทพก็มีเยอะ แต่ตอนนี้ไม่มี กปปส. ก็มาเดินหน้าในรูปพรรคของประชาชน

                อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรค รปช. บอกว่า คงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าหลังเลือกตั้งพรรคจะได้ ส.ส.สักกี่คน ไม่ได้ประเมิน เพราะเข้ามาในพรรคโดยมีพื้นฐานต่างจากคนอื่น ผมทำงานมาเยอะแล้ว เมื่อคนมาชวน ส่วนใหญ่ผมทั้งชีวิตเป็นวิศวกรอยู่กระทรวงการคลัง ก่อนหน้านี้ผมก็เห็นว่าประเทศตอนนี้มีปัญหาอะไร ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้ว่ามีปัญหาตรงไหน โครงการไหนติดขัดอะไร ผมก็เตรียมข้อมูลไว้ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในพรรค เพราะเรื่องข้อมูลต่างๆ ก็มีประสบการณ์มาตลอด เพราะเคยอยู่กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง ที่เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ ผมก็ดูแล้วว่ามีปัญหาวันหนึ่งเขาก็คงมาชวนเรา จึงเตรียมไว้ก่อนเพื่อที่พอเข้ามาทำงานจะได้เดินได้เลย เมื่อมีการมาชวนผมก็ประเมินก่อนว่าลำดับแรกอยากทำหรือไม่

"ผมก็ชอบกำนัน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้รู้จักกัน แต่เห็นว่าเขาเป็นพวกกัดไม่ปล่อย ต่อยไม่เลิก ผมก็ชอบ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นพวกพูดแต่ไม่ทำ เมื่อทางเขาต้องการคนที่มีประวัติดี ทำงานสำเร็จ ประวัติสุจริต แล้วผมเห็นว่าไหว พอทำได้ เมื่อเขามาชวนผมก็ตัดสินใจแค่ครึ่งนาที" หัวหน้าพรรค รปช.เล่าให้ฟังถึงเหตุผลการเข้ามาเล่นการเมืองเต็มรูปแบบ

หัวหน้าพรรค รปช.กล่าวอีกว่า ที่เข้ามาตรงนี้เพราะก็อยู่ประเทศไทย จึงรู้ว่าเป็นอย่างไร เพราะผมก็เข้าได้ทุกระดับ พอรู้ว่าใครทำอะไร อยู่ที่ไหน ผมถึงได้ตั้งเป้าไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นเขาอยากใหญ่ อยากได้จำนวน ส.ส.เยอะๆ แต่ผมเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์พรรคการเมืองของประชาชน เพราะพรรคการเมืองของไทยที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคของประชาชน ไม่มีกระบวนการที่จะให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นเจ้าของพรรค เป็นคนออกความคิดว่าใครจะเป็นผู้นำ ควรออกนโยบายพรรคอย่างไร ไม่เคยมี เพราะพรรคการเมืองหากมีผู้นำแค่คนเดียว ก็ไม่มี check and balance สั่งมาเลยสุดซอยก็ได้

                ก่อนหน้านี้ไม่มีพรรคการเมืองของประชาชนที่ประชาชนร่วมกันจ่ายเงินแล้วเลือกกรรมการบริหารพรรค กำหนดนโยบายพรรค มีส่วนร่วมในการเลือกคนลงสมัคร ส.ส. แต่เป็นระบบที่คนมีเงินเข้ามาแล้วก็ตั้งพรรค ตั้งกรรมการบริหารพรรคเอง เลือกคนจะไปลงสมัคร ส.ส. อาจเป็นคนคนเดียว หรือ 5-10 คน แต่ไม่เคยมีที่ประชาชนหลักหมื่นหลักแสนร่วมกันลงเงินเลือกกรรมการบริหารพรรค แต่ของพรรค รปช.เราทำเช่นการทำสมัชชาพรรค ที่เป็นประชาชนทั่วไป เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคผ่านระบบต่างๆ

                หัวหน้าพรรค รปช. ยืนยันว่า ความต้องการทำให้พรรค รปช.เป็นพรรคของประชาชน จนถึงขณะนี้ต้องถือว่าสำเร็จเบื้องต้นก็คือ ตอนนี้มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้มีเงินเพียงพอใช้แต่ละปี ตอนนี้ก็ติดอยู่ตัวเดียวว่าจะมี ส.ส.ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดหรือไม่ ที่ก็คือ 25 เสียง ถ้าทำได้เป้าของผมก็ถือว่าสำเร็จแล้ว มีพรรคการเมืองของประชาชน เลือกตั้งเสร็จมี ส.ส.ที่พรรคจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่ถ้าได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คน ก็ยังถือว่าปฏิบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ เพราะยังเสนอชื่อนายกฯ ไม่ได้ ผมก็มีเป้าหมายว่าต้องการให้พรรคเรามีสิทธิ์เสนอนายกฯ ได้ แต่เป้าหมายของพรรคก็สูงกว่านั้น แต่ละคนก็มีเป้าหมายต่างกัน แต่เป้าหมายใหญ่เหมือนกันคือเป็นพรรคของประชาชน

อย่าให้ซ้ำรอยป่วนอาเซียนซัมมิต 52

                หัวหน้าพรรค รปช. มองว่าการเมืองหลังการเลือกตั้ง ไม่ควรให้เกิดอะไรวุ่นวาย เพราะในปีนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิต เพราะครั้งที่แล้ว ปี 2552 ที่เกิดเหตุแล้วทำให้บุคคลสำคัญต้องหนีลงทะเล ซึ่งบางคนก็เป็นบุคคลระดับสูง หรือนายกฯ ออสเตรเลียเวลานั้นบินมาได้ครึ่งทางเพื่อมาร่วมประชุม ต้องหันเครื่องบินกลับประเทศ ในชีวิตผม อายุ 70 กว่าปี ผมจำไม่ได้เลยว่ามีนายกฯ ประเทศไหนที่บินไปต่างประเทศแล้วสุดท้ายต้องหันเครื่องบินกลับหลังบินมาได้ครึ่งทาง เราทำแบบนี้เขาก็ต้องจำ หากเกิดว่าเราทำแบบนี้ 2 ครั้งจะเป็นอย่างไร ครบรอบ 10 ปีพอดี 10 ปีที่แล้วเราทำเขาแสบเลย ชนิดผู้นำเราเองก็ยังไม่รู้ตอนนั้นว่าจะรอดหรือไม่รอด ถ้าทหารไม่ฉุดออกมาก็ถูกฆ่าตายในรถ รอบนี้เราจะทำแบบนั้นอีกหนไม่ได้แล้ว ซึ่งจริงๆ แค่หนเดียวก็ทำไม่ได้ เราต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบ เลือกตั้งมา หากแพ้ก็เช็กแฮนด์กัน โดยเชื่อว่าหลังเลือกตั้งจะมีการยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะในคูหาเลือกตั้งไม่มีทางโกง เช่นกระบวนการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง อย่างผมเคยมีประสบการณ์ช่วยลูกชายหาเสียง ก็เคยเห็นอยู่ว่าการโกงเลือกตั้งทำได้ยาก

ส่วนนโยบายหาเสียง หัวหน้าพรรค รปช. บอกว่าก็มีหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ต้องการให้รัฐลงเงินสนับสนุนการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ทำให้เด็กจบออกมาแล้วทำงานได้ เช่นระหว่างเรียนต้องสนับสนุนให้ได้รับการฝึกสอนงานจากผู้ทำงานจริง เน้นการฝึกปฏิบัติ มีการไปฝึกงานในโรงงาน เพื่อที่ยังไม่ทันจบก็มีโรงงาน มีบริษัทมาติดต่อให้ไปทำงานแล้ว ให้เขารู้ว่าจบแล้วจะไปทำงานที่ไหน โดยตอนเรียนก็ให้ไปฝึกงานมีรายได้ ที่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมองบัตรคนจน

ถามความเห็นในฐานะอดีตปลัดกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กรณีการทำโครงการและชูนโยบายหาเสียงเช่นเรื่องบัตรคนจน จะมีผลกระทบต่องบประมาณประเทศในอนาคตหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล มองว่า ผมยังไม่เห็นตัวเลขว่าเขาใช้งบเท่าใด แต่ในโลกนี้หลักการเรื่องมีรายได้น้อยแล้วให้เงิน มันก็ทำยาก คนก็อยากได้ ฝันเป็นจริง แต่ทำยาก แต่เมื่อทำแล้วก็ทำไปแล้วกัน ไม่มีนโยบายจะเลิก แต่นโยบายแบบนี้ก็ลำบากอย่างหนึ่งคือหาคนจนจริงๆ อาจไม่เจอ

...การปฏิบัติก็ต้องทำให้ครบถ้วนขึ้น ถ้าจะทำก็ต้องทำให้มันดี บริหารให้มันดี เพื่อให้เงินไปถึงคนที่ควรจะได้เงินจริง หากพรรคเข้าไปเป็นรัฐบาลพวกโครงการเหล่านี้ก็จะไม่ยกเลิก แต่ถามว่าดีหรือไม่ หากดูในหลักการ การให้เขามีงานทำก็ย่อมจะดีกว่า ฝึกให้เขาเก่งคงจะดีกว่า เพราะในหลักการแล้วการจะให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ ต้องให้เขาได้การศึกษาสูงสุดได้ ถ้ามีความสามารถ เช่น ปริญญาตรี อาชีวะ เขาควรได้เรียนฟรี การรักษาพยาบาลควรจะฟรี เพราะถ้าเจ็บป่วยหรือไม่มีการศึกษา มันไม่เปิดโอกาสให้เขาแข่งขัน ดังนั้นรัฐต้องพยายามให้การศึกษาสูงสุด

มุดหมายการเมือง

ไม่ได้อยากกลับคลัง แต่เป็น...?

สำหรับบทบาทการเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรค รปช.นั้น หม่อมเต่า-หัวหน้าพรรค รปช. ออกตัวว่าการเป็นหัวหน้าพรรคของเขาจะเป็นแบบไม่ลงลึก ด้วยเหตุผลว่าเพราะพอเข้ามาก็เห็นว่าผู้บริหารพรรครปช.ชุดนี้ดีมาก คือใน กปปส.เดิมจะมีสองพวกคือพวกที่พูดเก่ง พูดมา 30-50 ปี กับอีกพวกที่บริหารเก่ง เห็นได้จากที่บริหารตอนมี กปปส.ที่คนออกมาเป็นล้าน มีคนฟังการปราศรัยกันเป็นแสน ที่บริหารด้านต่างๆ ในตอนนั้นได้ดี คนสองพวกนี้ก็มาอยู่ที่พรรค รปช.เยอะ ทำให้คนในพรรคมีทั้งที่บริหารเก่ง พูดเก่ง

 ...ผมก็เห็นว่าทุกอย่างเดินได้ดีแล้ว ก็ไม่ควรไปยุ่งมาก เมื่อมันเดินได้ดี สิ่งที่คนอื่นทำดีอยู่แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นทำ ส่วนบทบาทของนายสุเทพในพรรค รปช. ตัวนายสุเทพเป็นคนสำคัญ เขาไม่เอาตำแหน่ง แต่เขาไม่ได้บอกว่าจะไม่ออกความเห็น ให้ข้อคิดเห็น ส่วนบทบาทหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ในกฎหมายพรรคการเมือง หน้าที่ของหัวหน้าพรรคมันมี คนอื่นทำไม่ได้ เช่นเซ็นเอกสารต่างๆ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หากไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายก็ติดคุก สุเทพเขาไม่มีตำแหน่ง เขาก็พูดตามความเห็นของเขา แต่ว่าหากเข้าไปในรัฐบาล ทีนี้มันก็จะยาก เพราะพรรคที่เขามาร่วมกันตั้งรัฐบาลก็มีความคิดของเขา คุณสุเทพก็จะมีบทบาทคนละชนิด เพราะคนที่มาอยู่ด้วยกันในพรรคตอนนี้เป็นคนพวกเดียวกันกับสุเทพ คนที่มีความคิดปรัชญาอย่างเดียวกัน

...แต่หากต่อไปถ้าไปเป็นรัฐบาลหลายพรรค จำนวน ส.ส.แต่ละพรรคก็ต่างกัน พรรคที่มี ส.ส.ในรัฐบาลเป็นหลักร้อยก็ย่อมสำคัญกว่าพรรคที่มี ส.ส.ประมาณ 25 คน แต่ถึงแม้มีหลักร้อยเขาก็ต้องฟังเสียงพรรค 25 เสียง คือการตั้งรัฐบาล คนที่จับกลุ่มเขาก็จัดให้เก่ง คือจัดแบบที่ว่าหากมีพรรคบางพรรคออกไปสัก 1-2 พรรค รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ การจัดก็ต้องใช้ความฉลาด ไม่ใช่จัดแบบว่าพรรคไหนออกไปแล้วพังเลย ถามว่าเขาจะทำได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับสองอย่าง คือปรัชญาของแต่ละกลุ่ม และสองคือจำนวนส.ส.ที่ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง เพราะตอนนี้ยังทายยากอยู่ แต่ในฐานะหัวหน้าพรรคก็มีอะไรอยู่ในหัว มี ยุทธวิธี strategy อยู่ ตอนที่เขามาติดต่อ พอเขาอธิบายคอนเซ็ปต์แล้วผมชอบ ตอบตกลง ผมก็ต้องเริ่มคิด คือในชีวิตผมเรื่องการเมืองก็อยู่ในหัวบ้าง หาข้อมูล อย่างพอผมตอบตกลง ผมก็ไปคุยกับพวกอดีตข้าราชการประจำที่เป็น กปปส. ก็ไปคุยกับเขาว่าให้ออกมาช่วยกัน

“พรรค รปช.พร้อมที่จะเดิน แล้วจะไปในทางที่เป็นประโยชน์ เช่นเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ไม่ใช่แค่กับรัฐสภา แต่อยากให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล

งานที่อยากทำก็คือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะยังเดินไปถูกทาง และเป็นกระทรวงที่มีเงินรั่วไหลเยอะเรื่องระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากที่สุดแต่บางแห่งก็ประสบความสำเร็จเช่นฟินแลนด์ เช่นการฝึกให้คนทำงาน หรือสหรัฐอเมริกา เพราะบางเรื่องเขาฝึกหัดมาทั้งชีวิตเช่นงานค้นคว้า" ม.ร.ว.จัตุมงคลบอกถึงเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง คืองานด้านการศึกษาที่ไม่ใช่งานด้านกระทรวงเศรษฐกิจอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิดกัน.

,,,,,,,,,,,,,,,

ตระกูลการเมือง 'โสณกุล' หม่อมเต่าพูดถึง 'เต่านา' เราไม่คุยการเมืองกัน

หม่อมเต่า-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองและครอบครัวหลังเข้าสู่ถนนการเมืองเต็มตัวในวัย 75 ปีว่า ชีวิตส่วนตัวไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เพราะก็เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่นหลังเกษียณอายุราชการก็เคยช่วยลูกชาย ม.ล.อภิมงคล โสณกุล หรือ "ภิ" หาเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่ลง ส.ส.ครั้งแรกตอนอายุ 25 ปี ในสังกัดพรรคพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว ส่วนลูกสาว ม.ล.มิ่งมงคล  โสณกุล (เต่านา) จริงๆ เขาก็ไม่ได้อยู่เพื่อไทย แต่เพราะเขาชอบคนในพรรคนั้น ไม่ได้ชอบพรรค เขาก็ถือตัวว่าเขาเป็นรอยัลลิสต์ ผมก็ไม่ได้คุยการเมืองกันหลายออย่าง เพราะผมก็อยากให้เขาเป็นอิสระ ให้เขาคิดของเขาเอง ก็จะไม่พูดคุยกันในเรื่องการเมืองเท่าไหร่นัก ก็อย่าเผลอไปด่าคนที่เขาชอบก็แล้วกัน

“ผมกับเขาก็ไม่คุยการเมืองกัน เขาก็ถือว่าเขาเป็นรอยัลลิสต์ เวลาเขาเข้ากลุ่มเจ้า เขาก็ทำตัวเป็นกลุ่มเจ้า ดีกว่าผมแยะมากเลย ไปกราบคนโน้น ไหว้คนนี้ แต่ผมเปล่าเลย

หม่อมเต่า พูดอีกว่า ม.ร.ว.จะมีอยู่สองชนิด ม.ร.ว.จะเป็นคนที่มีค่ามากสำหรับสายเจ้า เพราะจะให้เป็นบุคคลธรรมดาก็เป็น เพราะเป็นแค่เชื้อเจ้า ไม่ใช่เป็นเจ้า แล้วจะให้ไปอยู่กับเจ้าก็เข้าง่าย เพราะว่าเกิดมาพ่อแม่ก็เป็นเจ้า หรืออย่างน้อยพ่อก็เป็นเจ้า ก็รู้ว่าเจ้าคืออะไร เคยอยู่ในวัง แล้วเวลาเจ้าเลี้ยงลูก ก็มีทั้งแบบหน่อมแน้มเลย กับอาละวาดเลย เลี้ยงปล่อย ข้าหลวงเลี้ยง แล้วพ่อแม่ก็ค่อยๆ ดู เพราะฉะนั้น ม.ร.ว.ก็จะมีสองชนิด พวกที่เป็นชาวบ้านกับพวกที่เป็นเจ้า สำคัญที่สุด ม.ร.ว.จะมีคุณค่าเพราะจะเห็นได้ว่าทุกวังจะมี ม.ร.ว.เยอะ เพราะสะเทินน้ำสะเทินบก คือรู้ว่าเจ้าทำอะไร แล้วก็รู้ว่าชาวบ้านทำอะไร อย่างผมที่เคยเข้าวัง บางวันผมก็เคยได้นั่งข้างท่าน บางวันผมก็นั่งข้างคนรถ สมัยผมเป็นปลัดกระทรวงการคลัง คือเป็น ม.ร.ว.ที่เป็นปลัดกระทรวง ก็จะมีคุณค่าสูงเพราะเช่นมีฝรั่งมา ไม่อยากให้นั่งใกล้ท่าน ก็ให้ผมไปนั่งคั่น เพราะผมเป็นปลัดกระทรวง กับอีกอย่างให้ผมไปนั่งกับคนรถ ผมก็รู้ว่าผมก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่ได้เป็นเจ้า

ม.ร.ว.จึงเป็นคนที่มีประโยชน์มาก เพราะมีสองสี จะให้เป็นอะไรก็ได้ เราก็รู้ว่าหน้าที่เราก็คือแบบนั้น หน้าที่เราคือจะให้เป็นอะไร ก็เป็นได้ เหมือนลูกครึ่ง ม.ร.ว.ก็เป็นอย่างนั้น เป็นลูกครึ่ง"

กับครอบครัว โสณกุล ที่ตอนนี้หม่อมเต่าเป็นหัวหน้าพรรค รปช. ส่วนลูกชาย ม.ล.อภิมงคลที่เป็นพี่น้องต่างมารดากับ ม.ล.มิ่งมงคล-เต่านา อยู่ประชาธิปัตย์ ขณะที่ "เต่านา" ก็แสดงออกว่าชื่นชมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายคนจึงสงสัยกันว่าแล้วหม่อมเต่าเคยห้าม ม.ล.มิ่งมงคลแสดงความเห็นทางการเมืองหรือไม่ หม่อมเต่า-หัวหน้าพรรค รปช. ยืนยันว่าไม่เคยห้ามเลย เช่นเดียวกับ ม.ล.อภิมงคลก็ไม่เคยบอกอะไร ไม่เคยห้ามอะไร เพราะเขาก็ต้องรู้ของเขาเอง

สำหรับข้อสงสัยว่าเคยชวน ม.ล.อภิมงคลให้มาอยู่กับพ่อที่พรรค รปช.หรือไม่ หม่อมเต่า พูดเรื่องนี้ว่า ม.ล.อภิมงคลอยู่พรรคประชาธิปัตย์มาเกือบ 15 ปี เขาก็มีฐานเสียงของพรรคในเขตเลือกตั้งของเขา  เขาก็ชอบประชาธิปัตย์ ตอนแรกเขามาบอกว่าจะขอทำงานการเมือง ผมก็บอกเขาว่าให้ไปอยู่ประชาธิปัตย์ เพราะพรรคอื่นเดี๋ยวก็ถูกยุบหมด ตอนนั้นเขาอายุ 25 ปีพอดี แล้วคนไทยยึดถือระบบอาวุโส การจะได้เป็นอะไรก็ต้องรอสัก 10-15 ปี ก็บอกอยู่ประชาธิปัตย์ไปก่อน แล้วอีก 10-15 ปีค่อยคิดอีกที เขาก็เลยเข้าประชาธิปัตย์ จนขึ้นชื่อว่าเป็นคนพูดเก่งคนหนึ่งในสภา เขาก็ชอบของเขาอยู่

เขาก็คิดๆ อยู่เหมือนกันนะ เพราะเขาชอบสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คิดจะมาหรือไม่มา คือในชีวิตคนเราจะมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญประมาณ 5-6 ครั้งเท่านั้นเองในชีวิต การที่เขาอยู่กับประชาธิปัตย์ก็เป็นหนึ่งครั้งแล้วที่สำคัญต่อชีวิต เปลี่ยนทิศทางชีวิต

ถามถึงว่าก่อนหน้านี้สมัยยังไม่เข้ามาอยู่กับพรรค รปช. ก็มีข่าวตลอดว่าหม่อมเต่าจะไปอยู่กับประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรค รปช. บอกว่าคงเพราะก่อนหน้านี้เคยไปช่วย ม.ล.อภิมงคลหาเสียง ตอนนั้นเขายังเด็กทำท่าจะไม่รอด ซึ่งช่วงนั้นไม่ได้รับราชการแล้ว ผมก็ลงไปเป็น ผอ.เลือกตั้งให้เขา ส่วนที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เคยเข้าไปครั้งเดียว

                หัวหน้าพรรค รปช. พูดถึงเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองไว้ว่า ไม่มีเป้าหมายการเมืองอะไรมากเพราะอายุมากแล้ว ต้องการทำให้พรรค รปช.เป็นพรรคการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อพรรคเริ่มใหญ่ แล้วก็ทำให้พรรคได้ ส.ส.ในสภาหลังเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ คือ 25 ที่นั่ง จะได้ทำตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญครบถ้วน แต่ถ้าไม่ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าขายไม่สำเร็จ คนไม่เอา แต่เวลามันก็สั้น แต่ก็อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะไม่ถึง เพราะจะทำให้ความคิดนั้นอยู่ในหัว เราทำอะไร เราต้องคิดว่าสำเร็จ และไม่ได้สนใจอยากเข้าไปทำงานในกระทรวงการคลัง โดยมองว่าอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังทำงานได้ดีมาก เช่นเรื่องภาษี ผมก็อยากให้ท่านได้อยู่ต่อ แต่ดูแล้วท่านอาจจะไม่อยู่ เท่าที่ดู เพราะท่านไม่ชอบการเมือง

-มีเพื่อนทางการเมืองต่างพรรคไหม เช่น เพื่อไทย?

เพื่อไทยหรือ ก็คุณทักษิณ ชินวัตรไง รู้จักดี เพราะก่อนจะเป็นใหญ่อย่างนี้ เป็นซูเปอร์สตาร์ ก็พยายามหาคนเอาไว้ใช้ ท่านก็พยายามคบกับผม อะไรพวกนี้ เขาก็อยากได้คนทำงาน แบบเช่นคุณทนง พิทยะ คืออยากได้ทีมงาน ก็พยายามคบทีมงาน รู้ว่าใครทำงานเก่ง เขาก็พยายามจะคบเอาไว้เป็นสมุนอะไรพวกนี้ แต่ก็ไม่เคยได้ทำงานด้วยกัน 

ทางการเมืองผมรู้จักแทบทุกคน เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เป็นกรรมาธิการงบประมาณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่สภาหลายครั้ง เคยเป็น ส.ว.สมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา แต่ผมจำคนไม่ค่อยเก่ง คือผมเป็นคนยึดทรัพย์สมัยอยู่กรมบัญชีกลาง แล้วพอสมัยคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.คลังจะปล่อย  แล้ว ตอนนั้นผมไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร ผมก็ไปยึดใหม่ วันที่ปล่อยคนก็บอก โห..ทำไมจริงจังขนาดนี้ แล้ววิธียึดทรัพย์ของผม วางรูปแบบเหมือนกับวางเลือกตั้งรอบนี้ คือคิดลึก คิดไกล ผมก็ใช้วิธีแบบฝรั่ง คืออย่าไปยึดพร้อมกันหมด เรื่องนี้คนก็เริ่มลืมกันไปหมดแล้ว ก็ไม่อยากพูดเรื่องเก่า เรื่องนี้ก็เป็นเหตุที่ทำให้ผมเข้าการเมืองไม่ได้อยู่นาน คือทำหลายเที่ยวตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร แล้ว หรืออดีตรัฐมนตรีสมัยหลัง รสช.ทำรัฐประหาร ที่บางคนตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว  ก๊วนนั้นผมยึดตอนเขาเป็นรัฐมนตรีด้วย ไม่ใช่ทำตอนเขาไม่ได้อยู่รัฐบาล ผมก็ว่าไปตามหน้าที่.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

....................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"