จังหวะขยับรับเลือกตั้ง 24 มี.ค. ลือ ทษช.ทาบ “ดร.โกร่ง” ร่วมทัพ พปชร.กระเป๋าตุง คลังแสงเพียบ


เพิ่มเพื่อน    

       วันเลือกตั้งที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามข่าวที่ออกมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามีแนวโน้มจะเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562

กระนั้นแม้ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ระหว่างนี้ทุกพรรคการเมืองก็ไม่มีใครมัวมานั่งรอ กกต. เพราะหากพรรคไหนออกตัวช้า ไม่เร่งเดินเครื่องหาเสียง สร้างคะแนน ให้คนจดจำแบรนด์พรรค-ชื่อผู้สมัคร โอกาสพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งย่อมเกิดขึ้นสูง

มองจังหวะการขยับ ขับเคลื่อน ไปที่บางพรรคการเมือง ที่จะมีบทบาทสูงในช่วงการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ก็มีความน่าสนใจให้แลเห็น อาทิ ในส่วนของพรรคเครือข่าย เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกอบด้วย หัวขบวนหลัก พรรคเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ ได้พบความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

อย่างเช่น พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคที่ตอนนี้ ทั้งแกนนำ-ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก็กระจายกำลัง จัดทัพ ลงตรึงหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

                ท่ามกลางกระแสข่าวว่า นอกจากการเตรียมรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่ตอนนี้ส่วนใหญ่เรียบร้อยหมดแล้ว แต่ที่ยังไม่ลงตัวก็คือ การทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการจัดลำดับ ใครอยู่อันดับต้นๆ-อันดับท้ายๆ เลยคาดกันว่าถึงเวลาเคาะชื่อรอบสุดท้าย อาจใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสะเด็ดน้ำ

                ขณะเดียวกัน เรื่องรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ 3 รายชื่อ ของไทยรักษาชาติ ที่ต้องยื่นต่อ กกต.ตอนรับสมัครเลือกตั้งและประกาศต่อสาธารณชน

                ก็มีกระแสข่าวออกมาจากคนในตึกที่ทำการพรรคย่านถนนแจ้งวัฒนะว่า โผแคนดิเดตนายกฯ เริ่มไม่นิ่งเสียแล้ว จากเดิมคาดการณ์กันว่า จะมี 3 ชื่อคือ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค, จาตุรนต์ ฉายแสง, พิชัย นริพทะพันธุ์ แต่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า แกนนำไทยรักษาชาติหลายสายเห็นตรงกันว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของไทยรักษาชาติ หากสุดท้ายพรรคต้องการเคาะออกมา 3 ชื่อ ก็ควรเป็นสูตร

คนใน 2 ชื่อ คนนอก 1 ชื่อ

และหนึ่งชื่อคนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ควรเป็นคนที่มีภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหากสุดท้าย พรรคจะเคาะออกมา 2 ชื่อคือ ร.ท.ปรีชาพล เนื่องจากเป็นหัวหน้าพรรค กับจาตุรนต์ ทั้ง 2 คนมีภาพของการเป็นนักการเมือง ไม่มีจุดขายด้านเศรษฐกิจ ขณะที่พรรคพยายามชูเรื่องเศรษฐกิจยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการขายแบรนด์พรรคฝั่งประชาธิปไตย ดังนั้นจึงควรเอาชื่อคนที่มีภาพทางด้านเศรษฐกิจมาไว้ด้วย 1 ชื่อ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในพรรค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของไทยรักษาชาติได้ เพราะรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรค ไม่ต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง

จนเริ่มมีข่าวว่า แกนนำพรรคบางส่วนมีการลิสต์ชื่อ ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ อดีต รมว.คลัง อดีตกุนซือเศรษฐกิจรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์-ป๋าเปรม ซึ่งในช่วงรัฐบาล คสช. ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนักหน่วงมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ บนกระแสข่าวว่า คนในไทยรักษาชาติได้เตรียมติดต่อ ดร.โกร่ง เพื่อขอให้มาร่วมงานการเมืองกับไทยรักษาชาติ โดยจะดันให้มีชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของไทยรักษาชาติ

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวแกนนำไทยรักษาชาติสนใจทาบทาม ดร.โกร่ง มาร่วมงานกับพรรค มีข่าวว่ายังไม่นิ่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมทาบทาม โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนหลัง กกต.ประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนออกมาแล้ว ซึ่ง ดร.โกร่งก็อาจปฏิเสธก็ได้ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น อายุมาก ไม่อยากเข้ามายุ่งการเมืองเต็มตัว 

“เรื่องรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นของเพื่อไทย หรือไทยรักษาชาติ ที่จะออกมา ทั้งหมดเป็นยุทธศาสตร์การเมืองของพรรค ที่บางชื่อก็โยนออกมาก่อนเพื่อวัดกระแส เหมือนอย่างกรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่พอเริ่มมีชื่อออกมาช่วงต้นปี แล้วมีกระแสตอบรับในกลุ่มผู้นิยมเพื่อไทย ก็ทำให้ เริ่มมีความชัดเจนว่าชัชชาติจะมีชื่ออยู่ในลิสต์ของเพื่อไทย ก็เหมือนกับกรณีของข่าว ดร.โกร่ง แม้จะมีการมองกันว่าในทางการเมืองเขาสนิทกับแกนนำไทยรักษาชาติบางคน เช่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แต่สุดท้ายคนที่จะติดต่อทาบทามเพื่อขอให้มาจริงๆ ก็ต้องเป็นคนจากแดนไกล เพื่อทำให้เห็นว่าพรรคให้ความสำคัญ แต่สุดท้าย หากพรรคได้เป็นรัฐบาล มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ ยังไง ก็คงต้องฟังพรรคที่มีเสียง ส.ส.มากกว่าอย่างเพื่อไทย มีสิทธิ์ก่อน รายงานข่าวจากแหล่งข่าวพรรคไทยรักษาชาติระบุ

 ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากเพื่อไทย เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองของ ดร.โกร่ง วีรพงษ์ กับคนในสายชินวัตร-เพื่อไทย เป็นเรื่องที่รับรู้มาตลอดว่ามีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด โดยก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า ทักษิณก็เคยติดต่อ ดร.โกร่งให้มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ช่วงปี 2551 แต่มีกระแสข่าวว่า ดร.โกร่งปฏิเสธ หลังมีสัญญาณจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ไม่ปลื้ม จนสุดท้ายจึงไปดัน ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดมหาดไทยมาเป็นแทน และในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยตั้ง ดร.วีรพงษ์เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. หลังประเทศผ่านพ้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่

ขณะที่ฝ่าย เพื่อไทย เรื่องแคนดิเดตนายกฯ เริ่มชัดมากขึ้น กับท่าทีของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ถูกทักษิณวางตัวให้เป็นแกนนำทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยในการเลือกตั้ง รวมถึงการสร้างเป็นจุดขายทางการเมือง เพื่อหวังเจาะกลุ่มแฟนคลับเพื่อไทย-ทักษิณ ที่ไม่เอา เจ๊หน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็มีชื่อของชัชชาติให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในการถูกวางตัวให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย ซึ่งหลังมีการโยนหินถามทางมาได้ร่วมเดือน จนเริ่มมีกระแสหนุน

ทำให้ชัชชาติจากที่ยังลังเล เพราะอาจเกรงใจรุ่นใหญ่ในเพื่อไทยและไทยรักษาชาติ เพราะชัชชาติที่แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีแบบก้าวกระโดด จาก รมช.คมนาคมไปเป็น รมว.คมนาคม แต่เขาก็ยังไม่มีบารมีทางการเมือง ไม่เคยเป็น ส.ส. ไม่มีนักการเมืองในสังกัด ไม่เคยลุยทำศึกเลือกตั้ง ยิ่งบทบาทการเมืองของชัชชาติในช่วงเกือบ 5 ปียุค คสช. ก็ถูกคนในเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ มองว่า โลว์โปรไฟล์-เอาตัวรอด กับการไปเป็นประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ กินเงินเดือนหลายแสน โดยไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองใดๆ กับเพื่อไทย ไม่เคยมาทำกิจกรรมกับพรรคใดๆ แล้วจู่ๆ มีเลือกตั้ง มีโอกาสที่เพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลก็โผล่มา แล้วจะมาลุ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็เป็นเรื่องที่คนเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ ก็ยังกังขา ไม่ยอมรับกันอยู่ระดับหนึ่ง

 เรื่องแบบนี้ แม้ชัชชาติจะยังใหม่ทางการเมือง ไม่เคยผ่านสมรภูมิเลือกตั้ง แต่ก็ย่อมอ่านความรู้สึกคนในเพื่อไทยด้วยกันเองออกแน่นอน ทว่าตอนนี้ดูเหมือนอาจเพราะชัชชาติได้รับสัญญาณแล้วว่า เขาต้องขึ้นมามีบทบาทในเพื่อไทยเต็มตัว ทำให้ชัชชาติประกาศความพร้อมทางการเมืองออกมาแล้ว

  "ผมไม่รู้เรื่อง อันนี้ต้องแล้วแต่ทางพรรค หากพรรคเห็นว่าเหมาะสม ผมก็พร้อม"

เป็นคำตอบของชัชชาติ หลังถูกถามถึงความพร้อมเปิดตัวเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

นั่นคือความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาของ ไทยรักษาชาติ-เพื่อไทย ที่เป็นพรรคเครือข่ายของกันและกัน

                ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายตรงข้ามกลุ่มเพื่อไทย-ทักษิณ อย่าง พรรคพลังประชารัฐ เมื่อการกำหนดวันเลือกตั้ง-วันเลือกตั้ง ถูกเลื่อนออกไป จาก 24 ก.พ. ก็มีผลทำให้การรับสมัคร ส.ส.และการแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่อ กกต.ก็ต้องขยับออกไปด้วย ดังนั้นจึงทำให้มีเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจได้นานขึ้นในเรื่องการเข้าสู่การเมืองด้วยการมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐ

                แต่ระหว่างนี้ พลังประชารัฐก็มีเรื่องให้ฮือฮา เมื่อมีการเปิดเผยรายชื่อ กลุ่มทุน-ผู้สนับสนุนพรรค อย่างเป็นทางการ ตามกฎหมายพรรคการเมือง หลังพรรคพลังประชารัฐ นำบัญชีรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมการระดมทุนโต๊ะจีน เมื่อ 19 ธ.ค.61 มาติดประกาศ หลังส่งเรื่องให้สำนักงาน กกต. ซึ่งมีด้วยกัน 24 ราย เป็นเงิน 90 ล้านบาท

ที่น่าสนใจก็มี อาทิเช่น กลุ่มคิง เพาเวอร์ ของตระกูล ศรีวัฒนประภา ที่ก่อนหน้านี้รู้กันดีว่า เป็นถุงเงินให้กับ พรรคภูมิใจไทย-เนวิน ชิดชอบ

มารอบนี้ปรากฏว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ โดย 3 บริษัทในเครือได้บริจาคเงินสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐอย่างเปิดเผย ได้แก่ บ.คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 6 ล้านบาท, บ.คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด จำนวน 9 ล้านบาท และ บ.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จำนวน 9 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 24 ล้านบาท

 ซึ่งการที่บางบริษัทข้างต้นร่วมระดมทุน 9 ล้านบาท เป็นเพราะตามกฎหมายพรรคการเมือง ให้บริษัทเอกชนบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองแบบ Maximum ได้ไม่เกินปีละ  10 ล้านบาทนั่นเอง นอกนั้นก็มีอีกหลายบริษัท-หลายกิจการ ที่ลงขัน เป็นคลังแสงให้พลังประชารัฐเอาไปทำศึกเลือกตั้ง เห็นได้จากที่พรรคแจ้งกับ กกต.ว่า ยังมีผู้แสดงเจตนาสนับสนุนพรรค แต่ไม่สามารถส่งมอบเงินให้แก่พรรคในวันระดมทุนได้อีกจำนวน 151 คน รวมเป็นเงิน 532,350,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ในวงกาแฟของแกนนำพรรคการเมืองเก่าแก่ของการเมืองไทยพรรคหนึ่ง แกนนำพรรคดังกล่าวพูดตรงกันว่า เงิน-รายได้จากโต๊ะจีนพลังประชารัฐดังกล่าว เป็นแค่ ยอดภูเขาน้ำแข็ง-เงินเปิดเผย ที่ต้องแจ้งต่อ กกต. แต่คลังแสง-เสบียงกรังของจริง มีเป็นระดับ หลายพันจนถึงเฉียดหมื่นล้าน!

......................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"