ผ่าทางรอด 'วิกฤติฝุ่นพิษ'


เพิ่มเพื่อน    

 

      ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปกคลุมทั่วเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา   ชาวกรุงเทพฯ ที่เดินทางออกจากบ้านต่างสวมหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 โดยหลายพื้นที่ระดับฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานจากระดับที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 ไมโครกรัม ผู้คนกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฝุ่นพิษปกคลุมจนทัศนวิสัยของเมืองทั้งเมืองเป็นสีเทา กลายเป็นเมืองในหมอก (ฝุ่น) ซึ่งแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

      สำหรับมลพิษทางอากาศ PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดทั้งจากการเผาไหม้ยานพาหนะ การเผาวัสดุทางการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม ฝุ่นจิ๋วนี้สามารถทะลุลวงเข้าไปถึงถุงลมในปอดและเข้าสู่กระแสโลหิตได้ ส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจและโรคปอดต่างๆ ถ้าได้รับปริมาณมากหรือสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นตัวการก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ

      หน่วยงานรัฐได้ตอบสนองต่อความหวาดวิตกของประชาชน ด้วยการออกมาตรการระยะสั้นในช่วงวิกฤติดังกล่าว เพิ่มความเข้มข้นของงานป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว   ทั้งการสั่งเพิ่มด่านตรวจจับควันดำไม่ว่ารถเล็กหรือรถใหญ่  ประกาศห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาดตลอด 2 เดือนทั้งกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีพื้นผิวจราจรรองรับรถที่สัญจร ขสมก.ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันรถเมล์จำนวน 800 คัน ใช้บี 20 แทน บี 7 ลดฝุ่นลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ด้านกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็ติดตามสภาพอากาศ วิเคราะห์ หากฟ้าอากาศเอื้อหน่วยเคลื่อนที่เร็วเริ่มปฏิบัติการทำฝนเทียมให้กรุงเทพฯ ทันที

 

 

 ภาครัฐฉีดพ่นน้ำขึ้นสู่ท้องฟ้าแก้ปัญหาลดระดับฝุ่น นอกจากการทำฝนเทียม  

     

     ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะเผชิญสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จากนี้ไปอีก 1-2 เดือน คนกรุงจะต้องทนอยู่ในสภาพอากาศปิดเช่นนี้  

      ปัญหามลพิษทางอากาศถือว่าก่อปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเทียบกับเชียงใหม่และภาคเหนืออีกหลายจังหวัดล้วนเคยเจอกับมลภาวะจากฝุ่นควันมาแล้วทั้งสิ้น แต่ความแตกต่างอยู่ที่ฝุ่นควันภาคเหนือ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ฝุ่นจิ๋ว หรือมีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน เหมือนในเขตกรุงเทพฯ ที่ฝุ่นระดับ PM2.5 เกินค่าความปลอดภัย เนื่องจากมีการเผาไหม้จากรถยนตร์เครื่องดีเซลหนาแน่นมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด   และเมื่อคนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับสภาพมลภาวะแย่เป็นครั้งแรก จึงอยู่ในสภาพตื่นตระหนก เกิดคำถามมากมาย  เรียกร้องให้รัฐหามาตรการรับมือและแนวทางแก้ไข แก้ปัญหาที่ชัดเจนตรงจุด อีกทั้งยังตั้งประเด็นไปถึงอนาคตด้วยว่า คนกรุงจะต้องสำลักควันพิษอีกหรือไม่ รวมทั้ง ประเทศไทยตั้งเป้าควบคุมคุณภาพอากาศอย่างไร

      รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขนส่งเป็นสาเหตุหลักของฝุ่น PM 2.5 ที่กรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหา  จากการที่สภาพอากาศปิด ฝุ่นจิ๋วไม่สามารถระบายออกไปได้ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถ้าต้นเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะมลพิษจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ รถเก่าที่ไม่บำรุงรักษา รถดีเซล ในอียูมีหลายประเทศสนับสนุนห้ามใช้รถดีเซลเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศ ระยะเร่งด่วนการแก้ปัญหาคือ การลดการเดินทาง ลดใช้ยานพาหนะ ส่งเสริมการใช้ระบบรถรางทั้งบีทีเอส เอ็มอาร์ที และจักรยาน ส่วนรถโดยสารเก่าลดจำนวนเที่ยวลงเพื่อลดฝุ่นควันให้ออกจากวิกฤติไปได้ก่อน

      "ในระยะยาวต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง เพราะจะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ได้ชัดเจน อีกแนวทางต้องส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือเอ็นวี อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมพัฒนาเมืองให้คนใช้จักรยานและเดินมากขึ้น เพื่อจะไม่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งจะต้องสร้างทางเดินที่มีหลังคา ให้การเดินร่มรื่นกันแดดกันฝนยิ่งขึ้น ระยะกลาง ให้เข้มงวดเรื่องตรวจสภาพรถยนต์ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นระบบ รัฐต้องเชื่อมตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ที่สำคัญคือ ต้องปลอดภัย ตรงเวลา ปรับปรุงรถเมล์ให้ได้มาตรฐาน รถเมล์เก่าควันดำต้องห้ามวิ่งบริการ ส่วนมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องนำรถชัตเตอร์บัสพลังงานไฟฟ้ามาบริการทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่สัญจรในมหาวิทยาลัย ในส่วนของจุฬาฯ ก็ทำได้แล้ว" รศ.ดร.มาโนช กล่าว

 

 

ปรากฏการณ์ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 โจมตีกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปกคลุมจนทำให้ทั้งเมืองกลายเป็น "เมืองในหมอก"

      ด้าน รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวะ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นพิษมาจาก 2 ปัจจัย คือ มลพิษจากแหล่งกำเนิดและวิกฤติสภาพอากาศปิด ซึ่งปัจจัยหลังเราทำอะไรไม่ได้ ต้องรอให้สภาพอากาศดีขึ้นเท่านั้น เหตุนี้ หน่วยงานรัฐและกรุงเทพมหานครได้ออกมาตรการแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิด อย่างไรก็ตาม การลดมลพิษอากาศต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาไทยทำเรื่องฝุ่น PM 10 ใช้เวลา 10-20 ปี ถึงจะลดระดับฝุ่นประเภทนี้ได้ ขณะที่การตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ในประเทศไทย เพิ่งถูกผนวกเมื่อ ต.ค.61 ทำให้ปีที่แล้วมีการสะท้อนปัญหาหมอกควันกรุงเทพฯ และปีนี้วิกฤติอากาศทำให้ชาวกรุงเทพฯ ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น หลายหน่วยงานก็วางแนวทาง เปลี่ยนรถเก่า ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน รวมถึงกรมโรงงานจัดทำร่างกฎหมายปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงในโรงงาน โดยจะกดค่าเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษให้ลดลง ซึ่งถ้ากฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดภาคอุตสาหกรรม

      "รถยนต์ 10 ล้านคันที่วิ่งในกรุงเทพฯ สร้างมลพิษทางอากาศมหาศาล ทุกคนเป็นแหล่งกำเนิด ก่อเกิดมลพิษ เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องร่วมมือซึ่งกันและกัน ไม่รวมหมอกควันที่ข้ามพรมแดนกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน อย่าโทษใคร แต่คนกรุงต้องช่วยลดควันจะดีกว่าและเร็วกว่ารอให้เพื่อนบ้านลดฝุ่นละอองอย่างแน่นอน" รศ.ดร.ศิริมากล่าว

      สำหรับมาตรการฉีดพ่นน้ำในอากาศเพื่อลดฝุ่นละออง ซึ่ง กทม.ดำเนินการทุกวันในช่วงวิกฤติ เธอเห็นว่า ฝุ่น PM 2.5 บางกว่าเส้นผมของมนุษย์ 20 เท่า การฉีดพ่นช่วยลดฝุ่นขนาดใหญ่ได้ส่วนหนึ่ง แต่ฝุ่นละอองจิ๋วจะไม่หายไป ถ้าจะให้ค่าฝุ่นลงตามค่ามาตรฐานของ คพ. คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรได้ กทม.มี 50 เขต พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ต้องใช้เครื่องฉีดพ่นราว 3 หมื่นตัว ฝุ่นละอองถึงจะลง

      "เรื่องคุณภาพอากาศยังยืนยันว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประกาศตัวเลขค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนเรื่องมลพิษหรือสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะอยู่บนความเสี่ยง จะใส่หน้ากากหรือไม่ใส่ หรือจะอยู่ให้ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดมลพิษ  ซึ่งการตัดสินใจรับมือปัญหาต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสำคัญ" นักวิชาการจุฬาฯ ฝากถึงรัฐ

ประชาชนที่สัญจรเดินทาง ใส่หน้ากากอนามัยเยอะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

      แน่นอนว่า ฝุ่นพิษเวลานี้กว่าครึ่งมาจากควันดำรถ แต่แหล่งกำเนิดรองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลร้ายของการพัฒนา เหตุนี้มีนักวิชาการจี้ให้ตรวจสอบอุตสาหกรรมรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล

      รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวประเด็นนี้ว่า มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รอบกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แม้จะปล่อยมลพิษต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็มีฝุ่น หน่วยงานรัฐต้องติดตามมอนิเตอร์ระบบดักจับฝุ่นและระบบวัดการปลดปล่อยมลพิษให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ  แต่ที่น่ากังวลเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก มีข้อสงสัยว่า ระบบดักจับฝุ่นได้มาตรฐานหรือไม่ แล้วที่ไม่ฟันธงว่าเป็นตัวการฝุ่นละออง มีโรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับ Boiler ที่กระจายตัวในภาคกลางและกรุงเทพฯ      แต่มีแนวโน้มใกล้เคียงกับพื้นที่การกระจายตัวของฝุ่น PM 2.5

      ปัญหาฝุ่นละอองในทัศนะของ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่คนกำลังประสบฝุ่นควันคลุมเมือง เพราะเมืองใหญ่อื่นๆ ทางซีกโลกเหนือเผชิญสภาพปัญหานี้เช่นกัน กรุงโซลเกาหลีมลพิษพุ่งสูง รัฐบาลก็ออกมาตรการฉุกเฉินรับมือ ซึ่งแต่ละเมืองจะใช้มาตรการควมคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดเข้มข้นต่างกัน การเพิ่มความเข้มข้นแก้ปัญหาฝุ่นกระทบผู้ใช้รถในการเดินทาง แต่ต้องทำ เพราะลดมลพิษจากเครื่องยนต์ที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ ถ้าจะช่วยให้อากาศในเมืองสะอาดมากขึ้นทุกภาคส่วนต้องทำ จะลดฝุ่นได้มาก การฉีดพ่นน้ำหรือทำฝนเทียมบรรเทาได้เพียง 10% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ช่วงสถานการณ์หมอกควันห่มกรุง ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้น แสบ เคือง แดง ผื่นคัน จาม ไอ จนถึงไอหอบ  หากรับควันพิษสะสมจะป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด หลอดลมเรื้อรัง เส้นสมองตีบ ขอให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงเที่ยงคืน เพราะอากาศปิด ปัญหาฝุ่นจะมากขึ้น

      "ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 เกิดจากรถติดขัดและปล่อยมลพิษมาก แนวทางต้องทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอจากนักวิชาการให้ใช้มาตรการรถวิ่งเข้าเมืองได้ตามป้ายทะเบียนเลขคู่เลขคี่ เพื่อลดจำนวนรถเข้าเมือง แต่ถ้าใช้มาตรการนี้ทันทีจะมีคนต่อต้าน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบชีวิตประจำวันประชาชน ซึ่งต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ต้องร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย อีกแนวทางหนึ่งซึ่งแก้ปัญหาได้ทันทีคือ ขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน สลับกันทำงานที่บ้าน Work at home เพราะลักษณะงานบางอย่างสามารถทำที่บ้านได้ ส่งงานผ่านอินเทอร์เน็ต ลดการเดินทาง แต่งานบริการประชาชนต้องมา แนวทางนี้รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล" ดร.สุพัฒน์เสนอทางออกของปัญหา

      ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีหน้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเผชิญปัญหาฝุ่นละอองอย่างแน่นอน แต่จะหนักหรือเบาขึ้นกับสภาพอากาศ ณ ช่วงเวลานั้น ปีที่แล้วก็ประชุมหามาตรการป้องกัน PM 2.5 ปีนี้ก็ระดมทุกหน่วยงานประชุมวางแนวทางแก้ปัญหา จะฝ่าวิกฤติฝุ่นจิ๋วได้ ต้องสื่อสารข้อเท็จจริง ภาวะวิกฤติคุณภาพอากาศมาจากการเผาไหม้รถดีเซล รถเก่า รถที่ก่อควันดำเหล่านี้ต้องเอาออกจากระบบ ต้องไม่อนุญาตให้วิ่งในเมืองหลวง

      "รถดีเซลเป็นพระเอกของเรื่องนี้ ต้องปรับเปลี่ยน มีมาตรการกวดขันอย่างเข้มงวด รวมทั้งส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 20 เพราะการเผาไหม้เครื่องยนต์สมบูรณ์ ช่วยลดฝุ่นละออง แต่สุดท้ายโลกนี้ไม่มีเทคโนโลยีใดที่มีประสิทธิภาพ 100% ทุกเชื้อเพลิงมีข้อจุดอ่อนและข้อบกพร่อง สิ่งที่ดีที่สุดคือ การลดใช้รถยนต์ ฝุ่นทุกเม็ดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ฉะนั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมลดฝุ่นควัน รัฐต้องส่งเสริมคนเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะให้ได้ มีทางเลือกให้คนกรุงเดินทางแทนขับรถออกจากบ้าน ควบคู่กับการจัดทำโซนนิ่ง มีผังเมืองชัดเจนในการพัฒนา นักวิชาการบางคนเสนอให้ใช้ยาแรงเลยแก้ปัญหาฝุ่นเหมือนต่างประเทศ แต่บริบทของประเทศไทยอาจใช้ไม่ได้ มีข้อจำกัดหลายด้าน รวมถึงต้นทุนที่รัฐ ประชาชน ต้องแบกรับเมื่อมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง" คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มก.กล่าวทิ้งท้าย พร้อมฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วนร่วมกันตั้งเป้าหมายควบคุมคุณภาพอากาศระยะยาว และร่วมกันปฏิบัติภารกิจตามภาระหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อสภาพอากาศและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของคนไทย

      อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นตรงกันในประเด็นการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญและอย่าตื่นตระหนก โดยแนะนำให้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์ www.air4thai.pcd.go.th และ แอปพลิเคชัน air4thai เพราะได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดฟรีทั้งระบบ ios และ Android.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"