‘กรีนพีซ’บี้ไทยปรับลดค่าฝุ่น


เพิ่มเพื่อน    

 กรีนพีซเผย "มหาชัย" ครองแชมป์เมืองฝุ่นพิษ ส่วน กทม.เขตดินแดง-ธนบุรีหนักสุด นักวิชาการชี้เข้าขั้นวิกฤติ บี้รัฐบาลออก กม.คุมเข้ม ใช้มาตรการรุกดีกว่าโปรยน้ำไล่จับฝุ่น พร้อมปรับลดค่ามาตรฐาน PM2.5 ภายในปีนี้ สธ.จ่องัด พ.ร.บ.สาธารณสุขดูแล 5 จ.ปริมณฑล คนกรุงป่วยแล้วหมื่นราย!

         เมื่อวันที่ 25 มกราคม วันเดียวกัน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานแถลงข่าว “วิกฤติมลพิษ PM 2.5: ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” โดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซมีการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยล่าสุดปี 2561 พบว่า พื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM 2.5  คือ 1.ต.มหาชัย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร 2.ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 3.ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 4.ต.ศรีภูมิ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ 5.ต.ช้างเผือก อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ 6.ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 7. ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 8.ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 9.ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น และ 10.ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี 
       สำหรับ "พื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญมลพิษ PM 2.5 ใน 10 อันดับแรก พบว่า มีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัม (มคก.)/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อยู่ระหว่าง 19-68 วัน เทียบกับข้อแนะนำองค์การอนามัยโลกที่ระบุไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. มากกว่า 3 วัน ในช่วง 1 ปี จะเห็นได้ว่า คนในเมืองต้องเสี่ยงกับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า จะเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขขยายวงกว้างมากขึ้น
       "เป็นเพราะไม่ยอมรับวิกฤติ รัฐบาลจึงล้มเหลวแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส ประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกร่างมาตรฐานใหม่ของ PM 2.5 ในบรรยากาศ ขอให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับค่าเฉลี่ย 24 ชม. เป็น 35 มคก./ลบ.ม. จาก 50 มคก./ลบ.ม.  รวมถึงค่าเฉลี่ย 1 ปี เป็น 12 มคก./ลบ.ม. ภายในปี 2562 นี้ เพื่อตั้งเป็นเป้าหมาย รวมถึงตรวจวัดและรายงาน PM 2.5 และปรอทที่ปลายปล่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงรัฐต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการหัวกะทิร่วมแก้ปัญหา หาทางออกใหม่ที่ต่างจากแผนปฏิบัติการเดิมในอดีต" นายธาราระบุ
    ด้าน ผศ.ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร จากศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ปี 2559-2561 โดยใช้ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ของ WHO ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. พบว่า ปี 59 ค่าความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 ในไทยและเพื่อนบ้านอยู่ในระดับมลพิษสูงกินพื้นที่กว้าง ส่วนปี 60 แม้สถานการณ์ฝุ่นพิษคลี่คลายขึ้น แต่ในไทยกลับรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 32 ของพื้นที่  
    "ส่วนมลพิษฝุ่น PM 2.5 ปี 61 พบว่าไทยสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจากปี 60 ครองอันดับ 1 ฝุ่นพิษปกคลุมร้อยละ 60 ของพื้นที่ รายงานนี้ยังวิเคราะห์ความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ปลาย ม.ค.ถึงกลางพ.ค.ของทุกปีมักพบค่าฝุ่นเพิ่มสูงในภาคเหนือ แต่หากดูข้อมูลภาคกลางและ กทม. ฝุ่น PM 2.5 คลุมตลอดทั้งปี แต่คนกรุงหลงลืมไป จากรายงานยังสะท้อนแม้ช่วงประกาศห้ามเผา พบจุดความร้อนสะสมในไทยนับพันจุด ถ้ารวมเพื่อนบ้าน พบเกือบ 3 หมื่นจุด ตอนนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้ว" ผศ.ดร.อิศรากล่าว 
    ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแก้วิกฤติฝุ่น จะต้องยอมรับว่ามีปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพราะมีข้อมูลการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศในไทยเป็นอันดับ 4 เราถูกยัดเยียดความตาย นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่เคยทำฐานข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ ขาดการวางแผนการประเมินมลพิษสะสมและศักยภาพของธรรมชาติในการรองรับมลพิษในไทย ไม่มีกฎหมายควบคุมฝุ่น PM 2.5 ที่ดีพอ ธนาคารโลกรายงานข้อมูลการเสียชีวิตจากฝุ่น PM 2.5 ในไทยอยู่ที่ 50 คนต่อ 1 แสนคน จีดีพีของประเทศติดลบจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากร นี่คือความเสียหายของประเทศจากฝุ่นพิษ
    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีมีจัดการแหล่งกำเนิดดีกว่าโปรยน้ำ ไล่จับฝุ่นในอากาศทีหลัง มีแบบจำลองมลพิษทางอากาศสามารถประเมินศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับมลพิษได้ เพื่อลดมลพิษใหม่เพิ่มเติมจากแหล่งเดิม เรียกร้องให้ประเทศไทยใช้มาตรการเชิงรุกมากกว่าขอความร่วมมือ ต้องผลักดันกฎหมายบังคับใช้ ทั้งปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 ลดการเจ็บป่วย มีกฎหมายค่ามาตรฐานปลดปล่อย PM  2.5 จากปลายปล่องโรงงานและรถยนต์ เร่งทำทำเนียบการปล่อย PM 2.5 หากเกินค่ามาตรฐานจะสามารถจัดการได้ถูกจุด ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดันกฎหมาย ออกแบบอนาคตของประเทศ 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ จากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ปริมณฑล พร้อมมอบหน้ากากอนามัยและแผ่นพับให้กับ 5 จังหวัดปริมณฑล ทั้งสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานีว่า ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่สัญญาณอันตรายของฝุ่นขนาดเล็กนี้เกิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หรืออาจจะมาก่อนหน้านั้นก็เป็นได้ เพราะไทยเพิ่งเริ่มมีการวัดค่า PM 2.5 ได้ไม่นาน ดังนั้นควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือแม้แต่ออกกำลังกาย ส่วนพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมการวิ่ง ขอให้ผู้จัดพิจารณางดจัดไปก่อนในช่วงนี้ 
    จากนั้น ปลัด สธ.ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานในสังกัดเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ทั้งนี้ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ได้รับผลกระทบติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทำงานเชิงรุกออกให้คำแนะนำวิธีการป้องกันตนเอง ผ่านสื่อทุกช่องทาง กรณีปริมาณฝุ่นสูงขึ้นจนถึงค่าวิกฤติ จำเป็นต้องนำ พ.ร.บ.สาธารณสุขมาใช้ จะอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการประกาศหยุดเรียน การงดกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้งให้อยู่ในดุลยพินิจของพื้นที่
    ขณะที่นายพิชญา นาควัชระ รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า จากสถิติผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1-22 ม.ค. ที่ผ่านมา พบมีตัวเลขของผู้ป่วยอยู่ที่จำนวน 9,980 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.ของปี 2561 ที่มีจำนวน 6,445 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.85 
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5  ว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ในช่วงบ่ายในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล อากาศนิ่ง ลมพัดอ่อน ไม่มีฝนตก ประกอบกับมีการจราจรหนาแน่น ส่งผลให้สถานการณ์ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเวลา 15.00 น. ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยบริเวณพื้นที่ริมถนน มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 22 สถานี/พื้นที่ทั่วไป มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 15 สถานี/คาดการณ์ในวันที่ 26 ม.ค. จากการพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ‘ลมพัดแรงขึ้น’ ส่งผลทำให้ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีโอกาสเจือจางลงได้บ้าง.
              


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"