คงยากที่จะปรองดอง


เพิ่มเพื่อน    

    บัดนี้พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งได้ประกาศออกมาแล้ว และมีการกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม กำหนดวันรับสมัครแล้ว กำหนดวันประกาศชื่อผู้สมัครแล้ว ประกาศวันเลือกตั้งนอกอาณาจักรแล้ว ประกาศวันเลือกตั้งนอกพื้นที่แล้ว ก็หวังว่าจะไม่มีใครออกมาป่วนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งให้เร็วกว่านี้อีกแล้วนะ เพราะทุกอย่างก็มีความชัดเจนหมดแล้ว เรารอกันมาได้ตั้งหลายปี เลื่อนออกไปอีกแค่เดือนเดียวก็คงจะไม่เป็นไร อย่ามองว่าการเลือกตั้งคือทางออกทางเดียวของประเทศที่จะต้องเร่งรัดให้เกิดขึ้น จนไม่ดูสถานการณ์และไม่พิจารณาบริบทของประเทศ คำถามที่ชวนคิดก็คือ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งภายในประเทศจะหมดไปหรือไม่ คนในประเทศจะปรองดองกันได้หรือไม่ จะยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนในประเทศ เป็นฝ่ายเผด็จการและฝ่ายประชาธิปไตยอีกหรือไม่

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทาง คสช.มีความคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศ เพราะมีหลายฝ่ายที่ไม่พอใจที่ทหารทำรัฐประหาร และเข้ามาบริหารประเทศในรูปแบบที่พวกเขานิยามว่าเป็น “เผด็จการ” และไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ในขณะเดียวกับที่มีฝ่ายที่พอใจที่การทำรัฐประหารครั้งนี้สามารถกำจัดรัฐบาลที่พวกเขามองว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศต่อไป ดังนั้นตลอดเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางความคิดยังมีปรากฏให้เห็นและความปรองดองที่ คสช.ปรารถนาให้เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างเชื่อในมุมมองและทัศนะของตน ความขัดแย้งทางความคิดก็ยังคงมีอยู่ มีทั้งความขัดแย้งที่สุภาพ ถกเถียงกันด้วยเหตุผล และการด่าทอต่อว่ากันด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ถกเถียงกันด้วยอารมณ์และโจมตีที่ตัวบุคคล ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ คสช.มีความหวังว่า หากมีการเลือกตั้งที่เป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจตามแนวทางของประชาธิปไตยเกิดขึ้น ความขัดแย้งน่าจะหมดไป และความปรองดองก็จะเกิดขึ้น แต่ ณ เวลานี้สิ่งที่ คสช.ต้องการให้เกิดขึ้นน่าจะเกิดได้ยาก
    ทันทีที่มีการปลดล็อกการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ก็จะมีนักการเมืองหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง บางรายก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล คสช. ด้วยเหตุผลและสภาพ แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างถูกบ้าง ผิดบ้าง ฟ้งได้บ้าง ฟังไม่ได้บ้าง ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอะไรมากนัก อาจจะทำให้รัฐมนตรีบางคนไม่พอใจบ้าง แต่ก็ไม่มีการตอบโต้ที่รุนแรง หากจะมีข้อความที่รุนแรงบ้างก็จะมาจากประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช.มากกว่าที่จะมาจากรัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยตรง
    อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยเหตุผลอย่างสุภาพนั้น ก็จะมีนักการเมืองบางคนที่ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองน้ำเน่า จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช.ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย แล้วยังมีการด่าทอต่อว่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่แข่งอีกด้วย การออกมาพูดจาของนักการเมืองกลุ่มนี้น่าจะนำไปสู่ความแตกแยกมากกว่าที่จะนำไปสู่การปรองดอง เพราะการสื่อสารของเขานั้น หลายครั้งจะมีลักษณะที่เป็นกระบวนการความขัดแย้ง ดังนี้
·    เป็นการโจมตีทั้งผลงานและตัวบุคคลที่จะทำให้คนถูกวิพากษ์วิจารณ์เกิดความรู้สึกไม่พอใจ โกรธเคือง
·    เป็นการโจมตีนักการเมืองที่ย้ายออกจากพรรคเดิมไปอยู่พรรคอื่นว่าเป็นคนไม่ดี จนก่อให้เกิดการตอบโต้ที่รุนแรง
·    เป็นการแฉซึ่งกันและกันว่าในอดีตทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามกับประเทศชาติอย่างไร ในลักษณะของการสาวไส้ให้การกิน ทำให้ประชาชนที่รับรู้ชิงชังรังเกียจนักการเมืองมากขึ้นจนไม่อยากเลือกตั้ง และคนที่ถูกแฉกับคนที่แฉนั้นก็ไม่อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป
·    เป็นการปั้นน้ำให้เป็นตัวหลายเรื่อง นั่นคือ เป็นการสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาเป็นวาทกรรมเพื่อหาคะแนนเสียงจากประชาชน ทำให้บุคคลที่อยู่ในเรื่องโกหกเหล่านั้นไม่พอใจ
·    เป็นการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย มีการตั้งสมญานามในเชิงลบให้กับคนนั้นคนนี้ ทำให้คนที่ถูกเรียกชื่อด้วยสมญานามเชิงลบเกิดความไม่พอใจและโกรธเคือง
·    ที่สำคัญที่สุดก็คือ การมีวาทกรรมแยกคนในประเทศออกเป็นสองกลุ่มตามความนิยมพรรคการเมือง ว่าเป็นกลุ่มรักประชาธิปไตยและกลุ่มนิยมเผด็จการ แบ่งแยกแบบนี้คงปรองดองกันยากนะ
นอกเหนือจากความก้าวร้าวทางวาจา (Verbal aggression) แล้ว ในบางพื้นที่ยังมีความก้าวร้าวทางกาย (Physical aggression) ด้วย เช่น มีการออกมาขับไล่ มีการสาดน้ำใส่พรรคการเมืองอื่น และเป็นที่น่าสังเกตว่าความก้าวร้าวทางวาจาและทางกายที่ว่านี้จะมาจากกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับฝ่ายที่ก้าวร้าวนั้นจะเดินทางไปหาเสียงที่ใดก็ได้ ไปได้ทุกที่ทุกจังหวัด ไม่มีใครมาด่าทอต่อว่า หรือขับไล่ แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในพรรคการเมืองกลุ่มดังกล่าวจะไปได้โดยปลอดภัยเพียงบางพื้นที่ แต่สำหรับบางที่จะต้องเผชิญกับความก้าวร้าวทั้งทางวาจาและทางการเมือง เป็นเช่นนี้แล้วเราจะหวังให้การเลือกตั้งเป็นที่มาของความปรองดองของคนในประเทศได้อย่างไร
    ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปการเมือง โดยนักการเมืองทั้งหลายต้องเดินออกมาให้พ้นจากการเมืองน้ำเน่า เลิกด่าทอต่อว่ากัน เลิกโกหก เลิกกล่าวหาด้วยข้อความที่เป็นเท็จ แต่ควรจะให้ความสำคัญกับการนำเสนอนโยบายว่าพรรคของตนเมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วต้องการที่จะทำอะไรให้กับประเทศชาติและประชาชน บอกเล่าสิ่งที่ตนเองต้องการจะทำก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้วาจาไม่สุภาพวิพากษ์วิจารณ์ผลงานหรือนโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ จะได้ไม่มีเหตุให้โกรธเคืองชิงชังกัน พูดเรื่องของเรา เรื่องไม่ดีของเขาไม่ต้องพูดจะดีกว่าไหมคะ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"