บิ๊กตู่รีบตัดสินใจปิดช่องตีกิน สร้างความเกลียดชังการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

          วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 คือวันเลือกตั้ง สิ้นสุดการรอคอยสำหรับพรรคการเมือง นักการเมือง ที่เฝ้าเรียกหาให้มีการจัดการเลือกตั้งมานานร่วม 5 ปี เป็นอันว่านับแต่นาทีนี้เป็นต้นไป ปี่กลองการเลือกตั้งได้บรรเลงอย่างเป็นทางการไปจนถึง 24 ชม.ก่อนวันเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองจะต้องหยุดทำกิจกรรมการเมือง

                23 ม.ค. คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศวันเลือกตั้ง วันที่ 4-8 ก.พ. วันรับสมัคร ส.ส.เขต 11-15 ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต วันที่ 4-16 มี.ค. เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 17 มี.ค. วันเลือกตั้งล่วงหน้า 24 มี.ค. ส่วน 9 พ.ค. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

                ผลสำรวจจากโพลหลายสำนักมองไปในทิศทางเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ผู้คนตื่นตัวมากขึ้น เชื่อว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นการ โหมโรง คาดการณ์ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงกว่า 51 ล้านคน จะมาใช้สิทธิ์มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ส่วนจะตัดสินใจเลือกพรรคใดมาเป็นอันดับ 1 ถึงตรงนี้ยังไม่มีใครรู้

                แต่ไม่ว่าอย่างไร ในเรื่องการเตรียมความพร้อมพรรคการเมือง ทั้งเรื่องผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้สมัครระบบเขตเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบาย ความพร้อมด้านบุคลากรทีมปราศรัยหาเสียง ทีมจับตาการเลือกตั้ง ที่ต้องปรับตัวให้ทันตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายลูกพรรคการเมือง ที่ทุกพรรคอยู่ในเกณฑ์เท่ากัน มาเรียนรู้ มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปด้วยกัน แม้จะมีเสียงบ่นตามมาว่าปวดหัว อันเนื่องจากกฎระเบียบหยุมหยิมมากเกินไป 

                ช่วงนี้เห็นหลายพรรคขยับขับเคลื่อนอย่างน่าสนใจ หากไม่นับรวมการลงพื้นที่ถี่ยิบของหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค เดินสายทั้งใน กทม. ไปต่างจังหวัดช่วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กันเป็นข่าวรายวัน แย่งชิงพื้นที่กันแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์เรื่องผู้สมัคร หลายพรรคก็นัดประชุมกันแทบทุกวัน ไปพร้อมกับวางปฏิทินเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

                พรรคเพื่อไทยวันที่ 28 ม.ค. เชิญว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เข้าร่วมประชุม ทำความเข้าใจกฎระเบียบการเลือกตั้ง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เปิดตัวทีมเพื่อไทย

                พรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 28 ม.ค. ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค หารือขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่ยังไม่ลงตัว วันที่ 31 ม.ค. ปฐมนิเทศว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เกี่ยวกับกฎหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ

                พรรคไทยรักษาชาติ วันที่ 29 ม.ค. นัดหมายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มาประชุมทำความเข้าใจกฎกติกาใหม่เช่นกัน พรรคเพื่อชาติ วันที่ 1 ก.พ. เปิดนโยบายและผู้สมัครเช่นกัน พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มี กำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นกองเชียร์คนสำคัญ แม้จะยังอยู่ในช่วงเดินสายคารวะแผ่นดิน กำลังเร่งหาวันเชิญว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มาทำความเข้าใจ กฎระเบียบ กติกาใหม่ของการเลือกตั้ง ไปพร้อมกับเปิดมิติใหม่ การส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจะวางผู้สมัครเพศชายสลับเพศหญิง เปิดโอกาสสร้างความทัดเทียมทางการเมือง   

                ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่ดูเหมือนจะมีความพร้อมกว่าพรรคการเมืองอื่น ขยับไปอีกขั้น เปิดแนวคิดนโยบาย 7-7-7 แบ่งเป็น 7 สวัสดิการประชารัฐ 7 สังคมประชารัฐ 7 เศรษฐกิจประชารัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

                ตัวเลขจำนวน ส.ส.เขต จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากพรรคที่เป็นพันธมิตรรวมกันแล้ว จะได้เท่านั้นเท่านี้ ฝ่ายตัวเองจะชนะแน่ หลายพรรคการเมืองคาดการณ์ประกาศออกมาเป็นระยะๆ สร้างความมั่นใจ ความฮึกเหิมให้คนในพรรค พร้อมกับส่งสัญญาณข่มขวัญไปยังคู่ต่อสู้ ปรากฏข่าวออกมาเป็นระยะๆ ส่วนของจริง ใครจะสมราคาคุย ต้องรอปิดหีบเลือกตั้งได้รู้กัน 

                ในระหว่างนี้ไปตลอด 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง ไม่เพียงทุกพรรคเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว นักการเมือง พรรคการเมือง ต่างปรับตัวให้เข้ากับกฎกติกาใหม่ ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า นักการเมืองหลายคนขอปิดพื้นที่ทางเฟซบุ๊กชั่วคราว หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ส่อไปในทางใส่ร้าย ให้ร้าย คู่แข่งขันทางการเมือง ไม่สัญญาว่าจะให้ ไม่ทำนโยบายไปในเชิงประชานิยม ต่างอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ให้ ‘ถูกสอย ก่อนลงสนาม’

                แต่สำหรับวิวาทะการเมืองเชิงเหน็บแนม ประชดประชัน ยังเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปมประเด็นที่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ ล้วนเป็นขาประจำ เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย

                ไปพร้อมกับการส่งสัญญาณไล่บี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจจนเกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมือง

                แม้ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับเป็นนักการเมือง มีความสนใจการเมือง แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ และจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองใด แต่กับอีกหลายพรรคการเมือง สร้างข่าว ฟันธงล่วงหน้าไปแล้วว่า เอาใจเชียร์บางพรรค โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีและบิ๊กๆ ในรัฐบาลออกตัวสนับสนุน ประกาศตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องปิดบังตัวตน ให้ลาออกไปลงเล่นการเมือง

                นอกจากการคาดการณ์ พรรคนี้จะได้เสียงเท่านั้นเท่านี้ แต่ละพรรคยังจัดวางบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีเอาไว้ล่วงหน้า กางโผออกมามีทั้งพรรคที่จะส่งรายชื่อนายกรัฐมนตรีครบ 3 ชื่อ บางพรรคก็มีแค่ 2 บางพรรคเอาชัวร์เน้นๆ คนเดียวรู้เรื่องไปเลย อาทิ เพื่อไทย เก็งกันว่าบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีคงหนีไม่พ้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ วิโรจน์ เปาอินทร์ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้แกนนำคนในพรรคจะส่งสัญญาณมาเป็นระยะ ชื่อใดมีความเหมาะสม ล้วนมาจากการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการบริหารและอดีต ส.ส.ในพรรค แต่ขณะเดียวกันคงยากที่จะปฏิเสธ จากข้อเสนอแนะที่สำคัญจากคนแดนไกล ทักษิณ ชินวัตร ที่ก็อยากแก้มือ ทวงคืนอำนาจ ผ่านสนามเลือกตั้งอีกครั้ง 

                ประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชวน หลีกภัย ไทยรักษาชาติ ปรีชาพล พงษ์พานิชย์ จาตุรนต์ ฉายแสง

                พลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อุตตม สาวนายน เพื่อชาติ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล อนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เสรีรวมไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นต้น

                ชื่อ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเซียนการเมืองฟันธง ยังไงก็ต้องก้าวเข้ามาเล่นการเมือง และอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐแน่นอน ดังนั้นเพื่อความสง่างาม จึงยิ่งต้อง ไม่สร้างความได้เปรียบ-เสียเปรียบ ในการใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรค บางฝ่าย รวมทั้งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ถูกมองว่า จะใช้อำนาจหน้าที่สั่งการให้ข้าราชการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองเช่นกัน

                ไม่เท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว อีกสถานะยังเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังมีอำนาจเต็ม มาตรา 44 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เป็นสิ่งที่พรรคการเมือง นักการเมือง หวาดกลัว หากจะมีการงัดมาตรา 44 ขึ้นมาทำอะไรก็ได้ แถมยังเป็นการใช้อำนาจได้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้โดยชอบธรรม

                พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ตัดสินใจลงเล่นการเมืองในนามพรรคการเมืองใด กลายเป็นเป้าให้นักการเมืองล่อเป้าเป็นบุคคลที่กระสุนตกใส่

                การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หรือการตัดสินใจลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัว ในนามพรรคใดพรรคหนึ่ง ถึงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจตามเสียงเรียกร้องหรือไม่ ยังต้องติดตามกันไปอย่างใกล้ชิด

                 นับถอยหลังสู่วันเลือกตั้ง ผู้เล่นทุกพรรคพร้อมลงสนาม พล.อ.ประยุทธ์ถูกจับตาในเส้นทางการเมือง จะลงหรือไม่ลงสนามการเมือง ยังไม่แน่ชัด

                 แต่ยิ่งปล่อยนานไป เท่ากับเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามตีกินทางการเมือง สร้างวาทกรรมสนุกปากรายวัน ภาพลักษณ์ ความศรัทธา คะแนนนิยม มีแต่จะลดลง เพียงเพราะไม่ทำให้มันชัดเจน!!!.

 

                                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"