วางระบบน้ำอุตสาหกรรม บริหารจัดการครบวงจรรับอีอีซีขยายตัว


เพิ่มเพื่อน    

"สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมระยะยาว 30 ปี ซึ่งนอกจากจะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของอมตะฯ ในการให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  ระยองแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับภาคการผลิตด้วย จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในระยะยาว"

 

 

การพัฒนาประเทศเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงนั้น ปัจจัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ย่อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกภาคส่วน ทั้งครัวเรือน ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม 

ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการผลิต เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้แผนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ ซึ่งแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีแผนการขยายกำลังการผลิต เพื่อผลิตวัตถุดิบพื้นฐานป้อนสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง และอุตสาหกรรมด้านบริการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำของประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตามแนวทางการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ในแผนการบริหารจัดการน้ำและโครงสร้างพื้นฐานภาคตะวันออก วางกรอบการพัฒนาเป็น 3  ระยะ โดย แผนระยะสั้น (พ.ศ.2559-2560) เป็นการเร่งรัดโครงการด้านโครงสร้าง เช่น ก่อสร้างระบบคมนาคมเชื่อมโยงการขนส่งระบบราง ถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ปรับปรุงระบบส่งและสถานีไฟฟ้า  เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างระบบผันน้ำ ปรับปรุงขยายระบบประปา ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ การจัดการขยะ เพิ่มศักยภาพการให้บริการสาธารณสุข

  แผนระยะกลาง (พ.ศ.2561-2563) เป็นการพัฒนาโครงสร้างเพิ่มเติมของระยะแรก และขยายขีดความสามารถในการรองรับการพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมการพัฒนาระบบคมนาคมทางอากาศ ทางบกและทางน้ำ ระบบท่อส่งน้ำ/ผันน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และวางผังเมืองรวมชุมชน โดยมีรูปแบบการลงทุนทั้งภาครัฐและให้เอกชนร่วมลงทุน

 และ แผนระยะยาว (พ.ศ.2564 เป็นต้นไป) เป็นการสร้างเสถียรภาพของพื้นที่เศรษฐกิจในระยะยาว ครอบคลุมการคมนาคมทุกประเภท และ ระบบน้ำเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งระบบไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ในขณะที่ภาคเอกชน ในด้านของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก มีผู้พัฒนานิคมขนาดใหญ่หลายรายต่างให้ความสำคัญในการวางระบบและทุ่มงบประมาณ เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมให้เพียงพอ ประกอบกับการบริหารจัดน้ำด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ลดการสูญเสียน้ำในระบบมากที่สุด รวมถึงไปถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งเหมือนเช่นในอดีต

 

บริหารจัดการน้ำรองรับลงทุน

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทได้มองเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งสำรองน้ำ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการนำน้ำเข้าสู่ระบบการบำบัดเพื่อป้อนกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด หรือที่เรียกว่าระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Recycle Plant) ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในกระบวนการผลิต  ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้

 ขณะเดียวกัน อมตะฯ ยังได้มีแผนจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อความพร้อมในการรองรับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ภายใต้การบริหารงานของบริษัทลูก โดยบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้ร่วมลงนาม กับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ในสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมแก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการน้ำอุตสาหกรรมให้กลุ่มผู้ประกอบการในนิคมฯ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนโรงงานตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก  อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยาง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

"สัญญาดังกล่าวเป็นการซื้อขายน้ำอุตสาหกรรม ระยะยาว 30 ปี  ซึ่งนอกจากจะมีส่วนในการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถของอมตะฯ ในการให้บริการลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยองแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับภาคการผลิตด้วย จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าในระยะยาว" นายวิบูลย์กล่าว

นายวิบูลย์กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง มีผู้ประกอบการโรงงานเปิดดำเนินการแล้วกว่า 300 โรงงาน มีความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 65,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากแผนงานการพัฒนาและขายที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ที่ยังคงมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ซึ่งอมตะฯ ประเมินว่าในปี 2563 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มเป็น 80,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับการเติบโตดังกล่าว อีสท์วอเตอร์จะดำเนินการจัดส่งน้ำเพิ่มเติมให้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในปริมาณวันละ 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการลูกค้าภายในนิคมฯ

โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว "อีสท์วอเตอร์" จะเริ่มดำเนินการวางท่อและระบบส่งน้ำเข้าสู่บ่อกักเก็บน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ในต้นปี 2562 และเริ่มจ่ายน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  ระยอง ได้ภายในเดือนพฤษภาคมปี 2563 ด้วยระบบผลิตน้ำแบบศูนย์รวมที่มีกำลังการผลิตรวมถึง  100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ระบบการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมของอีสท์วอเตอร์ เป็นการบริหารจัดการน้ำที่มุ่งตอบสนองความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในทุกรูปแบบ การให้บริการวางระบบน้ำอุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้การทำสัญญาซื้อขายน้ำกับอีสท์วอเตอร์ในครั้งนี้ยังช่วย  "ลดต้นทุน" ด้านการก่อสร้างบ่อกักเก็บน้ำดิบ และระบบการผลิตน้ำอุตสาหกรรมให้แก่อมตะฯ อีกด้วย

 "ระบบของอีสท์วอเตอร์เป็นระบบผลิตน้ำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำภายในอมตะซิตี้ ระยอง มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตการลงทุนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาลได้ นายวิบูลย์กล่าว

สำหรับความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นการนำเอาศักยภาพของทั้งสองฝ่ายทั้งในด้านการบริหารจัดการน้ำ และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในการวางระบบการจัดการน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำที่เน้นตอบสนองความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในทุกรูปแบบ ที่เป็นจุดแข็งของอีสท์วอเตอร์ และจากความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง  รวมถึงการขยายพื้นที่นิคมฯ เพื่อรองรับลูกค้ารายใหม่ ทำให้อีสท์วอเตอร์มีแผนขยายกำลังการผลิตน้ำในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน

โดยเน้นการให้บริการวางระบบน้ำอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยเทคโนโลยีใหม่ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพในการลงทุน

ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ การดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างกลไกใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาน้ำต้นทุนและน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการลงทุนเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลน้ำ ระบบรีเวิร์ส ออสโมซิส หรือ อาร์โอ (Reverse Osmosis System : RO) ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำต้นทุนหรือลดปริมาณน้ำที่สำรองไว้

      อีสท์วอเตอร์พร้อมสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม ตามนโยบาย EEC ด้วยความพร้อมของโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบ ครอบคลุมแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ EEC ไว้ทั้งหมด และเดินหน้ารุกธุรกิจน้ำครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้บริการลูกค้าตามความต้องการอย่างมืออาชีพ มั่นใจได้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้  จังหวัดระยองได้เป็นอย่างดี" นายจิรายุทธ กล่าว

 

5 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซีคืบ

อย่างไรก็ตาม ในด้านความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการใหญ่นั้น ขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอ คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท  เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ โดยอัยการจะตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จและเสนอ กพอ.อนุมัติผลการคัดเลือกภายในเดือน ก.พ. ก่อนนำเสนอ ครม.

      โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบคำถามผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือก และจะประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.พ.62 โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 ก.พ.62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในกลางเดือน เม.ย.62

        โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เนื่องจากมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ประกอบกับไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติ ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้ว มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค.62 โดยนำความคิดเห็นภาคเอกชนมาปรับปรุงเอกสารคัดเลือกให้เป็น International Bidding มากขึ้น จากนั้นให้ประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนใหม่ในวันที่ 24 ม.ค.62 ขายเอกสารคัดเลือกเอกชนฉบับแก้ไข 28  ม.ค. - 1 ก.พ.62 โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอใหม่วันที่ 29 มี.ค.62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน เม.ย.62

      โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในวันที่ 6 ก.พ.62 จะประกาศผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน มี.ค.62 และ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างให้เอกชนส่งคำถามผ่านอีเมลถึงวันที่ 4 ก.พ.62 และเปิดให้ตรวจสอบข้อมูลโครงการถึงวันที่ 1 ก.พ.62 หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอจากบริษัท Airbus S.A.S. ในวันที่ 18 ก.พ.62 และประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.62

 

ฟุ้งขอบีโอไอพุ่งกว่า 6 แสนล้านบาท

      นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีถึง 422 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 683,910 ล้านบาท เป็นคำขอลงทุนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมากที่สุด จำนวน 193 โครงการ เงินลงทุนรวม 576,910 ล้านบาท ตามด้วยจังหวัดระยอง 156 โครงการ เงินลงทุนรวม 58,700 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 73 โครงการ เงินลงทุนรวม 48,300 ล้านบาท

      นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สำหรับปี 2562 บีโอไอจะเดินหน้ามุ่งเน้นชักจูงส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ

      สำหรับแผนชักจูงการลงทุนของระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2562 ประกอบด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป โดยจะใช้กลยุทธ์เจาะลึกให้รายละเอียดและข้อมูลเป็นรายบริษัท เพื่อสร้างความเข้าใจในนโยบายส่งเสริมการลงทุนแบบเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน.

                                    บุญช่วย ค้ายาดี รายงาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"