วอนปชช.ร่วมแก้ฝุ่น/ทส.ชง5มาตรการ


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ออกแถลงการณ์ "สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5" ยังไม่คลี่คลาย ขอ ปชช.งดหรือใช้รถดีเซลวิ่งเข้าเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเท่าที่จำเป็น  ปัดเพิ่มยาแรงแก้ฝุ่นพิษ แค่พูดให้ทุกคนช่วยกัน ย้ำทุกมาตรการต้องรอบคอบ "ปลัด ทส." เตรียมชง 5 แผนเร่งด่วนแก้ปัญหา เสนอ "บิ๊กป้อม" 4 ก.พ. ให้ภาครัฐทำงานที่บ้าน "กทม." ส่งโดรนบินพ่นละอองน้ำทั่วกรุงวันที่สอง "คพ." เผยปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มลดลง "อัยการ" แนะติดดาบผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการฝุ่นแบบเด็ดขาด

    เมื่อวันที่ 1 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกแถลงการณ์เรื่อง “สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน” ว่าตามที่เกิดสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด รวมถึงจังหวัดสมุทรสงครามด้วย และปัญหาดังกล่าวเริ่ม มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลได้แก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเข้มงวดตรวจจับรถควันดำ การควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง การเร่งคืนพื้นผิวจราจร การควบคุมการเผาในที่โล่ง การตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ และการล้าง ทำความสะอาดถนน
    "สถานการณ์ของฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ยังไม่คลี่คลายลง เนื่องจากปริมาณการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลมีจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีการถ่ายเทของอากาศ จึงทำให้ PM 2.5 อยู่ในอากาศปกคลุมเหนือพื้นที่ดังกล่าว แม้จะมีการตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มข้น รวมทั้งไม่พบการปล่อยมลพิษจากโรงงานเกินกำหนดแต่อย่างใด ดังนั้น รัฐบาลจึงขอความร่วมมือประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเครื่องยนต์ดีเซลเดินทางเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเท่าที่จำเป็น หรืองดใช้ระยะหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์เป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมากที่สุด"
    ท้ายแถลงการณ์ระบุว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น จะต้องมีการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงกัน ทุกระบบ ทั้งระบบล้อ ราง และเรือ การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับปรุงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ เพิ่มสถานีบริการน้ำมันที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และรณรงค์ให้ประชาชนใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมและผลักดันการใช้รถยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 อาทิ รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น 
    "รัฐบาลต้องขออภัยสำหรับความไม่สะดวกของพี่น้องประชาชนมา ณ โอกาสนี้ และขอขอบคุณภาคส่วน ที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดียิ่ง" แถลงการณ์ระบุ
    พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า จากสาเหตุดังกล่าว เราจะแก้ด้วยมาตรการที่เข้มข้นอะไรบ้าง ไม่ใช่หมายความว่าตนพูดแล้วไม่ทำ ไม่พูดก็ไม่ได้ แต่ตนพูดให้ระวัง ถ้าแก้ไม่ได้ต้องเดินไปสู่ระยะที่สอง
    “ไม่ได้ขู่ เขียนให้เข้าใจกันบ้าง บางคนบอกพูดทำไม พูดแล้วไม่ทำ แต่ผมพูดว่าทำแล้วจะเดือดร้อนใคร หากห้ามใช้รถสัญจรทุกชนิด ย่อมส่งผลกระทบต่อการคมนาคม ถ้ารถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรจะกิน เพราะเขาต้องขนส่งสินค้าผ่านกรุงเทพฯ ให้มันพอดี เข้าใจบ้าง อย่าทำเพราะความสะใจ ไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ชง 5 แผนด่วนแก้ PM 2.5
    นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลต้องคิดอย่างรอบคอบ รัฐบาลขอความร่วมมือ ไม่ได้โทษประชาชน บางสื่อตัดประโยคมา คนก็เกลียดตน แล้วจะร่วมมือกันได้อย่างไร รัฐบาลรู้หมดจะแก้ตรงไหน แต่ต้องทำไม่ให้เดือดร้อน ไม่มีสวดมนต์ ต้องทำให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนมีความสุขปลอดภัย
    ช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงถึงเรื่องฝุ่นละอองอีกครั้งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อปัญหา นับตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงวันนี้ มาตรการที่ใช้ เราก็จำเป็นต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก หาสาเหตุให้เจอ เนื่องจากเราไม่ต้องการใช้มาตรการที่จะไปส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตโดยปกติของพี่น้องประชาชน จนสร้างความตื่นตระหนก ต้องช่วยกันลดความตื่นตระหนกลงให้ได้
    "สังคมของเราเริ่มตระหนักและเรียนรู้กับปัญหาร่วมกันแล้ว ลำดับต่อๆ ไป รัฐบาลก็จะมีมาตรการต่างๆ ออกมา ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่หวังเพียงรักษาภาพลักษณ์ แต่ต้องการแก้ปัญหาด้วยความจริงใจจริงจัง ก็ขอความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันให้ได้อย่างยั่งยืน อย่ามาคอยจับผิดจับถูกกันเลย ทุกๆ คนต้องช่วยกันนะครับ" นายกฯ กล่าว
    ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จากยานพาหนะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษา 
    นายวิจารย์กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา PM 2.5 จากยานพาหนะ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.มาตรการห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก 2.มาตรการเร่งรัดให้นำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำกว่า 10 ppm (เทียบเท่า EURO 5) มาจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.ให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้านและขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นเดียวกัน 4.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี และ 5.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์และการบังคับใช้คำสั่งห้ามใช้
    ปลัด ทส.กล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาว ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (เทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5) 2.ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6 3.ปรับปรุงค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ WHO Interim target-3 4.เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ 5.ปรับปรุงวิธีการและระยะเวลาการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี 6.ควบคุมการนำเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์ และ 7.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF) ในรถยนต์ใช้งาน 
    "มาตรการทั้งหมดนี้ จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 (นัดพิเศษ) ในวันที่ 4 ก.พ. เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ปลัด ทส.กล่าว
รัฐ-เอกชนลุยลดฝุ่นพิษ
    ขณะที่ปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นละอองต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 มีการนำโดรนบินขึ้นฉีดพ่นละอองน้ำ 5 จุด ตั้งแต่เวลา 08.00 น. หน้าตึกธานีนพรัตน์ กทม. 2 เขตดินแดง พร้อมเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล (LUF 60) 1 เครื่อง รถบรรทุกน้ำดับเพลิงขนาด 10,000 ลิตร 3 คัน จากนั้นเวลา 10.00 น. มาที่สวนสันติภาพ เขตดินแดง เวลา 12.00 น. ย้ายมาตรงสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนสวนพลู เขตสาทร  เวลา 14.00 น. ไปที่วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี และเวลา 16.00 น. ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.1 สะพานพุทธ เขตพระนคร 
    นอกจากนี้ ในเวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการฉีดพ่นน้ำบนตึกสูงที่ชั้นดาดฟ้า อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และบริเวณชั้น 37 อาคารธานีนพรัตน์ กทม. 2 เขตดินแดง
    นายไทวุฒิ ขันเเก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า กทม.ร่วมกับ ปภ.ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณชั้นบนของอาคารกรุงเทพมหานคร 1 และ 2 โดยดำเนินการฉีดพ่นน้ำมาแล้ว 3 วัน ในทุกๆ ชั่วโมงตลอดทั้งวัน ครั้งละ 15 นาที ใช้น้ำประมาณ 1,000-1,500 ลิตรต่อนาที ระยะความไกลที่น้ำพ่นไปถึงคือประมาณ 50-100 เมตร ซึ่งจะฉีดพ่นน้ำต่อเนื่อง โดยจะประเมินสถานการณ์วันต่อวัน ซึ่งวันนี้ถือว่าสถานการณ์ฝุ่นดีกว่า 2 วันที่ผ่านมา
    ส่วนนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ผลการตรวจสภาพอากาศวันนี้ที่สถานีตรวจอากาศสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบความชื้นสัมพัทธ์ในระดับการก่อเมฆอยู่ที่ร้อยละ 60 อยู่ในเกณฑ์ที่จะปฏิบัติการขั้นก่อกวนหรือทำให้เมฆก่อตัว ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศอยู่ที่ -2.1 ซึ่งเป็นระดับที่มีประสิทธิภาพในการที่เมฆจะพัฒนาตัวตามแนวตั้ง หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการโปรยสารฝนหลวงจากทิศเหนือของอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแนวเส้นตรงไปถึงอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก หากเมฆพัฒนาตัวดีตกเป็นฝนสู่พื้นที่เป้าหมาย คือ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และสมุทรปราการ จะช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก
    "แต่เนื่องจากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศระดับการพัฒนาตัวของเมฆลดลงเหลือร้อยละ 38 จึงตั้งเป้าหมายว่าให้ก่อเมฆได้มากที่สุด เพื่อให้เม็ดน้ำในก้อนเมฆมาเกาะฝุ่นละอองที่ฟุ้งอยู่ในบรรยากาศ โดยผลจากเรดาร์ตรวจอากาศเย็นวานนี้พบว่า หลังจากปฏิบัติการก่อเมฆแล้ว กระแสลมพัดพาเข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว ปริมาณฝุ่นละอองที่ตรวจวัดได้ในพื้นที่ที่มีเมฆมากนั้น ลดลงจากในช่วงเช้า" อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ระบุ
    วันเดียวกัน นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และตัวแทนจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 15 จังหวัด เพื่อหามาตรการช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง
    นายสุรพลกล่าว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการร่วมลดปริมาณการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 5% จากปริมาณฝุ่นทั้งหมด โดยช่วงตรุษจีนระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.นี้ โรงงานประมาณ 1,300-1,500 โรง จาก 2,599 โรง ใน 15 จังหวัด ประกอบด้วย ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น ราชบุรี สระบุรี สงขลา นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จะแสดงความร่วมมือหยุดโรงงาน หรือลดการผลิตลง คิดเป็นสัดส่วน 20-50% คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยฝุ่นลงได้ถึง 50% 
อัยการชงติดดาบผู้ว่าฯ
    ด้าน น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้กำหนด 4 มาตรการ เพื่อเป็นแนวทางให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมนำไปปฏิบัติ ช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น 4 มาตรการ คือ 1.การจัดการในกระบวนการผลิต 2.ด้านก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการก่อสร้างสถานประกอบการจะต้องฉีดพรมน้ำในพื้นที่ 3.ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ต่างๆ เพื่อลดควันเสียและฝุ่นละอองที่ระบายออกมา และ 4.ด้านการกำจัดขยะ ห้ามเผาทำลายขยะในบริเวณโล่งแจ้ง
    ส่วน พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. ประชุมกำหนดมาตรการเชิงรุกลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 
    พล.ต.ท.สุทธิพงษ์กล่าวว่า มีแนวคิดเสนอให้ลดเกณฑ์ในการตรวจวัดควันดำจากเดิมรถที่มีความผิดจะต้องดำเกินกว่าร้อยละ 45 ให้เหลือร้อยละ 30 โดยมีการเสนอแนะนำมาบังคับใช้ ซึ่งจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมการขนส่งทางบก เนื่องจากเกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน 
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มลดลงในหลายพื้นที่ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินมาตรการในการบรรเทาสถานการณ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น การประกาศปิดโรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การจราจรคล่องตัวและลดแหล่งกำเนิดมลพิษ การตรวจจับควันดำอย่างเข้มข้นโดยความร่วมมือของ บก.จร. กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองลดลง
    ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นข้อกฎหมายกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ระบุเรื่อง "มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาวะวิกฤติ จะเลือกใช้ยาสามัญประจำบ้านหรือยาขนานพิเศษ"
    ดร.ธนกฤตกล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในขณะนี้ แม้หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างก็ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปตามอำนาจหน้าที่ของตน ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาและการบังคับใช้กฎหมาย 
    "ดังนั้นน่าจะพิจารณาหากลไกที่เป็นมาตรการกฎหมายอื่นมาใช้เสริมในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อวิกฤติความรุนแรงของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากด้วย ซึ่งหากพิจารณาเหตุการณ์เมื่อครั้งทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง  13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น ได้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ" ดร.ธนกฤตกล่าว
      อัยการจังหวัดประจำสำนักงาน อสส.กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 4 ถือว่าปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานเป็นสาธารณภัย โดยเป็นภัยอันมีผลกระทบต่อสาธารณชนซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน และกระทบกับชีวิตผู้คนจำนวนมากในหลายจังหวัด ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในการออกคำสั่ง สั่งการ และกำหนดแผนการและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นได้อย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ
    "การใช้อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่ประสบปัญหา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงน่าจะเป็นกลไกและมาตรการทางกฎหมายที่ควรนำมาใช้เสริมกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้บังคับอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น และลดขั้นตอนในการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนเป็นยาขนานพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาโรคที่อยู่ในขั้นวิกฤติ มีภาวะรุนแรง และต้องรีบรักษาโดยเร่งด่วน หากปล่อยไว้จะยิ่งเป็นอันตราย" อัยการจังหวัดประจำสำนักงาน อสส.กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"