พิพิธภัณฑ์ขุนเขาเสียดฟ้า


เพิ่มเพื่อน    

จามรี เพื่อนร่วมทางของนักไต่เขาทั้งหลาย และยอดเขามานาสลูจำลอง ตั้งอยู่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติ เมืองโปขรา ประเทศเนปาล

ระหว่างป้อมยามและรั้วกำแพงหินคือประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติ (International Mountain Museum) ด้านซ้ายมือเป็นลานจอดรถ หลังลานจอดรถคือ Maurice Herzog Climbing Wall สามารถลองปีนได้ ห้องขายตั๋วและฝากกระเป๋าอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้า สร้างขึ้นเป็นเรือนชาวเขาหลังเล็กๆ

ผมเดินเข้าไปซื้อตั๋วราคา 500 รูปี หรือประมาณ 150 บาท ขอโบรชัวร์เจ้าหน้าที่มาด้วย ซึ่งหากไม่ขอก็คงไม่ให้ เพราะผู้หญิงฝรั่งคนที่ซื้อตั๋วหลังผมไม่ได้รับ แต่เธอเห็นผมถือโบรชัวร์ในมือจึงเอ่ยปากขอบ้าง

ทางเดินถนนลาดยางนำไปยังตัวอาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ห่างออกไปราว 300 เมตร ก่อนถึงตัวอาคารมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญ 3 คนผู้เป็นกลจักรให้เกิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น ถัดไปคืออนุสรณ์รำลึกนักปีนเขาผู้เสียชีวิตทั้งหลาย

หลังคาของอาคารพิพิธภัณฑ์ออกแบบให้มีลักษณะแหลมๆ สูงๆ ต่ำๆ ล้อกับรูปร่างเทือกเขาหิมาลัย ด้านหน้ามีรูปปั้นจามรี สัตว์ที่นำข้าวของสัมภาระของนักปีนเขาขึ้นสู่ที่สูง ห่างออกไปไม่ไกลคือยอดเขามานาสลูจำลอง (Mt.Manaslu) ความสูง 31 ฟุต ผู้เข้าชมนิยมปีนเล่นและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก หน่วยงานความร่วมมือจากญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างขึ้นเนื่องจากทีมนักปีนเขาชาวญี่ปุ่นเป็นคนกลุ่มแรกที่พิชิตยอดเขาความสูง 8,163เมตรนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นยอดเขาสูงอันดับ 8 ของโลก

Living Museum ตั้งแยกออกมาจากตัวอาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติ

ผมยังไม่เข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์ เพราะเหลือบไปเห็นป้ายชี้ไปยังร้านอาหารชื่อ Gorkha Village Restaurant & Bar ร้านอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร วันนี้ยังไม่ได้กินมื้อเที่ยงจึงเดินไปฝากท้อง แต่ในเมนูไม่เห็นมีอาหารจากเผ่ากุรข่า (เขียน Gorkha หรือ Gurkha) สั่งฟิงเกอร์ชิป 1 จาน เสิร์ฟมาคล้ายๆ เฟรนช์ฟรายด์ ส่วนกาแฟสดหมดเกลี้ยง เหลือแต่กาแฟสำเร็จรูปก็ต้องดื่ม ราคารวม 180 รูปี ทิปพนักงานหนุ่ม20 รูปี

ด้านหลังของตัวร้านอาหารเป็น Living Museum หรือพิพิธภัณฑ์การอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขาสูง มีบ้านที่สร้างขึ้นเสมือนจริงตามลักษณะของชนเผ่า ภายในมีข้าวของเครื่องใช้แต่ไม่มีคนอาศัยอยู่ตามที่ระบุไว้ในโบรชัวร์ เมื่อเดินไปยังร้านขายของที่ระลึกที่อยู่ใกล้ๆ กันก็พบว่าพวกเขาย้ายมาอยู่กันในนี้ ผมก็เลยเดินกลับไปยังตัวอาคารพิพิธภัณฑ์

ขึ้นบันไดไปยังประตูทางเข้าซึ่งเป็นชั้น 2 ของอาคาร ต้องเดินลงไปยังชั้น 1 ตามลูกศร ในห้องภาพยนตร์กำลังฉายสารคดี เจ้าหน้าที่บอกให้รีบเข้าไปเพราะกำลังเริ่มฉายรอบนี้ ถือเป็นโชคดีที่ได้ดูตั้งแต่ตอนขึ้นอักษรหัวเรื่อง ตามด้วยเรื่องราวของการบุกเบิกปีนเทือกเขาหิมาลัย การดำรงชีวิตของแต่ละกลุ่มเชื้อชาติ การแสดงและการละเล่นต่างๆ ใช้เวลา 20 นาทีสารคดีก็จบลง เป็นเหมือนคำแนะนำเบื้องต้นในการชมนิทรรศการและบรรดาสิ่งแสดงที่อยู่ภายนอก

เครื่องใช้ไม้สอยของบางชาติพันธุ์ในเนปาล

เมื่อออกจากห้องฉายภาพยนตร์ก็พบกับนิทรรศการคนและภูเขาจากไต้หวัน, ญี่ปุ่น และสโลวีเนีย ซึ่งสโลวีเนียเป็นตัวแทนของประเทศที่เทือกเขาแอลป์พาดผ่าน ตามด้วยกลุ่มเชื้อชาติที่โดดเด่นในเนปาล เช่น เชอร์ปา, กุรุง, ทามัง, ทาคาลี, มาการ์ เป็นต้น โดยนอกจากรูปภาพ ข้อความ และหุ่นชาย-หญิงขนาดเท่าตัวจริงในชุดประจำเผ่าแล้วก็ยังมีบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ถัดไปเป็นนิทรรศการรูปภาพเปรียบเทียบการใช้ชีวิตของชาวเขาเนปาลและชาวเขาแอลป์ในยุโรปที่ถ่ายไว้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน  

โถงถัดมาเป็นการแสดงภาพและข้อมูลของภูเขาสูงทั้งในและนอกเนปาล ภาพถ่ายยอดเขา 14 ยอดที่มีความสูงมากกว่า 8,000 เมตร ที่เรียกว่า Eight-thousanders ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยและการาโกรัม โดย 8 ยอดเขาอยู่ในเนปาล  

ขอยกตัวอย่างบางยอดเขา อาทิ ยอดเขาอันนะปุรณะที่ 1 ความสูง 8,091 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงอันดับ 10 ของโลก เป็นยอดเขาในทิวเขาอันนะปุรณะ อยู่ในเขตเทือกเขาหิมาลัยทางทิศตะวันตก เมืองโปขราคือจุดเหมาะเหม็งที่สุดในการชมความงามอันยิ่งใหญ่นี้ “มอริส แฮร์โซก” และ “หลุยส์ ลาชินาล” นักปีนเขาชาวฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการไต่ถึงยอดเขาในปี พ.ศ. 2493 ถือเป็นมนุษย์คู่แรกในประวัติศาสตร์ (สมัยใหม่) ที่สามารถพิชิตยอดเขาความสูงเกิน 8,000 เมตร แฮร์โซกตีพิมพ์หนังสือชื่อ Annapurna ในปีต่อมา ขายดิบขายดีกว่าหนังสือปีนเขาเล่มใดๆ ในโลก ยอดขายมากกว่า 11 ล้านเล่ม ยอดเขาอันนะปุรณะที่ 1 นั้นถือว่าโหดหินและอันตรายมาก มีอัตราของผู้ที่ขึ้นไปถึงยอดแต่เอาชีวิตลงมาไม่ได้ถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีของแฮร์โซกและลาชินาลนั้นทั้งคู่ต้องสูญเสียหัวแม่เท้าจากการถูกน้ำแข็งกัด และแฮร์โซกนั้นมีของแถมถูกตัดนิ้วเท้าทิ้งเกือบทั้งหมด

บางส่วนของสิ่งแสดงในพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติ

ยอดเขาเอเวอเรสต์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 8,848 สูงที่สุดในโลก ชาวเนปาลเรียกว่ายอดเขา “สครมาตา” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต หมายถึงมารดาแห่งท้องสมุทร ส่วนชาวทิเบตซึ่งดินแดนของพวกเขาอยู่อีกด้านของทางขึ้นยอดเขา เรียกว่า “โชโมลังมา” แปลว่ามารดาแห่งสวรรค์ ชื่อ “เอเวอเรสต์” นั้นตั้งขึ้นตามชื่อนักสำรวจชาวอังกฤษ นาม “จอร์จ อีฟเรสต์” แต่คนเรียกเพี้ยนเป็น “เอเวอเรสต์” จนกลายเป็นชื่อจริง โดยก่อนหน้านั้นอีฟเรสต์เรียกยอดเขานี้ว่า “ยอดเขาที่ 15”  

ความสำเร็จของทีมจากฝรั่งเศสที่พิชิตอันนะปุรณะที่ 1 ไม่มีอะไรเทียบเทียมได้กระทั่ง “เอ็ดมุนด์ ฮิลลารี” นักปีนเขาจากนิวซีแลนด์ขึ้นไปยืนบนยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จเป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2496 พร้อมด้วย “เทนซิง นอร์เกย์” เพื่อนร่วมทางชาวเชอร์ปา ขณะที่คนไทยก็เคยปีนถึงยอดมาแล้ว นั่นคือคุณวิทิตนันท์ โรจนพานิช ทำได้เมื่อปี พ.ศ. 2551 พร้อมกับชาวเวียดนามอีก 3 คน

ยอดเขาเคทู (K2) อยู่ระหว่างเขตติดต่อปากีสถานและมณฑลซินเจียงของจีน ยอดเขานี้สูง 8,611 เมตร สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก อักษรK มาจากเทือกเขาการาโกรัม (Karakoram) และเลข 2 คือลำดับที่ในการนับของ “โทมัส มอนโกเมอรี” นักสำรวจชาวอังกฤษ ซึ่งเขามองเห็นยอดเขา K1 และ K2 จากอีกภูเขาลูกหนึ่งอยู่ห่างลงไปทางใต้ 210 กิโลเมตร มีผู้พยายามตั้งชื่อใหม่หลายครั้งแต่ไม่ติดหูจึงใช้เคทูมาจนถึงทุกวันนี้ ยอดเขาเคทูมีความยากในการพิชิตชนิดที่ไม่มีใครเคยสามารถไต่ไปถึงยอดในฤดูหนาวได้เลย และผู้ที่ไปถึงยอดแล้วทุกๆ 4 คนจะทิ้งชีวิตไว้บนนั้น 1 คน ตัวเลขอัตราส่วนผู้เสียชีวิตเป็นรองเพียงยอดเขาอันนะปุรณะที่ 1 เพียงแต่ว่ายอดเขาอันนะปุรณะที่ 1 มีคนเคยไต่ถึงในช่วงหน้าหนาว    

มีมุมธรณีวิทยาแสดงตัวอย่างหินที่มาจากเทือกเขา ภาพพืชและสัตว์ประจำถิ่น อีกทั้งภาพและประวัติของบุคคลสำคัญที่มีส่วนให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น มีบอร์ดแสดงภาพของคณะจำนวน 24 คนที่ประสบอุบัติเหตุเฮลิค็อปเตอร์ตกเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2549 ขณะกำลังเดินทางกลับสู่กรุงกาฐมาณฑุภายหลังการส่งคืนเขตอนุรักษ์ “คันเชงจุงกา” แก่ชุมชนท้องถิ่นให้ดูแลต่อ

ในโซนนี้ยังมีนิทรรศการแสดงภาพและข้อมูลภาวะโลกร้อนที่กำลังคุมคามความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมบนภูเขาสูง เวลาที่ต้องการน้ำก็จะมีน้ำเพียงน้อยนิด เวลาไม่ต้องการน้ำกลับถูกน้ำไหลหลากเข้าท่วม เกิดการอพยพในบางพื้นที่ เพราะเพาะปลูกไม่ได้ มีบอร์ดแสดงพิษภัยของBlack Carbon ซึ่งเป็นควันดำที่เผาไหม้ไม่หมดจากการหุงต้มด้วยฟืน บางครั้งก็มีอนุภาคขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ผู้ที่รับผลกระทบส่วนใหญ่คือผู้หญิง (และเด็ก) ที่ใช้เวลาในครัวเพื่อการหุงหาอาหารมากกว่าผู้ชายที่ทำงานนอกบ้าน  

โซนอุปกรณ์ของนักปีนเขาและวีรกรรมนักปีนเขาคนสำคัญๆ

นอกจากนี้ก็ได้เรียนรู้ภัยที่เรียกว่า GLOF มาจากคำว่า Glacial Lake Outburst Flood หมายถึงภาวะที่ทะเลสาบน้ำแข็งละลายและทะลักไหลอย่างรวดเร็วทำลายบ้านเรือน สะพาน สถานีไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศที่โลกเผชิญอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นมาแล้วกับพื้นที่ภูเขาสูงทั่วโลก ทั้งหิมาลัย แอนดีส ร็อคกี้ แอลป์ และในอลาสก้า

มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายกลุ่มใหญ่เข้ามา คงมาทัศนศึกษาตามคำสั่งของอาจารย์ ส่วนใหญ่จะไม่อ่านข้อมูลในบอร์ดแต่จะถ่ายรูปเซลฟี่ เด็กหญิงคนหนึ่งใช้กล้องโทรศัพท์มือถือในโหมดกล้องวิดีโอแพนกล้องไปตามรูปและข้อความอย่างรวดเร็วแล้วมาหยุดที่หน้าผมสองสามวินาทีแล้วแพนกล้องต่อไป ซึ่งหากว่าเธอจะนำไปดูเพื่ออ่านข้อความเหล่านั้นภายหลังก็ไม่มีทางอ่านทันอยู่ดี 

พวกเขาเข้าโซนนี้ออกโซนนั้นอย่างรวดเร็ว และหายไปหมดในเวลาไม่นานต่อมา

ไม่ต้องปีนให้ถึงก็ได้เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์

ส่วนผมก็เดินต่อไปยังโซนประวัติและกิจกรรมการไต่เขา แสดงประวัติ รูปภาพ เสื้อผ้าและอุปกรณ์ของผู้พิชิตยอดเขาคนสำคัญหลายคน เช่น มอริส แฮร์โซก และหลุยส์ ลาชินาล จากฝรั่งเศส เอ็ดมุนด์ ฮิลลารี จากนิวซีแลนด์ เทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปา คาจิ เชอร์ปา หรือ “สปีด เชอร์ปา” ผู้ไต่ถึงยอดเอเวอเรสต์ได้เร็วที่สุดในโลกโดยไม่พึ่งถังออกซิเจน ใช้เวลาเพียง 20 ชั่วโมง 24 นาที เมื่อปี พ.ศ. 2541

นอกจากนี้ก็ยังมีบอร์ดวีรกรรมของนักปีนเขาชาวญี่ปุ่น “จุนโก ทาเบอิ” เธอคือสตรีคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ในปี พ.ศ. 2518ขณะมีอายุ 36 ปี และยังเป็นสตรีคนแรกที่ไต่ถึงยอดเขาสูงที่สุดครบทั้ง 7 ทวีป  

ใกล้ๆ กันเป็นบอร์ดนักปีนเขาชาวเกาหลี โดยเฉพาะ “ปาร์ก ยัง ซก” สตรีและมนุษย์คนแรกของโลกที่พิชิต 3 ขั้วโลก ได้แก่ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์, 7 ยอดเขาที่สูงที่สุดของแต่ละทวีป และ 14 ยอดเขาที่สูงเกิน 8,000 เมตรที่มีอยู่ทั้งหมดในโลกนี้ เธอทำสำเร็จในเวลา 10 ปี ระหว่างพ.ศ. 2536 – 2545    

 ภาพถ้ำในทะเลสาบน้ำแข็งบนภูเขาสูง

บันไดนำขึ้นไปยังชั้น 2 มีของแสดงน้อยกว่าชั้น 1 อยู่พอสมควร เริ่มด้วยนิทรรศการชั่วคราวภาพถ่ายการแต่งกายของทั้งชายและหญิงชาวเนปาลกว่า 40 กลุ่มเชื้อชาติ จากนั้นเป็นราวแขวนแผ่นโลหะขนาดเท่าฝ่ามือ ด้านหน้าเขียนปุจฉา เมื่อพลิกไปด้านหลังก็จะพบวิสัชนา เช่น ถามว่า “เทมบา ชฮิรี เชอร์ปา มีอายุเท่าไหร่ตอนที่เขาไต่ถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยเขาเป็นชาวเนปาลอายุน้อยสุดที่สามารถพิชิตยอดเขานี้ได้ ?” เมื่อหมุนแผ่นโลหะสีทองไปอีกด้านก็พบคำตอบ “15 ปี กับอีก 18 วัน”

ถัดไปเป็นห้องสมุด เก็บรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับภูเขาสูง ประวัติการปีนเขา สัตว์ประจำถิ่น ลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น รวมกว่า 3,500 เล่ม ผมไม่ได้เดินเข้าไปเพราะหากเปิดหนังสือสักเล่ม อ่านแค่สามสี่หน้าก็คงจะหมดเวลาเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์

สิ่งของที่นักไต่เขาผู้มักง่ายทิ้งไว้ระหว่างเส้นทางเกียรติยศ

ใกล้กันคือห้อง Lakhang ในภาษาเชอร์ปา “La” แปลว่า “พระเจ้า” และ “Khang” แปลว่า “บ้าน/ห้อง” ในเขตโซลูคุมบู บ้านของชาวเชอร์ปาทุกหลังจะมีห้องสวดมนต์ (ศาสนาพุทธ) พวกเขาต้อนรับนักบวชลามะและผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาโดยการเสิร์ฟชาในห้องนี้

อีกมุมที่น่าสนใจมากในพิพิธภัณฑ์ภูเขานานาชาติคือสิ่งแสดงที่เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้แล้วในการปีนเขา ผมเข้าไปอ่านก็ได้ความว่า “เคน โนกูชิ” นักไต่เขาชาวญี่ปุ่น ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อปี พ.ศ. 2542 และครองสถิติมนุษย์อายุน้อยสุดที่เหยียบยอดเขาทั้ง 7 ทวีปในเวลานั้นด้วยอายุ 25 ปี ความสำเร็จในการไต่เอเวอเรสต์ของเขาบรรลุผลในความพยายามครั้งที่ 3 ซึ่งทั้ง 3 ครั้งเขาเห็นขยะจำนวนมากถูกทิ้งไว้ระหว่างทางโดยบรรดานักขึ้นที่สูง ในการปีนอีก 4 ครั้งต่อมาของเขาและความร่วมมือจากทีมงานนานาชาติ พวกเขาเก็บขยะที่มีทั้งเต๊นท์ ถังออกซิเจน ถังแก๊ส กระป๋องอาหาร เสื้อผ้า เชือก และอื่นๆ ลงมาได้ถึง 7 ตัน

ต้องนับถือหัวใจของเคน โนกูชิ และคณะ และอีกด้านก็ต้องพิเคราะห์ลักษณะนิสัยนักขึ้นที่สูงทั้งหลายเสียใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"