LGBT Expo


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อวันที่ 25-28 มกราคมที่ผ่านมา มีการจัดงานนิทรรศการที่เรียกว่า LGBT Expo ที่ Hall 2 ของ Impact นับว่าเป็นการจัดงานนิทรรศการสินค้าที่มีลักษณะเป็นมิตรกับความหลากหลายทางเพศ (LGBT-Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender) ทั้งนี้ เพราะว่ากฎหมายว่าด้วยความเสมอภาคหรือการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายจริงหญิงแท้และกลุ่มเพศทางเลือกได้ประกาศใช้แล้วตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นจึงมีความพยายามของหลายภาคส่วนที่พยายามจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีแนวทางในการทำงานและการดำเนินชีวิตที่เปิดกว้าง ยอมรับความมีตัวตนของกลุ่มคนเพศทางเลือกที่มีอยู่อย่างหลากหลายทั้งเพศสภาพและเพศวิถี รวมทั้งในวงการธุรกิจก็จะมีสินค้าจำนวนมากที่ผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่ม LGBT และสำหรับสินค้าสำหรับคนทั่วไปก็มีความพยายามที่จะแสดงออกให้ผู้บริโภครู้ว่า องค์กรของเขาเคารพสิทธิของกลุ่ม LGBT และมอง LGBT ว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นคน ความเป็นลูกค้าของเขาทัดเทียมกับชายจริงหญิงแท้ทั่วไป สำหรับธุรกิจประเภทหลังนี้จะต้องมีการปลูกฝังวัฒนธรรมให้พนักงานในองค์กรปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT ด้วยความรู้สึกที่ไม่รังเกียจหรือดูถูก

แม้ว่าจะมีกฎหมายออกมาประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการ สิทธิเสรีภาพและความทัดเทียมกันอย่างเสมอภาคนั้นมีเพียงตัวอักษรทางกฎหมายเท่านั้น แต่ในทางสังคม สิ่งที่ควรจะเป็นตามข้อความที่ปรากฏในกฎหมายนั้นยังคงไม่เกิดขึ้น การดำรงอยู่ในสังคมและโอกาสทางสังคมของกลุ่ม LGBT นั้นยังต้องเผชิญกับปราการสองชั้น กล่าวคือ ในชั้นแรกจะต้องผ่านการยอมรับของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจให้โอกาสแก่กลุ่ม LGBT ในการจะได้ทำอะไรบางอย่าง หรือในการที่จะแสดงความมีตัวตนของพวกเขา เมื่อพวกเขาผ่านปราการชั้นที่หนึ่งนี้แล้ว พวกเขายังต้องผ่านปราการชั้นที่สอง นั่นคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและผู้บริหารคนอื่นๆ ในแต่ละองค์กร แต่ละประชาคมนั้น จะมีการตั้งคำถามด้วยความห่วงใยภาพลักษณ์องค์กรว่า หากพวกเขาให้โอกาสแก่ LGBT ที่เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนด้วยเพศสภาพและเพศวิถี ว่าพวกเขามีรูปแบบชีวิตของเพศทางเลือก ลูกค้าคนอื่นๆ ขององค์กรจะว่าอย่างไร คนอื่นๆ ในประชาคมและนอกประชาคมจะว่าอย่างไร จะยอมรับได้หรือไม่ และพวกเขาจะต้องเจอกับคำถามอะไร ที่อาจจะเป็นคำถามที่พวกเขาตอบยาก หรือไม่อยากตอบ จึงไม่อยากให้ถูกถาม เช่น

ไม่มีชายจริงหญิงแท้ที่เก่งพอที่จะเป็น CEO แล้วเหรอถึงต้องเอาพวกเบี่ยงเบนทางเพศมาเป็น CEO หรือไม่มีอาจารย์ผู้ชายหรือาจารย์ผู้หญิงที่เก่งพอที่จะเป็นอธิการบดีแล้วเหรอ ถึงให้กะเทยเป็นอธิการบดี หรือน่าจะมีชายจริงหญิงแท้ที่เก่งพอที่จะเป็นคณบดีได้นะ ทำไมต้องใช้คน “พวกนี้” มาเป็นคณบดีด้วย หรือให้ตุ๊ดเป็นอาจารย์จะดีเหรอ ที่จริงคนพวกนี้ไม่น่าให้เป็นอาจารย์นะ หรือแขกที่มาพักโรงแรมจะรู้สึกอย่างไรนะเมื่อต้องเจอกับประชาสัมพันธ์ของโรงแรมเราเป็นทอม หรือทำไมสินค้านี้จะต้องใช้กะเทยเป็น presenter ด้วย แบบนี้ใครจะกล้าใช้สินค้านี้ เดี๋ยวคนจะหาว่าเป็นตุ๊ดเป็นแต๋ว คำถามแบบนี้ยังมีอยู่อีกมากมาย จนทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่ยอมรับ LGBT ได้มีความลังเลที่จะให้โอกาสแก่คนกลุ่ม LGBT ในการที่จะได้ทำงานดีๆ หรือได้ตำแหน่งบางตำแหน่ง ทั้งๆ ที่พวกเขามีความสามาถ และถูกปฏิเสธเพราะเขาเป็นกลุ่มเพศทางเลือก ที่มีคนจำนวนมากมองว่าเป็นความเบี่ยงเบนบ้าง เป็นความผิดปกติบ้าง เป็นโรคบ้าง บางคนมองว่าแย่กว่าเดรัจฉานด้วยซ้ำไป โดยอ้างว่าสัตว์เดรัจฉานยังรู้ว่าอะไรคือเพศผู้เพศเมีย ดังนั้นกลุ่ม LGBT ที่มีพฤติกรรมทางเพศแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคมที่กำหนดไว้ให้หญิงคู่กับชาย จึงถูกมองว่าเลวกว่าเดรัจฉาน

ด้วยปราการสองชั้นดังกล่าวมานี้ ทำให้การจัดงาน LGBT Expo จึงไม่ประสบความสำเร็จแบบยิ่งใหญ่อลังการได้อย่างที่น่าจะเป็น ทั้งๆ ที่ผู้จัดมีความตั้งใจดี มีความสามารถด้านการจัดงาน แต่พวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคในการขอสปอนเซอร์ เพราะว่าเจ้าของสินค้า ไม่ว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือผู้บริหารคนอื่นๆ ในองค์กรเดียวกัน หากแม้นพวกเขายอมรับ LGBT ได้ แต่พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าลูกค้าของพวกเขาอย่างไร ถ้าหากพวกเขาสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ ดังนั้น ผู้จัดจึงได้สปอนเซอร์ไม่มากพอที่จะจัดงานให้อลังการทั้งด้านการประชาสัมพันธ์และการตกแต่งสถานที่ นอกจากการหาสปอนเซอร์แล้ว การขายบูธให้เจ้าของสินค้ามาออกงานก็ไม่ได้ง่ายเลย จำนวนบูธในงานจึงดูโหรงเหรง ไม่แน่นพอที่จะทำให้ดูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่พอจะกอบกู้งานนี้ได้อย่างมีหน้ามีตาก็คือ การจัดการแสดงและการจัดการประกวดที่สนุกสนานและมีคุณค่า คนดูแน่นเต็มจำนวนเก้าอี้ที่จัดไว้ และพวกเขาได้รับทั้งความบันเทิงและข้อคิดที่ประเทืองปัญญา

นอกจากเรื่องของสปอนเซอร์และเจ้าของสินค้าที่มาออกบูธจะมีจำนวนน้อยแล้ว คนที่มาเที่ยวงานก็พลอยน้อยไปด้วย งานดูโหรงเหรง ไม่เนืองแน่นเหมือนงานนิทรรศการอื่นๆ ทั้งนี้ อาจจะเกิดจากการที่มีงบประชาสัมพันธ์น้อย และในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากไม่กล้าที่จะมางานนี้ ซึ่งมีทั้งชายจริงหญิงแท้ที่ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็น LGBT และคนที่เป็น LGBT ที่ยังแอบๆ ซ่อนๆ ยังไม่เปิดตัว ก็ไม่กล้ามา เพราะเกรงว่าหากมีคนที่สงสัยว่าเป็นหรือไม่เป็นมาเห็นเขา ก็จะทำให้พวกเขามั่นใจว่าเป็นแน่ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็เลยคิดว่าไม่มาดีกว่า จำนวนคนดูจึงไม่มากจนแน่นฮอลล์อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะสร้างความผิดหวังทั้งคนที่ไปเดินดูเพื่อเลือกหาซื้อสินค้า เพราะมีสินค้าไม่มากพอ และคนที่ไปออกบูธ เพราะว่าจำนวนลูกค้าไม่มากพอ

ผู้จัดมีความตั้งใจอยากให้การจัดงาน LGBT Expo ครั้งนี้จุดประกายให้สามารถจัดต่อได้ในปีต่อๆ ไป และยังมีความหวังอีกว่าประเทศไทยที่หลายๆ คนมองว่าเป็นสวรรค์ของ LGBT นั้น จะได้เป็นศูนย์กลางของการจัด LGBT Expo ระดับนานาชาติ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสปอนเซอร์ที่กรุณาในปีนี้ เมื่อประเมินผลลัพธ์จะคิดอย่างไรสำหรับการให้สปอนเซอร์ในปีหน้า ร้านค้าที่มาออกบูธในปีนี้ ปีหน้าจะมาอีกไหม อยากจะตอบให้ว่าโปรดให้สปอนเซอร์ต่อไป โปรดมาออกบูธต่อไป มาช่วยกันให้เกิดวิวัฒนาการของ LGBT Expo ให้เติบโตต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางของการจัด LGBT Expo ให้เมืองไทยได้ชื่อว่าป็นเมืองที่ใจกว้าง ยอมรับความมีตัวตนของ LGBT ด้วยการเคารพสิทธิและความเสมอภาคของความหลากหลายทางเพศ เชื่อว่าวันหนึ่งคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้จะสบายใจที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนเพศทางเลือก และพวกเขาจะมีโอกาสที่ทัดเทียมกับชายจริงหญิงแท้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"