คิดให้ถ้วนถี่ก่อนกาบัตร


เพิ่มเพื่อน    

 เลือกตั้งคราวนี้ประชาชนที่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงจะต้องพินิจพิจารณาให้ดีว่าจะกาให้กับใครในเขตเลือกตั้งของตนเอง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ในการเลือกตั้งครั้งหลังๆ นี้ พวกเราเคยชินกับการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยยึดหลักว่า “เลือกคนที่ใช่และเลือกพรรคที่ชอบ” ดังนั้นคนบางคนก็อาจจะเลือก ส.ส.เขตที่มาจากพรรคหนึ่ง และลงคะแนนในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยกาให้กับพรรคที่ชอบ ผลของการเลือกตั้งก็จะนำเอาผู้ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตของพรรคใดพรรคหนึ่งไปบวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามสัดส่วนระหว่างคะแนนที่พรรคได้รับจากการกาบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด การเลือกแบบนี้ผลที่ได้ก็คือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และมีสัดส่วนของคะแนนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อสูง ก็จะมี ส.ส.จำนวนมาก ในลักษณะ winner takes all คือ ผู้ที่ชนะ ส.ส.เขตก็มักจะเป็นผู้ชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย มีคะแนนเสียงมากในสภา

ในขณะเดียวกัน คะแนนที่ประชาชนเลือก ส.ส.เขตคนใดคนหนึ่งและไม่ได้เป็นผู้ชนะนั้น ก็จะเป็นคะแนนที่สูญเปล่า ที่บอกว่าทิ้งน้ำไปเลย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความพยายามที่จะทำให้คะแนนในการเลือก ส.ส.เขตไม่สูญเปล่า จึงกำหนดให้มีการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใหม่ โดยใช้คะแนนจากการลงคะแนนเสียงให้แก่ ส.ส.เขตไปคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่า คะแนนที่ประชาชนลงให้กับ ส.ส.เขตนั้นคือการแสดงเจตจำนงว่าต้องการให้พรรคการเมืองใดมาเป็นผู้บริหารประเทศ เมื่อเชื่อเช่นนี้แล้ว คะแนนที่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทุกคนของแต่ละพรรค จะถูกนำมารวมกันเป็นคะแนนทั้งหมดที่พรรคนั้นได้ แล้วไปคิดเป็นสัดส่วนกับจำนวนผู้ที่มาออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด การคำนวณดังกล่าวจะทำให้รู้ว่าพรรคใดควรจะมี ส.ส.ในสภาเท่าใด ถ้าหากมี ส.ส.เขตไม่ครบตามจำนวนที่สมควรจะได้ก็จะเติม ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้ครบตามจำนวนที่สมควรจะได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าใครจะลงคะแนนให้ผู้ลงสมัครคนใด และคนคนนั้นจะชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขตหรือไม่ก็ตาม คะแนนที่เขาลงไปนั้นจะไม่สูญเปล่า เพราะจะเป็นคะแนนที่นำเอาไปคำนวณสัดส่วนของ ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงได้ทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงจะต้องรู้ว่าสามารถกาบัตรเลือกตั้งได้เพียงใบเดียว และไม่ว่าจะกาให้ใคร คนคนนั้นแพ้หรือชนะก็ตาม คะแนนที่เขาลงไปนั้นจะไม่ถูกทิ้งน้ำ ดังนั้นเวลาจะลงคะแนนเสียงให้ใคร คงจะคิดแต่เพียงว่าต้องการให้ผู้ใดได้ชัยชนะเป็น ส.ส.เขตเท่านั้นคงไม่พอ ต้องคิดมากกว่านั้น เพราะการกาบัตรในครั้งนี้จะนำไปสู่ผลของการเลือกตั้งมากกว่าใครเป็นผู้ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต แต่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ถึง 5 ประการ

ประการแรก จะทำให้ได้ ส.ส.เขตที่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต

ประการที่สอง จะมีผลกับการคำนวณสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ประการที่สาม จะมีผลกับการที่จะทำให้พรรคไหนได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล

ประการที่สี่ จะมีผลต่อการที่จะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ประการที่ห้า จะมีผลต่อนโยบายในการพัฒนาประเทศ

เมื่อการกาบัตรในครั้งนี้นำไปสู่ผลลัพธ์หลายประการเช่นนี้แล้ว คนลงคะแนนเสียงจะคิดง่ายๆ แต่เพียงว่าจะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนใดเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง และการคิดหวังว่าจะได้พูดว่า “ฉันเลือกเขา และเขาชนะ” อย่างที่เคยเป็นคงไม่ได้แล้ว เราจะต้องคิดทั้ง 5 ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น และเราจะต้องจัดลำดับความสำคัญว่าเราจะให้นำหนักกับประเด็นใดมากที่สุด

· ถ้าหากเราให้ความสำคัญกับการจะได้เลือกคนที่เป็นผู้ชนะตามที่มีการคาดการณ์กัน เราก็คงลงคะแนนเสียงให้แก่นักการเมืองคนที่มีกระแสว่าน่าจะเป็นผู้ชนะในเขตนั้น

· ถ้าหากเราต้องการให้คะแนนของเรามีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้ เราก็ต้องลงคะแนนเสียงให้แก่คนที่สังกัดพรรคที่เราอยากให้ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นจำนวนมาก ในกรณีดังกล่าวนี้ เราอาจจะต้องเลือก ส.ส.ที่ลงในพรรคนั้นๆ โดยไม่ต้องดูคะแนนนิยม หรือโอกาสที่เขาจะเป็นผู้ชนะได้เป็น ส.ส.เขต

· ถ้าหากเราต้องการให้พรรคใดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เราก็ต้องเลือกผู้สมัครที่มาจากพรรคนั้น ไม่ว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตจะดังแค่ไหน เรารู้จักหรือไม่ เพราะการที่จะทำให้พรรคที่เราต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลชนะการเลือกตั้ง เราก็ต้องทำให้เขาได้คะแนนมากๆ แม้ว่าผู้ที่ลงสมัครในนามพรรคนั้นจะไม่ชนะ ได้เป็น ส.ส.เขตหรือไม่ก็ตาม เราต้องพยายามให้ ส.ส.ที่สังกัดพรรคที่เราอยากให้เป็นรัฐบาล อย่างน้อยเกาะติดมาเป็นที่สองแบบคะแนนสูสี เพื่อนำเอาไปคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้

· ถ้าหากเราต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ต้องเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคที่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่ตรงใจเรา คนที่ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขตจะมีความสำคัญน้อยกว่าการตัดสินใจให้ใครเป็นรัฐมนตรี ถ้าหากใครจะเลือกเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีตามที่ตนเองต้องการ ก็จะต้องลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มาจากพรรคนั้น ไม่ว่าเขาจะดังหรือไม่ เรารู้จักคุ้นเคยหรือไม่ เพราะการลงคะแนนเสียงของเรานั้น เป้าหมายไม่ใช่แค่ได้ ส.ส.เขตจากพรรคที่เราต้องการ แต่จะเป็นการได้นายกรัฐมนตรีคนที่เราต้องการด้วย

· ถ้าหากเราเลือกด้วยการดูนโยบายในการพัฒนาประเทศ เราก็ต้องติดตามนโยบายในการหาเสียง โดยที่ตัวเราเองจะต้องกำหนดประเด็นด้านนโยบายที่เราคิดว่าสำคัญสำหรับในการพัฒนาประเทศชาติและเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก มีความชอบธรรม เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นไปได้ เช่น เราต้องการให้มีการเกณฑ์ทหารหรือไม่ เราต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เราต้องการให้มีการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ เราต้องการให้มีการสานต่องานด้านประชารัฐหรือไม่ เป็นต้น ถ้าหากเราให้ความสำคัญกับนโยบายในการลงคะแนนเสียง เราก็ต้องพิจารณานโยบายที่พรรคต่างๆ นำเสนออย่างถ้วนถี่ ถ่องแท้ ก่อนที่จะกาบัตร

                เลือกตั้งคราวนี้คงต้องคิดให้ดีก่อนกาบัตร เพราะประเทศเราเสียโอกาสมามากกว่า 10 ปีแล้ว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"