หลัง 24 มี.ค. ใครเป็นนายกฯ? มองไพ่ 'ทษช.' 8 ก.พ.


เพิ่มเพื่อน    

การเมือง หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.

....................................

         ระหว่างที่แวดวงการเมืองกำลังติดตามชะตากรรมทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ ว่าจะได้ไปต่อจนถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หรือไม่ หรือจะสิ้นสภาพเพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคเสียก่อน แต่การเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหาเสียงก็ยังคงดำเนินต่อไป

                สำหรับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่ล่าสุดแกนนำคนสำคัญอย่าง สุริยะใส กตะศิลา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 7 ต้องเข้าเรือนจำจากผลคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และทำให้ต้องถูกตัดชื่อออกไป แต่พรรค รปช.ก็ยังต้องเดินหน้าหาเสียงต่อไปเหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ

                สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย-อดีตเลขาธิการ กปปส. ซึ่งอยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายสิบปี ที่เป็นผู้บัญญัติศัพท์การเมืองกรณีการตั้งพรรคสาขา-พรรคเครือข่ายของทักษิณ ชินวัตร ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเป็น แผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ยังเชื่อว่าผลการเลือกตั้งที่จะออกมา พรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ชินวัตร จะได้เสียง ส.ส.รวมกันแล้วไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่เกิน 250 เสียง พร้อมกับมองโอกาสความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

                สุเทพ พูดถึงเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง โดยออกตัวว่าการที่พรรค รปช.ไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้หัวหน้าพรรค ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ได้พูดชัด เมื่อมีคนสอบถามว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ ทาง ม.ร.ว.จัตุมงคลก็ตอบว่าพร้อมจะสนับสนุน แต่อยู่ที่ตัวพลเอกประยุทธ์ว่าพร้อมจะทำตัวให้พร้อมได้รับการสนับสนุนหรือไม่ อันขยายความได้ว่า หนึ่ง พลเอกประยุทธ์ยอมรับแนวทางของพรรค รปช.หรือไม่ กับแนวทางที่พรรค รปช.ต้องการผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศให้เป็นจริง ให้สำเร็จให้ได้ในทุกด้าน และสอง ที่พรรค รปช.ต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจชาวบ้าน ทั้งเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร-เรื่องการศึกษา-สาธารณสุข และสาม ต้องดูว่าหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียง ส.ส.กี่ที่นั่ง รวมถึงต้องดูด้วยว่าพรรค รปช.ได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งกี่คนด้วย

...การที่พรรค รปช.ไม่ได้เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. ไม่ได้มีนัยทางการเมืองอะไร แต่เป็นเพราะพรรค รปช.เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ เรารู้ว่าเราไม่ได้คะแนนเสียง 251 ที่นั่งในสภาฯ มันไม่เป็นจริง เรายอมรับสภาพความเป็นจริงข้อนี้ก่อนว่า เราเป็นพรรคการเมืองใหม่ เราคงไม่ได้เสียงข้างมาก จึงเปล่าประโยชน์ที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. อีกทั้งพรรคเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ มันยังไม่ใช่เวลา

“การที่พรรค รปช.ไม่ได้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็เพื่อบอกกับพรรคการเมืองอื่นๆ ให้เข้าใจว่า ถ้ามีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ดีพอ ที่เราไว้วางใจได้ เราก็จะสนับสนุน โดยคนของเราไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องเลือกชื่อที่อยู่ในบัญชีของเรา แต่เรายินดีที่จะโหวตลงคะแนนเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไหนก็ได้ที่เราเห็นว่าบริหารประเทศได้ และไปในแนวทางเดียวกับพรรคเราได้”

...อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็มองว่าเรื่องที่พูดกันถึงการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไม่สามารถเป็นจริง และไม่ควรจะเป็นจริง รัฐบาลทุกสมัยต้องมีรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีทั้งฝ่ายที่ทำงานและฝ่ายที่คอยตรวจสอบ ถ่วงดุล เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย หากจะให้ทุกคนไปร่วมกันเป็นรัฐบาลพร้อมกันหมด มันก็ไม่ใช่

                “ในความเชื่อจากการวิเคราะห์ของผม หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น ประเทศต้องสงบเรียบร้อย เดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่มีใครที่จะมาก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองอีกต่อไปแล้ว เพราะประสบการณ์จากชีวิตจริง ได้บอกกับประชาชนแล้วว่า ความวุ่นวายยุ่งเหยิงที่มีมา 10 กว่าปี ได้ทำลายโอกาสของประเทศไทย ทำลายโอกาสของประชาชน ดังนั้นประชาชนไม่ยอมแล้ว ผมถึงเชื่ออย่างที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าภายใต้พระบารมีของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย ต้องพัฒนาเดินหน้าไปได้”

                ถามถึงกรณีเคยวิเคราะห์ว่าพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ชินวัตร จะไม่สามารถรวมเสียงกันแล้วเกิน 250 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของสภาได้ จนถึงตอนนี้ยังเชื่อเช่นนั้นอยู่หรือไม่ สุเทพ-ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค รปช. ออกตัวว่า ไม่สามารถที่จะไปทำนายผลการเลือกตั้งได้ แต่ว่าเราใกล้ชิดกับประชาชน เราออกไปเดินพบปะประชาชนมาทุกจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผมเองและพี่น้องชาว กปปส. เราไม่ยอมรับในระบอบทักษิณ เราไม่ต้องการเห็นอำนาจเก่ากลับมามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ตาม เพราะเราได้เห็นแล้วว่าเขาสร้างพิษภัยให้กับประเทศชาติและประชาชน จนไม่สามารถไว้วางใจให้ทำแบบนั้นได้ ดังนั้นพรรค รปช. เราไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่ทำลายชาติบ้านเมืองเหล่านั้น ก็เอาเป็นว่าผมไม่คิดว่าฝ่ายทักษิณจะรวบรวมเสียง ส.ส.หลังเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง

                ส่วนประเด็นร้อนแรงทางการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา จนล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญเตรียมพิจารณาคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติหลังจากนี้ เรื่องดังกล่าว สุเทพ ที่เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ต่อต้านทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายมาตลอดหลายปี และเรียกการตั้งพรรคสาขา-พรรคเครือข่าย ของทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น แผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แต่เรื่องดังกล่าวสุเทพสงวนท่าทีไม่พูดถึงเรื่องนี้มากนัก หลังเราถามว่า มองการทิ้งไพ่ทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 8 ก.พ.62 อย่างไร โดยให้ความเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นสั้นๆ ว่า

"ผมได้ยินประชาชน ได้สัมผัสกับประชาชนที่เขาก็อยู่ต่างจังหวัด ก็บอกว่าได้กระทำการที่ 'มิบังควร' ส่วนเมื่อทำไปแล้วจะได้รับผลอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.และฝ่ายอื่นๆ

มันเป็นเรื่องของผู้สูญเสียอำนาจ และหวังที่จะกลับมายึดกุมอำนาจรัฐ ยึดกุมอำนาจในการปกครองประเทศ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ใช้ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าตำหนิ สมควรกับการถูกตำหนิอย่างยิ่ง"

-มีการมองกันว่า หลังวันที่ 8 ก.พ. ทำให้ประชาชนตัดสินใจเรื่องการลงคะแนนเสียงได้ง่ายมากขึ้น?

ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างนั้น เมื่อประชาชนเห็นแก่นแท้ว่าคนพวกนั้นคิดแต่จะเอาชนะการเลือกตั้ง หวังที่จะกลับมามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง โดยไม่คำนึงว่า วิธีการที่ใช้ ถูกต้องชอบธรรมเหมาะสมหรือไม่ เป็นเรื่องที่บังควรหรือไม่บังควร ประชาชนเขาก็ตัดสินใจแล้ว คิดแล้ว ผมว่าประชาชนเขาคิดไว้ในใจแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้แม้จะอยู่ในช่วงนับถอยหลังจะถึงวันเลือกตั้ง แต่ก็ยังปรากฏข่าวลือ-ข่าวปล่อยออกมามากมาย เช่น จะมีการทำรัฐประหารเพื่อล้มการเลือกตั้ง ซึ่งสำหรับ สุเทพ-แกนนำคนสำคัญของพรรค รปช. เขาบอกว่า จะมีการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมแน่นอน เพราะฉะนั้น กระบวนการที่ปล่อยข่าวลืออะไรต่างๆ ทำให้เกิดความปั่นป่วน มันเป็นการสร้างสถานการณ์ที่ประชาชนไม่ควรหวั่นไหว

 เราเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปวอกแวกอะไร ส่วนเสถียรภาพของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ควรจะเป็นอย่างไร ต้องมี ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลกี่เสียง ก็มองว่าก็มีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่มีอะไรต้องกังวล

...ผมเชื่อว่าหลังเลือกตั้งเมื่อจบลงแล้ว เราก็จะมีรัฐบาลที่จะบริหารประเทศ เดินหน้าไปได้ หลังเลือกตั้งก็จะสงบเรียบร้อย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาแล้วบ้านเมืองที่ไม่เรียบร้อย ส่วนที่คนวิเคราะห์กันว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งจะมีอายุไม่ยืนยาว ก็เป็นเรื่องที่คนชอบมองในแง่ร้าย แต่ผมว่าเรามองในแง่ดีจะดีกว่า ผมเชื่ออย่างที่พลเอกประยุทธ์บอกว่า ภายใต้ร่มพระบารมีของในหลวง รัชกาลที่ 10 ประเทศจะพัฒนาเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่น ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดี

-ในฐานะเคยเป็นผู้จัดการรัฐบาลมาก่อน จำเป็นหรือไม่หากพรรคที่ได้เสียงอันดับ 2 กับอันดับ 3 จับมือกันตั้งรัฐบาล แล้วต้องให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอันดับ 2 เป็นนายกฯ?

ไม่จำเป็น การตั้งรัฐบาลก็ต้องดูว่าใครได้รับเสียงโหวตจากที่ประชุมรัฐสภามากกว่ากันก็ได้เป็นนายกฯ คือเอาเสียง ส.ว. 250 เสียง บวกกับเสียง ส.ส. 126 เสียง ก็เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ใครได้เสียงจากตรงนี้ก็เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็มาชักชวนกันว่าใครจะเข้ามาร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไร

-ถ้า ปชป.ที่เสนออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้เสียงมาอันดับ 2 แล้วพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เกิดได้เสียง ส.ส.มาอันดับ 3 น้อยกว่า ปชป. แบบนี้การจัดตั้งรัฐบาลจะยุ่งยากหรือไม่?

ไม่ยุ่ง ไม่ได้เกี่ยว (ตอบทันที) เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับ 1 ต้องจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับ 2 ตั้งรัฐบาลแล้วหากเกิดจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วถึงค่อยให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 3 จัดตั้งรัฐบาลแทน มันไม่เกี่ยวกัน คือก็ทำตามกฎหมาย ทำตามรัฐธรรมนูญก็จบ.

“”””””””””””””””””””””””””””””

 

เดินคารวะแผ่นดิน กับเป้าหมาย 3 ล้าน 5 แสนคะแนน

สุเทพ-ประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนสมัครสมาชิกพรรคและผู้ร่วมจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวถึงภาพรวมการหาเสียงครั้งนี้ของพรรค รปช. โดยเฉพาะนโยบายพรรคที่ใช้ในการหาเสียง และจะนำไปใช้ หากหลังเลือกตั้งพรรค รปช.ได้เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรค รปช.ส่งผู้สมัครระบบเขต ครบ 350 เขต โดยผู้สมัครส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนคนธรรมดาที่เห็นว่า เป็นภาระหน้าที่ ซึ่งประชาชนต้องร่วมกันทำการเมืองให้เป็นการเมืองที่ดี การเมืองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน คนเหล่านี้ไม่ใช่นักเลือกตั้งประเภทเขี้ยวลากดินทั้งหลาย แต่เป็นคนที่ตั้งใจอาสาทำงานการเมืองให้ประชาชน

พรรค รปช.มีผู้สมัครแทบทุกสาขาอาชีพ มีทั้งเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ทนายความ อดีตข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจ ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าธรรมดา ไม่ใช่เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หรือเจ้าของทุนขนาดใหญ่ โดยพวกเขาอาสามาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อก็เป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรค ที่จะให้มีคนของพรรคทั้งผู้หญิงผู้ชายมาร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง ทำงานการเมืองเพื่อประเทศไทย เพื่อประชาชนไทย อันเป็นหลักการสำคัญของพรรค รปช. ที่ให้ผู้หญิงผู้ชายมีโอกาสเท่าเทียมกันในการมาทำงานการเมือง พรรคจึงได้กำหนดเป็นหลักการแต่แรกว่า ในบัญชีรายชื่อ 150 คน เป็นชาย 75 คน หญิง 75 คน แล้วการเรียงลำดับในบัญชีรายชื่อก็สลับกัน หญิง-ชาย ทำให้ไม่ว่าพรรค รปช.จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คนก็ตาม พรรคก็จะได้ ส.ส.ผู้ชายครึ่งหนึ่ง กับผู้หญิงอีกครึ่งหนึ่ง สิ่งนี้คือหลักสำคัญ และพรรคก็ดีใจที่ทำแบบนี้ได้เรียบร้อย

สุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับความคาดหวังว่าพรรค รปช.จะได้ ส.ส.กี่คนหลังเลือกตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่เรามั่นใจว่าถึงวันนี้ ประชาชนก็จะตระหนักแล้วว่า มันเป็นเวลาที่จำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ พรรคการเมืองที่ยอมรับในอำนาจของประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจเหนือพรรค ให้ประชาชนเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค โดยกระบวนการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค โดยสมาชิกพรรคที่เราเรียกว่า “สมัชชาพรรค”

พรรค รปช.ได้จัดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 เมื่อ 15 ธันวาคม 2561 ประชาชนที่เป็นเจ้าของพรรคก็ได้ประชุมพร้อมกันในวันเดียว รวม 17 จุดทั่วประเทศ แล้วก็ได้ใช้ประชาธิปไตยทางตรง คือประชาชนแต่ละคนเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค อีก 5 คน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดทำให้ประชาชนคือผู้กำหนดตัวบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขต ทั้ง 350 คน ที่เรียกว่า ไพรมารีโหวต ซึ่งในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ประชาชนเจ้าของพรรคที่เรียกว่าสมาชิกพรรคก็ได้มาออกเสียง ว่าพรรคควรส่งบุคคลใดลงสมัครรับเลือกตั้ง ในนามพรรค รปช.

สุเทพ ย้ำว่า จากแนวทางดังกล่าวทำให้กล่าวได้ว่า พรรค รปช.เราเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้แล้วทำไพรมารีโหวตตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560

เป้าหมายของพรรค รปช.ก็คืออย่างน้อยที่สุด เราต้องทำการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรค รปช.ที่รวมคะแนนกันแล้วทั่วประเทศ 350 คน ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ล้าน 5 แสนคะแนน โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะทำให้พรรค รปช.มี ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งตัวเลข 50 คน มีความหมาย เพราะเป็นตัวเลขที่จะทำให้พรรค รปช.มีพลังในการทำงานการเมืองให้กับประชาชน

สุเทพ กล่าวต่อว่า หากพรรค รปช.ได้ ส.ส.อย่างน้อย 50 คน ก็จะทำให้สามารถผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลักดันให้มีการแก้ปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้านได้อย่างจริงจัง

นัยของตัวเลข 50 คนขึ้นไปดังกล่าว สามารถเข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้ ทำให้มีพลังที่จะทำงานการเมืองได้ เรามองเห็นว่าพรรค รปช.มีโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่า 3 ล้าน 5 แสนคะแนน”

ส่วนความมั่นใจดังกล่าวมาจากไหน สุเทพ ขยายความว่า เกิดจากการพิจารณาจากจำนวนประชาชนที่เคยออกมาร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงปี 2556-2557 ตอน กปปส.ที่มีมากกว่าสิบล้านคน ที่เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เห็นได้ชัดว่าพลังของประชาชนที่รักชาติรักแผ่นดินมีจำนวนมาก

...และครั้งที่ 2 เห็นได้จากเมื่อครั้งมีการลงประชาชมติ รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2559 ประชาชนก็ได้แสดงปาฏิหารย์ทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์ โดยที่เวลานั้นพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ทั้ง 2 พรรคการเมืองดังกล่าวเคยได้คะแนนในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดปี 2554 รวมกันถึง 26 ล้านเสียง และมีแนวโน้มในขณะนั้นว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่ผ่านประชามติ แต่ปรากฏว่าประชาชน 16 ล้านคน ได้พร้อมใจกันลงประชามติรับร่าง รธน.

จากสมมุติฐานทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ทำให้พรรค รปช.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องรวบรวมคะแนนเสียงจากประชาชน อย่างน้อย 3 ล้าน 5 แสนคะแนนขึ้นไปในการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2562

นโยบายพรรค รปช. เน้นแก้ปัหา ศก.ชาวบ้าน

สุเทพ กล่าวถึงนโยบายหลักของพรรค รปช.ไว้ว่า จะเน้นเรื่อง การแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน-ปัญหาของประชาชนคนธรรมดา ดังนั้นนโยบายสำคัญของพรรค รปช.คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน โดยนโยบายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากผลของการเดินคารวะแผ่นดิน ที่ผมได้นำคณะออกไปคารวะประชาชนทั่วประเทศไทยแล้วก็ได้พบ ได้ฟังปัญหาของประชาชน นำมารายงานต่อคณะกรรมการบริหารพรรค-คณะกรรมการวิชาการของพรรค รปช.จนกำหนดออกมาเป็นนโยบายของพรรค รปช. ที่จะมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน ก็มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างความแข็งแรงให้กับครอบครัวชาวบ้านแต่ละครอบครัว เพราะครอบครัวของพวกเขาจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แข็งแรงได้ พวกเขาต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น และต้องมีภาระค่าใช้จ่ายลดลง

ในส่วนของการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวชาวบ้าน ก็จะแบ่งเป็นครอบครัวของเกษตรกรและครอบครัวผู้ใช้แรงงาน

...การเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวของเกษตรกร พรรค รปช.ได้กำหนดนโยบายไว้ชัดเจนว่า ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร จะต้องขายผลผลิตทางการเกษตรแล้วเขาต้องได้กำไร มีเงินเหลือกลับบ้าน ซึ่งวิธีการที่จะทำได้แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องของการหลอกล่อใจประชาชน ตามแนวทางประชานิยม แต่ต้องเป็นการดำเนินการอย่างมีเหตุผล เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นความมีเหตุผล ที่ประชาชนทั้งหลายยอมรับและเป็นความเสมอภาค และทางฝ่ายราชการก็ยอมรับด้วย โดยไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติว่าจะมีการไปเลือกดูแลชาวไร่ชาวนาอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

...ยกตัวอย่างเช่นในอดีต มีรัฐบาลบางรัฐบาลที่ประกาศนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ในราคาเกวียนละ 15,000 บาท แต่ไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่จะมาแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขการรับจำนำข้าว 15,000 บาท คิดคำนวณมาจากตัวเลขใด แต่สำหรับพรรค รปช. วิธีซึ่งพรรคจะนำมาใช้ ที่เป็นวิธีการที่เป็นองค์ประกอบของนโยบายของพรรคก็คือ อาชีพการเกษตรทุกสาขา จะต้องมีการคำนวณต้นทุนการผลิตออกมาอย่างชัดเจน และเป็นต้นทุนที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนว่าในขณะที่ค่าแรงเป็นอย่างนี้ ค่าปุ๋ยเป็นอย่างนี้ เรื่องผลผลิตเป็นแบบนี้ ต้นทุนการผลิตก็ต้องเป็นแบบนี้ เช่นคำนวณออกมาได้ว่า ข้าวนาปีมีต้นทุนการผลิตเกวียนละ 6,000 บาท ซึ่งได้รวมทุกอย่างไว้แล้ว เพราะฉะนั้น กำไรที่ประชาชนผู้มีอาชีพทำนา คือชาวนาทั้งหลายจะคาดหวังได้ ก็คือ ส่วนที่เพิ่มจากต้นทุน 6,000 บาท ควรเป็นเกวียนละเท่าใด พรรค รปช.ได้กำหนดกำไรไว้ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า หากต้นทุนการผลิตข้าวนาปีอยู่ที่ 6,000 บาท ชาวนาก็ควรขายข้าวนาปีได้เกวียนละ 12,000 บาท ไม่ใช่ 15,000 บาท หรือไม่ใช่มากกว่านั้น

สุเทพ อธิบายหลักเกณฑ์การให้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์แก่เกษตรกรว่า เป็นเพราะขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ หากเขาได้กำไร 18-20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็พอใจแล้ว แต่ว่าพ่อค้าแม่ขายเหล่านั้นไม่ได้มีความทุกข์ยากลำบากในการประกอบอาชีพเหมือนชาวไร่ชาวนา เกษตรกร พ่อค้าแม่ขายทำงานในที่ร่ม มีพัดลม เครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องเจอแดดเจอฝน แต่ชาวไร่ชาวนาทำงานกลางแดดกลางฝน บางอาชีพอย่างชาวสวนยางพาราต้องทำงานกลางคืน แย่งอากาศหายใจกับต้นไม้ ร่างกายต้องสูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ทุกวัน เรียกว่าความยากลำบากในการประกอบอาชีพของเกษตรกรมีมากกว่า

...อีกทั้งเกษตรกร ชาวไร่ชาวนาต้องแบกความเสี่ยงไว้มาก เช่นหากเกิดภาวะฝนแล้ง น้ำท่วมก็ขาดทุน หรือเกิดโรคระบาดก็ขาดทุน จึงสมควรที่จะต้องคิดผลกำไรโดยคำนึงถึงความยากลำบากในการประกอบอาชีพและภาระที่รับความเสี่ยงดังกล่าวเอาไว้ จึงต้องกำหนดตัวเลขไว้ที่หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์  และตัวเลขนี่จะนำไปประยุกต์ใช้กับพืชผลการเกษตรที่สำคัญทุกชนิด ไม่ใช่เพียงราคาข้าว แต่ราคามันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน คือทำให้เขาขายได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

สุเทพ อธิบายนโยบายพรรค รปช.ดังกล่าวอีกว่า วิธีปฏิบัติก็คือทุกต้นฤดูการผลิต ทางภาครัฐจะประกาศแนวโน้มของภาวะการตลาดให้เกษตรกรทุกสาขาได้ทราบและได้คำนวณตัวเลขต้นทุน แล้วประกาศให้ชัดว่าราคา เช่น ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง มีต้นทุนกิโลกรัมละกี่บาท จากนั้นรัฐบาลก็ประกาศราคาเป้าหมายที่หวังเกษตรกรจะขายผลิตผลของตัวเองได้ โดยราคาเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นตัวเลขอ้างอิงของทุกฝ่าย เช่นการให้สินเชื่อ การเก็บสต็อกเอาไว้ แต่รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกของการตลาด เป็นต้นว่ารัฐบาลไม่ไปซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้มาเก็บสต็อกเอาไว้จนทำให้ต้องจ่ายค่าโกดังเก็บสินค้าของรัฐบาลเป็นแสนๆ ล้านบาทอย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าว และรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ไปเอาข้าวเขมรมาสวมเป็นข้าวไทย ไปซื้อข้าวเขมรมาเกวียนละ 4,000-5,000 บาท แล้วมาจำนำเกวียนละ 15,000 บาท หรือให้มีการทำตัวเลขผลผลิตปลอมๆ ขึ้นมา เช่นผลิตข้าวได้ 10 เกวียน แต่ลงบัญชีว่ามี 15 เกวียน แล้วห้าเกวียนที่เหลือก็นำมาแบ่งกัน แบบนี้รัฐบาลต้องไม่ทำ แต่รัฐบาลต้องใช้มาตรการต่างๆ ใช้เงินงบประมาณ ใช้บุคลากรของรัฐเพื่อผลักดันราคาพืชผลการเกษตรให้ไปถึงราคาเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดเอาไว้

สุเทพ กล่าวโดยยกตัวอย่างมาอธิบายประกอบว่า เป็นต้นว่าการส่งออกหรือการนำเข้าสินค้าเกษตรเหล่านี้ เป็นสินค้าควบคุมที่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าการส่งสินค้าเหลานี้ไปตลาดโลก ผู้ส่งออกที่จะไปทำสัญญาการซื้อขายข้าว ผลผลิตการเกษตรไว้เป็นการล่วงหน้าเป็นราคาต่ำแล้วมากดราคารับซื้อจะทำไม่ได้ การขายสินค้า-ส่งออกสินค้าสำคัญต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล คือหากราคาต่ำกว่าที่กำหนดไว้รัฐบาลจะไม่อนุญาต ถ้าจะอ้างว่าราคาต้องเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ก็ต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกจริงๆ ไม่ใช่เรื่องการไปตัดราคากันเพื่อแย่งตลาดแล้วมาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของผลผลิต

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีมาตรการอีกหลายประการที่จะทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาดีขึ้น หรือเป็นไปตามเป้าหมายของราคาที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

...เช่น ข้าว รัฐบาลก็สามารถที่จะขายข้าวในโควตารัฐบาล บางประเทศเขาต้องการซื้อข้าวโดยตรงจากรัฐบาล หากข้าวในประเทศของเขาไม่พอบริโภค ก็จะต้องทำในลักษณะจีทูจีจริงๆ ไม่ใช่จีทูจีเก๊ แล้วรัฐบาลก็มีอำนาจในการต่อรองซื้อขาย บางอย่างอาจต้องถึงขั้นต้องใช้การซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือบาร์เตอร์เทรด

...หากเราต้องซื้ออาวุธ เรือรบ เครื่องบิน ก็อาจต้องบวกข้อต่อรองไว้ว่า หากเราต้องซื้อสิ่งเหล่านี้จากบางประเทศ เราต้องสามารถขายผลผลิตทางการเกษตรในราคาเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด หรือแม้แต่การเก็บภาษีพิเศษสำหรับการนำเข้าสำหรับสินค้าบางชนิด ที่จะมีผลเกี่ยวโยงไปจนถึงราคาผลผลิตในประเทศ ยกตัวอย่างเช่นการเก็บภาษียางรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีเงินไว้สำหรับกองทุนเพื่อมาดูแลชาวนาของเรา อย่างนี้เป็นต้น

...หากรัฐบาลได้ใช้วิธีการ มาตรการ อำนาจ งบประมาณจนเต็มที่แล้ว แต่ราคาสินค้าเกษตรยังไม่บรรลุไปถึงราคาเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ รัฐบาลก็จะต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างจากราคาที่เกษตรกรขายได้จริงกับราคาเป้าหมายให้เกษตรกร บนหลักฐานของตัวเลขที่มีการซื้อขายกันจริง แล้วก็โอนเงินส่วนต่างนั้นจากกระเป๋ารัฐบาลไปเข้ากระเป๋าเกษตรกรโดยตรง ที่จะทำให้ไม่มีใครมาฉ้อโกงคอร์รัปชัน กินหัวคิวจากโครงการนี้ได้ เมื่อเราทำแบบนี้เรามุ่งมั่นตั้งใจจริง ทำจริงจัง พืชผลการเกษตรทุกอย่างที่เกษตรกรผลิตได้ก็จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้ครอบครัวเกษตรกร

สุเทพ-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. ยังกล่าวถึงนโยบายสำหรับ ครอบครัวผู้ใช้แรงงาน และครอบครัวเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินจำกัดว่า ไม่ว่าราคาพืชผลการเกษตรจะเป็นอย่างไรก็ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว นโยบายของพรรค รปช.จะให้รัฐบาลต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระราชทานไว้ให้มาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยวิธีการคือต้อง กำหนดเส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง เอาไว้ เช่นถึงเวลาต้องคำนวณกันให้ชัดว่า ครอบครัวหนึ่งหากจะให้เขามีชีวิตอยูอย่างพอเพียง มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เขาควรมีรายได้เท่าใด

...ในครอบครัวผู้ใช้แรงงานทั่วไป คนที่หารายได้ให้ครอบครัว คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวมักจะทำงานอยู่เพียงคนเดียว ขณะที่คู่สมรสไม่ได้ออกไปทำงานหารายได้เข้ามาเสริม เพราะว่าต้องดูแลบ้านช่องมีภาระ กรณีแบบนี้จะมีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสร้างงานให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอก ให้เขาสามารถทำงานอยู่ที่บ้านแล้วมีรายได้เพิ่มเข้ามา เป็นส่วนเพิ่มของรายได้ครอบครัว

เพราะฉะนั้นครอบครัวเหล่านี้ต้องมีโครงการพิเศษรองรับ เช่นการฝึกอาชีพให้กับครอบครัวเหล่านี้เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่ม อาทิ สอนการตัดเย็บเสื้อผ้าให้แม่บ้าน หรือสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในวัยที่สามารถทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าได้ การนำคนเหล่านี้เข้าสู่โครงการฝึกอาชีพ สร้างทักษะอาชีพที่เขาถนัด  ใช้เวลาแค่ 6-12 เดือนก็สามารถฝึกฝนคนเหล่านี้ให้เป็นผู้ทำการผลิตได้ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องหาอุปกรณ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อทำให้เขาสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่เสียดอกเบี้ย

สุเทพ ยกตัวอย่างว่า เช่นเมื่อเขาเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าจนถึงระดับสร้างผลงานการตัดเย็บได้ รัฐบาลก็อาจจะทำโรงงานเล็กๆ ในชุมชน มีศาลาเล็กๆ ในชุมชน เป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่แม่บ้านมานั่งทำงานร่วมกันในสถานที่นั้น ตัดเย็บเสื้อผ้าตามออเดอร์ที่ได้รับ หรือทำงานตัดเย็บเสื้อผ้าในบ้านตัวเองตามแพตเทิร์นที่เขากำหนดไว้ เช่น ชุดนักเรียนที่ส่วนราชการแจกให้เด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ต่อไป ก็ไม่ต้องไปสั่งซื้อจากบริษัท ก็ใช้วิธีนำมาให้ครอบครัวในชุมชนตัดเย็บ แล้วมีการตรวจสอบมาตรฐาน  แล้วส่วนราชการก็ซื้อไปแจกจ่ายให้นักเรียน รวมถึงชุดนักโทษ ชุดฝึกทหาร ตำรวจ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะสร้างงานให้คนในครอบครัวได้ แล้วยังมีงานอย่างอื่นอีก เช่นการทำเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องใช้ สมัยก่อนเราจะเห็นชาวบ้านนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาทาแป้งเปียก มาพับถุงกระดาษขายเพื่อทำขนมขาย ซึ่งนโยบายของพรรค รปช.จะรณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกอีกต่อไปแล้ว ต่อไปก็จะมีโรงงานทำถุงกระดาษในบ้านของประชาชนหรือในชุมชนของประชาชน อันนี้ยกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าจะมีการสร้างงานได้อีกจำนวนมาก

สุเทพ แสดงความมั่นใจว่าจากแนวคิดนโยบายข้างต้น จะทำให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานสามารถยกระดับรายได้ของตัวเองจนเกินเส้นมาตรฐานแห่งความพอเพียง จนพัฒนาไปสู่เส้นมาตรฐานของรายได้แห่งความมั่นคงของครอบครัวต่อไป เมื่อครอบครัวของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้มีอำนาจการซื้อ มีเงินทองไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับชีวิต ตลาดของชาวบ้านระดับล่างก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ไม่ซบเซาเหมือนที่เป็นอยู่

...ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ตำหนิรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาลไหน เพียงแต่บอกว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนรูปแบบ เป้าหมาย การพัฒนาระบบเศรษฐกิจไม่ใช่มุ่งแต่พัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาค แต่ต้องเป็นระบบเศรษฐกิจจุลภาค ต้องลงไปถึงการยกระดับรายได้ของครอบครัวของประชาชนเพื่อสร้างความแข็งแรงให้ครอบครัวประชาชนแล้ว การที่เกษตรกร ชาวไร่ชาวนาขายผลผลิตไม่มีรายได้ เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ได้เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่มันเกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว  ยกตัวอย่างเช่นราคายางพารา มันตกต่ำมาตั้งแต่สมัยที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ครั้งสุดท้ายที่ประชาชนชาวสวนยางพาราขายยางพาราได้ราคาแพง คือสมัยที่ผมเป็นรองนายกฯ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ที่ผมเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางพารา ที่ตอนนั้นราคายางพาราตกต่ำคือกิโลละ  40 บาท เพิ่มขึ้นเป็นกิโลละ 180 บาท ทำให้ชีวิตเกษตรกร ชาวสวนยางมีความสุข เศรษฐกิจของชาวบ้านโดยรวมก็มีความคึกคัก แต่มายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มอบหมายให้ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มาเป็น รมช.เกษตรฯ เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราแต่ก็แก้ไขไม่ได้ จึงแสดงให้เห็นว่าราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่ตอนนั้น และมีผลต่อเนื่องถึงตอนนี้เป็นเวลาหลายปี

...จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางถึงลำบาก และมีผลกระทบให้กำลังซื้อของประชาชนทั่วประเทศตกต่ำลง เพราะยางพารามีการปลูกกันหลายพื้นที่ของประเทศ ไม่ใช่ปลูกกันเฉพาะที่ภาคใต้ จึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่นเดียวกับพืชผลการเกษตรชนิดอื่นก็มีปัญหาแบบเดียวกัน

ฏิรูประบบเกษตรกรรม

นุนทำโซนนิงเพาะปลูก

สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องยอมรับกันว่า ต้องดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้เกษตรกรทั้งหลายขายผลผลิตแล้วมีกำไร ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ไม่ใช่ดำเนินการเฉพาะแค่มีมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาพืชผลการเกษตร แต่ต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกระบวนการทั้งกระบวนการ

...วันนี้การเกษตรของประเทศไทย มันต้องเป็นการเกษตรที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบครบวงจร  ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการแปรรูป การตลาด ซึ่งหากมีการวางแผนการผลิต การแปรรูป การตลาดเชื่อมกันอย่างเป็นระบบ จะลดภาระ ลดความเสี่ยง การวางแผนการผลิตที่สำคัญก็คือ ถึงเวลาที่ต้องกำหนดเขตผลิตการเกษตรให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหน จังหวัดใด จะเพาะปลูกพืชผลการเกษตรชนิดใด  หรือการทำโซนนิง มันถึงเวลาต้องทำแล้ว ที่เป็นอยู่ไม่ได้ทำ จึงทำให้การผลิตการเกษตรเป็นการผลิตตามยถากรรม เช่น หากประชาชนเห็นว่ามันสำปะหลังราคาดี ก็แห่ไปปลูกมันสำปะหลังกันมากๆ มันก็ล้นตลาด ข้าวโพดราคาดี ก็ปลูกข้าวโพดกันมากๆ ก็มีปัญหา ยางพาราราคาดี ก็ปลูกยางพารากันทั่วประเทศ ก็เกิดปัญหา

...ทั้งหมดเป็นเพราะไม่มีการกำหนดเขตการผลิต-โซนนิง ซึ่งการกำหนดเขตการผลิตการเกษตรจะต้องมีการศึกษา วิเคราะห์ ไม่ใช่ดูแค่สภาพอากาศ สภาพของดิน แต่ต้องรู้ว่าผลิตแล้ว กระบวนการแปรรูปจะเป็นอย่างไร จะมีการจัดเกรด การจัดหีบห่ออย่างไร จะมุ่งนำผลิตผลไปขายที่ตลาดแห่งใด และแนวโน้มตลาดจะเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้เกษตรกรไม่อาจทำเองได้ ดังนั้นภาครัฐต้องมีหน้าที่ศึกษาวิจัย  แบบนี้คือการทำเกษตรแบบวางแผนครบวงจร ต้องทำ

สร้างระบบสำมะโนการเกษตร

สุเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นโยบายพรรค รปช.เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำ สำมะโนการเกษตร คือเกษตรกรทุกคนต้องมีชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ ว่าเขาเป็นเกษตรกร ประเภทไหน  ผลิตอะไร เช่น ทำนาหรือปลูกข้าวโพด ปลูกอ้อย ทำในเนื้อที่เท่าใด และปลูกอยู่ตรงพื้นที่ส่วนไหน มีจีพีเอสตรวจสอบแล้วว่าเขามีพื้นที่ทำการเกษตรเท่าใด และประวัติของผลผลิตการเกษตรในพื้นที่เป็นอย่างไร จะได้ทำให้มีฐานข้อมูล รู้ยอดได้ว่าพืชผลการเกษตรแต่ละชนิดที่ผลิตออกมาแต่ละปีจะมีผลผลิตเท่าไหร่กันแน่ และทุกปีที่มีการผลิตออกมาจะต้องมีรายงานอยู่ในคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล

...ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีฐานข้อมูลเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลมารู้อีกทีก็ตอนที่ชาวบ้านขายของไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเกษตรที่ไม่ได้วางแผน ปัจจัยการผลิตที่สำคัญจะต้องมีการแก้ไข ทั้งเรื่อง น้ำ ที่ดิน ปุ๋ย  เทคโนโลยี ทั้งหมดต้องทำควบคู่กันไปด้วยและต้องทำแบบจริงจัง ที่จะทำให้สะดวกต่อการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร เพราะได้มีการคาดคำนวณไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเกษตรและแรงงาน

                ...จากหลักการของพรรค รปช.ที่ให้เกษตกรทั้งชาวนา ชาวสวนยางพารา ได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ตามราคาเป้าหมาย หากราคาพืชผลในตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมาย รัฐบาลก็รับผิดชอบไป แต่หากเกินกว่าราคาเป้าหมาย รัฐบาลก็เก็บภาษีพิเศษเข้ากองทุนไว้

                สุเทพ ย้ำว่า จากแนวนโยบายดังกล่าว การแก้ปัญหาของชาวบ้าน-เกษตรกร เป็นเรื่องจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ไม่ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใดก็จำเป็นต้องทำ อย่างในอดีตเคยมีรัฐบาลพยายามจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินมา 2 ล้านล้านบาทเพื่อนำงบประมาณมาเพื่อสร้างเมกะโปรเจกต์ แต่ทำไมกลับไม่มีการคิดจะใช้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อใช้สำหรับยกระดับพืชผลทางการเกษตร หรือวางแผนการผลิตทางการเกษตรแบบนี้บ้าง เราจึงต้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ตระหนักว่าเราได้ปล่อยให้ชีวิตชาวนา เกษตกรเป็นไปตามยถากรรมแบบที่ผ่านมา ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เราไม่ได้ตำหนิในการที่รัฐบาลจะลงทุนมากมายเพื่อให้จีดีพีของประเทศเติบโตขึ้น เพื่อเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ แต่พรรค รปช.เสนอแนวทางว่าต้องให้น้ำหนักความสำคัญในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย การลงทุนเพื่อเอื้ออำนวยแก่อุตสาหกรรมการผลิตหรือการส่งออก เห็นแล้วว่าไม่ได้ทำให้การกระจายรายได้ไปถึงประชาชนข้างล่าง เพราะสภาพข้อเท็จจริง ชีวิตของเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ยังอยู่ห่างจากรายได้จากภาคอุตสาหกรรม การส่งออกอยู่มาก เราไม่สามารถปล่อยให้เป็นไปแบบนั้นได้ จึงเป็นเรื่องที่พรรค รปช.ตั้งใจที่จะทำ

เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส.

สุเทพ-ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค รปช. พูดถึงนโยบายพรรค รปช.ต่อไปว่า อีกหนึ่งปัญหาของประชาชน ที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องของ การศึกษา ซึ่งนโยบายการศึกษาที่ผ่านมาจะพยายามให้เด็กนักเรียนไปเรียนในมหาวิทยาลัยเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ไปเรียนด้านวิชาชีพ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของแรงงาน จึงทำให้พบว่านักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยหลายแสนคนตกงาน ไม่มีงานทำ เพราะข้อเท็จจริงตลาดแรงงานต้องการมืออาชีพด้านต่างๆ แต่ว่ามีจำนวนจำกัด

ข้อเท็จจริงก็คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนเทคนิคต่างๆ ที่จะผลิตนักเรียน นักศึกษาด้านวิชาชีพต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาฯ ทำอยู่ ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะผลิตนักเรียนสายอาชีพออกมา ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูป ปรับเปลี่ยน โดยสนับสนุนให้คนไปเรียนด้านอาชีวะศึกษา สายอาชีพ 80เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 20 เปอร์เซ็นต์ไปเรียนมหาวิทยาลัย

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมาแบกรับ โดยให้เด็กนักเรียนที่เรียนสายอาชีพสามารถศึกษาจนจบชั้น ปวส.โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียน จะได้ไม่เป็นภาระของประชาชนต่อไป

...อันนี้คือสิ่งที่พรรค รปช.จะทำ และต้องมีการจัดการศึกษาในระดับเทคนิควิชาชีพให้สามารถผลิตนักเรียน นักศึกษาที่มีความเป็นมืออาชีพออกมาทำงานในสังคมจริงๆ โดยวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารการศึกษาเหล่านี้ โดยให้แยกออกมาจากระบบราชการ ให้บริหารแบบเอกชน ให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน เช่นสามารถจ้างคนที่เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ มาเป็นครูผู้ฝึกสอน คนฝึกนักเรียน นักศึกษา

                นโยบายของพรรค รปช.คือเด็กทุกคนต้องเรียนฟรีจนสามารถไปประกอบอาชีพได้ในฐานะมืออาชีพ นอกจากนี้ที่สำคัญควรต้องให้มีการสอนธรรมะในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถม-มัธยมศึกษาจนถึงวิทยาลัย เราต้องฝึกสอนค่านิยม-หลักธรรมที่ถูกต้อง คนที่จบออกมาจะได้เป็นมืออาชีพที่มีคุณธรรม คนก็จะรับไปทำงาน

                สุเทพ กล่าวอีกว่าสำหรับด้านสาธารณสุข วันนี้พบความจริงว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  จริงๆ ไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค เพราะบางโรคประชาชนที่เจ็บป่วยก็ไม่สามารถไปรักษาได้ เช่นคนป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับเส้นเลือดที่มีค่ารักษาแพง สถานพยาบาลต้นสังกัดที่รับประชาชนไปรักษา ที่ได้งบเฉลี่ยต่อหัวสามพันกว่าบาท ไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในสาขาโรคนั้นๆ เพราะการรักษาเช่นโรคหัวใจต้องใช้เงินร่วม 4-5 แสนบาท แต่งบที่สถานพยาบาลได้มาคือสามพันกว่าบาท หากเขาต้องตามไปจ่ายเงินก็ต้องขาดทุน

พรรค รปช.จึงเห็นว่าต้องทำโรงพยาบาลตำบลให้เป็นโรงพยาบาลจริงๆ คือมีทั้งแพทย์และพยาบาล ที่สามารถรักษาโรคเบื้องต้นได้หมด รวมถึงต้องทำให้โรงพยาบาลอำเภอต้องสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้  80 เปอร์เซ็นต์ของโรค-อาการเจ็บป่วยทั้งหลาย ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ก็ให้ไปยังโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยหากประชาชนเจ็บป่วย แล้วโรงพยาบาลระดับอำเภอรักษาไม่ได้ต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยโรงพยาบาลระดับอำเภอไม่ต้องตามไปจ่ายค่ารักษาให้ โดยให้โรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญไปเบิกค่ารักษาจากกองทุน เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเกิดความเป็นธรรมในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ประชาชน.

โดย อารีรัตน์ แซ่ตั้ง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"