ยุบ​ 'ทษช.' ​สะเทือนเกมทวงอำนาจ 'แม้ว'​ เพลี่ยงพล้ำ​ จับตา​ 'สู้ต่อ'​


เพิ่มเพื่อน    

 

               ดูเหมือน อาฟเตอร์ช็อก หลังวันประวัติศาสตร์ทางการเมือง 8 กุมภาพันธ์ ยังคงสั่นไหวเป็นระลอก ต่อยอดเป็นหลายประเด็น

                ข่าวคราว รัฐประหารซ้อน คือ “อาฟเตอร์ช็อก” ลูกแรก หลังค่ำคืนแผ่นดินไหว ข่าวลือ ข่าวลวง มากมายเกลื่อนกราดโซเชียลมีเดีย ว่า ประเทศไทยจะต้องพบเจอกับอะไรอีกบ้าง

                โดยเฉพาะภาพการเคลื่อนย้ายยานพาหนะทางการทหาร ของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ไปฝึกตรวจความพร้อมรบที่ จ.ลพบุรี ถูกตีความว่า ทหารกำลังเข้าสู่เมืองกรุง เพื่อเตรียมปฏิบัติการบางอย่าง

                ห้วงเวลาเดียวกัน มีคำสั่งด่วนหลุดออกมา ซึ่งเป็นคำสั่งจาก ผบก.ภ.จว.พิจิตร ถึงรอง ผบก.ภ.จว.พิจิตร (รับผิดชอบความมั่นคง) และ ผกก.สภ., สวญ.สภ., สว.สภ., สว.ฝอ.4 (กบ.), สว.ฝอ.6 (งป.ก.) ภ.วจ.พิจิตร ที่ 0021(พจ.) 175 ลงวันที่ 9 ก.พ.62 ให้มีการเตรียมกำลังข้าราชการตำรวจ และกองร้อยควบคุมฝูงชนให้อยู่ในความพร้อม สามารถระดมกำลังได้ภายใน 1 ชั่วโมงเมื่อได้รับคำสั่งนั้น

                พร้อมกันนั้นยังมีกระแสข่าวว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปประเทศเยอรมัน ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์

                นอกจากนี้ ยังมี เอกสารปลอม ซึ่งเป็นคำสั่งปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ ว่อนโซเชียลมีเดีย

                สารพัด ข่าวลือ ช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศดูอึมครึม ความเชื่อมั่นหดหาย ตลอดจนเกิดคำถามว่า จะยังมีการเลือกตั้งอยู่หรือไม่

                จน “รัฐบาล” และ “กองทัพ” ต้องเร่งออกมาสยบข่าวลวง เพื่อกระชากความเชื่อมั่นให้เร็วที่สุด และไม่ให้บานปลายไปกว่านี้

                 เริ่มตั้งแต่การออกมาชี้แจงว่า การลำเลียงยานพาหนะทหารเป็นการฝึกปกติ ขณะที่ “บิ๊กตู่” สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเอาผิดกับผู้ทำเอกสารปลอม

                รวมถึงตัว บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมายืนยันเองกับตัวว่า จะไม่ทำรัฐประหาร พร้อมทั้งกำชับในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกว่า ขอให้กำลังพลสนับสนุนรัฐบาล เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำมาเสียของ ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นว่า กองทัพยังสนับสนุน “บิ๊กตู่”

                ตลอดจนการออกงานคู่ของ “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กแดง” ที่กองพลรบพิเศษที่ 1 จ.ลพบุรี เพื่อตรวจความพร้อมการสาธิตฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภับแบบบูรณาการ ประจำปี 2562 ร่วมกับทหารรักษาพระองค์และเหล่าทัพ เพื่อเป็นการสยบข่าวลือทั้งปวงว่า “กองทัพ” และ “บิ๊กตู่” เป็นเนื้อเดียวกัน

                ข่าวคราว “รัฐประหารซ้อน” เริ่มซาลง หลัง “รัฐบาล” และ “กองทัพ” พร้อมใจกันประสานเสียง ทว่า บทสรุปของประเทศต่อจากนี้กลายมาเป็นคำถามว่า จะเดินกลับสู่จุดเดิมอีกหรือไม่

                เพราะ “อาฟเตอร์ช็อก” ลูกที่มีแรงสั่นไหวและมีผลต่อการเมืองไทยอย่างกรณียุบพรรค “ไทยรักษาชาติ” หรือ “ทษช.” กำลังสั่นสะเทือนอยู่ ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค “ทษช.” ตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีการเสนอ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                และในเวลาอันรวดเร็ว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ “รับคำร้อง” ดังกล่าวไว้พิจารณา โดยให้ “ทษช.” ชี้แจงกรณีดังกล่าวภายใน 7 วัน

                แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการเป็นไปโดยรวดเร็ว แต่ “ทษช.” เองก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ได้อย่างถนัดนัก เพราะมูลเหตุที่ กกต.ใช้คือ พระราชโองการ ในค่ำคืนของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่ง ชัดเจนที่สุด

                หากดูไทม์ไลน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลา “ทษช.” ชี้แจงภายใน 7 วัน และนัดพิจารณาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถือเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างเร็วพอสมควร จนมีแนวโน้มว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

                ส่วนหนึ่งเพราะการยุบพรรค “ทษช.” ก่อนหรือหลังประกาศผลจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง เนื่องจากหากมีการยุบพรรคก่อน นอกจากกรรมการบริหารพรรค ทษช.จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ จะหมดสิทธิ์ลงสมัคร เพราะไม่สามารถหาต้นสังกัดใหม่ได้ทัน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วันก่อนการเลือกตั้ง

                แต่ถ้ามีการยุบพรรคหลังเลือกตั้ง และหลังประกาศผลแล้ว ผู้ที่เป็น ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังมีโอกาสได้เป็น ส.ส. เพียงแต่ต้องไปหาพรรคอยู่ใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน 

                ถึงตรงนี้แม้จะมีแนวโน้มว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาด้วยความรวดเร็ว แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป หากศาลเห็นว่าต้องไต่สวนและหาพยานหลักฐาน ซึ่งต้องใช้เวลา

                ทั้งนี้ การยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง ดูจะส่งผลกระทบต่อ “ทษช.” มากกว่ายุบหลังเลือกตั้ง เพราะตอนนั้นคนเหล่านี้ยังหาสังกัดใหม่ได้ จำนวน ส.ส.ไม่ได้หายไป

                ต่างจากการยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง ที่ไม่ใช่แค่กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่ผู้สมัคร ส.ส.เองไม่ว่ารูปแบบใดต่างก็หมดสิทธิ์สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

                 “ทษช.” ส่งผู้สมัครแบบเขต จำนวน 175 เขต เกือบทั้งหมดไม่ทับซ้อนกับ “เพื่อไทย” ที่ถูกมองว่าเป็น “พรรคแม่” แม้ตามยุทธศาสตร์พรรคดังกล่าวถูกส่งลงมาเพื่อเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จากเป้าที่หวังไว้จำนวน 30-40 ที่นั่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ ยังมีถึง 7-8 เขต ที่ “ทษช.” มั่นใจว่าจะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตด้วย

                หากที่สุดต้องถูกยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส.ของ “ทษช.” จะหายไป 175 เขตทันที นั่นส่งผลให้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์หายไปทั้งหมด และจะถูกหารไปยังพรรคอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง

                และ 7-8 เขต ที่ “ทษช.” มั่งหวังว่าจะได้ ส.ส.เขตแน่นอน อาทิ จ.แพร่ จ.พิจิตร จ.มหาสารคาม จะเหมือนกับการยกที่นั่ง ส.ส.ไปให้คู่แข่งที่เป็นพระรองขาประจำ ซึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทั้งคู่

                คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่จะเอาไปรวมกับ “พรรคตระกูลเพื่อ” หายไป ซ้ำร้ายกว่ายังไปเพิ่มปริมาณ ส.ส.เขตให้กับคู่แข่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ต่างอะไรกับ “เรือล่มในหนอง”

                แม้จะมีคะแนนสงสารไหลไปฟากฝั่งนี้กรณี “ทษช.” ถูกยุบ ทว่า คะแนนก็ไม่สามารถจะทำให้เกิด “แลนด์สไลด์” ได้ ในเมื่อ “เพื่อไทย” ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตเพียง 250 เขต               

                คะแนนของ “ทษช.” จะถูกหารไปทางพรรคเพื่อชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย ที่ประกาศเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” เหมือนกัน ซึ่งโอกาสที่จะรวมกันได้ 376 ที่นั่ง อย่างที่หวังก็ถือว่ายาก! 

                ขณะที่ “พรรคเพื่อชาติ” อีกพรรคของ “ตระกูลเพื่อ” ที่ถูกคาดหมายให้รับหน้าที่แทน “ทษช.” กรณีถูกยุบพรรค เนื่องจากส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงครบทั้ง 350 เขต ตัวผู้สมัครเองเป็น “แถวสาม” ที่ถูกกรองมาจาก “เพื่อไทย” และ “ทษช.” อีกที โอกาสจะทดแทนได้ก็ยากเช่นกัน

                ที่สำคัญ “พรรคเพื่อชาติ” เอง ยังคงถูกตั้งเครื่องหมายคำถามว่า ทั้ง “จตุพร พรหมพันธุ์” และ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กองเชียร์พรรค กำลังเล่นการเมือง “สองหน้า” และ อยู่ฝั่ง “เพื่อไทย” 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่เมื่อถึงเวลา

                นี่เป็น “สมการ” ที่ คนแดนไกล กำลังคิดหาวิธีแก้ไข และจะเป็นความเคลื่อนไหวตลอดช่วงการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ

                ถ้า “ทษช.” แพ้ฟาวล์ตั้งแต่ต้นเกม กับอะไหล่ที่เหลือจะดำเนินการอย่างไร แต่ที่แน่ๆ สัญญาณมันชัดว่า “ยังสู้อยู่”

                เพียงแต่รอดูคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะเป็นอย่างไร!!!

 

                                                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"