หนักแผ่นดินเอฟเฟกต์!'เกษียร'ตั้งคำถามนักวิชาการทำขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของพคท.หายไปไหน?


เพิ่มเพื่อน    

19 ก.พ.62- -ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kasian Tejapira   ตั้งคำถามว่า

 นักวิชาการทำขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท. หายไปไหน?

ผมอดแปลกใจไม่ได้มานานแล้วว่า ทำไมงานหลายชิ้นที่เสนอภาพรวมการเมืองไทยนับแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงมักกล่าวถึงพลังขบวนการนักศึกษาประชาชน พลังภาคธุรกิจเอกชนในฐานะพลังนอกระบบราชการ แต่ไม่ยักเอ่ยถึงพลังนอกระบบราชการที่ใหญ่โตมโหฬาร โดดเด่นและส่งผลต่อสมรรถภาพและความเป็นอิสระ (เข้มแข็ง/อ่อนแอ) ของรัฐราชการไทยมากที่สุดไปพลังหนึ่ง

คือขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท.(ซึ่งมี ๓ ประเทศคอมมิวนิสต์อินโดจีนและจีนหนุนหลังด้วย)

ยังมิพักต้องพูดว่าในช่วงหลังเพลง "หนักแผ่นดิน" และอื่น ๆ ปลุกคนไทยลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันจนถึงจุดสุดยอดเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แล้ว พลังขบวนการนักศึกษาประชาชนจะเข้าป่าไปประสานกับพลังขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท. อีกด้วย

ผมเคยอ่าน syllabus วิชาการเมืองไทยระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่งซึ่งเสนอภาพจากก่อน ๒๔๗๕ มาจนถึงสมัยหลังพฤษภาฯ ๒๕๓๕ โดยไม่เอ่ยถึงสงครามประชาชนระหว่างรัฐบาลไทยกับพคท.เลยแม้แต่หัวข้อเดียวหรือคำเดียว!?!

ภาพของพุทธทศวรรษ ๒๕๒๐ (ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ) ที่นำเสนอออกมาจึงมักเป็นแค่ทาง ๒ แพร่ง ระหว่าง รัฐราชการอำนาจนิยมแบบเดิม กับ รัฐประชาธิปไตยครึ่งใบที่ค่อย ๆ แบ่งปันอำนาจให้นักการเมืองจากการเลือกตั้งและภาคธุรกิจเอกชน และเปิดกว้างมากขึ้น

ผมกลับเห็นพ้องกับวิสัยทัศน์ของครู Ben Anderson ในบทความ "Murder and Progress in Modern Siam" (1990 https://newleftreview.org/…/benedict-anderson-murder-and-pr…) ว่าการเมืองไทยในพุทธทศวรรษที่ ๒๕๒๐ คือความสำเร็จของกระฎุมพีไทยในการหลีกเลี่ยง/เอาชนะทางเลือกสุดโต่งสองทาง คือ
๑) การปฏิวัติด้วยอาวุธของ พคท.
๒) เผด็จการขวาจัดของรัฐราชการ
แล้วเลือกเดินแนวทางที่ 
๓) ค่อย ๆ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบรัฐสภากระฎุมพีจากการเลือกตั้งขึ้นตามลำดับจนนำไปสู่ระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยเต็มใบในที่สุด

ถ้าจะประเมินพลังอำนาจของรัฐราชการโดยเปรียบเทียบ/สัมพัทธ์กับพลังนอกระบบราชการในพุทธทศวรรษ ๒๕๒๐ ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบแล้ว ย่อมมิอาจมองข้ามพลังแห่งขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบทของ พคท. ได้ ซึ่งแม้ล่มสลายลงเพราะความขัดแย้งภายในขบวนการและระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันเองในระดับภูมิภาค แต่ก็ส่งผลเปลี่ยนแนวทางนโยบายพฤติกรรมรวมทั้งสัมพันธภาพทางอำนาจของรัฐราชการและกระฎุมพีไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศไปมากสมควร.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"