สนช.เมินเสียงต้านเดินหน้าถกพ.ร.บ.ข้าว


เพิ่มเพื่อน    

20 ก.พ. 62 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วันนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. ... ในวาระสองและวาระสาม ซึ่งบรรยากาศก่อนการเริ่มพิจารณานั้น ปรากฏว่า มีกลุ่มต่อต้านร่างกฏหมายดังกล่าวมายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ สมาชิก สนช. ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว ถึง 2 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ 

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความเป็นห่วงในส่วนของร่างกฏหมาย มาตรา 6 สัดส่วนของกรรมการจากผู้แทนองค์กรเกษตรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการ และนักการเมือง ซึ่งมีจำนวน 14 คน ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบาย และแผนพัฒนาข้าวทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อสัดส่วนของเกษตรกรน้อยมาก ก็ไม่มีมีสิทธิมีเสียงพอในการแสดงความเห็น หรือกรณีที่ต้องลงมติกันในเรื่องใด จึงอยากเสนอให้สัดส่วนของเกษตรกรมีจำนวนมากกว่านี้

ทั้งนี้ มาตรา 20 ระบบข้อมูลที่ตัวกฎหมายเขียนให้มีระบบส่งใบรับรองข้าวทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเกษตรกร มาตรา 21 การจัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศ เป็นลักษณะโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งไม่ควรพิจารณาเพียงแค่กายภาพของพื้นที่หรือวัตถุประสงค์เพื่อการค้าเท่านั้น เพราการผลิตข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศ มาตรา 27/2 เป็นการบัญญัติให้มีการส่งเสริม และสนับสนุน เฉพาะพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์ และเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามเขตศักยภาพการผลิตข้าว ที่กำหนดโดยกรมการข้าวเท่านั้น ทั้งๆที่สายพันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้นโดยชาวนารายย่อย และชุมชนตามวิถีวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม แต่ไม่ถูกกำหนดไว้เลย

"ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าไม่ควรรีบเร่งในการออกกฎหมายที่กระทบสังคมในวงกว้าง และควรรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้ สนช. ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง" น.ส.ทัศนีย์ ระบุ

เมื่อถามว่า ตามที่สนช.ระบุว่าใช้เวลาถึง 2 ปี ในการรับฟังความเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ทางเครือข่ายฯได้แสดงความเห็นหรือไม่ น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า ทราบว่ามีการรับฟังความเห็นผ่านศูนย์ข้าวชุมชน และผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนก็ผลิตข้าวให้กรมการข้าว แต่ในส่วนของชาวนาทั่วไปกว่า 1,000 แห่ง ไม่เคยได้รับฟังความเห็นเลย

“กฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงกับความต้องการของชาวนา และไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวนาให้มีอิสระ ให้มีความเข้มแข็งในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของตัวเองได้ แต่เป็นการรวมศูนย์อำนาจให้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้สนช. และรัฐบาล รับฟังความเห็นประชาชน ไม่ควรออกกฎหมายที่เป็นน้ำตาของชาวนา” สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าว

ด้าน พล.อ.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ขอยืนยันให้คลายความกังวล ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวต่างๆ ไม่มีผลกระทบกับชาวนาหรือเกษตรกรทั้งสิ้น รวมทั้งนักวิชาการที่ปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ผ่านมา สนช. รับฟังความเห็นมาตลอด 2 ปี ทั่วทุกพื้นที่ และสมาคมชาวนาก็ไม่ได้คัดค้าน ทุกคนเข้าใจกันหมดแล้ว ซึ่งข้อห่วงใยของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในครั้งนี้ เราได้ดำเนินการแก้ไขหมดสิ้นแล้ว ยืนยันว่าชาวนาได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าเดิม และจะทำให้ชาวนามีอาชีพที่มั่นคง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้ร้องขอต่อพล.อ.ศุภวุฒิ เพื่อขอเข้าฟังการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ข้าว วาระสอง และวาระสาม ในห้องประชุมรัฐสภา แต่พล.อ.ศุภวุฒิ ระบุว่าขอให้ตัวแทนทำหนังสือร้องขอเข้าฟังการประชุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและยื่นต่อเจ้าหน้าที่ก่อน 

ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ สนช. ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น พล.อ.ศุภวุฒิ ยืนยันว่าไม่สามารถชะลอได้แล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"