กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สกัดฝุ่นละออง“PM 2.5” ระดมสมองวางมาตรการสู้ระยะยาว


เพิ่มเพื่อน    

 

              

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลจะคลี่คลายลงแล้ว แต่คาดการณ์ว่าในอนาคตสถานการณ์เหล่านี้ยังมีโอกาสกลับมาได้อีก ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจกลับมาเกิดขึ้นอีก โดยมีทั้งมาตรการในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งมอบหมายให้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดเวทีเสวนา “แนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย” เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงจัดเวทีกลุ่มย่อยระดมสมองหาแนวทางเพิ่มเติมจากภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

               

“การประชุมครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ จากหน่วยงานและภาคีความร่วมมือต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก โดยทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการเสวนา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำไปประมวลเป็นมาตรการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป”

               

นายวิจารย์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการที่ ทส. วางไว้ในเบื้องต้นนั้น ได้มุ่งไปที่การจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก คือ การจราจร การเผาในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการจราจรที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง 54% และ 86% เกิดจากรถยนต์ดีเซล โดยมาตรการเร่งด่วน อาทิ เร่งนำน้ำมันดีเซลเทียบเท่า EURO 5 มาจำหน่าย, เพิ่มจุดตรวจควันดำ, ชะลอกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นจากการสร้างรถไฟฟ้า, การห้ามเผาในที่โล่ง, ขอความร่วมมือโรงงานหยุดหรือลดกำลังผลิต และปฏิบัติการฝนเทียม เป็นต้น

 

              

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว เช่น ประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐาน EURO 5 ในปี 2564, เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐาน EURO 6 ในปี 2566, พัฒนาโครงข่ายบริการขนส่งสาธารณะ, เพิ่มภาษีรถยนต์เก่า ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า, เร่งรัดแผนเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. เป็นรถมลพิษต่ำ, กำหนดให้ติดตั้ง Diesel Particulate Filter (DPF), ให้เจ้าของ/ผู้ประกอบการที่มีการเผาในที่โล่งในพื้นที่ครอบครองเป็นความผิดอาญา, ควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง, การปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ยรายปีตามข้อเสนอ WHO และพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศและการควบคุมเป็นระบบ Single Command เป็นต้น

               

“ในอนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังฝุ่นขนาดต่าง ๆ มากขึ้น ตั้งแต่ 10 ไมครอนลงมา จนถึง 0.1 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่า 2.5 ที่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญด้วย รวมถึงเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ซึ่งต่อนนี้เรามีค่อนข้างน้อย จึงต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ไม่ได้อยู่กับที่ มันสามารถข้ามแดนได้ และเกิดจากแหล่งกำเนิดหลายประเภท มาตรการที่ใช้แก้ไขและบรรเทาสถานการณ์จึงต่างกันไป” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำ

               

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวบนเวทีเสวนา “แนวทางและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย” ว่า มีการเฝ้าระวัง 22 โรงพยาบาลใน กทม. และปริมณฑล ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พบตัวเลขผู้ป่วยอยู่ที่ 1,000 กว่าราย สิ่งที่เราเห็นคือเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ คนเข้าสู่ระบบคัดกรองมากขึ้น โดยเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 0-10 ปี และ 50-60 ปี กลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีโรคหอบหืด ถุงลมอุดกลั้น โรคหัวใจสูง โดย จ. สมุทรปราการ สูงสุด และจากนี้ PM 2.5 จะเป็นสิ่งที่ถูกนำมาวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ของแพทย์อีกอย่างหนึ่งเพื่อติดตามการเกิดโรคระยะยาว เช่น มะเร็ง เป็นต้น

               

นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากตัวเลขการวิเคราะห์ความเสียหายทางเศรษฐกิจของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ในช่วงที่เกิดฝุ่น PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล ระยะเวลา 65 วัน สร้างความเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายด้านสุขภาพ ถ้าสะสมทุกปีความเสียหายจะมากขนาดไหน ดังนั้นการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันที่ต้องลงทุนหลักหมื่นล้านนั้น ถ้าลงทุนแล้วใช้ได้นานก็คุ้ม

               

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ในส่วนการลดมลพิษยานยนต์ มี 4 เรื่องหลัก คือ 1.เทคโนโลยีสะอาด 2.การใช้เชื้อเพลิงสะอาด 3.มาตรการจัดการรถเก่าและการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม 4.มาตรการลดระยะเดินทางจากการใช้รถ และสิ่งที่ต้องรีบทำคือการปรับมาตรฐาน  Euro 5 และ Euro 6 ในรถทุกประเภท นอกจากนั้นต้องส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปัญหานี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานรัฐ เรื่องนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"