ส่งออกม.ค.ทรุด หดตัวรอบ30ด. กัดฟันดันโต8%


เพิ่มเพื่อน    

 “ส่งออก” ปีหมูประเดิมไม่สวย ม.ค.ติดลบ 5.65% ต่อเนื่อง 3 เดือน ทำขาดดุล 4,032 ล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 7 ปี ชี้เหตุสงครามการค้า-ค่าเงินบาทที่แข็งโป๊ก เตือนผู้ส่งออกอย่าคิดว่าบาทจะแข็งแค่ 31 บาท/ดอลลาร์

     เมื่อวันศุกร์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคม (ม.ค.) 2562 ว่ามีมูลค่า 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 5.65% เทียบกับ ม.ค.2561 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน และติดลบครั้งแรกในรอบปีนี้ แต่ถ้าเทียบในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 6.16 แสนล้านบาท ลดลง 5.72% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 2.30 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.99% ทำให้เดือน ม.ค.ขาดดุลการค้าเดือน ม.ค.2562 มูลค่า 4,032.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือน ม.ค.2556 ที่ไทยขาดดุลการค้า 5,916.2 ล้านดอลลาร์
    น.ส.พิมพ์ชนกแถลงต่อว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ม.ค.ติดลบ มีสาเหตุสำคัญคือ ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้การส่งออกไทยในเดือน ม.ค.2562 สูญเสียรายได้ 240.5 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นผลจากมาตรการทางตรงสหรัฐที่ใช้มาตรการภาษีกับสินค้าทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มที่สหรัฐใช้มาตรการภาษีมีการส่งออกไปสหรัฐ 64.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.25% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทยในเดือนนี้ 4.92 ล้านดอลลาร์ เช่น โซลาร์เซลล์ ส่งออกเพิ่ม 24.2% เครื่องซักผ้าส่งออกเพิ่ม 6.6% เหล็ก ลด 2.7% อะลูมิเนียม เพิ่ม 46.1%
     ขณะที่กลุ่มสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน แต่ได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าจีนถูกสหรัฐใช้มาตรการภาษี พบว่าการส่งออกสินค้าไทยกลุ่มดังกล่าวไปจีนมีมูลค่า 1,877 ล้านดอลลาร์ ลดลง 17.3% ซึ่งเป็นผลลบต่อการส่งออกทำให้ไทยสูญเสียรายได้ 393.4 ล้านดอลลาร์ เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบลด 49.7% ของใช้ในบ้านและออฟฟิศลด 39.6% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจรลด 22.3% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบลด 4.4% อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่มลด 40.6% เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกลด 7.1% และผลจากการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ พบว่ามีมูลค่า 1,723 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.4% มีผลบวกต่อการส่งออก 148 ล้านดอลลาร์ เช่น เหล็กเพิ่ม 66.8% เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติกเพิ่ม 16.3%
     นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยเดือน ม.ค.ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่มีคำสั่งซื้อชะลอตัวลง เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน และกระทบต่อผู้ส่งออกที่ได้รายได้เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทลดลง ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ในส่วนของผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยง และอย่าคิดว่าเงินบาทจะหยุดแข็งค่าแค่ 31 บาท/ดอลลาร์ เพราะมีแนวโน้มที่เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง และผู้ผลิตควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่านำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเข้ามาลงทุน
     “ส่วนผลกระทบอื่นๆ คือราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าลดลง ราคาทองคำลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกทองคำลดลง และการส่งออกรถยนต์ในเดือน ม.ค.ส่งออกได้น้อย 8 หมื่นคัน จากออเดอร์ที่สั่งเข้ามา 1 แสนตัน แต่เชื่อว่าการส่งออกรถยนต์จะกลับมาปกติภายใน 1-2 เดือน หลังจากที่ผู้ประกอบการปรับแผนการผลิต ขณะที่การขาดดุลการค้าในเดือนนี้ที่สูงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าอาวุธยุทธปัจจัย มีมูลค่า 2,133 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4,837.50% เนื่องจากมีการซ้อมรบระหว่างไทยและสหรัฐ และซ้อมรบไทยและญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองประเทศมีการนำเข้าอาวุธในการซ้อมรบเข้ามา ซึ่งถูกบันทึกในระบบของศุลกากร” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
    ทั้งนี้ การส่งออกปี 2562 หากจะโตได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 8% มูลค่าส่งออกที่เหลือต้องได้เดือนละ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หากโต 5% การส่งออกต้องได้เดือนละ 2.23 หมื่นล้านดอลลาร์ และหากโต 3% การส่งออกต้องได้เดือนละ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 1 ยังได้รับผลกระทบของสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่า คาดว่าสถานการณ์ส่งออกจะกลับมาดีขึ้นประมาณไตรมาส 2 เป็นต้นไป
     “ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วง 1-2 เดือนนี้ นอกจากสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า คือผลกระทบจากการที่ประเทศคู่แข่งของไทยทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆ เช่น เอฟทีเอเวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) และการที่ไทยถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) วันที่ 1 เม.ย.2562 ซึ่งเป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว และว่า แนวโน้มการแข่งขันในภูมิภาคที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชาและเมียนมาถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจะทำให้มีการแข่งขันกับไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดจีน อีกทั้งจีนมีนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหารที่ส่งเสริมการปลูกพืชในประเทศต่างๆ ก็จะกระทบกับไทยเช่นกัน โดยเฉพาะยางพาราที่ไทยควรต้องลดพื้นที่ปลูกอย่างจริงจัง เพราะแนวโน้มแข่งขันสูง       
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รายงานถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ม.ค.2562 อยู่ที่ 18,993.9 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.65% ถือว่าหดตัวมากกว่าที่คาด และนับว่าเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 30 เดือน (ตั้งแต่ ก.ค.2559)  โดยมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอียู ผลกระทบสงครามการค้า และราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับสูง
          “ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในปี 2562 ไว้ที่ 4.5% โดยทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสแรกจะหดตัวในช่วงติดลบ 4-8% หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 19,300-20,100 ล้านดอลลาร์” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"