ออกจากเผด็จการ ต้องเอาชนะให้ได้


เพิ่มเพื่อน    

 หยุด คสช.สืบทอดอำนาจ ต้องเอาชนะให้ได้

                การเข้าสู่สนามการเมือง-การเลือกตั้งของ พรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกจับตาและถูกพูดถึงนับแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันที่เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนจะถึงวันเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

                ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อ่านทิศทางการเลือกตั้งต่อจากนี้ โดยเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย

การเลือกตั้งครั้งนี้ หากเสรี เป็นธรรม เท่าเทียม แฟร์จริงๆ ตามมาตรฐานสากล พลเอกประยุทธ์ไม่มีวันได้กลับมาเป็นนายกฯ แน่นอน เพราะเสียงของฝ่ายไม่เอาพลเอกประยุทธ์จะชนะถล่มทลาย

...การหาเสียงเลือกตั้งถึงนาทีสุดท้าย คงไปถึงการตัดสินใจในเรื่องจะเอาการสืบทอดอำนาจ หรือไม่สืบทอดอำนาจ แม้หากดูแต่ละนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองชูธงขึ้น จะพบว่าคล้ายๆ กันหมด ซึ่งพบว่าเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามาก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เช่น เรื่องกองทัพ การกระจายอำนาจ การอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ เรื่องเทคโนโลยี การปฏิรูปการศึกษา พูดคล้ายกันหมด แต่สุดท้ายจะไปตัดกันตรงที่ว่า จะเอาสืบทอดอำนาจ หรือไม่สืบทอดอำนาจ

...หากพรรคการเมืองใดยังไม่ยืนยันชัดเจน ก็อาจต้องสมมุติฐานก่อนว่า ไปร่วมกันได้ เพราะถ้าคนไม่ร่วม ก็ต้องพูดอยู่แล้วว่าไม่ร่วม แต่พรรคการเมืองใด อ้อมๆ แอ้มๆ ก็คือ สนับสนุนแน่ แต่ของพรรคอนาคตใหม่ เรามองไปไกลกว่านั้นอีกหนึ่งขั้น คือคำว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.ไม่ใช่การกลับไปก่อนปี 2557 แต่ต้องมองขึ้นไปข้างหน้า

ปิยบุตร-อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ขยายความชุดความคิดนี้ว่า ที่ผ่านมา ดุลกำลังของฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.-ดุลกำลังของฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คสช. มันพอฟัดพอเหวี่ยงกันมาโดยตลอด แล้วพอรัฐประหารจบ กลับไปเลือกตั้ง ปีกนี้ก็จะขึ้น แล้วพอสักพักก็จะมีการยึดอำนาจอีก แล้วสักพักก็เลือกตั้งอีก เพราะดุลกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายยังเท่าเทียมกันอยู่ ยังไม่มีใครแพ้ใครชนะกันเด็ดขาด

พรรคอนาคตใหม่เสนอตัวมาเป็นทางเลือกอันใหม่ เพื่อจะบอกว่าการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.ของพรรคจะนำไปสู่การเมืองแบบใหม่ จะนำไปสู่ระบบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ให้คนกลับมาเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยในรัฐสภาอีกครั้ง 

...เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่หลงผิดไปเชียร์รัฐประหารจำนวนมาก หลายคนเป็นคนที่เคยต่อต้าน พลเอกสุจินดา คราประยูร ตอนพฤษภาฯ ปี 2535 หลายคนเคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมา แต่ ณ วันหนึ่งเขากลับไปสนับสนุนทหาร แสดงว่าต้องมีมูลเหตุบางอย่าง นั่นก็คือ เขาเสียความมั่นใจกับการเมืองในระบบรัฐสภา เสียความมั่นใจกับการใช้อำนาจของเสียงข้างมาก แล้วเขาไม่มีทางออก จะสวิงไปหาพรรคฝ่ายค้าน ก็รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ ก็เลยสวิงไปหาทหารเลย เรื่องนี้คล้ายกับที่เกิดขึ้นในตะวันตก ซึ่งพอผิดหวังกับพรรคการเมือง ก็สวิงไปหาพวกขวาจัด แต่ของเราไม่มีพรรคขวาจัด ก็สวิงไปหาเผด็จการทหารเลย

ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งที่ไปหนุนเผด็จการทหาร เพราะเขาผิดหวัง เขาไม่เชื่อมั่นกับ ระบบรัฐสภา ระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นเพื่อจะบอกว่า เมื่อคุณเห็นการเมืองแบบที่มันไม่ดี การเมืองที่คุณผิดหวังมาก ไปต่อไม่ได้ ไม่จำเป็นที่ต้องไปหาทหาร แต่ให้มาหาทางเลือกแบบใหม่ ซึ่งพรรคเรากำลังทำ

                เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวต่อว่า การต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในความหมายของพรรคไม่ใช่แค่การถอยกลับไปการเมืองแบบเดิม เราต่อต้าน คสช. และเราพร้อมจะสร้างการเมืองแบบใหม่ด้วย นี่คือสิ่งที่เราแตกต่าง จาก Front ของการต่อสู้เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. สิ่งที่พรรคเราแตกต่างออกมาก็คือเรื่องนี้

-แต่บางพรรคเช่น ปชป. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หรือพลังประชารัฐ บอกว่า ไม่เอาด้วยกับการที่หาเสียงโดยแบ่งเป็น 2 ขั้วคือ เอาหรือไม่เอา คสช. เพราะมองว่าไม่จำเป็น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต?

ผมคิดว่าวิธีการที่สันติที่สุดในการไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจก็คือ ต้องนำการเลือกตั้งครั้งนี้มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะว่ารัฐบาลทหาร เวลาครองอำนาจมาได้สักพัก ยังไง ช้าหรือเร็ว ก็ต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่เมื่อคิดอยากมีอำนาจต่อ ก็ต้องคิดวิธีการสืบทอดอำนาจ โดยใช้เครื่องมือคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง พรรคการเมืองบางพรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อรับรองการสืบทอดอำนาจ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยปี พ.ศ.2511 ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ทำมาแล้ว ตั้งพรรคสหประชาไท หรือยุค รสช.ตอนปี 2534 ตั้งพรรคสามัคคีธรรม

รอบนี้ก็เหมือนกัน ยึดอำนาจเสร็จก็เขียน รธน. แล้วมีพรรคการเมืองที่จะคอยสนับสนุน แล้วก็ให้มีการเลือกตั้ง ก็คือ จะเอาการเลือกตั้งมาชุบตัวเองในการสืบทอดอำนาจ 

หากต้องการหยุดยั้งไม่ให้เขากลับมาอีก ก็ต้องทำด้วยการรณรงค์ผ่านการเลือกตั้งว่าเราต้องเอาชนะเขาให้ได้ แม้กติกาจะไม่ยุติธรรม แต่ต้องเอาชนะให้ได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าต้องออกจากเผด็จการทหาร เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ที่ก็คือสิ่งที่พรรคนำเสนอว่าเราจะไม่ย้อนกลับไปการเมืองแบบปี 2549 (คมช.) หรือก่อนรัฐประหารปี 2557 ที่เป็นการเมืองแบบเดิมๆ แต่เราอยากสร้างอนาคตใหม่ขึ้นมา

การเมืองไทยแบบเดิมผ่านมา เราถูกทำให้เชื่อว่า คุณเจอการเมืองแบบเก่า แล้วพอทนการเมืองแบบเก่าไม่ได้แล้วไม่มีทางออก ก็จะหันไปหาการเมืองแบบทหาร แล้วทหารก็จะเข้ามายึดอำนาจ เป็นเผด็จการ เราถูกบังคับแค่ 2 อย่าง หากคุณเบื่อการเมืองแบบเก่า คุณก็ต้องเชิญทหารให้มายึดอำนาจ แต่ทหารปกครองนานไป แล้วกลับไปเลือกตั้ง ก็ต้องเจอแบบเดิม สังคมเราถูกบังคับให้เป็นแบบนี้นานแล้ว พรรคอนาคตใหม่เสนอตัวของเราขึ้นมา เรากำลังจะบอกว่า มันไม่จริง มันมีอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะที่ผานมามีการนิยามกันว่าใครที่ต่อต้าน ใครที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.นั่นหมายถึงฝ่ายประชาธิปไตย แต่พรรคอนาคตใหม่ขอบอกว่าการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ใช่การถอยกลับไปปี 2549 ถอยกลับไปก่อนปี 2557แต่ของเราคือการมองขึ้นไปข้างหน้า คือยุติอำนาจ คสช.พร้อมกับขึ้นไปข้างหน้าด้วย ไม่ใช่การกลับไปสู่การเมืองแบบจุดเดิม ประเด็นนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าในช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายก่อนออกเสียงเลือกตั้ง พรรคต้องพูดเรื่องนี้มากขึ้น คือนอกจากเสนอการเป็นคนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่า ไม่ใช่ถอยเพื่อกลับไปสู่จุดเดิม นั่นคือ เราต้องไปสร้างการเมืองแบบใหม่

-ที่พรรคพยายามชูนโยบาย แก้ไข รธน.-คัดค้านต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ล้างมรดก คสช.จะทำให้ประเทศดีขึ้นอยางไรหลังเลือกตั้ง?

เราต้องพูดความจริงว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่ ที่เราเห็น 5 ปี ประเทศสงบ ไม่มีการชุมนุม ไม่มีการต่อต้าน นั่นคือความสงบ ด้วยการใช้กำลังกดทับเอาไว้ หากใครแสดงออกก็ถูกจับ แม้แต่ทางโซเชียลมีเดีย ความสงบราบคาบตอนนี้จึงเป็นความสงบภายใต้กระบอกปืน และท็อปบูต และหากวันข้างหน้าเมื่อกระบอกปืน รถถัง ท็อปบูต ถูกยกออกไป ความขัดแย้งชุดเดิมจะกลับมาอีก และจะมากขึ้นด้วย เพราะบางฝ่ายคิดว่าเขาถูกกระทำมาตลอด การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การกด กด กด ลงไปเรื่อยๆ เพราะวันหนึ่งข้างหน้าหม้อน้ำจะระเบิดออกมา

การแก้ปัญหาคุณต้องยอมรับว่ามันมีแล้วนำมาพูดคุยอย่างจริงจัง ซึ่งอุปสรรคที่จะทำให้ปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ก็คือ รธน.ฉบับปัจจุบัน นี่ขนาดยังใช้ไม่เต็มสูบ โดยที่คนร่าง รธน.ก็เป็นคนคนเดียวกัน คนร่าง รธน.ปี 2534 แล้วปี 2535 จบลงอย่างไร หากเรายอมรับกันตรงๆ ว่าปัญหามีอยู่ คนอยากแก้ รธน.ยังมีอยู่ เพราะหากไม่ทำ วันข้างหน้ามันก็จะกลับไปสู่จุดเดิมอีก ซึ่งรัฐบาลเสียงข้างมากในวันข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเดียว แต่ทำพร้อมๆ กันได้ คุณแก้ปัญหาปากท้องพร้อมกับการแก้ไข รธน.ก็ทำได้ แต่ปัญหาคือพอเสียงข้างมากเริ่มจะไปขยับแก้ไข รธน. กลุ่มคนที่ไม่อยากให้แก้ เพราะมันเป็นประโยชน์ของเขา ดังนั้นก็จะออกมาขวาง ทั้งที่คนอยากแก้ก็ยังมีอยู่ ปัญหาก็คือ เราไม่ยอมหยิบมาคุยกันจริงๆ ว่าสุดท้าย รธน.ที่ดีควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าเรื่อง รธน.สำคัญมาก หลายท่านอาจมองว่าไม่เกี่ยวอะไรกับเรา แต่ว่าบ้านเมืองเราที่เป็นแบบนี้มาตลอด เพราะเรายังเห็น รธน.ที่เป็นฉันทามติร่วมกันของคนไทยยังไม่ได้ อาจจะพูดกันว่า รธน.ปี 2540 เป็นฉบับสุดท้ายแล้วที่คนยอมรับกัน แต่หลังจากนั้น เป็น รธน.ที่ผมเรียกว่า แก้แค้นเอาคืน คือแก้-เปลี่ยน รธน. เพราะต้องการขจัดใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วเมื่อทำไม่สำเร็จ ก็ทำมาอีกอันหนึ่ง รธน.แบบนี้ปรองดองไม่ได้แน่นอน รธน.ต้องให้คนทั้งประเทศได้คุยกันว่าจะเอาอย่างไรกับระบอบการเมืองการปกครอง และสถาบันการเมืองต่างๆ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นนานแล้ว ที่เปิดโอกาสให้คนมาทำเรื่อง รธน.กันจริงๆ

หลังเลือกตั้งวันแรก  เริ่มรณรงค์ปลุกแก้ รธน.

-แต่นโยบายของพรรคที่บอกไว้ เช่น การแก้ไข รธน. ในทางปฏิบัติก็ทำได้ยาก เพราะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง รวมถึง ส.ว.มันก็เกิดขึ้นได้ยาก?

การแก้ไข รธน.จะทำได้หรือทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่อาศัยเสียงในรัฐสภาเท่านั้น รธน.หลายฉบับในอดีตถูกฉีก จากนั้นก็ใช้ต่อ และอีกตัวอย่าง การเกิดขึ้นของ รธน.ปี 2540 กลุ่มคนที่คัดค้านไม่ชอบร่าง รธน.ปี 2540 มากที่สุดคือนักการเมืองในช่วงเวลานั้น แต่เกิดกระแสธงเขียว ปฏิรูปการเมืองที่รณรงค์กันหนักมาก จนกดดันให้นักการเมืองในรัฐสภายอมผ่าน และอีกตัวอย่าง รธน.ปี 2550 โดยเวลานั้นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ ก็มีเสียงเพียงพอ มีความพยายามจะแก้หลายครั้ง แต่ก็แก้ไม่ได้ ทั้งแก้ทั้งฉบับและแก้รายมาตรา แสดงให้เห็นว่าการแก้ไข รธน.มันไม่ใช่อาศัยเสียงในรัฐสภาด้วย แต่อาศัยเสียงความต้องการของสังคมประกอบด้วย

พรรคอนาคตใหม่เราขอยืนยันว่า หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม หลังเลือกตั้งวันแรกเสร็จลง พรรคจะเริ่มรณรงค์สร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับสังคมทันทีว่าต้องแก้ไข รธน. หากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบพฤษภา ปี 2535 ต้องแก้ไข รธน. เราจะรณรงค์ทุกส่วนเลย แม้แต่กลุ่มคนที่เคยโหวตรับ รธน. เราก็จะไปคุยกับเขา

ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวต่อว่า ผมเชื่อว่าหากเราทำให้สังคม คนส่วนใหญ่เห็นต้องตรงกัน แม้ไปต่อไม่ได้ เพราะเจออุปสรรคเสียงในรัฐสภา จากเสียง ส.ว.และฝ่ายค้าน แต่ผมเชื่อว่าหากกดดันไปถึงที่สุด มีแรงกดดันเข้าไป ก็จะแก้ไขได้

                ถามย้ำว่า หากพรรคทำแบบที่บอก เช่น รณรงค์ให้แก้ไข รธน. จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หลังเลือกตั้งหรือไม่ ปิยบุตร แจงว่า อย่างที่บอกความขัดแย้งชุดนี้มันมีอยู่แล้ว โดยเริ่มจากที่มีการรัฐประหารปี 2549 แล้วทำไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็มารัฐประหารซ่อมอีกครั้งปี 2557 แล้ว รธน.ที่ใช้ไม่ได้เกิดจากฉันทานุมัติของคนส่วนใหญ่ แต่เกิดจากที่วางกลไกเพื่อจะจัดการอะไรบางอย่าง แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก็มีคนสนับสนุนเยอะมากๆ แล้วถ้าเราบอกว่าจบ ไม่ต้องแก้ ก็เท่ากับเราไม่ยอมรับความจริงว่าความขัดแย้งชุดนี้มีอยู่จริง และเราทราบดีว่ากลไกครั้งนี้ที่ออกแบบมา สุดท้ายพลเอกประยุทธ์อาจกลับมาอีกรอบก็ได้ ผมว่าใครที่อ่าน รธน. อ่านการก้าวเดินของพรรคพลังประชารัฐก็รู้ แต่แบบนี้ มันก็จะยิ่งชัดขึ้นว่า รธน.ฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องอย่างไร ก็จะยิ่งทำให้เรารณรงค์ต่อไปได้ง่ายขึ้น 

                เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พูดลงรายละเอียดถึงโรดแมปการเดินตามนโยบายพรรคในเรื่องการแก้ไข รธน.-การปฏิรูปกองทัพ-การล้างมรดก คสช. โดยลำดับความว่า ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน เกือบ 5 ปี เป็นระบบไม่ปกติมาจากการยึดอำนาจ บทพิสูจน์ที่ชัดคือ มาตรา 44 ที่รัฐบาลปกติไม่มีวันมีอำนาจแบบนี้ อันนี้ผิดปกติชัดเจน ประกาศ-คำสั่งของ คสช.จำนวนมากที่ออกมา เช่น การให้ดำเนินคดีกับคนต่างๆ เมื่อเราบอกว่าพรรคจะไปจัดการกับสิ่งผิดปกติเหล่านี้ มีการถามว่า นโยบายแบบนี้รุนแรงหรือไม่ จะนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ ทั้งที่ความจริงคือเขาทำในสิ่งที่ผิดปกติมาก่อน การที่เราจะนำความปกติกลับมาสู่สังคมไทย จากที่เขาใช้อำนาจพิเศษออกกฎหมาย อะไรต่างๆ เต็มไปหมด มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย แล้วที่สำคัญ ตรวจสอบไม่ได้ ถูกต้องตลอดกาล แบบนี้ผิดปกติชัดเจน

                ที่พรรคอนาคตใหม่ กำลังจะนำสิ่งปกติกลับมา แล้วใครก็ตามที่บอกว่านโยบายล้างมรดก คสช.ของพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นอันตราย ทำบ้านเมืองลุกเป็นไฟ เอาเข้าจริง มันไม่ใช่ แต่เรากำลังนำความปกติคืนให้สังคม ใครก็ตามที่มองว่าเรื่องนี้รุนแรง ก็เพราะเขายืนอยู่ข้างเผด็จการ เลยบอกว่าสิ่งที่เราจะทำเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ

...นโยบายล้างมรดก คสช.ของพรรคอนาคตใหม่ หากคุณยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย คุณมองเข้าไป ก็จะต้องบอกว่ามันผิด เราต้องเข้าไปจัดการ สิ่งที่จะทำมีอะไรบ้าง เช่น ประกาศและคำสั่งของ คสช.ทั้งหมดที่ออกมา เมื่อยึดอำนาจมา แล้วก็ออกคำสั่งต่างๆ ตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จากนั้นออก รธน.ฉบับชั่วคราวปี 2557 บอกว่าสิ่งที่ทำถูกหมด แล้วมาเขียน รธน.ปี 2560 ก็เขียนให้สิ่งที่ทำมาถูกต้องหมดอีก ที่เขียนไว้ในมาตรสุดท้าย 279 ทำให้การใช้อำนาจของ คสช.ถูกต้องตาม รธน.หมดเลย

ปิยบุตร กล่าวต่อว่า เวลาเราทำ พ.ร.บ.หรือออกกฎกระทรวงและการใช้อำนาจต่างๆ ย่อมมีโอกาสที่อาจขัด รธน. แต่หากเป็นประกาศ คำสั่ง คสช. ไม่มีวันขัด รธน. เพราะมาตรา 279 ของ รธน.บัญญัติไว้ แบบนี้เท่ากับเรามี รธน. 2 ฉบับถูกต้องไหม คือ รธน.ฉบับปัจจุบัน และพวกประกาศคำสั่ง คสช.อีกอันหนึ่ง แถมยังเหนือ รธน.อีก แล้วแบบนี้ประเทศเรามี รธน.จริงหรือไม่

เราจึงต้องเข้าไปเลิก รธน.มาตราสุดท้ายของ รธน. คือมาตรา 279 ที่เป็นเกราะคุ้มกันให้กับคำสั่ง ประกาศ คสช. โดยดึงมาตรานี้ออกไป”

...ถ้ายังมีมาตรานี้อยู่ต่อไป เท่ากับเป็นการเขียน รธน.ที่ absurd ที่สุด รธน.ตั้งแต่มาตรา 1 จนถึง 278 ถูกหมดแล้วก็ไล่มาตรามาเรื่อยๆ จนถึงมาตรา 279 ปรากฏว่าทั้ง 278 มาตราไม่มีผล เมื่อเจอประกาศ คำสั่ง คสช. คือทุกมาตราก่อนหน้านี้ ไม่ใช้กับประกาศ คำสั่ง คสช. แบบนี้เพี้ยนที่สุดแล้ว จึงต้องเอา 279 ออกไป หากนำออกไปได้ เท่ากับประกาศ คำสัง คสช.สามารถถูกท้าทายได้แล้วว่าขัด รธน.ไม่มีเกราะคุ้มกัน หากดึงออกไปได้ ก็จะทำให้องค์กรต่างๆ เข้ามาตรวจสอบได้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง

...นอกจากนี้ ประกาศ คำสั่งจำนวนมาก ที่ออกในยุค คสช.ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์จริงๆ ทำลายสถิติสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ไปแล้ว เพราะ คสช.ออกมาเยอะมาก เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยต้องโดนประกาศ คำสั่ง คสช.กระทบแน่นอนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ดังนั้นเราจะนำมาสังคายนา แยกแยะกันโดยพิจารณาว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องปกติ งานรูทีนระบบราชการ หากอันไหนที่ออกไปแล้ว คนสุจริตได้ประโยชน์ก็ต้องปล่อยผ่าน เพราะหากไปย้อนหลัง จะเสียหายกันเยอะ โดยทำให้เป็น พ.ร.บ. แต่ถ้าประกาศ คำสั่ง เรื่องใดละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องทบทวนและเลิกไป อีกเรื่องที่พรรคต้องทำ สำหรับมรดก คสช.ที่ทิ้งไว้ ก็คือ รธน.ฉบับปัจจุบัน อันนี้เฟรมใหญ่เลย เราไม่ได้แค่คิดแก้บางมาตรา แต่เราจะแก้หนึ่งมาตรา เพื่อไปเปิดทางทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วตั้งสภาร่าง รธน.มายกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ

ลุยแน่ รื้อ-ปรับแก้  อัยการศึก-ระบบตั้งบิ๊กทหาร

เมื่อถามถึงแนวทางปฏิรูปกองทัพหลังการเลือกตั้ง เช่นการแก้ไขกฎหมายต่างๆ อย่างกฎอัยการศึก, พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฯ พรรคจะทำอย่างไร ปิยบุตร บอกเล่าแนวทางไว้ว่า สิ่งที่พรรคจะเข้าไปขับเคลื่อนหลักๆ ก็เช่น การแก้ไขปรับปรุงประกาศใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม เพราะ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายเก่าแก่มาก ออกมาตั้งแต่พ.ศ.2457 โดยที่ผ่านมาการประกาศกฎอัยการศึกที่ทหาร-กองทัพทำกัน พรรคเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายอัยการศึกต้องทำทั้งฉบับ โดยให้อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกต้องเป็นของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ตามหลักรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือทหาร หากรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศ แล้วมามีกฎหมายที่ให้อำนาจทหารประกาศอะไรก็ได้ แล้วจะบริหารประเทศกันอย่างไร  ไม่อย่างนั้นบริหารประเทศไปก็ต้องคอยดูว่ากองทัพว่ายังไง ทหารจะซื้ออาวุธ อ้าวไม่ซื้อหรือ ข้ามีกฎอัยการศึกนะ แบบนี้ บริหารประเทศไม่ได้แน่นอน คือคุณบริหารประเทศไปโดยมีนายพลขี่คอคุณ แต่หากเกิดสถานการณ์จริงๆ จำเป็นต้องใช้ ก็ต้องให้รัฐบาลพลเรือนเป็นผู้ประกาศ อีกทั้งการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกต้องถูกตรวจสอบ ต้องมีการรับผิดด้วย

...ส่วน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่ออกมาในยุครัฐประหารปี 2549 แล้วเป็นมรดกตกทอดมา ซึ่งข้าราชการพลเรือนตามกระทรวง กรมต่างๆ พวกซี 10, ซี 11 ก็เป็นอำนาจรัฐบาลรัฐมนตรีในการพิจารณาแต่งตั้ง มีกระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวที่รัฐมนตรีตั้งเองไม่ได้ ต้องเอาเข้าบอร์ดสภากลาโหมที่มี ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.สส.และปลัดกระทรวงกลาโหม แล้วก็มี รมว.กลาโหม และอาจมี รมช.กลาโหมด้วย หากมี รมช.กลาโหม ก็รวมเป็น 7 คน ดังนั้นเท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมีเสียงในที่ประชุมแค่สองเสียง แต่ฝ่ายทหารมีห้าเสียง ทำให้การตั้งทหารคนหนึ่ง รัฐบาลพลเรือนตั้งไม่ได้

                "สมมุติว่า รมว.กลาโหมรู้แล้วว่าผู้บัญชาการทหารเอาปืนจ่อหลังเขาทุกวัน เตรียมยึดอำนาจ แล้วเขาจะปลดหรือจะย้าย หรือตั้งนายพลที่สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ได้บ้ายึดอำนาจเข้ามา แต่เขาต้องไปถามกรรมการชุดนี้ก่อน แบบนี้ให้ตายคุณก็ตั้งไม่ได้ เป็นการเอาทหารขึ้นมาเหนือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หากให้รัฐบาลทหารมาอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน คุณไม่มีวันบริหารประเทศได้แน่นอน เพราะรอยึดอำนาจคุณได้ทุกวัน”

 ถามว่าแม้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมจะผ่านสภามาได้ ก็ต้องให้วุฒิสภาที่มาจาก คสช.และมีผู้นำทหารเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งพิจารณา ซึ่งนั่นอาจทำให้ไม่ได้รับเสียงสนับสนุน ปิยบุตร ยอมรับว่านโยบายหลายเรื่องมันก็ยาก เพราะโครงสร้างตอนนี้มีกลไกเผด็จการ มีกับระเบิดเต็มไปหมด ดังนั้นเรื่องไหนทำได้ต้องทำเลย แต่เรื่องไหนบางทีไม่จำเป็นต้องทำโดยแก้ไข พ.ร.บ.โดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารก็ทำได้เลย ส่วนเรื่องไหนต้องทำโดยเป็น พ.ร.บ. พรรคอนาคตใหม่ขอบอกว่า เมื่อตาม รธน.การเสนอ พ.ร.บ.ให้ใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 เสียง ถ้าเรามีเสียงในสภาถึงตามจำนวน  ก็พร้อมใช้ เพราะตอนนี้เราทำไว้แล้ว ผมร่างไว้แล้ว พวกร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ ถ้าเสียงพรรคถึงตามจำนวน เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติเราเสนอแก้ไขทันที จะผ่านหรือไม่ผ่านไม่รู้ และยังมีศาล รธน.อีก แต่อย่างน้อยที่สุดวันที่เอาร่าง พ.ร.บ.พวกนี้เข้าสภา ได้ยืนพูดในสภา ทำให้สังคมรับรู้ อภิปรายในสภาอย่างมีคุณภาพ โอกาสมันก็มี

ผมก็คิดว่าสภาก็ส่วนหนึ่ง แต่ข้างนอกสภาก็อีกส่วนหนึ่ง ด้านนอกก็รณรงค์ทุกวัน ทั้งเรื่องการแก้ไข รธน. การปฏิรูปทหาร การให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือทหาร จะพูดทุกวันให้คนเห็น ซึ่งการจะทำได้ เสียงในสภาก็ส่วนหนึ่ง แต่เสียงในสภาอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องอาศัยฉันทามติของสังคมควบคู่กันไป.

...........................

 

เสียงฝั่งไม่เอาประยุทธ์ จะชนะถล่มทลาย

                ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ถูกคาดหมายและวิเคราะห์จากหลายฝ่ายว่า จะเป็นพรรคที่ได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากคนรุ่นใหม่ เช่นกลุ่มผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Time Voter ที่มีร่วม 6 ล้านกว่าคน รวมถึงฐานเสียงกลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันโพลสำรวจบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ ของหลายสำนักโพล ก็มีชื่อของธนาธรติดอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง 

                อย่างไรก็ตาม ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า ไม่เคยคิดเรื่องจำนวนเสียง ส.ส.ที่คาดหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้  ที่ผ่านมาไม่ได้ไปดูผลโพลอะไรเลย และอีกด้านหนึ่งหากไปประเมิน ในความเห็นผมส่วนตัว ถ้าไปคิดเรื่องนี้เช่นพอโพลบอกได้น้อยก็จะเสียกำลังใจ แต่หากบอกได้เยอะก็จะลำพองใจอีก เราควรมุ่งหน้าทำเต็มที่เลย แล้วผลเป็นอย่างไรก็พร้อมรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร เพราะการทำงานครั้งนี้คือก้าวแรกเท่านั้นของการต่อสู้ในระยะยาว ดังนั้นหมดครั้งนี้ก็มีครั้งที่สอง

สิ่งที่ผมคิดไว้ก็คือ หลังเลือกตั้งแน่นอนว่าการจะไปแก้ไข รธน.ในช่วงเวลาข้ามวันข้ามคืนคงทำได้ยาก จึงมีแนวคิดจะทดลองทำสภาร่างรัฐธรรมนูญจำลองกันเองโดยใช้เทคโนโลยี โซเชียลมีเดียมาประกอบ เช่นใครมีข้อเสนออยากแก้ไข รธน.เรื่องใดบ้างก็ส่งเข้ามา ทำฟอรัมขึ้นมา เหมือนเป็นสภาร่างรธน.ของประชาชน เราก็เตรียมที่จะทำเรื่องนี้ต่อไป ถ้าคุณมัวแต่กังวลว่าจะได้ ส.ส.กี่คน คุณก็จะไม่กล้าคิดทำอะไร แต่ถามว่าสำคัญไหมเสียง ส.ส.ก็สำคัญแน่นอน เพราะเป็นการปักธงครั้งที่หนึ่ง แต่หากให้ผมประเมินเรื่องจำนวน ส.ส.ผมไม่เคยประเมินเลย ทำงานอย่างเดียว ได้เท่าไหร่ก็ทำตามที่ได้

ปิยบุตร พูดถึง ธนาธร-หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอนาคตใหม่ ว่า สำหรับสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ประเมินแล้วว่าจะเป็นการบริหารประเทศในสถานการณ์ที่กลไกของ รธน.60 และกลไก คสช.ยังฝังทิ้งไว้เต็มไปหมด จึงต้องได้คนที่มีคุณสมบัติบางอย่าง

...ข้อแรกคือต้องบริหารงานเป็น เพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้ามากแล้ว ธนาธรก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วที่บริหารธุรกิจของเขาจนประสบความสำเร็จ และธุรกิจเขาไม่ได้เกิดจากการผูกขาดแต่เกิดจาการไปแข่งขันกับต่างประเทศ

เรื่องที่สองคือจุดยืนประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ที่ผ่านมาเราอาจมีคนที่บริหารเก่งแต่ประชาธิปไตยไม่รู้ หรือประชาธิปไตยเต็มที่แต่ไม่รู้บริหารเป็นหรือไม่ แต่คุณสมบัติสองข้อนี้อยู่ในตัวคนเดียวกันคือธนาธร ที่ผมคิดว่าสำคัญมาก

...เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออาจเจอทหารเข้ามาแทรกแซง ส่งสัญญาณเตือนมาเช่นทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องการผู้นำรัฐบาลที่กล้าเผชิญหน้ากับทหาร เรียกได้ว่าเจอหน้าขาไม่สั่น ต้องมีคนที่มีจุดยืนแบบนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นนักบริหารอย่างเดียวแต่เจอทหารมาทำฮึ่มๆ ลาออกทันที แบบนี้ก็เข้าอีหรอบเดิม แต่หากได้แบบประชาธิปไตยจ๋า แต่บริหารประเทศไม่เป็น แบบนี้ก็ลำบากอีก ซึ่งสองข้อนี้อยู่ในตัว ธนาธร แล้วเขายังมีข้อที่สามอีก ที่ผมคิดว่าสำคัญคือในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ธนาธรเขาเป็นคนหน้าใหม่ ที่ผ่านมาเวลาจะเลือกใคร คนก็อาจกังวลว่าคนนั้นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แต่เขาหน้าใหม่เข้ามาพอดี พรรคเลยต้องเสนอธนาธรเป็นนายกฯ ในช่วงเวลานี้ แม้บางคนจะบอกว่ารอก่อน  แต่ผมคิดว่าช่วงสถานการณ์แบบนี้เหมาะสมที่สุด เพราะบริหารเป็น เลือดประชาธิปไตย เลือดใหม่ทางการเมือง

ปิยบุตร ยังกล่าวถึงการเมืองหลังเลือกตั้งว่า เมื่อดูจาก รธน.ก่อนทำประชามติ ทุกคนก็รู้ว่า รธน.คือหนทางนำไปสู่ทางตัน แต่จะไม่นำไปสู่ทางตันก็ต่อเมื่อทุกคนยอมศิโรราบต่อทหารต่อ คสช.หมด  เป็นการออกแบบ รธน.แบบตีหัวเข้าบ้าน เอาไม้ไปทุบเขาเปรี้ยง แล้วเอาอำนาจมาไว้กับตัวเองแล้วเขียน รธน.ออกมาเพื่อเอาแต่พวกตัวเอง แล้วบอกว่าหากเผยอหน้าจะมาแก้ รธน.ก็ทุบลงไปอีก ให้อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าจะบอกว่าอย่าไปทำอะไรเลย ไม่งั้นบ้านเมืองไปสู่ทางตัน ให้จบได้แล้ว แต่มันก็จะเป็นความขัดแย้งแบบต้องอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของ คสช. ของรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อใดบอกว่าบ้านเมืองอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ก็จะเจอ conflict ทันที เขียน รธน.แบบนี้คือเขียนแบบท้าตีท้าต่อย  บอกว่าถ้าเอ็งไม่หือก็อยู่ไป หือเมื่อใดก็เป็นแบบเดิมอีก แบบนี้ไม่มีวันแก้ไขปัญหาประเทศได้ แต่ตรงกันข้ามจะเอาไฟสุมขอนไปอีก

...แน่นอนที่สุดผมไม่ปฏิเสธว่าการเมืองแบบเดิม ที่นำพาไปสู่การสนับสนุนการยึดอำนาจมันก็มีข้อบกพร่อง เราถึงพยายามเสนอตัวมาเป็นทางเลือกใหม่ที่บอกว่า ไม่เอาทหาร ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการเมืองแบบเก่า เราจะหยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.พร้อมกับการสร้างการเมืองแบบใหม่ไปพร้อมกัน ผมคิดว่าเส้นทางต้องเดินไปแบบนี้ ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่จบ

ถามว่ามองอย่างไรกับโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ รอบสองของพลเอกประยุทธ์ ปิยบุตร ตอบว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์ตอบรับการเป็นนายกฯ และพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนก็แสดงว่าเขาตั้งใจว่าจะกลับมาสืบทอดอำนาจ เราก็ต้องยืนยันว่าต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ผมยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเสรี เป็นธรรม เท่าเทียม แฟร์จริงๆ ตามมาตรฐานสากล  พลเอกประยุทธ์ไม่มีวันได้กลับมาเป็นนายกฯ แน่นอน เพราะเสียงของฝ่ายไม่เอาพลเอกประยุทธ์จะชนะถล่มทลาย

ตอนนี้เวลาประเมินการเมืองกัน ก็บอกว่ามีฝั่งประชาธิปไตยกับฝั่งพลเอกประยุทธ์ แต่พรรคอนาคตใหม่กำลังบอกว่าสมการทางการเมืองบนหน้ากระดานมันไม่ใช่แค่นี้ มันไม่ใช่แค่ว่าบอกฝ่ายประชาธิปไตยก็ไปรวมกันหมด ในกลุ่มที่บอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความแตกต่างกันอยู่ในรายละเอียด อย่างเช่นพรรคอนาคตใหม่ยืนยันชัดเจนเราไม่ได้เป็นพรรคที่อยู่ในร่มเงาของพรรคใหญ่ แต่เราเป็นพรรคที่มีอัตลักษณ์ การทำงานของเราเอง และเราเสนอนโยบายการทำงานที่ไม่ได้เหมือนกับพรรคกลุ่มนี้ทั้งหมด

 เรากำลังบอกว่าพรรคที่เราเรียกกันหลวมๆ ว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มันก็มีเฉดของมัน แต่จุดร่วมกันคือต่อต้าน คสช. แต่เฉดในรายละเอียดไม่เหมือนกัน

เราจะบอกว่าพรรคอนาคตใหม่นอกจากต่อต้าน คสช.แล้ว เราจะพาไปสู่การเมืองแบบใหม่ด้วยที่ไม่ย้อนกลับไปที่เดิม ที่ใช้วิธีการเจรจาตกลงกันโดยคนไม่กี่คนแล้วบอกว่าจบ แบบนี้เราไม่เอา แต่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาตัดสินใจร่วมกัน ปัญหาการเมืองไทยตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องบุคคลไม่กี่คนแล้ว มันมีคนจำนวนมากที่อยู่ในความขัดแย้งชุดนี้เต็มไปหมด แล้วถ้าคุณจะออกจากความขัดแย้งชุดนี้ไปสร้างการเมืองใหม่ หากคุณไม่หลอมรวมนำประชาชนมาร่วมในการตัดสินใจครั้งนี้  แล้วไปตกลงกันเอง 3-5 คน แล้วมาบอกว่าจบแล้ว แบบนี้ไม่ได้ การเมืองมันเลื่อนไถลไปหามวลชนขนาดนี้ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา แล้วอยู่ดีๆ คนไม่กี่คนมานั่งคุยกันแล้วบอกว่าจบ มันเป็นไปไม่ได้ มันมีคนที่เดือดร้อนจากขบวนการชุดนี้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเยอะมาก

มีสื่อมาถามว่าบางพรรคมีปัญหาเสียท่าไปแล้ว แล้วเสียงจะสวิงไปทางฝ่ายพลเอกประยุทธ์จะได้ ก็เพราะว่า framework ที่คุณคิด คุณคิดว่ามีแค่นี้ คิดว่ามีพรรคขนาดใหญ่ที่ต่อต้านพลเอกประยุทธ์ แล้วก็มีอีกบางพรรคสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ คุณคิดว่ามีแค่นี้ แต่เราบอกว่าลองเปลี่ยน framework ดู จริงๆ  มีเราอยู่ มีพรรคอนาคตใหม่เข้ามาด้วย

เมื่อถามความเห็นว่ามองการเมืองไทยหลังการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เมื่อ 8 ก.พ.ของบางพรรคอย่างไร ปิยบุตร วิเคราะห์ว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ เมื่อ 8 ก.พ. ทำให้สมการการเมืองไทยมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนคุณก็จะบอกว่าไม่ไหวแล้วกลับไปหาอันนั้นดีกว่า แต่เราบอกว่าพรรคเราเกิดขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า คสช.สืบทอดอำนาจก็ไม่ได้ แต่หากจะกลับไปเป็นการเมืองแบบเดิมๆ ที่ตกลงกันโดยคนไม่กี่คนแล้วก็จบแบบเดิมก็ไม่ได้ ใช้เสียงข้างมากไปในทางที่อันตรายก็ไม่ได้ ก็ยังมีทางนี้อยู่ ผมไม่รู้ว่าสังคมไทยคิดประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหนในระยะเวลาอันสั้น แต่พรรคจะพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เห็น

หลังวันที่ 8 ก.พ พรรคไหนจะได้จะเสีย จะเสียท่า เป็นเรื่องจะไปวิเคราะห์กัน แต่อนาคตใหม่ยืนยันว่าเหตุการณ์ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาส่งผลให้ขั้วทางการเมืองมันแบ่งใหม่ ไม่ใช่มีสีนี้กับสีนี้เท่านั้น ถ้าคุณไม่ชอบแบบ คสช. แต่หันไปทางนั้นแล้วคุณผิดหวังอีกแล้ว ทำไมตกลงเจรจาอะไรกัน แต่จะหาไปทางพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ชอบอีก เรากำลังบอกว่าเราเป็นทางเลือกอันใหม่ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

-คนมองว่าพรรคอนาคตใหม่ชูนโยบายแต่เรื่องการต่อต้าน คสช. เรื่องประชาธิปไตย แต่ทำไมไม่ขับเคลื่อนไม่พูดเรื่องนโยบายด้านอื่นๆ เช่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การปฏิรูปการศึกษา?

พรรคพูดเรื่องนโยบายเยอะ การทำนโยบายของพรรคเราทำงานหนักมาก เรามีนักวิชาการ มีทีมนโยบายหลายชุด ที่ได้แถลงชุดใหญ่ไปเมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์ทำไมนโยบายเราจับต้องไม่ได้ ไม่บอกให้ชัดๆ ว่าจะให้เท่าไหร่ เช่นประกันราคา หรือจะให้เงินเท่าไหร่ คือพรรคเรามองแบบนี้ การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เราต้องการ disrupt การเมืองไทยแบบที่เป็นอยู่เดิม เช่นวิธีการตั้งพรรคเราก็ไม่ทำแบบเดิม เช่นการส่งคนลงสมัคร ส.ส.ก็เปิดโอกาสให้คนเข้ามาแจ้งความจำนงขอลงสมัครได้ เปิดแบบโอเพนเฮาส์ให้คนเข้ามาสมัคร หรือ disrupt ตั้งแต่การสร้างทีมพรรคระดับจังหวัดจนทำครบทั้ง 77 จังหวัด หรือการรณรงค์รับเงินบริจาค ขายของที่ระลึก ทำแบบพรรคการเมืองที่สากลเขาทำกัน

เช่นเดียวกันกับนโยบาย พรรคเราก็ disrupt การทำนโยบาย การเมืองในอดีตคุณอยากได้คะแนนเสียง คุณใช้เงิน ใช้อิทธิพลแลก จนยุคต่อมาที่มีการสร้างพรรคไทยรักไทย ก็มีการทำนโยบาย เพื่อแลกกับคะแนนเสียง แล้วนำนโยบายไปปฏิบัติ จนทำให้เลือกตั้ง 3-4 ครั้งหลังสุดก็ชนะทุกครั้ง แต่พรรคเรามองว่าต้องไปไกลกว่าเดิม การออกแบบนโยบายของพรรคไม่ควรต้องติดกับดักสิ่งที่ผมขอเรียกว่า นโยบายแลกแต้ม คือออกนโยบายมาแล้วคำนวณได้ว่าจะได้กี่คะแนน เช่นโหวตเตอร์ของพรรคเป็นคนกลุ่มนี้ ก็ออกนโยบายเพื่อคนกลุ่มนี้เลย พรรคอนาคตใหม่มองข้ามเรื่องนี้ไป

..เราพยายามมองเรื่องนี้ก่อนว่า เราอยากเห็นสังคมไทยในอนาคตอีก 10 ปี 30 ปี 40 ปีข้างหน้าแบบไหน เราไม่อยากอยู่แบบนี้ ดังนั้นเราก็ตีโจทย์ออกมา พอตีโจทย์ออกมาก็จะมีปัญหาเชิงโครงสร้างเต็มไปหมด ดังนั้นชุดนโยบายของพรรคจึงทะลวงไปที่ทุกโครงสร้างของปัญหา

 ผมยกตัวอย่างให้เห็น อย่างเช่นผมไปหาเสียงตามพื้นที่ต่างๆ จนสุดท้ายก็จะมีคำถามกลับมา ประกันราคา-จำนำข้าว ให้ราคาเท่าไหร่ ราคายางพาราจะให้ราคาเท่าใด จะพูดทำนองแบบนี้หมด  เพราะว่าในช่วงเฉพาะหน้าพี่น้องเกษตกรก็อาจจะประสบความลำบาก ดังนั้นหากนโยบายแบบนี้ชัดเจน เขาจะรู้เลย

..พรรคได้ไปทำความเข้าใจว่า พวกนโยบายอย่างประกันราคาพืชผลการเกษตกร พรรคไม่ได้ปฏิเสธ หากเป็นช่วงจำเป็นเร่งด่วน เขาจะตายอยู่แล้ว ก็ต้องช่วยเขา แต่ในระยะยาว เรามองว่าวิธีการแบบนี้มันไม่ยั่งยืน เพราะเป็นเพียงเครื่องช่วยหายใจ เกษตรกรกำลังจะตายก็เอาเครื่องช่วยหายใจที่ชื่อ จำนำข้าว-ประกันราคาไปใส่ให้ เสร็จแล้วก็ฟื้น พอฟื้นแล้วก็กลับไปทำการเกษตรต่อ แล้วก็ล้มอีก จากนั้นก็ไปเอาเครื่องช่วยหายใจให้ฟื้นกลับมาอีก พูดง่ายๆ สถานะของเขาก็จะยังจนเหมือนเดิม ลูกหลานก็ยังจนเหมือนเดิม ถ้ายังทำแบบนี้เกษตรกรก็จะยังอยู่แบบเดิม

..เราก็บอกว่าไม่ได้ ต้องคิดเชิงโครงสร้างด้วยการยกฐานะเกษตกรขึ้นมาให้ได้ เอาเทคโนโลยีไปช่วยเขา สร้างกระบวนการสายโซ่ด้านการเกษตรทั้งหมด เพื่อทำให้เกษตรกรมีอำนาจในการกำหนดราคา สนับสนุนการรวมตัวกันของเกษตรกรเพื่อต่อรองต่างๆ และทำลายทุนผูกขาดที่ทำให้เกษตกรไม่มีอำนาจในการกำหนดราคา หรือการที่เรามีนโยบายดีๆ เต็มไปหมด แต่ปัญหาคือว่าหากกองทัพยังเป็นแบบนี้ ถ้า รธน.ยังเป็นแบบนี้ ต่อให้คุณคิดนโยบายดีๆ ออกมาแทบตาย ได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงถล่มทลาย แต่สุดท้ายก็มาโดนรัฐประหารได้ตลอดเวลา

ปิยบุตร ย้ำว่า พรรคอนาคตใหม่ถึงยืนยันว่าเราต้องพูดเรื่องนี้ คือการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปลดเกียรติภูมิของกองทัพ แต่ตรงข้ามจะทำให้กองทัพมีความ Small แต่ Smart  คือเล็กแต่ทันสมัย ทัดเทียมอารยะประเทศได้ ของเรากองทัพไทยทุกวันนี้ หากเทียบจำนวนกับประเทศที่มีสงครามตลอดเวลาอย่างอิสราเอล จำนวนนายพลของไทยเราเยอะกว่าเขาอีก แล้วงบประมาณในการซื้ออาวุธเยอะมาก

 การปฏิรูปกองทัพ หากมีสงครามมันไม่ใช่การแข่งกันเรื่องจำนวนรถถังหรือการมีนายพล แต่ด้วยเทคโนโลยี จึงต้องปฏิรูปกองทัพ แล้วไปเน้นเรื่องสวัสดิการของนายทหารชั้นผู้น้อย ระบบการเกณฑ์ทหารต้องยกเลิกไป เพราะเกณฑ์ทหารไปแล้วเอาเขาไปรับใช้นายพล มันทำลายชีวิตเยาวชน ที่อายุเขาถึงเกณฑ์แล้วชีวิตเขาหายไปเลยหนึ่งปี แบบนี้เสียหายมากต้องยกเลิกไปแล้วใช้ระบบการรับสมัคร

ทั้งหมดคือการยกตัวอย่างให้เห็นว่าพรรคออกแบบนโยบายโดยตั้งหลักก่อนว่าเราต้องการเห็นอะไรในอนาคต แล้วก็คิดออกมา พรรคเราออกแบบนโยบายโดยไม่ได้คิดถึงแต้ม แต่เราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ ซึ่งผมคิดว่าเป็นพันธกิจของพรรคการเมืองยุคใหม่ ที่ต้องตอบให้ได้ว่าวิสัยทัศน์ของพรรคที่ต้องการมองเห็นอนาคตของสังคมไทยคืออะไร ไม่ใช่แจกรายวันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มาแช่งกันบลัฟว่าคุณให้เท่านี้ ผมก็จะบลัฟราคาไป แบบนี้ก็ไม่จบ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่านโยบายต้องเข้าถึงประชาชน เพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปาก แก้ปัญหาปากท้อง อันนี้ทุกพรรคต้องทำ แต่ผมอยากให้ไปไกลกว่านั้นอีก คือการคิด ต้องคิดจากเฟรมใหญ่ แล้วก็คิดระดับย่อยลงมา.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"