"ตัดงบกองทัพ" ดักคอ "ทหาร" สกัดเลือกตั้งสกปรก


เพิ่มเพื่อน    

    การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เชื่อว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการสร้างแคมเปญ เชิญมารับฟัง พูดคุยกันอย่างเป็นทางการหลังการรัฐประหาร ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งหวังไว้

                ยิ่งเมื่อเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง หัวหน้าคณะรัฐประหารลงมาสู่สนามแข่งขันด้วยตัวเอง  ผันตัวจากคณะกรรมการมาเป็นผู้เล่นในสนาม ก็ยิ่งทำให้การต่อสู้ของคน 2 ขั้วในสังคมมากขึ้น จึงปฏิเสธได้ยากว่า กองทัพ ที่เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของรัฐบาลและ คสช.จะถูกลากเข้าไปอยู่ในเกมด้วย

                การรักษาเส้นแบ่ง และเว้นระยะห่างกับรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ "ผู้นำกองทัพ" ย่อมตระหนักดีว่าควรอยู่ในระดับใด แม้ความรู้สึกส่วนตัวในฐานะพลเมืองจะยืนอยู่ข้างใครก็ตาม

                จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของ ขั้วทักษิณ จะเดินหมากทิ่มไปที่การตัดงบกองทัพ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จากการถอดโจทย์ปัญหาในอดีต พร้อมแลกเช็ค-ซื้อฝันในการนำไปต่อยอดนโยบายด้านสวัสดิการสังคม เพื่อคนรากหญ้า-คนจน ในอนาคต

                พลิกดูนโยบาย ทั้ง เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ชูธงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ คนรุ่นใหม่ที่สร้างสีสัน-ความเร้าใจ ให้กับบรรยากาศการหาเสียง ด้วยนโยบายการสร้างรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าครบวงจร เพิ่มสิทธิ์ลาคลอดเป็น 180 วัน และเพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตร 0-6 ปี เป็น 1,200 บาท เงินอุดหนุนเยาวชนด้านการศึกษาเมื่ออายุ 18-22 ปี จำนวน 2,000 บาท และเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบจะต้องมีหลักประกันในอนาคต ภายใน 5 ปี ขยายและปรับปรุงระบบประกันสังคม เพื่อให้คนที่เกษียณอายุ เพิ่มเงินยังชีพคนชราเป็น 3 เท่า คือ 1,800 บาท

                โดยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท โดยเงินจะนำมาจาก 1.จากของเดิมที่มีอยู่ 2.ลดงบกลาโหม 30% 3.กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ 4.ลดสิทธิประโยชน์ BOI 5.ลดสิทธิการลดหย่อนภาษีบางส่วน 6.ลดงบฯ ประจำ และงบกลาง 7.ขึ้นภาษีที่ดิน 8.เอาหวยขึ้นมาไว้บนดิน

                สำหรับ "พรรคเพื่อไทย" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดประเด็นตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมเอามาใช้เพื่อการศึกษาและด้านสังคมเช่นกัน

                ปมการหาเสียงในการ รุก กองทัพ นอกจากจะได้ใจฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่เอาการรัฐประหารแล้ว ในทางกลยุทธ์ยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงผู้นำกองทัพให้วางตัวเป็นกลาง แยกตัวออกมาจากรัฐบาล และพรรคการเมือง ที่สนับสนุนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะแค่กติกาที่ออกมาเพื่อเอื้อต่อการรวบรวมเสียงหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นการสร้างแต้มต่อในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งมากพอแล้ว

                จึงไม่แปลกที่ บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เลขาธิการ คสช. และยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) จะถามผู้สื่อข่าวว่า "รู้ไหมช่วงนี้เพลงอะไรกำลังดัง?" ผู้สื่อข่าวก็นึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ที่ พล.อ.อภิรัชต์ไปตากฝนในการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยที่ จ.ลพบุรี กับ พล.อ.ประยุทธ์ เลยตอบกลับไปว่า "เพลงรักปอนปอน" ทว่าคำเฉลยของ "บิ๊กแดง" กลับกลายเป็นเพลง หนักแผ่นดิน

                เป็นการ "ส่งสัญญาณ" ชัดๆ ถึงความไม่พอใจ "นักการเมือง"  ที่เริ่ม "แหย่" กองทัพให้ออกอาการ เพราะเรื่องงบประมาณของกองทัพ นักการเมืองรุ่นใหญ่อย่าง "เจ๊หน่อย" ที่เคยทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ก็รู้ดีอยู่ว่า "แต่ละยุค-แต่ละสมัย" ต่างฝ่ายต่างเล่น ชักเย่อ เพื่อเป้าหมายที่ต่างกันอย่างไร

                อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็น "มิติ" ทางความคิดที่ต่างกัน และไม่สามารถบริหารจัดการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยอมรับได้ หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นการรักษาฐานเสียงทางการเมืองด้วยนโยบายประชานิยม มีการจัดสรรส่วนงบประมาณเพื่อใช้ "โปรย" ลงสู่รากหญ้า ขณะเดียวกัน ลดงบประมาณด้านความมั่นคงลง จนกองทัพเองก็ประสบปัญหาในการพัฒนากองทัพ

                ส่วนนี้นักการเมืองจึงตัดสินว่า เหตุผลหนึ่งในการรัฐประหารคือ การลิดรอนผลประโยชน์ในเรื่องการซื้ออาวุธ เพราะมีคนในกองทัพ "รับกิน" ส่วนเกินจากการซื้อ ด้วยการรับค่าคอมมิชชั่น ขณะที่อีกด้านหนึ่งในมิติความมั่นคงคือ อันตราย ในการถ่วงดุลอำนาจ ปฏิกิริยาของประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งกร้าว เพราะกองทัพอ่อนแอ ผู้นำในชาติไม่ตระหนักถึงผลประโยชน์ของชาติ แต่คำนึงถึงการทำธุรกิจ 

                กระนั้นยังมีปฏิบัติการข่าวสาร หรือไอโอ ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายทหารประจำการเท่านั้นที่ทำเป็น แต่ในพรรคการเมืองก็ยังมีการขับเคลื่อนงานดังกล่าวในฐานะของ ฝ่ายรุก อย่างเป็นระบบ โดยมีการใช้ "เพจปลอม" ที่สร้างข้อมูลเท็จขึ้นมาเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ออกมาจัดเพลง "หนักแผ่นดิน" หลายเวอร์ชั่นผ่านเสียงตามสายในหน่วยทหาร และรายการวิทยุในเครือข่ายกองทัพบกก่อนหน้านี้

                ทั้งเรื่องการสร้างบ้านหรู-การเพิ่มจำนวนปีของ "ทหารเกณฑ์" ที่ต้องประจำการอยู่ในกองทัพ จาก 2 ปี เป็น 4 ปี เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อคนที่อายุครบเกณฑ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นชายไทยวัยรุ่นที่สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้แล้ว ล้วนมีผลต่อพรรคการเมือง และการวางตัวของผู้นำกองทัพที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

                บรรยากาศที่ขั้วการเมืองที่สัปยุทธ์จากฝ่าย "ทักษิณ" และ "ไม่เอาทหาร" จึงดุเดือดและเข้มข้นทั้งในสังเวียนและนอกสังเวียน นอกจากการสู้กันด้วย "คำพูด" แล้ว ในสมรภูมิโซเชียลมีเดียก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

                ประกอบกับปรากฏการณ์ เล่นนอกเกม เริ่มมีข่าวหนาหูขึ้น ก่อนที่กลไกอำนาจอื่นจะทำหน้าที่ให้คนในพรรคเครือข่ายทักษิณ แพ้ฟาวล์ ด้วยกฎหมายไปก่อน การ "ทิ่ม" ตรงไปที่กองทัพเพื่อ "ต่อรอง" และค้ำคอให้กองทัพอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับ ทำหน้าที่เป็น "ลมใต้ปีก" ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงออกมาเป็นระลอก

                ขณะที่ "ผู้นำกองทัพ" ที่ยังต้องทำหน้าที่ใน คสช.โดยตำแหน่ง และเป็นกลไกขับเคลื่อนงานสนับสนุนรัฐบาล คสช.มาโดยตลาด ก็คงยากที่จะปล่อยให้มีการนำประเด็นที่ไม่เป็นจริงไปโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะเรื่องที่กองทัพเข้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

                จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้โฆษกของเหล่าทัพจะเร่งชี้แจงข้อมูลที่ถูกบิดเบือนอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันประชาชนเข้าใจผิด

                "ขณะนี้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารก็จะยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นอีก อาจมีผู้ไม่หวังดีบิดเบือนหรือสร้างข่าวเท็จออกมาเผยแพร่หวังให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองในช่วงของการหาเสียง จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ มีการตรวจสอบและมีความระมัดระวังในการส่งต่อข้อมูล การโพสต์ การแชร์ข้อความ และขอให้ติดตามข่าวสารตามช่องทางของส่วนราชการหรือสื่อมวลชนสำนักข่าวหลัก เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อในการเผยแพร่เรื่องเท็จ รวมถึงรู้เท่าทันในข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น "พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุ

                จากนี้ไปคงเหลือเวลาอีกประมาณ 30 วันก็จะเข้าสู่วันเลือกตั้ง และด้วยเวลาที่งวดเข้ามา ก็เชื่อว่าพรรคการเมืองก็ต้องงัด อาวุธลับ ออกมาใช้เพื่อคว้าจำนวน ส.ส.ให้มากที่สุด ทั้งนี้ เพื่อความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล และอย่างน้อยคือการบีบให้ ส.ว.ที่ถูกมองว่าเป็นคนของ คสช.เคารพในเจตนารมณ์ของประชาชนในขั้นตอนสุดท้าย

                ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามระบบ ก็เชื่อว่าการเลือกตั้งจะผ่านไปด้วยดี การคิดไกลไปถึงสูตรพิเศษ หรือรัฐบาลแห่งชาติ เพราะเกิดจากความวุ่นวาย-รุนแรง หลังการเลือกตั้งก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อทุกฝ่ายเข้าร่วมการแข่งขันภายใต้กติกานี้ นั่นหมายถึงพร้อมรับผลลัพธ์ที่จะออกมา

                ยกเว้นว่า เกิดการเลือกตั้งสกปรก มีหลักฐาน-ภาพถ่ายการโกงกันอย่างโจ๋งครึ่ม เลยไปถึง "กองทัพ" เอียงข้างช่วยฝ่ายใดชัดเจน ประเทศไทยก็คงต้องเจอกับ "วิกฤติทางการเมือง" เป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้นกันต่อไป...

 

   ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"