'อีอีซี'จุดอนาคตใหม่'ตลท.'ชูบทบาทระดมทุน


เพิ่มเพื่อน    

"ปัจจุบันโครงการอีอีซีมีความคืบหน้าในการพัฒนาทำให้เห็นศักยภาพการต่อยอดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัทที่มีการทำธุรกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในแถบพื้นที่โครงการอยู่แล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมถึงความสามารถในการต่อยอดของธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมาจากหลายด้าน เช่น ด้านโลจิสติกส์ จากการเชื่อมโยงการขนส่งของทั้งทางอากาศ ทางเรือ ทางราง และทางถนน".

 

        ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย โดยเริ่มจากเหนือสู่ใต้ ตั้งแต่ประเทศจีนลงสู่ประเทศอินโดนีเซีย และตะวันออกไปยังตะวันตก จากเวียดนามไปจนถึงเมียนมา รวมถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในด้านการผลิต การค้า การขนส่งและการส่งออก อีกทั้งยังอยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศไทยนับเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการลงทุนในอาเซียน เพื่อเชื่อมเอเชียและเชื่อมโลก

        ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์  4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก มากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อันได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

(ภากร ปีตธวัชชัย)

อีอีซีมุ่งเขตเศรษฐกิจระดับโลก

        เมื่อไม่นานมานี้ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ได้นำทัพสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจและตลาดทุนเยี่ยมชมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อทราบถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการอีอีซี

        หลายคนอาจจะคุ้นหูกันไปบ้างแล้วกับคำว่าอีอีซี  เพราะตัวโครงการได้เริ่มมีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 61 ซึ่งอีอีซีคือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้กลายเป็น “เขตเศรษฐกิจระดับโลก” รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อภายในประเทศและภูมิภาคทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของเอเชียในอนาคต

เครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ก้าวกระโดด

        รัฐบาลมองว่าการลงทุนในอีอีซีจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวมากยิ่งขึ้น ลดการว่างงานของภาคอุตสาหกรรมและบริการ สร้างฐานภาษีใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างฐานรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยระยะแรกได้ยกระดับพื้นที่นำร่องในเขต 3 จังหวัดก่อน คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

        ปัจจุบันอีอีซีมีตัวโครงการหลักอยู่ 6 โครงการ ประกอบไปด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา), โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือเอฟ, โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมในการอยู่อาศัย พักผ่อน และประกอบธุรกิจ ครบวงจรทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่เดิมและผู้ที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้น

ลงทุนคึกคักต่อยอดในอนาคต

        จากผลการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ปี 61 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 6.7 แสนล้านบาท  โดยในปี 2561 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จำนวน 422 โครงการ เงินลงทุนรวม 675,310 ล้านบาท คิดเป็น 75% ของการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา จึงทำให้เห็นถึงแนวทางการต่อยอดโครงการออกไปได้

        นายภากรเล่าว่า ปัจจุบันโครงการอีอีซีมีความคืบหน้าในการพัฒนาทำให้เห็นศักยภาพการต่อยอดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัทที่มีการทำธุรกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในแถบพื้นที่โครงการอยู่แล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้น และจะช่วยเสริมถึงความสามารถในการต่อยอดของธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมาจากหลายด้าน เช่น ด้านโลจิสติกส์ จากการเชื่อมโยงการขนส่งของทั้งทางอากาศ ทางเรือ ทางราง และทางถนน

        รวมไปถึงอุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้รับประโยชน์ต่อไปในอนาคต จากการที่ภาครัฐมีความพยายามทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยมีทุนเดิมจากโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว จึงสามารถนำมาต่อยอดได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนของภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งในไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และในภูมิภาคอาเซียน

ภาครัฐและเอกชนลงขันเข้าลงทุนในอีอีซี

        โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีการต่อยอด 5 โครงการหลักจากทั้งทางภาครัฐและเอกชนตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย

        โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.ปี 62 นี้ ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

        โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการตอบคำถามผู้ซื้อเอกสาร การคัดเลือก และจะประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในกลางเดือนเมษายน ปี 62

        โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือเอฟ หลังจากการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 14 เดือนมกราคม ปี 62 มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอ 1 ราย และไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติ คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้วให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งในวันที่ 21 เดือนมกราคม ปี 62 โดยนำความคิดเห็นภาคเอกชนมาปรับปรุงเอกสารคัดเลือกและประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 24 เดือนมกราคม ปี 62

        โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 สิ้นสุดการตอบคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 22 เดือนมกราคม ปี 62 ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 คาดว่าจะประกาศผู้ผ่านการประเมินภายในเดือนมีนาคม ปี 62 ล่าสุด กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) มายื่นข้อเสนอต่อ กนอ. เพื่อขอพัฒนาท่าเรือดังกล่าวแล้ว

        และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างให้เอกชนส่งคำถามผ่านอีเมล ถึงวันที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอจากบริษัทแอร์บัส ในวันที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 และประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 62

        ในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแผนผังพัฒนาอีอีซี คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและกรมโยธาธิการ ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งได้ข้อสรุปเห็นด้วยกับแนวทางในการจัดทำแผนผังพัฒนาอีอีซี โดยให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เพียงพอกับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและการแบ่งโซนพื้นที่ รวมทั้งกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล

        อีกทั้งยังมีการพัฒนาโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้อนุมัติในหลักของตัวโครงการแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่มีระยะเวลาการร่วมทุนกว่า 50 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยมีเงินลงทุนรวม 4,342 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 168,000 ล้านบาท (ประเมินจากเอ็นพีวี) และผลประโยชน์ต่อประเทศ โดยมีผลประโยชน์ทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับ มากกว่า 3,402 ล้านบาท โดยประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์ของตัวโครงการดังกล่าวโดยตรง

        ผลประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ คือการเป็นศูนย์กลางการลงทุน และพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีธุรกิจมากกว่า 1,580 ราย สร้างงานในระหว่างก่อสร้าง และจ้างงานต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัล ยกระดับความเป็นอยู่ผ่านการพัฒนาเมืองดิจิทัล ภายใต้แนวคิด สมาร์ทซิตี้ ประชากรกว่า 33,700 คน ผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ 431,337 ล้านบาท

        การพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่อีอีซี และประเทศอย่างสูงที่สุด

ตลาดหลักทรัพย์หวังเป็นแหล่งระดมทุน

        และในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความมั่นใจว่าการระดมทุนต่างๆ ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านตลาดทุน ไม่ว่าจะมาจากอุตสาหกรรมเก่าที่ต้องการขยายภาคธุรกิจของตัวเอง หรืออุตสาหกรรมใหม่ ที่ต้องการต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆ จะต้องใช้เงินทุนและลงทุนในภูมิภาคนี้จำนวนมาก โดยมองว่าพื้นที่อีอีซีจะเป็นพื้นที่ศักยภาพใหม่ของประเทศด้วย

        โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้การลงทุนร่วมกันของทั้งทางภาครัฐและเอกชน โดยมีงบลงทุนกว่า 6.5 แสนล้านบาท จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ให้เฟื่องฟูเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวได้จริงหรือไม่ต้องรอติดตามโครงการไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นโครงการระยะยาว.

พรชนก คำบูชา


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"