'บิ๊กป้อม' Powerful คุมจัดโผ สภาสูง-ส.ว.ลากตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

 

       การได้มาซึ่ง "สภาสูง-สมาชิกวุฒิสภา" จำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้ คสช.มีอำนาจพิจารณารายชื่อบุคคลมาเป็น ส.ว. จำนวน 244 คน เพราะอีก 6 คนจะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง คือพวกผู้นำเหล่าทัพ-ผบ.ตร. คืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ เพราะการคลอด ส.ว.ชุดใหม่ต้องเดินควบคู่ไปกับวันเลือกตั้งและการรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ที่สรุปสุดท้ายก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนำรายชื่อทั้ง 259 คน ขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายในไม่เกินสามวันนับจากวันประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.

       ซึ่งถึงตอนนี้ อำนาจการพิจารณาทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ที่ถูกเรียกขานทางการเมืองว่า "ส.ว.ลากตั้ง" อยู่ในมือ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาสรรหาบุคคลมาเป็น ส.ว. อันเป็นกรรมการตาม รธน. ที่ให้มีจำนวน  9-12 คน แต่กรรมการชื่ออื่นๆ ทาง คสช.เลือกที่จะยังไม่เปิดเผยชื่อ แต่ทั้งหมดก็จะเห็นกันตอนวันประชุมนัดแรก 27 ก.พ.นี้

       ทั้งนี้ วุฒิสภาชุดแรกตาม รธน.ฉบับปัจจุบัน ตามบทเฉพาะกาลนอกจาก ส.ว.โดยตำแหน่งของพวกผู้นำเหล่าทัพแล้ว รธน.บัญญัติให้มีที่มาจากสองทาง

       1.มาจากชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งมาให้คสช. ซึ่งเป็นชื่อที่ กกต.ได้ดําเนินการจัดให้มีการเลือกส.ว. ที่เป็นการสมัครของบุคคลตามกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด จนมาถึงส่วนกลาง ที่ได้เลือกกันเหลือ 200 คน ไปเมื่อตอนปลายปีที่ผ่านมาแล้วส่งชื่อไป คสช.เรียบร้อยแล้ว โดยว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ในส่วนนี้ คสช.ต้องเลือกจาก 200 คน ให้เหลือไม่เกิน 50 คน และต้องทำชื่อในบัญชีสำรองไว้อีก  50 คน เผื่อไว้เช่นกรณีมีคนลาออก-เสียชีวิต

       2.ส.ว.ที่จะมาจากชื่อที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่มี พลเอกประวิตร เป็นประธาน คัดเลือกบุคคลจนได้ชื่อรวมไม่เกิน 400 คน  ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนด แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. เพื่อเลือกให้เหลือ คน 194 ชื่อและทำชื่อในบัญชีสำรองอีก 50 คน รวมเป็น ส.ว.ชุดใหม่ทั้งสิ้น 250 ชื่อ เท่ากับจะมีชื่อในบัญชีสำรองรวมทั้งสิ้น 100 ชื่อ

       ที่น่าแปลกใจและหลายคนคาดไม่ถึง ก็คือท่าทีของ บิ๊กป้อม ที่บอกการทำโผ ส.ว.รอบนี้ จะไม่เอา "บิ๊กทหาร-ผู้นำเหล่าทัพ" ที่ยังรับราชการอยู่มาเป็นส.ว. อันถือเป็นเรื่องผิดความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ทุกฝ่ายวิเคราะห์ว่าด้วยการที่ ส.ว.ชุดดังกล่าว จะอยู่ในตำแหน่งถึงห้าปีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่คสช.จะหมดอำนาจ ที่สำคัญ ส.ว.ชุดนี้ จะมี "อำนาจพิเศษ" คือสามารถลงมติเลือก-เห็นชอบนายกรัฐมนตรีได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยห้าปีดังกล่าว เท่ากับหากสภาอยู่ครบเทอมสี่ปีแล้วมีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับ ส.ว.ชุดนี้จะสามารถโหวตเห็นชอบนายกฯ ได้ถึงสองครั้ง

       แต่การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง อายุของสภาส่วนใหญ่ก็ประมาณไม่เกิน 2-3 ปี จึงทำให้คาดกันว่า ส.ว.ลากตั้งชุดนี้อาจจะได้ร่วมโหวตเห็นชอบนายกฯ ได้อย่างน้อยก็อาจจะ 2-3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ รวมถึงอำนาจอื่นๆ เช่น การตรวจสอบรัฐบาลว่าได้ปฏิรูปประเทศ และดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ทำให้ ส.ว. 250 คนจึงเป็น "ฐานอำนาจการเมือง" ของ คสช.และเหล่าทัพ ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง ที่จะใช้ ส.ว.ชุดนี้ ทำได้ทั้ง

     "ตั้งรัฐบาล-ล้มรัฐบาล"

       ดังนั้น จึงมีการมองก่อนหน้านี้ว่า สภาสูงชุดใหม่ น่าจะออกมาแนว "ท็อปบูตยึดเรียบ-กวาดหมด"  โดย คสช.จะเอาพวก บิ๊กทหาร ตั้งแต่ระดับคุมกองกำลัง-ผู้บังคับหน่วย ตั้งแต่ยศพลโทที่จะอยู่เป็นทหารอีกหลายปี เช่น แม่ทัพภาค มาเป็น ส.ว.ชุดใหม่หลายคน เพื่อให้ บิ๊ก คสช. สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้สะดวกใจ แต่สุดท้ายผิดคาดเมื่อ บิ๊กป้อม-ประธานสรรหาฯส.ว. บอกจะไม่ตั้งบิ๊กทหารที่ยังรับราชการอยู่มาเป็นส.ว.

     “จะไม่เอาข้าราชการทหารที่ยังอยู่ในหน้าที่ เพราะเมื่อมีตำแหน่งอยู่จะไปเป็น ส.ว.ได้อย่างไร โดยเราจะคัดเลือก ส.ว.มาจากบุคคลทั่วไป“ พลเอกประวิตร 26 มีนาคม

       โดยมีรายงานว่า พลเอกประวิตร ได้เดินหน้าเรียกประชุมกรรมการสรรหาฯ โดยทันทีในพุธที่ 27 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อวางกรอบการคัดเลือกรายชื่อ ส.ว. โดยจะเริ่มจาก ส.ว. 50 คน ที่ กกต.ส่งชื่อมาก่อน ซึ่งแม้ยังไม่ชัดเจนว่ากรรมการสรรหา ส.ว.ชุดดังกล่าว คนอื่นๆ จะมีใครบ้าง แต่ก็มีกระแสข่าวในแวดวงการเมืองว่า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกขุมข่ายคสช.-บอร์ด คสช. อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้า คสช.,  วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, มีชัย ฤชุพันธุ์  สมาชิก คสช. อดีตประธานกรรมการร่าง รธน. เป็นต้น

       จึงต้องรอดูกันไปว่า สุดท้ายแล้ว รายชื่อว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ 250 คน ที่ คสช.เลือกออกมา จะมีหน้าตาอย่างไร โดยชื่อทั้งหมดจะออกมาหลังการเลือกตั้งไปอีกหลายวัน ซึ่งถึงตอนนั้น การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีความชัดเจนลงตัวระดับหนึ่งแล้ว

     หน้าที่สำคัญเรื่องแรกของ สภาสูง-ส.ว.ชุดใหม่ ก็คือการร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเห็นชอบรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นแมตช์วัดใจกันว่า ส.ว.ชุดใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีท่าทีทางการเมืองในเรื่องนี้อย่างไร?

       คือหากสุดท้าย หลังเลือกตั้งจบลง โดยฝ่ายพรรค พลังประชารัฐที่เสนอชื่อ บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ เกิดรวมเสียง ส.ส.หลังเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง แล้ว ส.ว. 250 คนโหวตเห็นชอบ บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ก็คงไม่มีอะไรตามมา

       ทว่าหาก พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย เกิดชนะเลือกตั้งแล้วรวมเสียง ส.ส. เกิน 250 เสียง จนเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนนำชื่อ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ แล้ว ส.ว.ทั้งหมด 250คนไม่โหวตเห็นชอบด้วย ก็คงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมาก

       อำนาจพิเศษการร่วมโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรีดังกล่าวในมือ ส.ว. ที่กำลังจะคลอดออกมาในอนาคต ทำให้แทบทุกพรรคการเมือง ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ ต้องออกมาตีกันให้ ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย อย่างท่าทีของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำว่า แม้ ส.ว.จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.ควรดูเจตนารมณ์ของประชาชน

     “หากพลเอกประยุทธ์เห็นว่าหลักการนี้ถูกต้อง ควรสร้างความมั่นใจ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง ว่าจะไม่ครอบงำ ส.ว. และควรบอกกับ ส.ว. ว่าให้ ส.ว.สนับสนุนใครก็ตามที่ประชาชนสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล”

       การออกมาตีกันทางการเมืองกับ ส.ว.ชุดใหม่ในการโหวตเห็นชอบนายกฯ ดังกล่าว ทำให้ พลเอกประยุทธ์ ที่ในทางการเมืองก็รู้กันดีว่าคือคนที่จะพิจารณาโผ ส.ว.ชุดใหม่คนสุดท้าย ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เรียกได้ว่า มีอำนาจเต็มในการจะตัดชื่อใครออกหรือใส่ชื่อเพิ่มใหม่ได้จนถึงนาทีสุดท้าย ต้องออกมาการันตีว่า อย่าเพิ่งปรามาสทางการเมืองส.ว.ชุดใหม่ ว่าจะต้องทำตามสิ่งที่ คสช.ต้องการทั้งหมด  

     "แม้ ส.ว.จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ” พลเอกประยุทธ์ระบุก่อนมีการตั้งบิ๊กป้อมเป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ส.ว.ชุดใหม่

       กระบวนการเลือก-ทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเชื่อเถอะว่า เก้าอี้ ส.ว. ที่จะอยู่ในตำแหน่งห้าปี และเป็นตำแหน่งทางการเมือง ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของระบบพวกพ้อง-เส้นสาย-ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง-การล็อบบี้ ทำนองใครใกล้ชิดใคร ใครไว้ใจใคร ก็ต้องดันคนนั้นมาเป็น ส.ว.ชุดใหม่

       ที่สำคัญ ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า คสช.ก็ย่อมต้องการวางฐานอำนาจทางการเมืองไว้ในสภาสูง จึงต้องตั้งคนของตัวเอง คนที่ไว้ใจไปเป็น ส.ว.

        ด้วยเหตุนี้ เชื่อเถอะว่า นับจากนี้ การล็อบบี้ ระบบฝากฝังจากคนหลายกลุ่มในช่วงทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ เกิดขึ้นแน่ และจะฝุ่นตลบไปอีกหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะแถวๆ บ้านพักบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร และเครือข่ายคนใกล้ชิดพี่ใหญ่ คสช.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"