'เกษียร'รำพึง!ความจำเป็นของมายาคติ สรุปบทเรียนการปฏิวัติด้วยอาวุธของพคท. เป็นความผิดพลาด


เพิ่มเพื่อน    

1 มี.ค.62- ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kasian Tejapira ถึงการเข้าร่วมต่อสู้การปฏิวัติด้วยอาวุธของพคท. ในอดีตว่า

The Necessity of Illusion (ความจำเป็นของมายาคติ)

ทุกวันนี้ แม้การปฏิวัติด้วยอาวุธของ พคท. จะล่มสลายไปหลายสิบปีแล้ว แต่ยามท้อถอย หวั่นไหว หงอยเหงาหรือว่างเปล่าในจิตใจ ผมยังมักฮัมเพลงปฏิวัติในป่าคนเดียวอยู่เสมอ

ทำไมจึงยังฮัมเพลงของความพยายามที่เป็นมายาคติเหล่านั้นอยู่อีก? มันจำเป็นอย่างไรหรือ?

ผมมาเข้าใจเรื่องนี้ตอนวาระครบรอบเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ๒๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการจัดอภิปรายครั้งหนึ่งที่ตึกเอนกประสงค์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เดินทางมาเข้าร่วมด้วย ไอ้ธงได้พูดบางอย่างจากประสบการณ์ของเขาที่ทั้งชวนสะเทือนใจและทำให้ผมได้แง่คิดเข้าใจอย่างลึกซึ้งและคาดไม่ถึง

ธงเล่าว่าแม้ขณะที่พูดอยู่ตอนนั้น เราจะสรุปบทเรียนได้แล้วว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธของพคท. เป็นความผิดพลาด แต่ในระหว่างช่วงเกือบสองปีที่เขาและเพื่อนผู้ต้องหา ๖ ตุลาฯติดคุกอยู่หลังเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดครั้งนั้น ขบวนการปฏิวัติด้วยอาวุธในป่าของ พคท. ที่พรรคพวกเพื่อนฝูงของเขาได้ไปเข้าร่วมต่อสู้ด้วยจำนวนมาก นี่แหละที่ให้ความหวังแก่เขาว่าบ้านเมืองจะพ้นจากปลักอับจนมืดมนหลังการฆ่าหมู่และรัฐประหารไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้ ที่ช่วยทำให้เขาทนยืนหยัดอยู่ในคุกเผด็จการมือเปื้อนเลือดอย่างมีความหวังได้

ดังนั้น แม้จะมาเข้าใจภายหลังว่าการปฏิวัติด้วยอาวุธของพคท.ผิดพลาด และความหวังที่มีต่อขบวนการนั้นเอาเข้าจริงก็เป็นแค่มายาคติอย่างหนึ่ง แต่จะปฏิเสธได้อย่างไร ว่าในวันคืนอันมืดมิดที่สุดหลังกรงขังนั้น มายาคตินี่แหละที่ทำให้พวกเขายืนทนรับชะตากรรมอันอยุติธรรมจนผ่านพ้นมาได้

ผมฟังธงพูดวันนั้นด้วยความรู้สึกขมปร่า ปั่นป่วนและซับซ้อนในใจพลางน้ำตาซึม ผมและพวกเราหลายคนตัดสินใจเข้าป่าจับปืนส่วนหนึ่งก็เพราะทนรับไม่ได้ที่เพื่อน ๆ ต้องมาถูกฆ่าตายหมู่และถูกจับติดคุกด้วยข้อหาปั้นแต่งป้ายสีอันร้ายแรงอย่างไม่เป็นธรรม เพราะธงและเพื่อน ๆ ในคุกนี่แหละที่ทำให้เราปักใจไปร่วมสงครามจรยุทธ์ในชนบทด้วยความหวังที่จะ “ไขประตูคุกเอาเพื่อนคืน” ให้ได้สักวันหนึ่ง มันจริงอย่างที่สุดว่าเราผ่านคืนวันอันโหดเหี้ยมลำบากทารุณเหล่านั้นมาได้เพราะเราเป็นความหวังและเป้าหมายให้แก่กันและกัน และมันจริงไม่น้อยไปกว่ากันว่าในที่สุดวันหนึ่งเราก็พบว่าความหวังและเป้าหมายเหล่านั้นในส่วนสำคัญเป็นแค่มายาคติเท่านั้นเอง

แต่แล้วเราควรเกลียดชัดและโยนมายาคติเหล่านั้นทิ้งไปอย่างไม่ไยดีหรือ? ถ้าไม่ เราควรระลึกถึงมัน เข้าใจมันและจัดการกับมันอย่างไร?

ในภาวะลำบากสุ่มเสี่ยงที่สุดในชีวิต คนเราอยู่ด้วยความหวัง และเราไม่รู้หรอกในขณะที่เราลำบากสุ่มเสี่ยงอยู่และหวังอยู่นั้น ว่าความหวังที่เรามีและยึดถือเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจให้ทนทายาดอยู่ จะกลับกลายเป็นมายาคติไปได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เราไม่อาจหยั่งรู้ทำนายอนาคตอย่างถ้วนตลอดได้ว่าความหวังที่เรามีจะไม่ปรากฏเป็นจริง หรือจะกลายเป็นมายาคติไปสักกี่เปอร์เซ็นต์ และเหลือเท่าไหร่ที่ยังพอมีคุณค่าเหตุผลให้เก็บเป็นความหวังต่อไปได้ เอาเข้าจริงเราไม่รู้

แต่มาบัดนี้เมื่อรู้แล้วว่ามันเป็นมายาคติ จะให้เรารู้สึกอย่างไรกับมัน? เทมันทิ้งไปง่าย ๆ ทั้งหมดหรือ? เราจะปฏิเสธได้หรือว่าในช่วงหนึ่งของชีวิต เราทนอยู่สู้ต่อไปได้เพราะมายาคติเหล่านี้? หรือว่าเราควรจะสำนึกในคุณค่าเท่าที่มีจริงของมัน ทำความเข้าใจมัน เก็บรับเรียนรู้จากมัน เห็นถึงความจำเป็นของมันทั้งที่มันเป็นมายาคตินี่แหละ ว่าในชีวิตอันไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์ ที่เราไม่มีทางหยั่งรู้สัจจะความจริงเหนือกาลเวลาและอนาคตอย่างพระผู้เป็นเจ้าได้นี้ มายาคติเป็นสิ่งจำเป็นเท่าที่ความหวังเป็นสิ่งจำเป็นและเท่าที่ความรับรู้ของเราในฐานะมนุษย์ธรรมดามีขีดจำกัดของมัน ว่าเอาเข้าจริง คนเราไม่สามารถมีชีวิตโดยปลอดเปล่าจากมายาคติได้เพราะความจำกัดของมนุษย์เรานี่เอง ว่ามันไม่ผิดที่เราจะมีมายาคติตราบเท่าที่เราต้องมีความหวัง ตราบเท่าที่เราไม่หยุดสรุปบทเรียนว่าความหวังใดของเราบ้างที่เป็นมายาคติ ความหวังใดบ้างที่ไม่ใช่ และหัดเรียนรู้ที่จะอยู่ต่อไปกับมัน

ในบรรดาเพลงปฏิวัติที่ผมชอบฮัมระยะหลังนี้ นอกจากเพลง “คิดถึงบ้าน” (หรือ “เดือนเพ็ญ”) ของนายผี อัศนี พลจันทร เพลง “ฝ่าพายุ” ฯลฯ แล้ว ก็มีเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ด้วย เป็นไปได้ว่าแสงดาวในคืนแรมเดือนมืดที่เขาเห็นบนท้องฟ้าจากในคุกนั้น อาจหมายถึงพรรคหรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ผมไม่ทราบแน่ แต่แม้ในยุคที่คนเราเลิกเชื่ออุดมการณ์ดังกล่าวไปแล้ว เราควรทิ้งหรือเลิกร้องเพลงนี้หรือไม่? หรือเก็บรับเรียนรู้จากมันถึงพลังและความจำเป็นของมายาคติ ถึงการเชื่อมโยงอย่างตัดไม่ขาดระหว่างความหวังกับมายาคติสำหรับมนุษย์ ถึงความจำเป็นที่จะต้องแยกแยะความหวังออกจากมายาคติตามประสบการณ์ที่ได้มา และถึงความจำเป็นต่อไปที่ไม่น้อยไปกว่ากันของมายาคติ ตราบเท่าที่ความหวังยังจำเป็น และตราบเท่าที่เราไม่อาจหยั่งรู้ดังพระเจ้าได้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"