เล่ห์และไมตรี ลุมพินี -โกรัคเปอร์


เพิ่มเพื่อน    

หันหลังไปมองซุ้มประตู ต้อนรับสู่ประเทศเนปาลที่ด่านเบลาฮิยา

รถบัสจากลุมพินีบาซาร์วิ่งมาบนถนนเตาลิฮาวา จอดส่งผู้โดยสารที่ป้ายสุดท้ายใกล้ๆ ซุ้มประตู Lumbini Gate ต้องเดินอีกราว 100 เมตรไปยังวงเวียนสามแยกที่ตัดกับถนนสิทธัตถะไฮเวย์ รถบัสไปด่านโสเนาลีกำลังจะออก ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายหลังรถแล้วเดินขึ้นไปอย่างทุลักทุเลเพราะผู้โดยสารเต็ม และแน่นขึ้นอีกเรื่อยๆ ตามการจอดแต่ละครั้ง  

ผมยืนโหนอยู่ตรงทางเดินด้านหลังสุดของรถ กระเป๋าใบเล็กสะพายอยู่ด้านหน้า ใบใหญ่อยู่ด้านหลัง คนเบียดเสียดมาทางหลังรถจนกระเป๋าใบใหญ่ของผมไปเบียดอยู่กับใบหน้าของลุงที่นั่งอยู่เบาะหลังตำแหน่งกลางพอดี แกหันหน้าหลบกระเป๋าแต่ก็หลบไม่พ้น จำใจต้องหันแก้มด้านหนึ่งแนบกับกระเป๋าอยู่อย่างเหยเก สักพักมีคนช่วยกันเอากระเป๋าลงจากหลังของผมและไปวางอยู่บนขาข้างหนึ่งของผู้หญิงคนหนึ่งและบนขาอีกข้างของผู้ชายคนที่นั่งติดกัน ผมขอโทษลุงผู้โชคร้ายและขอบคุณหญิง-ชายน้ำใจงาม แม้ในรถคนเบียดกันแน่นและอากาศร้อนอบอ้าว ผู้คนบริเวณเบาะหลังก็ยังพูดคุยกันด้วยรอยยิ้ม

รถวิ่งประมาณ 5 กิโลเมตรก็จอดที่ด่านโสเนาลี ค่าโดยสารเพียง 15 เนปาลีรูปีเท่านั้น ลงรถปุ๊บก็มีโชเฟอร์แท็กซี่เข้ามาจู่โจมเสนอราคา พวกเขารู้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินทางต่อไปยังเมืองโกรัคเปอร์ รัฐอุตรประเทศ เมืองใหญ่ที่ใกล้ชายแดนที่สุด อยู่ห่างออกไปราว 100กิโลเมตร ค่าโดยสารมีตั้งแต่ 1,200 รูปี (อินเดีย) ไปจนถึง 1,800 รูปี หากต้องการนั่งร่วมไปกับผู้โดยสารคนอื่นที่เรียกว่า “แชร์แท็กซี่” ก็เรียกเก็บตั้งแต่ 300 รูปี ถึง 500 รูปี ผมตอบพวกเขาว่าจะนำไปพิจารณา ตอนนี้ต้องผ่าน ตม. ก่อน

ผมยังไม่เข้าใจว่านักท่องเที่ยวจะขึ้นรถไปกับพวกเขาจากด่านฝั่งเนปาลเข้าประเทศอินเดียได้อย่างไรในเมื่อต้องผ่านกระบวนการของการตรวจคนเข้าเมืองที่กินเวลารวมกันทั้ง 2 ฝั่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถ้าลูกค้าตกลงราคาแล้วเขาก็ต้องรอ ไม่กลัวว่าลูกค้าจะเบี้ยวหรือ เขาจะตามติดลูกค้าทุกฝีก้าวได้อย่างไร

หลายคนเรียกด่านขาออกนี้ว่าโสเนาลี (Sonauli) แต่ความจริงแล้วสำหรับฝั่งเนปาลใช้ชื่อ “เบลาฮิยา” (Belahiya) ส่วนโสเนาลีนั้นเป็นชื่อชายแดนของฝั่งอินเดีย เจ้าหน้าที่ในสำนักงานจำหน้าผมได้เพราะเพิ่งเข้าประเทศเนปาลไปเมื่อไม่กี่วันก่อน เขาเรียกผม “ไทยแลนด์ มาเอาแบบฟอร์มไปกรอก” พอกรอกเสร็จก็บอกว่า “ไทยแลนด์ มาส่งที่นี่” คล้ายๆ เขาจะลัดคิวให้เพราะหลายคนที่มาก่อนผมยังวุ่นอยู่เลย หรือเขาอาจเห็นว่าผมมาคนเดียว ทำให้จบไปเร็วๆ จะดีกว่า แต่ก็เป็นไปได้ที่คนไทยมีแต้มต่อในเรื่องเข้า-ออกด่านของเนปาล ผมใช้เวลาตรงนี้ไม่ถึง 10 นาที

จากนั้นเดินไปยังจุดตรวจความปลอดภัยของด่านอินเดีย มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิง 2 คนและชายอีกจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้หญิงในชุดคล้ายทหารขอให้ผมเปิดกระเป๋า เธอสูงเกือบๆ 180 เซนติเมตร หน้าตาดี ออกไปทางจีนฮั่น ผมทักเธอว่า “สวัสดีตอนบ่าย หน้าตาคุณเหมือนคนจีนเลย” เธอยิ้มชอบใจ “แต่ฉันเป็นคนอินเดียนะ” เธอย้อน

“โปรดบีบแตร” บัสท้องถิ่นนำผู้เขียนจากย่านประตูสู่ลุมพินี (Lumbini Gate) ไปยังด่านเบลาฮิยา ชายแดนเนปาล-อินเดีย

เธอเห็นขวด Antiquity Blue วิสกี้ชั้นยอดของอินเดียที่ผมซื้อมาจากเมืองโปขรา (เพราะไม่รู้ว่าจะหาในอินเดียเจอหรือไม่) ผมถามว่า “ผ่านได้ไหม” เธอตอบ “ได้สิ” จากนั้นเธอก็หยิบขวดโค้กพลาสติกไปดู ผมยอมซื้อน้ำดำนี้มาดื่มให้หมดทั้งที่ปกติไม่นิยมดื่มเพื่อใช้กรอกไวน์แดงเนปาลที่เหลือจากขวดแก้วลงไปแทน เจ้าหน้าที่สาวไม่สังเกตว่าสีของน้ำโค้กดำแปลกๆ ผิดไปจากของจริง แต่ผมคิด ‘ในเมื่อวิสกี้ผ่านได้ ไวน์ในขวดโค้กก็น่าจะผ่านได้’

แล้วก็ผ่านอย่างไม่ยากเย็น จากนั้นมีสามล้อถีบเข้ามาประกบ ลุงสารถีเสนอราคา 50 รูปี ผมตัดสินใจขึ้น แม้ระยะทางเดินไปยังสำนักงานของ ตม. อินเดียจะแค่ 700 เมตรเท่านั้นแต่แดดร้อนเหลือเกิน ถึงสำนักงานที่อยู่ด้านขวามือของถนนผมก็ยื่นเงินให้ลุงสามล้อ 50เนปาลีรูปี แกรีบบอกปัด “50 อินเดียนรูปีต่างหาก” ผมเปลี่ยนเป็นธนบัตร 100 เนปาลีรูปี แกก็รีบรับไว้ เพราะมีค่าเท่ากับ 60 อินเดียนรูปี

ตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง เพราะมีทัวร์จีนเต็มสำนักงาน อีกทั้งคณะพระสงฆ์ที่ไม่ทราบว่ามาจากประเทศอะไร ระหว่างนั่งรออยู่ด้านหน้าออฟฟิศตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่หนุ่มนำโปสเตอร์รูปหญิงสาวถูกลักพาตัวมาติดไว้ใกล้ๆ ประตู เคียงกับรูปหนุ่มใหญ่ผู้ก่อเหตุ ผมหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปนี้และถ่ายรูปของออฟฟิศด้วย เจ้าหน้าที่หนุ่มเปิดประตูเดินกลับออกมาบอกว่าห้ามถ่ายและขอดูรูปเพื่อจะให้ลบ ผมให้เขาดูหน้าจอ ขึ้นข้อความว่า “หน่วยความจำเต็ม” เขาก็เดินกลับไป

ในอินเดียนั้นตามสถานที่ราชการและสถานีรถไฟใหญ่ๆ มักจะห้ามถ่ายรูป มีทหารถือปืนไรเฟิลเดินตรวจตราความเรียบร้อยอยู่ตลอด สาเหตุเพราะความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่จบลง เราคงพอทราบเรื่องคาร์บอมบ์และผลัดกันสอยเครื่องบินของอีกฝ่ายร่วงโหม่งโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้

ความจริงแล้วรูปออฟฟิศ ตม. ของด่านโสเนาลีที่ว่านั้นผมถ่ายติด จากนั้นก็ถ่ายอีกหลายรูประหว่างการเดินทางแม้จะมีข้อความขึ้นเตือนว่า “หน่วยความจำเต็ม” เพื่อให้ลบบางรูปออกไป และยังสามารถส่งรูปที่ถ่ายระหว่างทางหาเพื่อนที่เมืองไทยผ่านแอพฯไลน์ได้ด้วยเพราะสัญญาณอินเตอร์เน็ตกลับมาใช้ได้เนื่องจากโทรศัพท์ใช้ซิมการ์ดของอินเดีย แต่พอไปถึงกรุงพาราณสีแล้วนำภาพลงคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รูปออฟฟิศด่านโสเนาลีหายไปพร้อมกับรูปอื่นๆ ที่ถ่ายหลังจากนั้น ส่วนกล้องถ่ายรูปผมไม่ได้นำออกมาใช้ตั้งแต่ขึ้นรถบัสที่ลุมพินีบาซาร์แล้ว

อี-วีซ่าของอินเดียที่ขอแบบออนไลน์นั้นสามารถเข้าประเทศได้ 2 ครั้ง เมื่อได้รับตราประทับจากเจ้าหน้าที่ด่านโสเนาลีเรียบร้อยผมก็เดินไปขึ้นรถบัสที่สถานีขนส่งใกล้ๆ กันเพื่อจะต่อไปยังสถานีรถไฟโกรัคเปอร์ มีรถบัสโสเนาลี – นิวเดลี และโสเนาลี – อัลลาฮาบัด ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางนี้ผ่านโกรัคเปอร์ทั้งคู่ ผมขึ้นไปนั่งรอบนคันหนึ่งหลายนาทีแต่รถยังไม่ยอมออก พอเห็นอีกคันกำลังจะออกก็แบกกระเป๋าจะไปขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับที่หันไปเห็นแท็กซี่จอดรอคนอยู่อีกฝั่งจึงตะโกนถามราคา โชเฟอร์ตะโกนตอบ “300 รูปี” ผมกลัวว่ารถบัสจะใช้เวลานานเกินไปเหมือนขามาจากโกรัคเปอร์ ก็เลยข้ามไปใช้บริการแชร์แท็กซี่

ในรถมีผู้โดยสารอยู่แล้ว 2 คน ลุงจากเดลีนั่งอยู่เบาะหน้า ลุงพราหมณ์ชุดขาวโกนศีรษะไว้จุกกลางกระหม่อมนั่งเบาะหลังด้านซ้าย ผมนั่งด้านขวา เสร็จธุระจาก ตม. ตั้งแต่เวลา 14.15 น. จนเวลา 15.00 น. แล้วรถแท็กซี่ก็ยังไม่ได้ออกจากชายแดนโสเนาลี โชเฟอร์หนุ่มยังขับวนหาลูกค้าคนที่ 4 จนลุงพราหมณ์แสดงอาการหงุดหงิด บอกให้จอดแล้วก็เปิดประตูทำท่าจะลงไป ไอ้หนุ่มหน้าทะเล้นจึงยอมออกเดินทาง โดยแวะลงไปจ่ายค่าคิวให้กับชายคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ริมถนน ลุงจากเดลีบอกผมว่า “เขาจ่ายให้มาเฟีย”

พอกลับขึ้นรถ โชเฟอร์หนุ่มเหน็บวัยรุ่นชายขึ้นมาคนหนึ่ง ให้นั่งเบาะเดียวกันติดกับหัวเกียร์ ระหว่างนี้ก็รับผู้โดยสารขึ้นมาอีกคนให้นั่งฝั่งขวามือของผม ทำให้ผมต้องนั่งอย่างอึดอัดเพราะรถคันเล็กนิดเดียวและเกรงใจไม่อยากไปเบียดลุงพราหมณ์

นอกจากรถบัสและแท็กซี่แล้วผมก็ยังเห็นมีรถตู้และรถคล้ายๆ จี๊ปให้บริการด้วย ลุงจากเดลีเฉลยว่าค่ารถถูกที่สุด แต่ใช้เวลาราว 4 ถึง 5ชั่วโมงเพราะแวะรับคนไปตลอดทาง รถออโต้ริคชอว์ก็เข้าร่วมการแข่งขันเช่นกันแต่ผมไม่ได้ถามเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่าย

พ่อโชเฟอร์ของเราเคี้ยวหมากแขกไปด้วยระหว่างขับรถ มีโทรศัพท์เข้ามาพ่อก็ใช้มือขวาถือโทรศัพท์ มือซ้ายจับพวงมาลัย พอจะบ้วนน้ำหมากพ่อก็เอาไหล่หนีบโทรศัพท์กับหู มือขวาหมุนกระจกลงแล้วบ้วนน้ำหมากไปทางด้านหลัง ครึ่งหนึ่งของการเดินทางพ่อคุยโทรศัพท์ อีกครึ่งก็เปิดเพลงเสียงดังลั่นรถ ลุงพราหมณ์หันมาส่ายศีรษะกับผมหลายรอบ

เวลาประมาณ 5 โมงครึ่ง พ่อหนุ่มก็พาพวกเรามาถึงหน้าสถานีรถไฟโกรัคเปอร์ ต่างคนต่างจ่ายค่ารถ ลุงเดลีจองตั๋วกลับเดลีไว้แล้ว ทราบว่าผมจะเดินทางต่อไปยังกรุงพาราณสีก็อยากจะช่วยสอบถามเรื่องตั๋วให้กับเจ้าหน้าที่แต่ผมต้องกดเงินจากตู้เอทีเอ็มก่อน แกจึงบอกว่าเดี๋ยวคงเจอกันในสถานี

ระหว่างต่อคิวกดเงินลุงพราหมณ์ก็เดินมาต่อคิวด้วย ถามผมว่าจ่ายค่ารถไปเท่าไหร่ ผมตอบ 300 รูปี ลุงพราหมณ์แสดงสีหน้าไม่พอใจแล้วพูดว่า “ค่าโดยสารจริงๆ คือคนละ 150 รูปีเท่านั้น น่าจะถามลุงก่อนจ่าย” ผมเสไปว่า 300 รูปีคงเป็นราคานักท่องเที่ยว แกว่า “ไม่ใช่หรอก ลุงจะบังคับให้เขาเก็บเธอแค่ 150 รูปี”

หากการณ์เป็นเช่นลุงพราหมณ์ว่าก็คงจะเกิดเหตุโต้เถียงกันแน่เพราะผมดันไปตกลงกับโชเฟอร์ที่ 300 รูปีเอง ถือเสียว่าเป็นค่าข้อมูลความรู้ อย่างน้อยครั้งต่อไปหากได้เดินทางเส้นนี้อีกผมก็จะขอจ่ายในราคาคนท้องถิ่นบ้าง

ผมกดเงินเสร็จก็กล่าวขอบคุณและไหว้ลาลุงพราหมณ์ เดินเข้าไปในสถานีรถไฟ เคาน์เตอร์ Current Reservation เป็นช่องสำหรับผู้ที่ไม่ได้จองตั๋วล่วงหน้าและต้องการจะเดินทางวันนี้ เจ้าหน้าที่ร่างอ้วนพูดสำเนียงฟังเข้าใจยากและเสียงเบาเกินไป แกให้ผมเดินอ้อมไปเปิดประตูหลังเข้าไปคุยด้านใน ยื่นแบบฟอร์มให้ผมแล้วบอกว่ารถไฟไปพาราณสีออกเวลา 22.45 น. ระบบจะประมวลผลและทราบว่ามีตั๋วว่างหรือไม่ก่อนเวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ฉะนั้นผมต้องกลับมาพร้อมแบบฟอร์มตอน 18.30 น. ก่อนความจริงกระจ่าง 15 นาที

ผมเปิดประตูออกไปเจอลุงเดลี แกคาดการณ์ถูกว่าผมต้องอยู่ในห้องนี้ ผมเล่าเรื่องตั๋วให้แกฟัง แกบอกว่าถ้าเจ้าหน้าที่ให้ผมกลับมา 4ชั่วโมงก่อนรถไฟออกแสดงว่ามีโอกาสสูงที่ตั๋ว (รถนอน) จะว่าง

“แต่เธอต้องจ่ายตามราคาหน้าตั๋วนะ ถ้าเจ้าหน้าที่เรียกมากกว่านั้นแสดงว่าเข้ากระเป๋าของเขาเอง” ลุงทำท่าเอาเงินใส่กระเป๋าหน้าอกเสื้อ แต่ก็เปรยว่าหากเรียกเกินไปสัก 50 รูปีหรือ 100 รูปีก็ให้ไปเถอะ “Not harmful” หรือ “พอรับได้”

ลุงเดลีชวนผมไปในห้องนั่งรอของผู้โดยสารทั่วไป แกหาปลั๊กตัวเมียติดผนังสำหรับชาร์จแบตโทรศัพท์ไม่เจอ เห็นผมกำลังนั่งกรอกข้อมูล ลุงเดินมาบอกว่าแกจะกลับไปชาร์จที่ห้องรอของผู้โดยสารชั้น AC Class แกให้ผมเดินไปหาที่นั่น หรือแกอาจจะเดินมาหาผมตอน 6 โมงครึ่ง

“แต่ถ้าไม่เจอกันก็ขอให้เธอโชคดี” ลุงเดลีอวยพร ผมไหว้ขอบคุณในความกรุณาที่มากล้น

เวลา 18.15 น. ผมเดินไปที่ช่อง Current Reservation น้าอ้วนบอกว่ามาเร็วไป 15 นาที แล้วกวักมือให้เดินอ้อมไปเปิดประตูเข้าไปนั่งในห้องเหมือนเดิม ในนี้มีโต๊ะสำหรับเจ้าหน้าที่อีกช่องหนึ่ง ผู้โดยสารชาวอินเดียต่อคิวยาว เจ้าหน้าที่ช่องนั้นไม่ค่อยตอบคำถามของคนรอ หนำซ้ำยังเดินหนีไปที่อื่น พวกที่รอคิวก็ตะโกน “เซอร์ๆๆๆๆๆ กลับมาก่อน” จนน้าอ้วนแกเดินไปหยิบไมโครโฟนมาประกาศอะไรบางอย่าง เจ้าหน้าที่คนเดิมเดินกลับมา เขียนข้อความบนกระดานตอบข้อข้องใจของคนคอย แต่ความวุ่นวายด้านนอกห้องไม่ได้ลดน้อยลงไป

เวลาระทึกใจใกล้เข้ามาทุกขณะ คิดถึงแต่คำเตือนของลุงเดลี ผมทราบถึงพลังของการเขียนในประเทศอินเดียอยู่บ้าง จึงหยิบสมุดขึ้นมาเขียนบันทึกแต่ทำทีให้ดูน่าเกรงขาม นัยว่ามีต้นสังกัดเป็นสำนักข่าวใหญ่ รายงานการเดินทางในอินเดียให้ผู้อ่านทั่วโลกรับรู้ ด้วยหวังว่าน้าอ้วนจะไม่เรียกสินบนแบบน่าเกลียด

ถึงเวลา 18.45 น. น้าอ้วนทำอะไรบางอย่างอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จากนั้นพูดออกมาดังๆ ว่า “เราทำสำเร็จแล้ว คุณมีตั๋วเดินทางไปพาราณสีคืนนี้” แล้วแกก็ป้อนข้อมูลส่วนบุคคลของผมลงไป ปรินต์ออกมาเป็นตั๋ว ระบุราคา 635 รูปีสำหรับห้องโดยสารชั้น 2 AC

น้าอ้วนหันหน้าเปื้อนยิ้มมาหา หัวใจผมเหมือนจะหยุดเต้น แกขานราคา “635 รูปี” ตรงตามหน้าตั๋ว  

ผมยิ้มตอบ พร้อมๆ กับถอนหายใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"