'จำลอง ฝั่งชลจิตร' นักเขียนใหญ่ผู้ไม่หยุดครีเอทีฟ


เพิ่มเพื่อน    

จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คนใหม่ 

 

     วงการวรรณกรรมแสดงความคารวะยินดีแด่ จำลอง ฝั่งชลจิตร  นักเขียนใหญ่ชาวนครศรีธรรมราช ผู้ได้รับฉายาในวงการหนังสือว่า "ลอง เรื่องสั้น" ในโอกาสได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2561 เพราะได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมมีประโยชน์ต่อสังคมและนักอ่าน  ตัวหนังสือแต่ละบรรทัดและภาษาของจำลอง ฝั่งชลจิตร กระตุกให้คิดและสร้างแรงบันดาลใจมากมาย สมกับที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) คัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์คนล่าสุด

      แม้ว่าจำลองจะเขียนเรื่องสั้นมาแล้วกว่า 300 เรื่อง และทำงานบนเส้นทางนักเขียนเป็นเวลาถึง 40  ปีแล้วก็ตาม แต่ไฟในการเขียนหนังสือก็ยังไม่ส่อแววว่าจะมอดดับ ผลงานของจำลองจึงมีความสดใหม่เสมอ ซึ่งนับว่าหาไม่ได้ง่ายนักในแวดวงวรรณกรรม

 

 

      " เรื่องสั้นเมื่อเขียนไปมันก็ท้าทาย เหมือนหญิงสาวที่ชอบหลอกล่อให้เมาแล้วชวนเราไปที่ห้อง เราแก้ผ้า แล้วเธอก็หนีไป เสน่ห์คือเราไม่เคยได้ เมื่อไม่ได้ก็ยิ่งไล่ล่า เป็นเรื่องท้าทาย ทั้งเทคนิค ความคิด และมุมมองทางศิลปะใหม่ๆ จะเขียนอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งอ่านมากขึ้น รู้จักคนมากขึ้น  ต้องมองให้ประณีต และเลือกศิลปะกลวิธีนำเสนอให้เหมาะกับเรื่องนั้น" จำลอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์คนล่าสุดกล่าวเมื่อถามถึงเสน่ห์ของงานเขียน

      วรรณกรรมดีๆ เป็นสิ่งที่ต้องอ่าน  ก่อนก้าวสู่เส้นทางนักเขียน จำลอง บอกว่า นักเขียนต้องรู้จักของดี เป็นคำที่สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชั้นครูสอนไว้ เพราะถ้าไม่รู้จักของดีก็ไม่สามารถทำของดีได้ เหมือนจะทำผัดไทย แต่ไม่รู้วิธีทำซอสผัดไทย ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมะขามเปียก ก็ไม่ได้เมนูผัดไทยที่อร่อยเข้มข้น ฉะนั้นการอ่านทำให้ตนรู้จักเรื่องสั้นคุณภาพมากมายทั้งนักเขียนไทยและต่างประเทศ เมื่อรู้จักของดีก็เป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำ

 

 

 

      ส่วนนักเขียนต่างประเทศในดวงใจของ "ลอง เรื่องสั้น" บอกว่ามี ไฮน์ริช เบิล นักเขียนชาวเยอรมัน  วรรณกรรมเอกหลายเรื่อง แปลโดย ศ.พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล นักเขียนผู้นี้ทำให้ตนมองความเป็นไปในสังคมออก แล้วยังมีนักเขียนชาวฝรั่งเศส กุสตาฟ โฟลแบรต์ เขียนนิยายเรื่อง "มาดามโบวารี" อีกคน คือ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ นักเขียนเรื่องสั้นชาวสหรัฐ ซึ่งมีลีลาภาษาที่สั้น กระชับ กินความได้ ตนได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาด้วย 

      " เคล็ดลับของผม แม้จะได้รับรางวัลบ่อยครั้ง แต่ผมไม่ยึดติดกับรางวัลหรือคำสรรเสริญ นอกจากวรรณกรรมอดีต ผมมุ่งเรียนรู้กลวิธีในการนำเสนอทางวรรณศิลป์ไม่หยุด ทั้งเทคนิคการเขียนของต่างประเทศ ภาษาของเรื่องสั้น ก็ค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เมื่อพบเจอวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ ก็เกิดความอยากและความท้าทาย มีแรงทดลองผสมผสานกลวิธีใหม่ๆ" จำลองเผยไอเดียในการสร้างสรรค์งานเขียน

 

      เจ้าพ่อเรื่องสั้น บอกอีกว่า ผลงานเรื่องสั้น รูปแบบขนบยังมีอยู่ แต่มีวิธีค้นหารูปแบบใหม่ๆ โดยใช้ความกล้า เรื่องสั้นมีเป็น 20 แบบ แต่ต้องมีพื้นที่ให้เรื่องสั้นสมัยใหม่ โดยเนื้อหาจะกำหนดวิธีเล่า ตัวละคร และสร้างเรื่องราวดึงดูดให้คนอยากอ่าน อย่างรวมเรื่องสั้น "เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า" เป็นงานเขียนที่พยายามพลิกมุมมองและสร้างรูปแบบใหม่ กระตุ้นให้คนอ่านครุ่นคิดว่า เรื่องบางเรื่องโหดร้ายเกินไปที่จะเป็นเรื่องแต่ง สะท้อนปรัชญาทางสังคมและเหตุการณ์ทางสังคม

 

 

      เรื่องสั้น "ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป" เรื่องสั้นชุดที่จำลองเคยคว้ารางวัลมาแล้ว เจ้าตัวบอกว่าเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมใน จ.นครศรีธรรมราช บ้านเกิด เล่มนี้เกิดขึ้นหลังตนกลับบ้านหลังเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง จากที่เคยใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ นานถึง 20 ปี แก่นเรื่องและฉากอยู่ที่เมืองนครทั้งหมด ชวนให้คนอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ตาม

 

      งานเขียนแนวสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ไม่ลอกเลียน และคิดประเด็นใหม่ๆ ผลงานทั้งเรื่องสั้น  วรรณกรรมเยาวชน นิยาย ผ่านกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ให้มีความงดงาม ไม่ใช่แค่การบันทึกหรือเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งจำลองเปรียบเทียบว่า "ไม่ใช่พอได้เนื้อมา 1 ชิ้น แล้วปิ้งย่าง แต่ต้องปรุงรส เป็นเรื่องเล่าแบบใหม่ เพิ่มความบันเทิง" เป็นสิ่งที่จำลองชมชอบผลงานแนวนี้อย่างมาก

 

      " บางเรื่องผมอินกับมัน ร้องไห้ บางเรื่องสนุกก็ยิ้มไปเขียนไป มันอ้อร้ออย่างหนึ่ง เหมือนดัดจริตอยู่คนเดียวในห้องทำงาน แต่กว่าจะสำเร็จเป็นผลงานหนังสือหนึ่งเล่มไม่รีแลกซ์ ต้องคิดจะออกผลงานให้คนอ่านเห็นความแตกต่างจากเรื่องที่ผ่านมา จะต้องทำให้ดีขึ้น เพื่อเป็นที่พึงพอใจของนักอ่านประจำและสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ ในงานเขียนจะมีน้ำเสียงร่วมสมัยหรือประเด็นทางสังคมสมัยใหม่ มองด้วยสายตาและประสบการณ์ของเรา แม้เป็นคนรุ่นเก่าก็เข้าใจ งานเขียนต้องไม่เชย ใช้คำพูดสมัยใหม่ ประเด็นสื่อสารสมัยใหม่" จำลอง เล่าเบื้องหลังงานเขียน

 

 

      กับการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำลองบอกว่าเป็นกำลังใจ เหมือนเราขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 ขั้นที่ 3 พอถึงขั้นที่ 5 ได้รับเสียงปรบมือ ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับรางวัลอื่นๆ ที่ตนเคยได้รับ แต่ไม่ได้เก็บมากอด เพราะรางวัลไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานใหม่ๆ บางคนขึ้นหิ้งเตี้ยๆ ก็นั่งหดเท้า ไม่ยอมเหยียบพื้นดิน คิดว่าพอแล้ว แต่ตนเพียงรับรู้แล้วรีบลงจากหิ้ง รางวัลให้เพื่อให้เขียนต่อ ไม่ใช่ให้เราหยุดทำงาน

      ความสำเร็จในวันนี้นักเขียนใหญ่กล่าวขอบคุณเพื่อนนักเขียนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่เกื้อหนุนบนเส้นทาง  เรามีโอกาสถ่ายทอดความรู้ด้านวรรณศิลป์ให้นักเขียนรุ่นน้องมากมาย รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ทำให้ตนได้ฝึกฝนและเตรียมตัวพร้อมสำหรับการสอน การจัดค่ายวรรณศิลป์ก็ได้อ่านผลงานของเยาวชนและนักเขียนรุ่นหลัง ทำให้ได้เรียนรู้และสร้างความชำนาญให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วย

 

 

      ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ศิลปินแห่งชาติจะมีอายุครบ 66 ปี ด้วยสุขภาพที่แข็งแรงจากการออกกำลังทุกวันช่วงตอนเย็น จิตใจที่เบิกบานเปี่ยมด้วยสุขจากการเป็นผู้ให้ ความเมตตาต่อสัตว์ และมีวิธีคิดแบบไม่เครียด จำลองกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสทิ้งท้ายว่า สุขภาพที่ดี น้ำหนักลด ไร้โรค ทำให้นั่งอ่านและนั่งเขียนได้นานมากขึ้น สามารถเคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่วจึงมีความสุขกับการทำงานเขียน อีกทั้งสำนักพิมพ์บ้านแมวที่ก่อตั้งขึ้นก็พัฒนาตามลำดับ มีเพจให้นักอ่านสั่งซื้อหนังสือ ทั้งรวมเรื่องสั้นของตนและนักเขียนอื่นๆ ซึ่งผลงานล่าสุดของตนเป็นรวมเรื่องสั้น "ชีวิตประจำวัน (เรื่องสั้นธรรมดา)" อยากให้ทุกคนอ่านแต่ละเรื่อง สุดท้ายฝากนักเขียนรุ่นใหม่ให้ฝึกฝน ทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร  และมีสายตามองสังคมที่ลึกซึ้ง สนใจศึกษาศิลปะการเขียนให้มากขึ้น เพราะคนอ่านเลือกได้จะเสพงานเขียนแบบใด อีกทั้งต้องแข่งขันกับยุคหนังสือดิจิตอลด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"