จี้‘มาสเตอร์เชฟ’ เปิดที่มากระเบนนก ทส.ชี้อาจผิดกม.จ่อขึ้นทะเบียนคุ้มครอง


เพิ่มเพื่อน    

 กระแสโซเชียลยังอื้ออึง รายการดังเอากระเบนนกมาทำอาหาร "ช่อผกา วิริยานนท์" เรียกร้องผู้ผลิตรายการออกมาขอโทษประชาชน เพราะที่ชี้แจงกลับทำให้คนเข้าใจผิดเหมือนส่งเสริมให้กิน กรมประมงย้ำควรอนุรักษ์เพราะใกล้สูญพันธุ์ ดาราปั้นจั่น ตอก "อยากแปลกไม่แดกคนละครับ"

    ในโลกออนไลน์ขณะนี้ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นกระแสร้อนแรง คือกรณีรายการ "มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย" แข่งขันทำอาหารทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา มีการนำปลากระเบนนกขนาดใหญ่มาทำอาหาร ซึ่ง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเพจ Thon Thamrongnawasawat ว่าไม่เห็นด้วยที่จะนำสัตว์ทะเลหายากเช่นกระเบนนกมาทำอาหาร
    "กระเบนนก เป็นสัตว์หายากของทะเลไทย บางคนดำน้ำกันหลายปี ยังไม่เคยเจอสักตัว เราเคยพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่ยังติดขัดอยู่บางประการ เพราะฉะนั้น ยังไม่ผิดกฎหมาย แต่โลกยุคนี้ เพียงคำว่าผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมืองไทย เมืองที่ผู้คนกำลังรักทะเลมากมาย อยากขอร้องว่า ช่วยกันบ้างเถิดครับ ช่วยกันรักทะเลบ้างเถอะครับ.... ได้โปรด...”
    ขณะที่ผู้ผลิตรายการ “มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย” ยืนยันว่าปลากระเบนที่ใช้ในการแข่งขัน คือปลากระเบนเนื้อดำ หรือปลายี่สน วัตถุดิบพื้นบ้านที่นำมาใช้ประกอบอาหารหลายเมนู โดยเฉพาะปลายี่สนผัดหวาน เครื่องข้าวแช่โอท็อปเพชรบุรี 
    ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคมนี้ “ช่อผกา วิริยานนท์” อดีตดาราและพิธีกรชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ถึงอย่างไรก็ยังอยากเห็นรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ออกมาขอโทษประชาชน เพราะการแถลงที่ผ่านมาของผู้ผลิตรายการ มีหลายจุดที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เสมือนส่งเสริมให้กินและอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ล่าปลากระเบน 
    ช่อผกายังได้ยก 10 เหตุผลที่สังคมยังไม่เข้าใจมาแสดงด้วย คือ 1.ปลากระเบนนก (Eagle ray) เป็นชื่อเรียกของทั้งแก๊งหรือศัพท์ทางการ คือ วงศ์ปลากระเบนนก คือแก๊งที่เป็นกระเบนตัวใหญ่ มีลาย ปีกกว้าง ปากยื่น ไม่ว่าใครจะพยายามทำให้เข้าใจว่าเป็นชื่ออื่นอย่างไร ตัวที่ตายและโดนชำแหละโชว์ในจอ มันก็คือปลากระเบนในกลุ่ม Eagle ray ซึ่งหายากและใกล้สูญพันธุ์
    2.ปลาในกลุ่ม Eagle ray จัดอยู่ใน red list หรือบัญชีแดงขององค์กรระดับโลก หรือ IUCN สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะใกล้สูญพันธุ์ จึงไม่ใช่ปลาที่หาได้ง่ายในท้องตลาดทั่วไปตามที่เข้าใจกัน
    3.ปลากระเบนมีเป็นร้อยพันธุ์ ไม่แปลกที่ประชาชนไม่ทราบ แต่วิธีอธิบายของทางรายการในจดหมายชี้แจง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจสับสนได้ โดยเฉพาะปลากระเบนที่ชาวบ้านจับมากินเกือบทั้งหมดเป็นปลากระเบนพันธุ์ที่อยู่ตามพื้นทราย ไม่ใช่พันธุ์ที่บินอยู่กลางน้ำแบบ Eagle ray ในรายการ และชาวประมงไม่ได้ตั้งใจจับ แต่มันติดอวนมา เมื่อมาถึงท่าจะทิ้งก็เสียดาย จึงนำไปจำหน่าย และเนื่องจากมันเป็นปลากระดูกอ่อน ถ้าเก็บไว้นานจะมีกลิ่นแอมโมเนียรุนแรง จึงมักนำไปแปรรูปในรูปแบบอื่น
    4.การนำปลากระเบนมาทำอาหารในรายการทีวีอื่นนั้น เป็นเรื่องของแต่ละรายการ แต่อยากให้ประชาชนตระหนักว่าไม่ควรกินสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
    5.ยังไม่มีการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากระเบนแบบที่รายการเอามากิน ฟาร์มที่เลี้ยงกันคือกระเบนน้ำจืดตัวเล็กๆ เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ไม่ใช่เลี้ยงจำหน่ายเพื่อการบริโภค
    6.ปลาตัวที่ถูกชำแหละในรายการยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย ฉะนั้น การนำปลาดังกล่าวมาเป็นวัตถุดิบออกรายการไม่ผิดกฎหมายไทย แต่ผิดกติกาสากลของโลก
    7.อยากให้มีกระบวนการพิสูจน์ว่าปลาตัวที่ถูกนำมาชำแหละในรายการ เป็นพันธุ์ Aetobatus narinari ตามข้อสงสัยของนักวิชาการหรือไม่ เพราะหากเป็น Aetobatus narinari ซึ่งห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในไทย คนขายน่าจะทำผิดกฎหมาย (ส่วนคนซื้อผิดไหม ขอผู้รู้ช่วยชี้แจงด้วย) การทำให้กระจ่างจะช่วยหยุดการลับลอบนำปลาชนิดนี้มาจำหน่ายในไทยได้
    8.วัฒนธรรมการกินอาหารพื้นบ้านที่ผ่านมาของไทย ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัจจุบันหากมีข้อมูลชัดเจนว่า ที่เคยกินกันนั้นมันใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว เช่น อดีตที่เราเคยกินเต่า กินพะยูน เมื่อมีข้อมูลให้ตระหนักรู้ คนส่วนใหญ่ที่มีความเจริญทางจิตใจมากพอ ก็ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ได้ คือการหยุดกิน ขอเพียงสื่อทำหน้าที่รณรงค์ให้หยุด ไม่นำเสนอเนื้อหาเสมือนส่งเสริมให้กิน
    9.ถ้าปลาตัวนั้นไม่ตาย ไม่ถูกชำแหละโชว์ในรายการ แต่ได้รับโอกาสให้รอดชีวิตได้ว่ายน้ำเล่นต่อไปในท้องทะเล ตลอดชีวิตของมันและเพื่อนๆ จะดึงดูดนักดำน้ำ สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับมนุษย์ได้มากมหาศาลนับสิบนับร้อยล้านบาทเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จุดดึง rating ดูดเงินโฆษณาเข้ากระเป๋าผู้ผลิตบางรายเท่านั้น
    10.การอยู่ร่วมกันในโลกยุคใหม่ ควรพัฒนาไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืน (สอดรับกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ) รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เร่งส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ให้ชัดเจน แบบไหนควรกิน แบบไหนควรเก็บไว้ในทะเล ปัญหาปลาใหญ่หายากทั้งฉลามและกระเบนติดอวนมาแล้วไม่ปล่อยกลับ แต่เอามาเร่ขายจะได้หมดไป”
    ขณะนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า จากกรณีปลากระเบนที่ปรากฏอยู่ในรายการแข่งขันทำอาหาร จากการตรวจสอบมี 2 ชนิดพันธุ์คือ กระเบนหิน และกระเบนนกจุดขาว สำหรับปลากระเบนนกจุดขาว หรือปลากระเบนค้างคาว หรือปลากระเบนยี่สน อยู่ในวงค์ปลากระเบนนก (Myliobatidae) เป็นปลากระเบนทะเลที่พบได้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และอีกหลายประเทศ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงน่านน้ำประเทศไทยที่สามารถพบเห็นได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีลักษณะเด่น มีผิวหนังเรียบ ด้านหลังมีสีดำมีจุดขาวกระจาย ด้านท้องมีสีขาว หางเรียวยาวมาก มีส่วนหัวที่แยกออกจากครีบเห็นได้ชัดเจน จึงทำให้ว่ายน้ำไปมาได้อย่างอิสระเหมือนนกบิน มีขนาดกว้างได้ถึง 1.5 เมตร เคยพบสูงสุดถึง 3 เมตร น้ำหนัก 230 กิโลกรัม อาศัยบริเวณใกล้ผิวน้ำถึงใกล้พื้นท้องทะเลตามชายฝั่งทะเลแนวปะการัง ส่วนปลาขนาดเล็กอาจพบได้ในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำ กินปลาขนาดเล็ก หอย ปลาหมึก กุ้ง และปูเป็นอาหาร
    สำหรับในประเทศไทย ปลากระเบนนกเป็นสัตว์น้ำพลอยได้จากการทำประมง ไม่อยู่ในเป้าหมายการจับของชาวประมง และไม่มีเครื่องมือที่ใช้จับเป็นการเฉพาะ ถึงแม้ว่าปลากระเบนนกจะเป็นสัตว์น้ำที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) แต่ทางสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้ทำการสำรวจและประเมินสถานภาพรายชื่อปลาฉลามและปลากระเบนทั่วโลกจำนวน 1,038 ชนิด ขึ้นใน IUCN Red List "สำหรับปลากระเบนนกชนิดนี้แสดงสถานะให้เป็นสัตว์น้ำชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU)" โดยได้ขอความร่วมมือประเทศที่เป็นเจ้าของสัตว์น้ำในบัญชี IUCN Red List ให้ความสำคัญทั้งด้านบริหารจัดการและการอนุรักษ์ เนื่องจากการประเมินสถานภาพพบว่ามีแนวโน้มลดลงจากการทำประมงและการท่องเที่ยว 
    ส่วนนายจุตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การใช้ปลากระเบนนกมาประกอบอาหารเพื่อรับประทานเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม เนื่องจากการนำสัตว์หายากมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร จะดึงดูดให้ผู้รับชมเกิดความต้องการอยากนำมารับประทานมากขึ้น และก่อให้เกิดค่านิยมอยากจะลิ้มลองรสชาติของปลาประเบนชนิดนี้ ส่งผลให้เกิดการล่ากระเบนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปลากระเบนนกเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีแดง (Red List) เป็นสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยในประเทศไทย ปลากระเบนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำลึก ส่วนมากพบทางฝั่งอันดามัน ไม่น่าจะหาได้แถวมหาชัย ซึ่งในแง่ของกฎหมายยังไม่มีความผิด แต่มองถึงความเหมาะสม ในเบื้องต้นรายการดังกล่าวยังไม่มีการชี้แจงและระบุแหล่งที่มาว่านำมาจากที่ใด หากนำมาจากพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่า และเขตอนุรักษ์จะมีความผิดทางกฎหมาย จึงอยากให้รายการระบุแหล่งที่มาของปลากระเบนพันธุ์ดังกล่าวต่อสาธารณะ ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สังคมไทยตื่นตัวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบริโภคสัตว์หายากของประเทศ
    นายจุตุพรกล่าวว่า ทช.จะเดินหน้ารณรงค์ไม่ให้ประชาชนหันมานิยมกินสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประเทศไทยเดินหน้าแผนการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวทำให้ ทช.เตรียมจะพิจารณาให้ปลากระเบนนกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์คุ้มครอง เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งกระเบนนกอยู่ในบัญชีแดงเช่นเดียวกับกระเบนแมนต้า ที่ผ่านมาไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์คุ้มครองแล้ว และกระเบนนกจะเป็นสัตว์ที่จะตัองขึ้นทะเบียนเป็นชนิดต่อไป 
    กระแสโซเชียลยังวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ต่อดาราหนุ่ม ปั้นจั่น ปรมะ อิ่มอโนทัย ที่โพสต์ลงอินสตาแกรมแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับการนำปลากระเบนหายากมาทำอาหาร พร้อมระบุ #อยากแปลกไม่แดกคนละครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"