อัยการเลือก 'อรรถพล ใหญ่สว่าง' นั่งประธานก.อ.คนแรกตามกฎหมายใหม่


เพิ่มเพื่อน    

14 มี.ค.62 - ที่ห้องประชุม 302-303 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจนับคะแนนเลือกประธานกรรมการอัยการ (ก.อ.) และ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในส่วนของประธาน ก.อ.มีผู้สมัครเข้ารับเลือกจากอัยการทั่วประเทศยกเว้นอัยการผู้ช่วย จำนวน 5 คนประกอบด้วย 1.นายทวีศักดิ์ วรพิวุฒิ อดีตรองอัยการสูงสุด 2.นายปรีชา วราโห อดีตรองอัยการสูงสุด 3.นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด 4.นายสมชาย คูวิจิตรสุวรรณ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 5.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด มีการเริ่มนับคะแนนตั้งแต่เวลา 9.30 น. - 13.13 น. มีบัตรลงคะแนนจำนวน 3,061 ใบ ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลำดับดังนี้ 

อันดับ 1 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง 1,810 คะแนน อันดับ 2 นายพชร ยุติธรรมดำรง 1,036 คะแนน อันดับ 3 นายทวีศักดิ์ วรพิวุฒิ 91 คะแนน อันดับ 4 นายสมชาย คูวิจิตรสุวรรณ  63 คะแนน อันดับ 5 นายปรีชา วราโห 61 คะแนน

ส่วนการเลือกตั้ง ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการนับคะแนน ซึ่งจะทราบผลในวันนี้

โดย ก.อ. ตามกฎหมายใหม่จำนวน 15 คนประกอบด้วย ประธาน ก.อ. (ที่มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย ซึ่งกฎหมายเก่าจะเป็นอัยการสูงสุดโดยตำแหน่ง)โดยมีอัยการสูงสุดเป็นรองประธาน  ก.อ. ส่วน ก.อ.ประกอบด้วย รองอัยการสูงสุดตามลำดับอาวุโส จำนวน 5 คน กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งมาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย  ประกอบด้วย อัยการชั้น 5 ขึ้นไปจำนวน 4 คน อัยการที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 2 คน รวมเป็น 6 คน และกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นอัยการมาก่อนและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ การพัฒนาองค์กร หรือการบริหารจัดการ (มาจากการเลือกของอัยการยกเว้นอัยการผู้ช่วย) โดยให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ เป็นเลขานุการ ก.อ.

สำหรับ คุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นประธาน ก.อ. จะเป็นผู้รับบำเหน็จบำนาญตามกฏหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเคยรับราชการเป็นข้าราชการมาแล้วในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาค หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า ทั้งนี้ต้องไม่เคยเป็นสมาชิกหรือเป็นเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนได้รับเลือกโดยประธาน ก.อ. มีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเก้าโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ส่วน ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปีนับแต่วันที่อัยการสูงสุดประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็น  ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยประธาน  ก.อ. และ  ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว

สำหรับนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุดคนที่ 11 ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากอัยการทั่วประเทศเลือกเข้ามาเป็นว่าที่ ประธาน ก.อ.เมื่อครั้งสมัยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเข้ายึดอำนาจในช่วงแรกสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุดในขณะนั้น ที่ต่อมาเป็นผู้ฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดแทน ซึ่งต่อมาได้กลับมานั่งในตำแหน่งอัยการอาวุโส โดยในช่วง พ.ย. 2557 ได้มีการเลือกตั้งซ่อม ก.อ.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่ง นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ว่างลง ปรากฏว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่อัยการทั่วประเทศที่มีสิทธิลงคะแนนกว่า 3,100 คนแล้วส่งกลับมามีจำนวนกว่า 2,400 ใบ ปรากฎว่า นายอรรถพล ได้คะแนนสูงถึง 1,677 คะแนน ซึ่งเกินจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิและผู้ลงคะแนนไปจำนวนมาก และการเลือกตั้ง ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิหลังจากนั้น นายอรรถพลก็ยังได้คะแนนมากกว่าครั้งแรก ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ว่าไม่เคยมีผู้ใดได้รับคะแนนคัดเลือกจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน

ทำให้มีการพูดคุยกันมากว่าการเลือกตั้งซ่อม ก.อ.ใน 2 ครั้งนั้น สะท้อนความเป็นเอกภาพในการบริหารงานของการสำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป เนื่องจากนายอรรถพล พ้นจากตำแหน่งอัยการสูงสุดในช่วง คสช. มีอำนาจ แต่ได้กลับมาลงแข่งขันเลือกตั้งเป็น ก.อ.สัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ และได้รับเลือกในคะเเนนที่สูงลิ่วยังคงได้รับความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่าได้รับคะแนนนิยมจำนวนมาก มีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งจากบัตรลงคะแนนจากอัยการทั่วประเทศ โดยสำหรับนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุดคนที่ 8 ที่แม้ได้คะแนนอันดับ 2 ในครั้งนี้ก็ถือว่าได้คะแนนที่สูงเกินความคาดหมาย ซึ่งคะแนนที่ได้น่าจะมาจากฐานเสียงอัยการรุ่นเก่า จึงเชื่อว่าในการเลือก ก.อ.คราวหน้าหากนายพชรยังอาสาตัวเองอีก ก็มีโอกาสได้รับเลือกเป็นประธาน ก.อ.สูง

สำหรับนายอรรถพล จบการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา

- นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประวัติการทำงานที่น่าสนใจ

- 2515 -2518 ตำแหน่งอาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

- 2518 ตำแหน่งอัยการผู้ช่วย (พ.ศ. 2518) สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2548 - 2549 ตำแหน่งอธิบดีอัยการฝ่ายคณะกรรมการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2549 - 2550 ตำแหน่งผู้ตรวจราชการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2550 - 2552 ตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจราชการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2552 - 30 ก.ย. 2556 ตำแหน่งรองอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2556 - 2557 ตำแหน่งอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด

- 2555 - ปัจจุบัน ตำแหน่งเนติบัณฑิตยสภา เนติบัณฑิตยสภา

- 2555 - ปัจจุบัน ตำแหน่งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่ง  เนติบัณฑิตยสภา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"