ส่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ก่อนเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

 

ศิริภา อินทวิเชียร นักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ พรรคประชาธิปัตย์

 

     ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมนับเป็นภัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับผู้คนในวงกว้าง ทั้งยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะการเมืองที่กำลังร้อนแรงกลับเป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมของไทยดูจะเลือนรางจากกระแสความสนใจ

      ในโอกาสที่สังคมไทยเดินหน้าเข้าสู่โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 และเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 17 มีนาคมนี้ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ตัวแทนพรรคการเมืองในหัวข้อ "นโยบายสิ่งแวดล้อมกับการเมืองไทย : เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันก่อน

      เวทีนี้เปิดโอกาสให้ว่าที่ ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ เผยแพร่แนวคิดและนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคตนเอง รวมทั้งเปิดให้มีการแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามระหว่างนักวิชาการกับตัวแทนพรรคเพื่อรับฟังนโยบายของพรรคการเมือง จะยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเพียงใด โดยมีพรรคการเมือง 3 พรรคเข้าร่วม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอนาคตใหม่

      ก่อนเปิดเวทีดีเบตส่องนโยบายสิ่งแวดล้อม ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในหัวข้อ นโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยระบุว่า ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเกิดเวทีดีเบตของพรรคการเมืองหลายวงตลอดเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับ 3 โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมไทยเป็นการบ้านที่ผู้สมัครพรรคต่างๆ เลี่ยงไม่พ้น คือ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านระบบนิเวศ เช่น มลพิษฝุ่น PM 2.5 แสดงถึงผังเมืองและระบบคมนาคมที่ไม่เหมาะสม ระบบอีไอเอขาดประสิทธิภาพ มาตรการลดผลกระทบจากการก่อสร้างในรายงานไม่ได้นำมาปฏิบัติ จนกระทั่งกรณีเขาหัวโล้น จ.น่าน มีการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำป่าหายไป 1.2 ล้านไร่ จากปัญหาความยากจน ปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อม สะท้อนโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

      " ความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คดีปกครองกว่าหมื่นคดีอยู่ในศาลปกครอง มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนและกระบวนการนโยบายสาธารณะในเมกะโปรเจ็กต์พัฒนาหัวเมืองหลักอีอีซี อยากเห็นนโยบายพรรคสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมมากกว่าแค่หย่อนบัตรเลือกตั้ง โดยประชาชนต้องร่วมให้ข้อมูล รับฟังความเห็น การปรึกษาหารือ ไม่ใช่ไปจบหน้าศาลปกครอง " ดร.บัณฑูรกล่าว

      กรรมการปฏิรูปฯ ยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองทำนโยบายประเมินการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ซึ่งต่างจากรายงาน EIA ที่หาคำตอบให้กับโครงการที่มีอยู่แล้ว เพราะรายงาน SEA จะหาทางเลือกรอบด้านก่อนจัดทำโครงการ สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ปี 51 เคยแถลงนโยบายเชิงกลยุทธ์นี้ เช่นเดียวกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ปี 54 แถลงนโยบายให้เพิ่มการประเมิน SEA แต่ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนากลไกระบบประเมินดังกล่าว นอกจากนี้ ข้อมูลปี 59 มีโครงการรับเข้าใหม่ 1,759 โครงการ แต่ผ่านความเห็นชอบ EIA-EHIA กว่า 500 โครงการ ปัจจุบัน EIA มีปัญหาที่ระบบติดตามหลังอนุมัติอนุญาตโครงการ ต้องปิดช่องโหว่นี้ อีกทั้งมีหลายโครงการก่อสร้างผู้ประกอบการหลบเลี่ยงมาตรการนี้

 

ตัวแทนคนรุ่นใหม่จาก 3 พรรคการเมืองโชว์นโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคชัดๆ 

 

      เมื่อถึงเวลาแจงนโยบาย มาฟังชัดๆ แต่ละพรรคมีหมัดเด็ดอะไรบ้าง ศิริภา อินทวิเชียร นักการเมืองหญิงรุ่นใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนจะก่อให้เกิดทรัพยากรเสื่อมโทรมและสิ้นเปลืองทรัพยากร ทางพรรคมีนโยบายครอบคลุมทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมาย SDGs โดยยึดหลักเกณฑ์รัฐสามารถทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานอย่างโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้จะสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน เอกชน เพื่อบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม

      " ปชป.ชูนโยบายสิ่งแวดล้อม 6 ด้าน ด้านพลังงาน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยจะส่งเสริมพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และส่งเสริมให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายไฟคืนให้การไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนน้ำมันบี 20 และบี 100 เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้านป่าไม้และสัตว์ป่า จะเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 50 หรือ 160 ล้านไร่ เพื่อปกป้องป่า โดยพื้นที่ 30% อนุรักษ์เป็นป่าต้นน้ำและใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น อีก 20% เป็นพื้นที่ป่าชุมชน มีกติกาการใช้ประโยชน์ รวมถึงจะจัดทำแนวเขตป่าให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี โดยภาครัฐและท้องถิ่นมีส่วนร่วม อีกทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า" ศิริภากล่าว

      ปัญหาขยะเป็นอีกนโยบายที่นักการเมืองหญิงโชว์วิสัยทัศน์ โดยระบุจะส่งเสริมการผลิตขยะเชื้อเพลิง (RDF)   ช่วยสามารถลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบ ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ในพื้นที่เทศบาลต่างๆ ที่มีความพร้อมจะหนุนเสริมให้องค์ความรู้และเพิ่มกลไกการทำงานให้คล่องตัว คนก็สำคัญ จะรณรงค์ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะมีมาตรการทางภาษีเข้ามากำกับดูแล รวมถึงหนุน อปท. จัดการขยะครบวงจร ทั้งขยะอันตราย ขยะมูลฝอย ขยะพลาสติก

      ส่วนนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศ เธอย้ำว่า คนกรุงเผชิญฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ปชป.มีแผนคลอดมาตรการฉุกเฉินกรณีเกิดวิกฤติมลพิษและปรับปรุงกฎหมายให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการปัดความรับผิดชอบของหน่วยงาน แนวทางจำกัดจำนวนรถยนต์เข้าพื้นที่ก็ทำควบคู่กัน แต่ต้องหารือเพื่อให้เกิดความเหมาะสม อีกทั้งจะเร่งยกระดับยานยนต์ไทย การปล่อยฝุ่นพิษภาคอุตสาหกรรมก็ต้องได้รับการตรวจสอบ จะมีการตรวจวัดมลพิษที่ปลายปล่อง รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ใช้ต้นไม้กรองฝุ่น

 

  นิติพล ผิวเหมาะ พรรคอนาคตใหม่ 

 

    นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและผู้ผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนมองสิ่งแวดล้อมในมิติใหม่ มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียว แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และออกแบบนโยบายหลายด้าน เริ่มจากขยะพลาสติกปัญหาสำคัญ ทุกนาทีมีถุงพลาสติก 1.6 แสนใบทิ้งสู่ทะเล ไทยสร้างขยะทะเลติดอันดับ 6 ของโลก เราเสนอเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งภายใน 4 ปี และจะให้งบประมาณสนับสนุนการคิดค้นวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อหาวัสดุทดแทนพลาสติก 

      ส่วนปัญหา EIA ต้องแก้ไข นิติพลกล่าวว่า ต้องดำเนินการจัดตั้งกองทุน EIA จัดหาบริษัททำรายงาน EIA ที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ เพื่อทำหน้าที่ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเมินประกันภัย หากโครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ คิดว่าการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม คนส่วนกลางคิดแทนคนภูมิภาคต่างๆ ไม่ได้ รูปแบบหนึ่งที่เรานำเสนอคือ รายได้จากการจัดเก็บภาษีของแต่ละจังหวัด ร้อยละ 50 ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง แต่ให้นำมาใช้หนุนการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พรรคเน้นนโยบายกระจายอำนาจ

      ประเด็นเรื่องป่า นิติพลกล่าวว่า ต้องจัดสรรที่ดินให้คนอยู่กับป่าได้ ไม่ไล่คนออกจากป่า แต่ส่งเสริมเกษตรทางเลือกให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ป่าต้องอนุรักษ์โดยคนในพื้นที่ควรสนับสนุนให้ปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่บนพื้นที่สูง แนวทางนี้นอกจากหยุดการแผ้วถางและเผาป่าทำเกษตรเชิงเดี่ยวแล้ว ช่วยรักษาต้นไม้ใหญ่ ช่วยยุติปัญหาหมอกควันพิษ และสร้างรายได้ให้ชุมชน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

      ส่วนปัญหา PM 2.5 ในเมืองใหญ่ ว่าที่ ส.ส.บอกจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติคนเมืองให้เห็นว่าเป็นภัยใกล้ตัว และไม่ใช่เรื่องของคนโลกสวย การควบคุมมลพิษจากภาคขนส่งและการคมนาคมในมหานครจะต้องดำเนินการให้ได้ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนให้แก่ประชาชน ลดการใช้รถส่วนตัว

      "นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ กำหนดผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็ก ที่มีเครื่องจักรกำลังต่ำกว่า 50 แรงม้า และมีคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ต้องมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.โรงงานทุก 5 ปี กฎหมายไม่ได้ช่วยป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะส่งผลเสียมากขึ้นด้วย" นักการเมืองรุ่นใหม่จากอนาคตใหม่ กล่าว

 

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หรือ "ผู้กองมาร์ค" 

 

      ด้าน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ หรือ "ผู้กองมาร์ค"  รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นร้อยละ 50 ของพื้นที่ในประเทศไทย ไม่เฉพาะกรุงเทพฯ การดำเนินงานแก้ไขจะสนับสนุนให้มีเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เสี่ยงหมอกควัน และมีการรายงานผลเพื่อเตือนภัยประชาชนเมื่ออยู่ในเกณฑ์เริ่มกระทบสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ การแก้ปัญหามลพิษอากาศจะต้องส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง มีมาตรการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้า EV นอกจากนี้ รถยนต์ของหน่วยงานราชการต้องเป็นต้นแบบเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด อีกทั้งพรรคเพื่อไทยค้านการใช้พลังงานถ่านหินมาโดยตลอด

      "ในส่วนประเด็น SEA จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น รวมถึงจัดทำบิ๊กดาต้ารวบรวมข้อมูลของทุกกระทรวง เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงของประชาชนและผู้ประกอบการ เน้นข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อประกอบการประเมินความเหมาะสมของโครงการ นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยเสนอให้จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและอัยการสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมแก้ปัญหาเฉพาะทาง เห็นว่า ศาลนี้จะเป็นตัวกลางเชื่อมภาคประชาชน ลดความขัดแย้ง" ผู้กองมาร์คขายนโยบาย

      ในเวทีนี้  ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ฝากให้พรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นใหม่ หากมีโอกาสบริหารขับเคลื่อนประเทศนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"